RSS

บทสรุปของ "ประชานิยม : หายนะจากอาร์เจนตินาถึงไทย"

บทสรุปของ "ประชานิยม : หายนะจากอาร์เจนตินาถึงไทย?"

บ้านเขาเมืองเรา : ดร.ไสว บุญมา sawaib@hotmail.com กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 1 สิงหาคม 2546

"ไทยจะล่มสลายคล้ายอาร์เจนตินาหรือไม่?" เป็นคำถามที่เกิดขึ้นน้อยลง ในวงการสนทนา ทั้งนี้ คงเพราะเศรษฐกิจไทย ดูจะฟื้นตัวอย่างแน่นอน จากวิกฤติเมื่อ 6 ปีที่แล้ว และข่าวคราวเกี่ยวกับ ปัญหาของอาร์เจนตินา ไม่ค่อยปรากฏบ่อยนัก หลังจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อ 3 เดือนที่ผ่านมา
เสร็จสิ้นลงอย่างเรียบร้อย อย่างไรก็ตาม หากการสนทนาเกี่ยวโยงไปถึงเรื่องนโยบายแนวประชานิยมของรัฐบาลปัจจุบัน คำถามนั้นมักจะผุดขึ้นมาอีกเพราะคนไทยจำนวนมากได้ยินมาว่า นโยบายประชานิยมเป็นต้นเหตุแห่งความล่มสลายของอาร์เจนตินา เนื่องจากไม่มีใครรู้อนาคต คำตอบของคำถามนั้นขึ้นอยู่กับสมมติฐานที่ผู้ตอบตั้งขึ้นสำหรับตัวแปรต่างๆ โดยเฉพาะนโยบายของรัฐบาลไทยจะวิวัฒน์ไปจนถึงระดับเดียวกันกับของอาร์เจนตินาหรือไม่ และเมื่อนโยบายเหล่านั้นนำไปสู่การขาดดุลทางงบประมาณ รัฐบาลจะปิดงบประมาณอย่างไร
วิกฤติเศรษฐกิจของไทยและของอาร์เจนตินา เกิดจากปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งมีความสลับซับซ้อนยิ่งและเกี่ยวเนื่องถึงปัจจัยทางด้านสังคมและการเมือง ซึ่งฝังรากลึกมาแต่อดีต ไม่ใช่จากเหตุปัจจุบันทันด่วน เช่น เกิดพายุใหญ่จนนาล่มทั่วประเทศ หรือน้ำมันขึ้นราคาหลายเท่าตัว

ฉะนั้นการแสวงหาคำตอบจะต้องย้อนไปดูอดีต โดยมุ่งไปที่ความคล้ายและความต่างทางสังคมและการเมืองพร้อมๆ กับปัจจัยทางเศรษฐกิจ อาร์เจนตินา เป็นเอกราชจากสเปน เมื่อปี พ.ศ.2359 แต่เขาไม่มีการปกครองอย่างเป็นระบบ จนกระทั่งจังหวัดต่างๆ ตกลงกันได้ว่าจะอยู่ร่วมกันอย่างไร และประกาศใช้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย ซึ่งเลียนแบบรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ.2396 ตอนนั้นเป็นช่วงเวลาที่การปฏิวัติอุตสาหกรรมกำลังเบ่งบานเต็มที่ มหาอำนาจตะวันตกกำลังออกล่าอาณานิคม ไทยต้องทำสนธิสัญญาเบาริ่งกับอังกฤษ เมื่อปี พ.ศ.2398 และพยายามเรียนรู้สิ่งต่างๆ จากชาวตะวันตก เพื่อจะพัฒนาประเทศและรักษาความเป็นเอกราช

กล่าวได้ว่า ไทยและอาร์เจนตินามีจุดเปลี่ยนสำคัญทางประวัติศาสตร์ใกล้ๆ กัน การเปรียบเทียบระหว่างสองประเทศ จึงเริ่ม ณ จุดเปลี่ยนนั้น ไทยและอาร์เจนตินา ไม่น่าจะได้เปรียบเสียเปรียบกันในด้านทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งสองประเทศมีที่ดินอุดมสมบูรณ์และอากาศเหมาะแก่การเกษตรเป็นอย่างยิ่ง ย้อนไปเมื่อโลกกำลังอยู่ในขบวนการปฏิวัติอุตสาหกรรม อันได้แก่ การนำเครื่องจักรเครื่องยนต์มาใช้ในการผลิตอย่างกว้างขวาง อาร์เจนตินาและไทยไม่ได้เข้าร่วมในขบวนการนั้น แต่ชาวอาร์เจนตินามีรายได้สูงกว่าชาวไทย เพราะสินค้าเกษตรหลักที่เขาส่งออก ซึ่งได้แก่ เนื้อวัว อยู่ในความต้องการของประเทศอุตสาหกรรมมากกว่าสินค้าหลักของไทยซึ่งได้แก่ ข้าว นอกจากนั้น วัดกันตามน้ำหนัก เนื้อวัวมีราคาสูงกว่าข้าว และชาวนาอาร์เจนตินาคนหนึ่งยังสามารถเลี้ยงวัวในทุ่งหญ้า แพมพัส ของเขาได้มากกว่าชาวนาไทยคนหนึ่งผลิตข้าวในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา

แม้อาร์เจนตินาจะเริ่มใช้รัฐธรรมนูญแนวประชาธิปไตยปกครองประเทศ หลังปี พ.ศ. 2396 แต่การปฏิบัติจริงๆ แทบจะไม่ใกล้ความเป็นประชาธิปไตยเลย เพราะมีการใช้เงินและบารมีของเศรษฐีที่ดินเพื่อเอาชนะการเลือกตั้ง การใช้วิชามารต่างๆ และการโกงการเลือกตั้งโดยตรง

เมื่อถึง พ.ศ.2473 หรือ 77 ปี หลังจากมีรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย ทหารทนดูความเละเทะของนักการเมืองไม่ไหว จึงปฏิวัติล้มเลิกรัฐธรรมนูญ จากวันนั้นทหารก็ปฏิวัติซ้ำแล้วซ้ำอีก เมื่อไม่เห็นด้วยกับพลเรือนหรือเมื่อแตกแยกกันเอง ทหารปกครองประเทศมาเป็นช่วงๆ จนกระทั่ง พ.ศ.2525 จึงยอมสละอำนาจให้พลเรือน

สำหรับประเทศไทย ตอนทำสนธิสัญญาเบาริ่ง ไทยปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และใช้การปกครองนั้นเรื่อยมาอีก 77 ปี จึงเกิดการปฏิวัติในปี พ.ศ. 2475 เพื่อหวังจะเปลี่ยนให้เป็นระบอบประชาธิปไตย

ดังที่ทราบกันดีอยู่แล้ว การปฏิบัติจริงๆ ห่างจากความเป็นประชาธิปไตยมาก เพราะรัฐธรรมนูญมักถูกร่างขึ้น เพื่อเอื้อประโยชน์แก่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง มีการโกงการเลือกตั้ง การหว่านเงิน การใช้นักเลงท้องถิ่นและการปฏิวัติซ้ำแล้วซ้ำอีก ทหารปฏิวัติครั้งสุดท้ายเมื่อ พ.ศ.2535 และคืนอำนาจให้พลเรือนไม่นานหลังจากนั้น

สรุปว่าทั้งชาวอาร์เจนตินา และชาวไทยมีเจตนารมณ์ที่จะนำระบอบประชาธิปไตยมาใช้ในการปกครอง ชาวอาร์เจนตินาพยายามปลูกฝังประชาธิปไตยมา 150 ปี ส่วนไทยได้พยายามมา 71 ปี แต่รากของประชาธิปไตย ดูจะยังไม่หยั่งลงไปลึก และกว้างพอ ที่จะทำให้สองสังคมนี้ มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริงและมั่นคง

เพราะอะไร?

ในระหว่างที่ทั้งสองประเทศพยายามพัฒนาด้านต่างๆ ไม่ใช่เฉพาะทหารเท่านั้นที่ใช้อาวุธเป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนแปลง ยังมีผู้ไม่เห็นด้วยกลุ่มอื่นๆ ที่พยายามใช้วิธีผิดกฎหมายและผิดศีลธรรม เพื่อจุดมุ่งหมายเดียวกัน สงครามกองโจรเกิดขึ้นในทั้งสองประเทศ ผู้มีอำนาจในทั้งสองประเทศใช้การปราบปรามประชาชนแบบโหดร้ายไร้มนุษยธรรม และลิดรอนสิทธิมนุษยชนเป็นครั้งคราว

นอกจากนั้น ทั้งสองประเทศยังมีประวัติทางการใช้กลุ่มอิทธิพลต่างๆ ซึ่งไม่มีกฎหมายรองรับ ในแนวของกลุ่ม นวพล กระทิงแดง และลูกเสือชาวบ้าน เพื่อสนับสนุนสิ่งที่ตนต้องการอีกด้วย

วิวัฒนาการทางการเมืองและสังคมต่างๆ นี้ น่าจะบ่งว่า โดยทั่วไปชาวอาร์เจนตินาและชาวไทยมีฐานความคิดไม่ต่างกัน นั่นคือ การไม่ค่อยเคารพต่อกฎเกณฑ์ของสังคม ไม่ว่ากฎเกณฑ์นั้นจะมาจากรัฐธรรมนูญ กฎหมายและข้อบังคับที่ตัวเองสร้างขึ้น หรือศีลธรรมจรรยาและความเหมาะสม ซึ่งเป็นฐานทางวัฒนธรรมของตนมาแต่เก่าก่อน

อาจจะมีผู้แย้งว่า ในสังคมที่พัฒนาไปไกลแล้วก็มีคนไม่ทำตามกฎเกณฑ์ นั่นเป็นความจริง แต่ที่ต่างกับสังคมไทยและอาร์เจนตินา ได้แก่ ในสังคมเหล่านั้น การไม่ทำตามกฎเกณฑ์มีในสัดส่วนน้อย มันจึงไม่เป็นอุปสรรคใหญ่หลวงสำหรับการพัฒนาประเทศ

ถ้าจะเปรียบกับการเล่นกระดานหก อาจกล่าวได้ว่า การไม่ทำตามกฎเกณฑ์ของเขา ไม่มีมากพอที่จะทำให้กระดานหก ไปตกจมอยู่ทางฝ่ายนั้น เท่าที่ผ่านมา วิกฤติในอาร์เจนตินาหลายครั้งไม่ได้ ทำให้ชาวอาร์เจนตินาโดยรวม เปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองแต่อย่างใด

ในทำนองเดียวกัน วิกฤติร้ายแรงของไทยเมื่อ 6 ปีที่แล้วดูจะไม่ได้ทำให้คนไทยโดยรวมเปลี่ยนพฤติกรรมเบื้องต้น มากพอที่จะทำให้กระดานหกไปตกอีกข้างหนึ่ง คล้ายในสังคมที่ก้าวหน้าแล้ว (อ่านต่อในฉบับวันศุกร์หน้า)


บทสรุปของ "ประชานิยม : หายนะจากอาร์เจนตินาถึงไทย?"

บ้านเขาเมืองเรา : ดร. ไสว บุญมา sawaib@hotmail.com

วิวัฒนาการในอาร์เจนตินาบ่งว่า เมื่อรัฐบาลหนึ่ง เริ่มใช้ประชานิยมแล้ว รัฐบาลที่ตามมา มักต้องใช้ด้วย เพราะผู้ที่เคยได้ประโยชน์ จะไม่ยอมเสียประโยชน์

อาร์เจนตินาประสบวิกฤติเศรษฐกิจครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2415 และครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ.2433 วิกฤติทั้งสองครั้ง มีลักษณะของฟองสบู่ร่วมกัน แต่ครั้งหลังร้ายแรงมากกว่าครั้งแรก

กระบวนการฟองสบู่เริ่มจากการไหลเข้ามาจากต่างประเทศ ของเงินทุนจำนวนมหาศาล ทั้งในรูปของการกู้ยืมของรัฐบาล ส่วนหนึ่งเพื่อสร้างปัจจัยพื้นฐานต่างๆ และในรูปของทุนเอกชน ซึ่งส่วนใหญ่ถูกใช้ไปเพื่อการเก็งกำไรอย่างกว้างขวาง ทำให้ดูเสมือนว่าเศรษฐกิจขยายตัวในอัตราสูง และทุกคนรู้สึกร่ำรวยขึ้นอย่างรวดเร็ว

แต่แท้ที่จริงมันเป็นภาพลวงอันเกิดจากการยืมเงินผู้อื่นมาแบ่งปันกัน นำไปสู่การบริโภคอย่างเมามัน เมื่อเงินทุนหยุดไหลเข้ามา แต่ตรงข้าม บางส่วนถูกถอนกลับออกไปนอกประเทศอย่างรวดเร็ว เพราะชาวต่างประเทศ เริ่มมองเห็นพฤติกรรมอันไม่ชอบมาพากลนั้น ฟองสบู่ก็แตก เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ และภาวะหนี้สินล้นพ้นตัว ต่อมาอาร์เจนตินาก็ประสบวิกฤติซ้ำแล้วซ้ำอีก

แม้จะเกิดขึ้นหลังของอาร์เจนตินากว่า 100 ปี วิกฤติเศรษฐกิจร้ายแรงครั้งแรกของไทย มีลักษณะฟองสบู่ เหมือนกับของอาร์เจนตินาทุกอย่าง มองจากแง่นี้เราอาจกล่าวว่า คนไทยไม่ได้อ่านประวัติศาสตร์ หรือจะว่าไทยเพิ่งเสียพรหมจรรย์ก็คงได้

ประเด็นจึงเป็นว่า คนไทยอ่านประวัติศาสตร์กันแล้วหรือยัง ? ถ้าอ่านแล้วได้บทเรียนอย่างไร และจะนำบทเรียนนั้นมาใช้อย่างถูกต้องหรือไม่ ?

วิกฤติครั้งที่แล้วเกิดจากการอยากรวยทางลัดของคนไทยเกือบทั่วประเทศ ประกอบกับการละเลยต่อหน้าที่ และพฤติกรรมที่ส่อไปในทางฉ้อฉล ของผู้มีอำนาจ ถ้าคนไทยส่วนมากได้บทเรียนจากวิกฤติที่ผ่านมา และเรียนรู้จากบทเรียนของอาร์เจนตินา และนำมาใช้อย่างถูกต้อง วิกฤติอาจไม่เกิดอีก

ปัจจุบันนี้ไทยมีลักษณะบางอย่างคล้ายอาร์เจนตินา ซึ่งอาจจะเรียกว่าติดเชื้อโรคละตินอเมริกาแล้ว นั่นคือ รัฐบาลมีหนี้สินมาก ความฉ้อฉลในสังคมมีอยู่สูง และรายได้ของชาติส่วนมาก ไปตกอยู่กับคนรวยเพียงกลุ่มเล็กๆ ลักษณะเหล่านี้มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ไทยต่างกับอาร์เจนตินาอย่างยิ่งในด้านหนึ่งคือ ไทยไม่เคยมีวัฒนธรรม ในการแก้ปัญหางบประมาณขาดดุล ด้วยการใช้เงินสำรองของประเทศจนหมดสิ้น และพิมพ์ธนบัตรเพิ่ม จนเกินฐานเศรษฐกิจ ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อร้ายแรง วัฒนธรรมนี้เปรียบเสมือนเขื่อนหรือปราการสุดท้ายสำหรับปกป้องสังคมไทย หากมันไม่ถูกทำลาย โอกาสที่ไทยจะประสบวิกฤติซ้ำซากจนเศรษฐกิจล่มสลายจะลดลง

ในความเห็นของคนส่วนใหญ่ ซึ่งได้ศึกษาความเป็นไปของอาร์เจนตินา สาเหตุหลักที่ทำให้อาร์เจนตินา ต้องประสบวิกฤติซ้ำซากในคริสต์ศตวรรษที่แล้ว ได้แก่ ลัทธิประชานิยม ซึ่งเข้าไปมีบทบาทในอาร์เจนตินา หลังจากฟองสบู่แตกเมื่อปี พ.ศ. 2433 เริ่มด้วยชาวอาร์เจนตินาเลือกพรรคการเมือง ซึ่งชูลัทธิประชานิยม เข้าเป็นรัฐบาลในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยมีประธานาธิบดี ฮิโปลิโต อิริโกเยน เป็นผู้นำ

หลังจากนั้นลัทธิประชานิยมก็ "มอมเมา" ชาวอาร์เจนตินาคล้ายยาเสพติดมาเรื่อย และมาเบ่งบานเต็มที่เมื่อสมัย ฮวน เปโรน ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง

พิษของยาเสพติดนั้น ยังมีผลมาถึงปัจจุบัน เพราะกฎหมายรักษาผลประโยชน์ของคนหลายกลุ่มยังไม่ได้ถูกยกเลิก และชาวอาร์เจนตินาจำนวนมากยังคาดหวังที่จะได้ความเอื้ออาทรหรือ "ของเปล่า" จากรัฐบาลซึ่งมักหา "ของเปล่า" มาแจกด้วยการหยิบยืม และการพิมพ์ธนบัตรจำนวนมหาศาล

ประเทศไทยสมัยหลังวิกฤติปี พ.ศ. 2540 มีรัฐธรรมนูญในระบบประชาธิปไตยเพื่อคนส่วนมาก ไม่ใช่รัฐธรรมนูญที่เขียนขึ้นเพื่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา คนไทยได้รัฐบาล "คิดใหม่-ทำใหม่" ซึ่งได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่ากำลังมอมเมาชาวบ้านด้วยมาตรการของลัทธิประชานิยม

เช่น กองทุนหมู่บ้าน ธนาคารประชาชน การพักชำระหนี้ การประกันสุขภาพถ้วนหน้า และโครงการเอื้ออาทรสารพัดอย่างซึ่งกำลังผุดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง

โครงการเหล่านั้นเกิดขึ้นส่วนหนึ่งเพื่อเล็งผลเลิศในการเลือกตั้ง ซึ่งกำหนดจะมีขึ้นในอีกปีกว่าข้างหน้า และน่าจะทำให้รัฐบาล "คิดใหม่-ทำใหม่" ได้รับความนิยมมากพอที่จะได้รับเลือกให้เข้าบริหารประเทศต่อไปอีก ประเด็นจึงเป็นว่า หลังจากการเลือกตั้งแล้วมาตรการประชานิยมจะหยุดหรือมีเพิ่มขึ้นอีก

การกระทำบางอย่าง เช่น การให้คำมั่นสัญญาที่จะหาทรัพย์มาเอื้ออาทรคนกลุ่มต่างๆ ต่อไป น่าจะบ่งว่าจะมีมาตรการประชานิยมตามมาอีก นอกจากนั้นวิวัฒนาการในอาร์เจนตินาบ่งว่า เมื่อรัฐบาลหนึ่งเริ่มใช้ประชานิยมแล้ว รัฐบาลที่ตามมามักต้องใช้ด้วย เพราะผู้ที่เคยได้ประโยชน์จะไม่ยอมเสียประโยชน์ และผู้ที่ยังไม่ได้ก็จะกดดันเอาประโยชน์บ้าง ปัจจัยนี้เองที่ทำให้นโยบายของประธานาธิบดี อิริโกเยน มาเบ่งบานเต็มที่ในสมัยประธานาธิบดี เปโรน

เมืองไทยมีตัวอย่างในแนวนี้อย่างชัดแจ้ง เกี่ยวกับค่าโดยสารรถประจำทางในกรุงเทพฯ ซึ่งต่ำกว่าต้นทุนดำเนินการมาหลายสิบปี และไม่มีรัฐบาลไหนสามารถขึ้นค่าโดยสารให้สูงจนคุ้มทุนได้ จึงไม่แปลกที่พรรคฝ่ายค้าน จะแย้มออกมาแล้วว่า จะใช้มาตรการแนวประชานิยมด้วย เช่น ความคิดเรื่องการศึกษาให้เปล่า 14 ปี และเรื่อง 1 ครอบครัว 1 ปริญญา ฉะนั้นไม่ว่าพรรคไหนจะได้เป็นรัฐบาล นโยบายประชานิยมจะดำเนินต่อไปและอาจมีมาตรการต่างๆ เพิ่มขึ้นอีก คำถามจึงเป็นว่า นโยบายประชานิยมของไทยจะนำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจซ้ำซากอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้หรือไม่ ? คำตอบขึ้นอยู่กับว่า มาตรการประชานิยมจะไปหยุดที่ไหน และถ้ามันทำให้รายได้ไม่พอกับรายจ่าย รัฐบาลจะทำอย่างไร

หากรัฐบาลจำกัดไม่ให้มาตรการประชานิยมเพิ่มขึ้นเมื่อมันเริ่มมีผลกระทบร้ายแรงต่องบประมาณ และปิดงบประมาณด้วยการไม่ก่อหนี้หรือพิมพ์ธนบัตรจำนวนมหาศาล แต่ใช้วิธีเบียดเอางบประมาณจากด้านอื่น มาเอื้อนโยบายประชานิยม และเก็บภาษีมากขึ้น วิกฤติซ้ำซากคงไม่เกิด เศรษฐกิจจะขยายตัวต่อไปในระยะสั้น ดังที่ปรากฏหลังจากรัฐบาลปัจจุบัน เข้าบริหารประเทศ เนื่องจากได้รับการกระตุ้น จากการใช้จ่ายเงินของรัฐอย่างรวดเร็ว

แต่ในระยะยาวการขยายตัวจะชะงัก และกลายเป็นซบเซาเพราะการกระทำเหล่านั้น จะนำไปสู่ความด้อยประสิทธิภาพ ของการใช้เงินงบประมาณ และกระทบต่อการลงทุนของภาคเอกชน

หากรัฐบาลปล่อยให้มาตรการประชานิยม และงบประมาณขาดดุลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และเลือกปิดงบประมาณ ด้วยการใช้เงินสำรองของชาติ เพิ่มหนี้สินหรือพิมพ์ธนบัตรจำนวนมหาศาล ดังที่อาร์เจนตินาเคยกระทำ ซึ่งมีค่าเท่ากับการทำลายเขื่อน หรือปราการสุดท้ายสำหรับปกป้องสังคมไทย วิกฤติจะเกิดขึ้นอีกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และไทยจะล่มสลายไม่ต่างกับอาร์เจนตินา

  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS