RSS

การสร้างจิตสำนึกของประชาชนต่อวิถีชิวิตการปกครองท้องถิ่นกับความเป็นประชาธิปไตยไทย

การสร้างจิตสำนึกของประชาชนต่อวิถีชิวิตการปกครองท้องถิ่นกับความเป็นประชาธิปไตยไทย
ในประเทศที่พัฒนาแล้ว การปกครองท้องถิ่นเกิดขึ้นก่อนที่จะมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยและการปกครองท้องถิ่นของประเทศที่พัฒนาแล้ว จะเป็นพื้นฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตย ถ้าเราลองเปรียบเทียบการปกครองท้องถิ่นของไทยกับประเทศที่พัฒนาแล้ว เราจะพบว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ไม่มีพื้นฐานของการปกครองท้องถิ่นที่เป็นอิสระมาก่อน และตามประวัติศาสตร์ของประเทศไทย เราเป็นประเทศหนึ่งที่รวมอำนาจไว้กับส่วนกลางมาโดยตลอด (อมร จันทรสมบูรณ์ : 2537)

แม้ว่านักคิด นักวิชาการสมัยใหม่จะให้ความสนใจในเรื่อง “การปกครองท้องถิ่น” แต่ก็ยังอาศัยรูปแบบการเลือกตั้งกันเท่านั้น ที่น่าห่วงก็คือประเทศไทยกำลังก้าวไปสู่รูปแบบการเลือกตั้งที่นำมาใช้อย่างเพ้อเจ้อ คิดว่าการกระจายอำนาจด้วยรูปแบบการเลือกตั้งทุกระดับ คือยาวิเศษหม้อใหญ่ที่แก้ไขรักษาโรคได้ สารพัดโรคสร้างสรรค์ประเทศให้รุ่งเรืองสันติธรรมได้ กระจายอำนาจที่เล่นสนุกกันในรัฐสภา หรือถกเถียงกันตามหน้าหนังสือพิมพ์ก็เป็นอย่างเพียงรูปแบบซึ่งยังไม่มีจิตวิญญาณที่แท้จริง นั้นคือ มีการเลือกตั้งปราศจากอธิปไตยของชุมชน (พิทยา ว่องกุล : 2539)
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ได้บัญญัติหมวดว่าด้วยการปกครองท้องถิ่นไว้ในหมวดที่ 9 ตั้งแต่มาตราที่ 282 ถึง 290 โดยมีสาระสำคัญ 4 ประการ คือ
1. ประเด็นองค์ประกอบและที่มาของสมาชิกองค์กรปกครองท้องถิ่น
2. ประเด็นการกำหนดให้มีคณะกรรมการ พนักงานส่วนท้องถิ่น
3. ประเด็นการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองท้องถิ่น
4. ประเด็นบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการปกครองท้องถิ่น
ทั้งนี้ ในการพิจารณาหลักการปกครองท้องถิ่นสามารถนำทฤษฎีว่าด้วยการปกครองท้องถิ่นมาจำแนกได้ 4 ประเด็นใหญ่ๆ คือ
1. ความสัมพันธ์ระหว่างการปกครองท้องถิ่นกับระบอบประชาธิปไตย
2. ที่มาของผู้นำองค์การปกครองท้องถิ่น
3. บทบาทของการปกครองท้องถิ่นในระดับชุมชน และระดับประเทศ
4. การปกครองท้องถิ่นในมติเศรษฐศาสตร์
โดยองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แบ่งปกครองท้องถิ่น ออกเป็น 3 ระดับ คือ
1. องค์การบริหารส่วนจังหวัด
2. เทศบาล
3. องค์การบริหารส่วนตำบล
องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)
มีความเป็นมา คือ เมื่อรัฐบาลได้จัดการปกครองโดยใช้รูปแบบจังหวัด รัฐบาลได้จัดตั้งสภาจังหวัดขึ้นในปี พ.ศ. 2476 เพื่อให้มีหน้าที่ให้คำปรึกษาแนะนำแก่จังหวัด แต่เป็นองค์กรที่ปรึกษา มิใช่องค์กรท้องถิ่น ความพยายามในการปกครองท้องถิ่นระดับจังหวัด เริ่มครั้งแรกในปี พ.ศ. 2498 โดยรัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม โดยจัดตั้งให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด มีฐานะเป็นนิติบุคคล ตาม พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด โดยมีองค์ประกอบที่สำคัญ 2 ส่วน คือ
1. สภาจังหวัด ทำหน้าที่ เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ มีสมาชิกสภาจังหวัดที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน มีตำแหน่งคราวละ 5 ปี โดยมีหน้าที่หลัก คือ
1.1 ออกข้อบัญญัติจังหวัด ซึ่งมีผลบังคับใช้แก่ประชาชน
1.2 ควบคุมและปฏิบัติงานด้านฝ่ายบริหาร
1.3 พิจารณาและอนุมัติงบประมาณรายจ่ายและ อบจ.
1.4 ตั้งคณะกรรมการ สภาจังหวัด เพื่อทำงานด้านต่างๆ
2. ฝ่ายบริหาร ได้แก่ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด และปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด อบจ. นอกจากนี้ยังมี สำนักเลขานุการจังหวัด ส่วนการคลัง ส่วนโยธา ส่วนเร่งรัดพัฒนาชนบท
เทศบาล
มีความเป็นมา ดังนี้ เทศบาลถือว่าเป็นหน่วยการปกครองท้องถิ่น ที่จัดตั้งขึ้นในเขตชุมชน ที่มีความเจริญและใช้ในการบริหารเมืองเป็นหลัก ซึ่งหลายประเทศประสบความสำเร็จในการใช้เทศบาลในการพัฒนาประเทศ สำหรับสังคมไทย เทศบาลเป็นรูปแบบท้องถิ่นหนึ่ง ตั้งแต่ พ.ศ. 2476 จนถึงปัจจุบัน โดยมีองค์ประกอบที่สำคัญ 3 ส่วน คือ
1. สภาเทศบาล ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ ควบคุมและตรวจสอบฝ่ายบริหาร อันเป็นวิถีทางในการถ่วงดุลอา
2. คณะเทศมนตรี คือฝ่ายกิจการของเทศบาล ได้แก่ คณะเทศมนตรี ซึ่งมีอำนาจในการบริหารงานหลัก อยู่ที่เทศมนตรี ซึ่งประกอบด้วย นายกเทศมนตรี และเทศมนตรีอีก 2-4 คนตามฐานะของเทศบาล
3. พนักงานเทศบาล เป็นเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ที่ปฏิบัติงานเกี่ยวพันกับความเป็นอยู่ของประชาชนและให้บริการแก่ประชาชน โดยอาจแบ่งเป็นสำนักปลัดเทศบาล ส่วนสาธารณสุข ส่วนคลัง ส่วนช่าง ส่วนกาประปา ส่วนการศึกษา
องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)
คือ หน่วยการบริหารส่วนท้องถิ่น มีฐานะเป็นนิติบุคคลและราชการส่วนท้องถิ่น จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 ซึ่งมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2538 โดยมีโครงสร้างในการบริหาร ดังนี้
1. สภา อบต. ประกอบด้วยสมาชิกหมู่บ้านละ 2 คน อบต. ใดมี 1 หมู่บ้านให้มีสมาชิก 6 คน อบต. ใดมี 2 หมู่บ้าน ให้มีสมาชิกได้หมู่บ้านละ 3 คน
2. โครงสร้างฝ่ายบริหาร ประกอบด้วย ประธานกรรมการบริหาร 1 คน และกรรมการ 2 คน โดยสภา อบต. เป็นผู้เลือก
ดังนั้น เราจึงควรปลูกฝังอุดมการณ์และแนวคิดของประชาชนโดยเน้นแบบมีส่วนร่วมในท้องถิ่นให้กับประชาชน เพื่อให้เกิดจิตสำนึก ทั้งในมิติสังคม มิติส่วนร่วม มิติหน้าที่ ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ถือได้ว่าเป็นคุณลักษณะเด่นของการปกครองท้องถิ่น โดยจุดหลักของการปกครองท้องถิ่น มีส่วนร่วมและรับผิดชอบต่อท้องถิ่นมากขึ้น และเมื่อการปกครองท้องถิ่นพัฒนาขึ้น ประชาชนเกิดความรู้ความเข้าใจ และมีส่วนร่วมในการปกครองท้องถิ่นอย่างแท้จริง ก็จะทำให้ประเทศชาติ พัฒนาทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคม ตลอดถึงส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาประชาธิปไตยในระดับชาติต่อไป

  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS