RSS

ตัวแบบนโยบายสาธารณะ

ตัวแบบนโยบายสาธารณะ

Dye (1998, pp. 14-36)

Dye (1998, pp. 14-36) ได้นำเสนอตัวแบบการกำหนดนโยบายสาธารณะถึง 9 ตัวแบบ เป็นการเสนอแนวคิดที่แตกต่างกัน ดังนี้

1. Institutional Model ตัวแบบสถาบัน เสนอแนวคิดให้เห็นว่า การกำหนดนโยบายสาธารณะเป็นผลผลิตของสถาบันของรัฐ (policy as institutional output) ที่มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด เช่น สภาผู้แทน คณะรัฐบาล กระทรวง ศาล เทศบาลเป็นต้น โดยสถาบันของรัฐดังกล่าวจะกำหนดนโยบาย เพื่อนำไปปฏิบัติและบังคับใช้ในสังคม

2. Process Model ตัวแบบกระบวนการ แนวคิดนี้ชี้ให้เห็นว่า การกำหนดนโยบายสาธารณะเป็นกิจกรรมทางการเมือง (policy as political activity) ที่มีลักษณะเป็นขั้นตอนของกระบวนการ โดยเริ่มตั้งแต่การกำหนดปัญหา การกำหนดเป็นวาระเพื่อการตัดสินใจ การก่อรูปนโยบาย การกำหนดให้นโยบายมีผลบังคับใช้ตามกฎหมายการนำนโยบายไปปฏิบัติ และการประเมินผลนโยบาย
3. Group Model ตัวแบบกลุ่ม เสนอแนวคิดให้เห็นว่า การกำหนดนโยบายสาธารณะเป็นการหาจุดร่วมกันหรือดุลยภาพระหว่างกลุ่มต่าง ๆ (policy as group equilibrium) โดยเริ่มต้นด้วยการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มต่าง ๆ ที่มีความคิดความอ่านคล้ายกัน มีการรวมตัวกันขึ้นเป็นกลุ่มเพื่อรักษาและแสวงหาผลประโยชน์ร่วมกันการเมือง จึงเป็นการต่อสู้ระหว่างกลุ่มเพื่อแย่งกันกำหนดนโยบายสาธารณะออกมาให้ตรงกับ ความต้องการและสอดคล้องกับผลประโยชน์ของกลุ่มตนให้มากที่สุด เมื่อเป็นเช่นนี้ ระบบการเมืองจึงทำหน้าที่ประสานความขัดแย้งระหว่างกลุ่มต่าง ๆ เหล่านั้นโดยการสร้างกติกาการต่อสู้ระหว่างกลุ่ม เช่น โดยใช้หลักเสียงข้างมาก หรือมีการประนีประนอมประสานผลประโยชน์ของกลุ่มให้ออกมาในรูปนโยบายสาธารณะ
4. Elite Model ตัวแบบผู้นำ แนวคิดนี้ชี้ให้เห็นว่า นโยบายสาธารณะถูกกำหนดโดยความต้องการและค่านิยมของผู้นำที่ปกครองประเทศ (policy as elite preference)โดยเห็นว่าประชาชนไม่ค่อยสนใจและเมินเฉยเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะ ผู้นำจึงแสดงความเห็นในการกำหนดนโยบายเสียเองมากกว่าที่นโยบายจะเกิดจาก ประชาชนส่วนใหญ่ในสังคม ส่วนข้าราชการก็มีหน้าที่เพียงนำนโยบายไปปฏิบัติเพื่อตอบสนองความต้องการของ ผู้นำ
5. Rational Model ตัวแบบหลักเหตุผล เสนอแนวคิดให้เห็นว่า นโยบายสาธารณะเป็นการพยายามกำหนดแนวทางเลือกนโยบายที่ให้ประโยชน์ต่อสังคม ส่วนรวมได้สูงสูด (policy as maximum social gain) กล่าวคือ เป็นนโยบายที่ให้ผลตอบแทน (gains) ทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม มากกว่าค่าใช้จ่าย (costs)ทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมที่ต้องเสียไปเพื่อนโยบายนั้น รัฐบาลไม่ควรเลือกใช้นโยบายใดที่ให้ผลตอบแทนน้อยกว่าค่าใช้จ่ายซึ่งไม่ได้ หมายถึงแต่เพียงตัวเงินเท่านั้นยังรวมไปถึงผลได้ผลเสียทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมด้วย
6. Incremental Model ตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป แนวคิดนี้ได้ชี้ให้เห็นว่า นโยบายสาธารณะเป็นการกำหนดแนวนโยบายที่อาศัยนโยบายในอดีตเป็นเกณฑ์หรือเป็น ตัวแปรสำคัญ (policy as variations on the past) โดยผู้กำหนดนโยบายให้ความสนใจเฉพาะส่วนที่เพิ่ม ลด หรือเปลี่ยนแปลงไปจากนโยบายที่มีอยู่เดิมเท่านั้น การกำหนดนโยบายรูปแบบนี้นำเสนอครั้งแรกโดย Lindblom (1980) ซึ่งเขาไม่เห็นด้วยกับการวิเคราะห์แบบใช้หลักเหตุผล เพราะการขาดความสามารถของนักบริหาร การไม่มีเวลาและค่าใช้จ่ายในการที่จะศึกษาทางเลือก และผลในวิธีต่าง ๆ โดยเห็นว่า นโยบายที่มีอยู่เดิมถูกต้องแล้วไม่จำเป็นต้องไปเสียเวลาพิจารณาใหม่อีก
7. Game Theory Model ตัวแบบทฤษฎีเกม แนวคิดนี้เสนอให้เห็นว่า นโยบายสาธารณะเป็นการกำหนดนโยบายโดยการเลือกอย่างมีเหตุผลในสถานการณ์ที่มี การแข่งขัน (policy as rational choice competitive situations) โดยทฤษฎีเกม หมายถึงการศึกษาการตัดสินใจอย่างมีเหตุผลในสถานการณ์ที่มีทางเลือกสองทาง หรือมากกว่านั้นที่ต้องเลือกและผลที่ได้ขึ้นอยู่กับการเลือกในแต่ละทางเลือก ซึ่งในการกำหนดนโยบายอาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุด หรืออาจโชคร้ายกับทางที่เลือก ทฤษฎีเกมมักนิยมใช้ในการตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องสงคราม สันติภาพ การใช้อาวุธนิวเคลียร์ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เป็นต้น ส่วนข้อเสียของทฤษฎีเกม ก็คือ ไม่เหมาะสมกับความขัดแย้งที่รุนแรง และไม่เหมาะสมที่จะเป็นเครื่องมือในการกำหนดนโยบายของรัฐเพราะยากที่จะคำนวณ ประโยชน์สูงสุดที่จะได้รับ และมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ไม่เอื้อต่อการตัดสินใจอย่างมีเหตุผล
8. Public Choice Model ตัวแบบทางเลือกสาธารณะ เสนอแนวคิด ให้เห็นว่านโยบายสาธารณะเป็นการกำหนดนโยบายโดยรวบรวมการตัดสินใจโดยดูที่ ประโยชน์ของแต่ละบุคคล (policy as collective decision making by self-interested individuals)โดยทางเลือกสาธารณะ หมายถึง การตัดสินใจที่ไม่นำการตลาดมาพิจารณาในการศึกษาด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการวิเคราะห์ทางเศรษฐกิจในการกำหนดนโยบายสาธารณะ
9. Systems Model ตัวแบบระบบหรือทฤษฎีระบบ เสนอแนวคิด ให้เห็นว่า การกำหนดนโยบายสาธารณะเกิดจากผลผลิตของระบบ (policy as system output) โดยระบบการเมืองจะทำหน้าที่ตัดสินใจกำหนดนโยบายสาธารณะต่าง ๆ ในการจัดสรรผลประโยชน์และคุณค่าต่าง ๆ ของส่วนรวมในรูปปัจจัยนำออกหรือนโยบายสาธารณะตาม

บรรณานุกรม

นาย ธีรทร วัฒนกูล. (2549). การกำหนดนโยบายในการจัดตั้งสถาบันประกันเงินฝาก. ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (รัฐประศาสนศาสตร์), มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

Dye, T. R. (1998). Understanding public policy (9th ed.). Upper Saddle River, NJ: Prentice-Hall.
Easton (1965, p. 112)

Easton (1965, p. 112) ได้เสนอแนวคิดของกิจกรรมทางการเมืองและนโยบายสาธารณะโดยนำแนวคิดระบบการ เมือง (political system) มาเสนอตัวแบบหรือทฤษฎีระบบซึ่งเป็นตัวแบบที่ได้รับความสนใจอย่างมาก โดยแสดงให้เห็นภาพว่านโยบายสาธารณะเป็นผลผลิตของระบบการเมือง เริ่มจากปัจจัยนำเข้า (inputs) ที่เป็นความต้องการและการสนับสนุน (demands and support) ที่เกิดขึ้นจากบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่จะตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อม (environment) นำไปสู่ระบบการเมือง เพื่อการตัดสินใจและการกระทำ (decisions and actions) เพื่อเป็นผลผลิต (output) นำไปกำหนดเป็นนโยบายสาธารณะและผลของนโยบายสาธารณะ เมื่อได้รับผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมอาจมีผลสะท้อนกลับ (feedback) ไปเป็นปัจจัยนำเข้าอีกเป็นพลวัตร

บรรณานุกรม

นาย ธีรทร วัฒนกูล. (2549). การกำหนดนโยบายในการจัดตั้งสถาบันประกันเงินฝาก. ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (รัฐประศาสนศาสตร์), มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

Easton, D. (1965). A framework for political analysis. Englewood Cliffs, NJ: Prentice-Hall.


ตัวแบบนโยบายสาธารณะ


Lindblom (1980, pp. 2-5) ได้เสนอแนวคิดให้เห็นว่า ในโลกเสรีประชาธิปไตยมีคำถามอยู่ 2 ประการ เมื่อถูกถามถึงจุดเน้นในการกำหนดนโยบายประการแรก ในเรื่องการแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ อีกประการหนึ่ง คือ การตอบสนองการควบคุมโดยประชาชนในการกำหนดนโยบาย หนทางที่ดีที่สุดในการเรียนรู้ความยุ่งยากสับสนในการกำหนดนโยบาย วิธีที่นิยมกันมากโดยการแยกการกำหนดนโยบาย ในส่วนที่เป็นองค์ประกอบต่าง ๆ และการวิเคราะห์โดยประการแรก ต้องศึกษาว่าปัญหานโยบายเกิดขึ้นอย่างไร และปัญหานั้นปรากฏเป็นวาระของรัฐบาลที่จะตัดสินใจกับปัญหานั้น จากนั้นก็ระบุประเด็นปัญหาของประชาชนว่ามีอะไรบ้างที่จะต้องทำ และจะกระทำอย่างไรที่ถูกต้อง จะบริหารนโยบายอย่างไรในการนำนโยบายไปปฏิบัติ และสุดท้ายสิ้นสุดกระบวนการนโยบายจะประเมินผลนโยบายอย่างไร

Lindblom ได้กล่าวอีกว่า การกำหนดนโยบายเป็นกระบวนการที่ยุ่งเหยิงไม่เป็นระเบียบ (untidy process) ในการกำหนดนโยบาย จะมีการโต้แย้งและต่อต้านคัดค้านอย่างเห็นได้ชัด เช่น ปัญหาของคนกลุ่มหนึ่งเมื่อได้รับการแก้ไข กลับกลายเป็นปัญหาของคนอีกกลุ่มหนึ่ง เช่น ราคาพืชไร่ที่สูงขึ้นช่วยแก้ปัญหาของชาวไร่ แต่ก็สร้างปัญหาให้ผู้บริโภค เป็นต้น นอกจากนี้ปัญหานโยบายเรื่องหนึ่งเมื่อนำมากำหนดเป็นวาระแห่งชาติ ก็เป็นผลของความพยายามที่จะต้องปฏิบัติในนโยบายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอีกด้วยและนโยบายบางครั้งเกิดจากการประนีประนอมทางการเมือง ระหว่างผู้กำหนดนโยบายในหลาย ๆ ฝ่าย (policy makers) ซึ่งไม่ได้แก้ปัญหาเพื่อตอบสนองต่อนโยบายนั้นบางครั้งจะพบว่า นโยบายเกิดขึ้นมาจากโอกาสใหม่ (new opportunities) ไม่ได้เกิดจากปัญหา (problems) เพียงอย่างเดียว จึงพิจารณาได้ว่าการกำหนดนโยบายเป็นกระบวนการที่ซับซ้อนที่สุดที่ไม่มีจุด เริ่มต้นหรือสิ้นสุด และไม่มีขอบเขตที่แน่นอนซึ่งความซับซ้อนนั้นก็เป็นผลมาจากคำกล่าวที่ว่าเป็น นโยบาย

Dror (1971, pp. 261-262) เสนอแนวคิด ที่เป็นตัวแบบสำหรับการกำหนดนโยบายที่ดี ตามสมมติฐาน ต่อไปนี้
ประการแรก การกำหนดนโยบายที่ดีเกี่ยวพันกับความพยายามในการเพิ่มเนื้อหาของนโยบายอย่าง มีเหตุมีผล โดยมีคำอธิบายเป้าหมายมากขึ้น มีการค้นหาทางเลือกใหม่อย่างกว้างขวาง มีสำนึกในความพยายามที่จะทำในสิ่งที่คาดหมายไว้อย่างพิถีพิถันมีจุดหมายที่ ชัดเจนและมีหลักเกณฑ์ในการตัดสินใจกับนโยบายที่เกิดขึ้น
ประการที่สอง มีกระบวนการเชิงเหตุผลอย่างมีนัยสำคัญในการกำหนดนโยบายที่ซับซ้อน สิ่งสำคัญในกระบวนการนี้ไม่เพียงแต่การมีความรู้และประสบการณ์ของผู้กำหนด นโยบาย แต่ยังต้องมีการวิจัยอันทันสมัยในทางจิตวิทยา
ประการที่สาม การกำหนดนโยบายอย่างมีเหตุผลที่ดี สามารถทำให้ดีขึ้นได้ในหลายความหมาย เช่น การศึกษาเป็นกรณีศึกษา การประชุม และการระดมสมอง เป็นต้น
ประการที่สี่ การกำหนดนโยบายที่แท้จริงในยุคใหม่ต้องกล่าวถึงแนวโน้มของสิ่งที่จะเกิดขึ้น ต่อไป การเปลี่ยนแปลงส่วนเพิ่ม (incremental change) งานที่เกิดขึ้นไม่ประจำ และงานที่เกิดขึ้นเป็นประจำ
Dror กล่าวอีกว่า การกำหนดนโยบายสาธารณะเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายศาสตร์ ทั้งนี้เพราะนโยบายศาสตร์จะครอบคลุมตั้งแต่ เริ่มกำหนดนโยบายจนถึงเสร็จสิ้นนโยบายก็คือ การประเมินผลนโยบาย นโยบายสาธารณะที่กำหนดเป็นกฎหมาย จะทำให้นโยบายดังกล่าวใช้ได้นานและการยกเลิกทำได้ยาก ทำให้นโยบายนั้นเป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนทิศทางสังคมในกรอบกว้างของนโยบาย ศาสตร์
นอกจากนี้ เราอาจใช้เงื่อนไขของนโยบายศาสตร์ (policy sciences) เพื่อวัตถุประสงค์ในการออกแบบเนื้อหาของทิศทางนโยบายในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ซึ่งนโยบายศาสตร์จะหมายรวมถึง ประการแรก วิธีการตรวจสอบกระบวนการนโยบาย ประการที่สอง ผลที่ได้จากการศึกษานโยบาย และประการสุดท้าย การหากฎเกณฑ์หรือระเบียบปฏิบัติที่สำคัญที่จะช่วยให้มีความเข้าใจถึงความจำ เป็นที่ต้องมีนโยบายในเวลานั้น

