ห้ามพระชุมนุมทางการเมือง พระไม่มีสิทธิเลือกตั้ง
เป็นธรรมดาที่การเคลื่อนไหวทางการเมืองต้องมีบุคคลผู้สนับสนุนการเคลื่อนไหว การรวมตัวชุมนุมเพื่อแสดงพลัง นับเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ได้ผล คงจะไม่แปลกอะไรหากผู้เข้าร่วมชุมนุมเรียกร้องสิทธิต่างๆ ก็ดี เข้าร่วมชุมนุมเพื่อสนับสนุนพรรคการเมืองหรือฝ่ายทางการเมืองฝ่ายใดฝ่านหนึ่งก็ดีนั้น เป็นฆารวาส แต่จะเป็นเรื่องน่าแปลกหากผู้เข้าร่วมชุมนุมนั้นเป็นพระภิกษุ ด้วยการชุมนุมหรือเรียกร้องสิทธิทางการเมืองมิใช่เรื่องที่พระภิกษุพึงกระทำด้วยเหตุมิใช่กิจของสงฆ์
หากจะถามว่า การเลือกตั้งใช่กิจของสงฆ์หรือเป็นหน้าที่ของสงฆ์ สิทธิของสงฆ์ในฐานะประชาชนพึงกระทำได้หรือไม่ คงต้องอาศัยบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๐๕ และ ๑๐๖ มาตอบ
ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หมายถึง ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีการเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่นให้สภาท้อง ถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นพิจารณา ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งเมื่อพิจารณาจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบันแล้ว จะพบว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้ คือ
"มาตรา 105 บุคคลผู้มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
(1) มีสัญชาติไทย แต่บุคคลผู้มีสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติต้องได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี
(2) มีอายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์ในวันที่ 1 มกราคมของปีที่มีการเลือกตั้ง และ
(3) มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่าเก้าสิบวันนับถึงวันเลือกตั้ง
ผู้มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งอยู่นอกเขตเลือกตั้งตามมาตรา 303 ที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน หรือมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งเป็นเวลาน้อยกว่าเก้าสิบวันนับถึงวันเลือกตั้ง หรือมีถิ่นที่อยู่นอกราชอาณาจักร ย่อมมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้ง ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภา ผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาบัญญัติ"
"มาตรา 106 บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ในวันเลือกตั้งเป็นบุคคลต้องห้าม มิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง คือ
(1) วิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
(2) เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช
(3) ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
(4) อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง"
ดังนั้น บุคคลผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา 105 และไม่เป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามไม่ให้ใช้สิทธิเลือกตั้งตามมาตรา 106 แห่งรัฐธรรมนูญ จึงถือเป็นบุคคลผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่จะมีสิทธิเข้าชื่อเสนอกฎหมายได้
เมื่อพิจารณาได้ความแล้วว่า พระภิกษุ สามเรณ นักพรต หรือนักบวช ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง ดังนั้น การเคลื่อนไหวทางการเมือง จึงไม่ใช่กิจของสงฆ์ที่จะกระทำได้ในฐานะประชาชนชาวไทย
ปัญหาว่า คำสั่งของมหาเถระสมาคมนี้ใช่กฎหมายหรือไม่ หากไม่ปฏิบัติตามมีโทษหรือไม่
เมื่อคำสั่งมหาเถระสมาคมฉบับดังกล่าว ได้ออกโดยอาศัยอำนาจ พรบ.คณะสงฆ์มาตรา ๑๕ ตรี ความว่า
มาตรา ๑๕ ตรี มหาเถรสมาคมมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) ปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปโดยเรียบร้อยดีงาม
(๒) ปกครองและกำหนดการบรรพชาสามเณร
(๓) ควบคุมและส่งเสริมการศาสนศึกษา การศึกษาสงเคราะห์ การเผยแผ่ การสาธารณูปการ และการสาธารณสงเคราะห์ของคณะสงฆ์
(๔) รักษาหลักพระธรรมวินัยของพระพุทธศาสนา
(๕) ปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่น
เพื่อการนี้ ให้มหาเถรสมาคมมีอำนาจตรากฎมหาเถรสมาคม ออกข้อบังคับ วางระเบียบ ออกคำสั่ง มีมติหรือออกประกาศ โดยไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมายและพระธรรมวินัย ใช้บังคับได้ และจะมอบให้พระภิกษุรูปใดหรือคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการตามมาตรา ๑๙ เป็นผู้ใช้อำนาจหน้าที่ตามวรรคหนึ่งก็ได้
ดังนี้ คำสั่งมหาเถระสมาคมดังกล่าวจึงมีสถานะเป็นกฎหมาย และมีบทลงโทษอย่างชัดเจน
สาระสำคัญของคำสั่งมหาเถระสมาคม
ข้อ 4 ห้ามพระภิกษุสามเณรเข้าไปในที่ชุมนุม หรือในบริเวณสภาเทศบาล หรือสภาการเมืองอื่นใด หรือในที่ชุมนุมทางการเมือง ไม่ว่ากรณีใดๆ
การชุมนุม มีความหมายว่า การที่กลุ่มคนมาอยู่ในอาณาบริเวณเดียวกันโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงความคิดเห็นร่วมกันในลักษณะเป็นการเรียกร้อง การขอความเป็นธรรม การประท้วง การสนับสนุน การให้กำลังใจ การคัดค้าน การต่อต้าน หรือในลักษณะอื่นใด อันอาจจะส่งผลให้บุคคล คณะบุคคล องค์กร หน่วยงาน กระทำการหรือละเว้นการกระทำการใดๆ
การเข้าไปในพื้นที่ที่มีการชุมนุมเรียกร้องในความหมายดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นการเข้าไปในที่ชุมนุม ไม่ว่าจะเข้าไปด้วยเหตุผลอย่างใด ก็ต้องห้ามอย่างเด็ดขาด จะเข้าไปหาญาติ ไปตามเพื่อนพระที่เข้าไปชุมนุมก็ไม่อาจจะกระทำได้โดยเด็ดขาด
ข้อ 5 ห้ามพระภิกษุสามเณรทำการใดๆ อันเป็นการสนับสนุนช่วยเหลือโดยตรง หรือโดยอ้อมแก่การหาเสียง เพื่อการเลือกตั้ง
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสภาเทศบาล หรือสภาการเมืองอื่นใดแก่บุคคลหรือคณะบุคคลใดๆ
การกระทำอันเป็นการสนับสนุน หมายถึง การให้ความสะดวกหรือให้ความช่วยเหลือไม่ว่าในทางตรงหรือทางอ้อมแก่การหาเสียง เช่น การอนุญาติให้ติดป้ายหาเสียงที่กุฎิ การกล่าวแนะนำบุคคลผู้กำลังทำการหาเสียง การแนะนำชักจูงให้ญาติโยมเลือกพรรคใดหรือผู้ใด ห้ามเด็ดขาด ไม่ว่ากรณีใดทำไม่ได้ทั้งสิ้น
การนำภาพผู้สมัครหาเสียงเลือกตั้งขึ้นเฟชบุคพระภิกษุ อยู่ในความหมายของการสนับสนุนช่วยเหลือโดยอ้อมแก่การหาเสียง จะกระทำมิได้
การที่พระภิกษุนำหลักธรรมมากล่าวเตือนญาติโยมให้เลือกคนดี (ทั้งนี้ต้องไม่ระบุว่าคนดีนั้นคือใคร) ด้วยเหตุผลอย่างไร ไม่ถือเป็นการสนับสนุนแนะนำชักจูง การหาเสียงเลือกตั้ง แต่ต้องไม่กระทำในที่ชุมนุม
ข้อ 6 ห้ามพระภิกษุสามเณรร่วมชุมนุมในการเรียกร้องสิทธิของบุคคลหรือคณะบุคคลใดๆ
การชุมนุมนี้มิได้หมายเอาเฉพาะชุมนุมทางการเมืองเท่านั้น การเรียกร้องสิทธิของบุคคลหรือคณะบุคคลใดๆ ก็ต้องห้ามทั้งสิ้น
ข้อ 7 ห้ามพระภิกษุสามเณรร่วมอภิปราย หรือบรรยายเรื่องเกี่ยวกับการเมือง ซึ่งจัดตั้งขึ้นทั้งในวัดและนอกวัด
การอภิปราย หมายถึง การที่บุคคลคณะหนึ่งจำนวนตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไปร่วมกันพูด แสดงความรู้ ความคิดเห็น และประสบการณ์ เพื่อให้เกิดความรู้ ความคิดที่ใหม่ และกว้างขวาง เพิ่มขึ้นหรือช่วยกันหาแนวทางและวิธีการในการแก้ปัญหาร่วมกัน
การเข้าร่วมในการอภิปราย เข้าฟัง การบรรยายเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวกับการเมือง ต้องห้ามทั้งสิ้น ไม่ว่าการอภิปรายนั้นจะได้กระทำในวัดหรือนอกวัดก็ตาม
เห็นว่า สิ่งเดียวที่พระภิกษุในพระธรรมวินัยนี้จะปฏิบัติได้คือ การนำพระสัทธรรมมากล่าวให้สติแก่ญาติโยมเพื่อให้ญาติโยมพิจารณาเลือกคนดีมาปกครองบริหารประเทศ ขอย้ำว่า ห้ามระบุว่าคนดีคนนั้นคือใคร
ใน ท้ายบันทึกคำสั่งมหาเถรสมาคม เรื่อง ห้ามพระภิกษุสามเณรเกี่ยวข้องกับการเมือง พ.ศ.2538 ทางมหาเถรสมาคมได้ให้เหตุผลของการออกคำสั่งดังกล่าวไว้ดังนี้…..
เหตุผลในการใช้คำสั่งมหาเถรสมาคมฉบับนี้ คือ โดยที่พระภิกษุสงฆ์ได้นามว่า สมณะ แปลว่า ผู้สงบ ได้นามว่า บรรพชิต แปลว่า ผู้เว้นกิจกรรมอันเศร้าหมองมีโทษ สมควรเป็นผู้สังวรระวังการกระทำของตนให้เป็นไปแต่ในทางสงบ ปราศจากโทษ ทั้งแก่คน ทั้งแก่หมู่คณะ
ด้วยเหตุนี้ พระบรมศาสดาจึงทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามพระภิกษุสงฆ์มิให้ประพฤตินอกทางของสมณะบรรพชิต ทรงปรับโทษแก่ผู้ฝ่าฝืนละเมิด
ใน การที่บ้านเมืองมีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรเข้าเป็นสมาชิกแห่งสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นธุรกิจฝ่ายบ้านเมือง เป็นหน้าที่ของฆราวาสผู้มีสิทธิตามกฎหมายโดยเฉพาะ ไม่ใช่หน้าที่ของพระภิกษุสามเณรผู้อยู่นอกเหนือการเมือง ไม่มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้ง ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง แม้ผู้ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้ว หากบวชเป็นพระภิกษุสามเณรในพระพุทธศาสนาก็ขาดจากสมาชิกภาพแห่งสภาผู้แทน ราษฎรทันที
ข้อ นี้แสดงว่า ความเป็นพระภิกษุสามเณรไม่ควรแก่การเมืองโดยประการทั้งปวง การที่พระภิกษุสามเณรเข้าไปเกี่ยวข้องช่วยสนับสนุนการเลือกตั้งบุคคลใดๆ เพื่อเป็นสมาชิกแห่งสภาผู้แทนราษฎร หรือสภาเทศบาล เป็นต้น ย่อมเป็นการประพฤติผิดวิสัยของสมณะบรรพชิต นำความเสื่อมเสียมาสู่ตนเองและหมู่คณะ ตลอดถึงพระศาสนา เป้นที่ติเตียนของสาธุชน ทั้งในและนอกพระศาสนา เพราะสมณะบรรพชิตสมควรวางตนเป็นกลาง ทำจิตให้กว้างขวาง ด้วยเมตตาทั่วไปแก่ชนทั้งปวง
ผู้ ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาโดยไม่เลือกหน้า ในตำแหน่งที่มีผู้แข่งขันช่วงชิงกันมากคน พระภิกษุสามเณรเข้าช่วยให้ผู้ใดได้ ย่อมเป็นที่พอใจของผู้นั้น แต่ผู้ที่ไม่ได้อีกเป็นจำนวนมากกับพวกพ้องย่อมไม่พอใจ เสื่อมคลายความเคารพนับถือ ความเป็นอยู่ของพระสงฆ์และความดำรงอยู่แห่งพระศาสนาขึ้นอยู่กับความเคารพ นับถือของประชาชน พระภิกษุสามเณรจึงควรทำตนให้เป็นที่เคารพนับถือของประชาชนทั่วไป ไม่ควรทำตนให้เป็นพวกเป็นฝ่ายของผู้ใดผู้หนึ่ง ซึ่งจะทำให้ชนทั้งหลายเห็นว่าไม่ตั้งอยู่ในธรรม เกิดความเบื่อหน่ายคลายความเคารพนับถือและติเตียนต่างๆ ดังเคยมีตัวอย่างปรากฎมาแล้วมากราย
เพื่อ สงวนและเชิดชูพระภิกษุสงฆ์ให้ตั้งอยู่ในฐานะอันน่าเคารพนับถือไม่เป็นที่ดู หมิ่นติเตียนของมหาชนและป้องกันความเสื่อมเสียของคณะสงฆ์และพระศาสนาอันมี พระภิกษุสงฆ์เป็นผู้ดำรงรักษาไว้เช่นเดียวกับบูรพาจารย์ได้เคยปฎิบัติมา จึงออกคำสั่งมหาเถรสมาคาไว้เพื่อให้พระภิกษุสามเณรถือปฎิบัติต่อไป
ในเวลานั้น พระอานนท์ได้กราบทูลถามว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! เมื่อพระองค์ปรินิพพานไปแล้วจะปฏิบัติเกี่ยวกับพระพุทธ สรีระอย่างไร”
พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า
“อย่าเลยอานนท์ เธออย่ากังวลกับเรื่องนี้เลย หน้าที่ของพวกเธอคือคุ้มครองตนด้วยดี
จงพยายามทำความเพียรเผาบาปให้เร่าร้อนอยู่ทุกอิริยาบถเถิด สำหรับเรื่องสรีระของเรานั้น
เป็นหน้าที่ของคฤหัสถ์ที่จะพึงทำกัน กษัตริย์ พราหมณ์ และ คหบดีเป็นจำนวนมากที่เลื่อมใสตถาคต
ก็มีอยู่ไม่น้อย เขาคงทำกันเองเรียบร้อย”
ที่มา http://natjar2001law.blogspot.com
ห้ามพระชุมนุมทางการเมือง พระไม่มีสิทธิเลือกตั้ง
Thursday, February 23, 2012 |
Labels:
กฎหมายใกล้ตัว
Posted by
Kanta