Lasswell (1951, p. 5) ยังได้กล่าวถึง คำว่า “นโยบาย” คือ คำง่าย ๆ ที่ถูกใช้ในการบ่งชี้ถึงการได้เลือกสิ่งที่สำคัญที่สุด ทั้งในองค์กรหรือในชีวิตส่วนตัว เรามักพูดว่าเป็นนโยบายของรัฐบาล นโยบายทางธุรกิจ หรือเป็นนโยบายของข้าพเจ้า ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับเงินลงทุนและวัสดุต่าง ๆ ที่ต้องใช้ในการนำนโยบายไปปฏิบัติ ดังนั้น นโยบายก็คือความอิสระของกลุ่มคำที่มีความหมายเป็นนัยถึงความไม่พึงประสงค์ จำนวนมาก ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับคำว่า การเมือง (political) ซึ่งถูกเชื่อเสมอว่ามีความหมายเป็นนัยถึง สมาชิกหรือผู้ที่สังกัดอยู่กับพรรคการเมือง (partisanship) หรือการทุจริตฉ้อโกง (corruption)

Peters (1996, pp. 19-20) ได้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับการกำหนดนโยบายอีกแนวทางหนึ่งที่น่าสนใจและแตกต่าง จากผู้อื่น โดยมองจากมุมมองการบริหารเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่สาธารณะและเป็นรัฐบาลที่ดี แบ่งเป็น 4 ตัวแบบ คือ รัฐบาลแบบการตลาด(market government) รัฐบาลแบบการมีส่วนร่วม (participation government) รัฐบาลที่มีความยืดหยุ่น (flexible government) และรัฐบาลที่ลดกฎเกณฑ์ (deregulated government)ในแต่ละรูปแบบมีการกำหนดนโยบาย (policy making) ที่แตกต่างกัน ดังนี้
1. รัฐบาลแบบการตลาด กำหนดนโยบายโดยใช้หลัก Internal Markets และ Market Incentives สร้างการเปลี่ยนแปลงในภาครัฐให้แก่ข้าราชการ ทำลายการผูกขาดของภาครัฐเพื่อให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วม สนับสนุนให้มีการกระจายอำนาจหน้าที่ในหลาย ๆ ด้าน เสมือนตัวแทนของผู้ประกอบการที่มีอำนาจอิสระในการตัดสินใจด้วยตนเอง หรือเป็นผู้นำองค์กรที่มีอำนาจตัดสินใจ มีการแข่งขันในองค์กรเข้ามาเกี่ยวข้องในการให้บริการ และมีความร่วมมือกันในการแก้ปัญหา แต่ปัญหาที่เกิดจากการกำหนดนโยบายที่เกิดจากแนวคิดด้านการตลาด ที่สำคัญที่สุดประการหนึ่ง ก็คือ ความยุ่งยากในการร่วมมือและการควบคุมจากการที่มีการกระจายอำนาจ
2. รัฐบาลแบบการมีส่วนร่วม กำหนดนโยบายโดยใช้หลัก Consultation และ Negotiation มีการปรึกษาหารือกันและการตกลงเจรจา กระบวนการนโยบายกำหนดจากล่างสู่บน และบนลงล่าง มีการกระจายการตัดสินใจมากกว่าการใช้ความสัมพันธ์สั่งการตามลำดับชั้น การกำหนดนโยบายเน้นการมีส่วนร่วม การปรึกษาหารือกัน และการต่อรองกันมีการสื่อสารภายในองค์กรอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ต้องการให้ลูกจ้างและลูกค้าเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจขององค์กร มีการสนทนาหารือกันอย่างมีความสุขในองค์กร แม้การมีส่วนร่วมเป็นจุดแข็งที่สำคัญ แต่ก็เป็นจุดอ่อนเมื่อให้มีความยืดหยุ่นเป็นสิ่งสำคัญ
3. รัฐบาลที่มีความยืดหยุ่น กำหนดนโยบายโดยใช้หลัก Experimentation มีการทดลองทำนโยบายใหม่ ๆ กระบวนงบประมาณมีส่วนสำคัญในการกำหนดนโยบายและความคิดเกี่ยวกับการจัดการ สามารถยืดหยุ่นได้ มีแนวทางในการกระจายเงินทุนของรัฐบาลให้เป็นไปอย่างมีศักยภาพ แนวคิดยืดหยุ่นนี้จะมีการกระจายงบประมาณอย่างมีเหตุผลเฉพาะส่วนที่เพิ่มขึ้น เท่านั้น ที่เรียกว่า Incrementalism
4. รัฐบาลที่ลดกฎเกณฑ์ ในการจัดการยุคใหม่การกำหนดนโยบายคือ สิทธิพิเศษของผู้นำทางการเมือง จะลดกฎเกณฑ์ ข้อบังคับและการควบคุมลง เพื่อให้ระบบราชการมีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายและการทำงานมีอิสระเสมือน เป็นผู้ประกอบการที่มีพลัง การลดกฎเกณฑ์นั้นไม่ได้หมายถึงการสนับสนุนให้มีการโต้แย้งอำนาจในการกำหนด นโยบายที่ทำโดยสถาบันทางการเมืองทั้งหมด แต่การกำหนดนโยบายจะดูจากพื้นฐานของเนื้อหาที่ดีกว่า การลดกฎเกณฑ์จะนำแนวคิดรัฐบาลแบบมีส่วนร่วมเข้ามาใช้เพื่อลดระดับของการควบ คุมโดยชั้นการบังคับบัญชาด้วย

บรรณานุกรม

นาย ธีรทร วัฒนกูล. (2549). การกำหนดนโยบายในการจัดตั้งสถาบันประกันเงินฝาก. ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (รัฐประศาสนศาสตร์), มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

Dror, Y. (1971). Ventures in policy sciences: Concepts and applications. New York: American Elsevier.

Lasswell, H. D. (1951). The policy orientation. In D. Lerner & H. D. Lasswell (Eds.), The policy sciences: Recent developments in scope and method (pp. 3-15). Stanford, CA: Stanford University Press.

Lindblom, C. E. (1980). The policy-making process (2nd ed.). Englewood Cliffs, NJ: Prentice-Hall.

Peters, B. G. (1996). The future of governing: Four emerging models. Lawrence, KS: University Press of Kansas.
การกำหนดนโยบายสาธารณะของประเทศไทย

การเมืองและนโยบายสาธารณะ เป็นขอบข่ายที่สำคัญประการหนึ่งของรัฐประศาสนศาสตร์ ซึ่งการศึกษารัฐประศาสนศาสตร์ในประเทศไทย มีมานานกว่า 5 ทศวรรษแล้ว นโยบายสาธารณะเป็นกิจกรรมของฝ่ายการเมือง ซึ่งนโยบายสาธารณะก็คือ กฎหมายหรือการตัดสินใจของรัฐบาล
อุทัย เลาหวิเชียร (2544, หน้า 8, 14) ได้กล่าวว่า รัฐประศาสนศาสตร์ คือ วิชาที่เกี่ยวกับการบริหารรัฐกิจ การบริหารรัฐกิจ ก็คือ การบริหารภาครัฐมีลักษณะที่เกี่ยวข้องกับการเมือง นักบริหารในภาครัฐไม่ใช่แต่เพียงเป็นผู้ที่นำนโยบายไปสู่การปฏิบัติเท่านั้น ยังมีบทบาทสำคัญยิ่งในฐานะผู้กำหนดนโยบาย ทั้งที่การกำหนดนโยบายเป็นหน้าที่ของฝ่ายการเมือง เมื่อนักบริหารรัฐกิจทำหน้าที่เป็นผู้กำหนดนโยบายก็เท่ากับว่าได้ปฏิบัติ หน้าที่ของฝ่ายการเมืองด้วย
จะเห็นได้ว่า การกำหนดนโยบายสาธารณะมีความสัมพันธ์กับระบอบการเมือง ระบอบการเมืองที่แตกต่างกันจะมีผลต่อการกำหนดนโยบายสาธารณะทั้งในเรื่อง วัตถุประสงค์ของนโยบาย ค่านิยม และบทบาทของผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบาย ประเทศไทยก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 มีการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยผู้ปกครองคนเดียว (monarchy) หรือคณะบุคคล (aristocracy) มีอำนาจทั้งในทางนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการโดยสมบูรณ์ ในการกำหนดนโยบายต่าง ๆ ระบบราชการไทยมีลักษณะเป็นระบบราชการแบบผู้นำมีอำนาจเหนือระบบราชการ (ruler-dominated bureaucracy)
ต่อมาภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 ประเทศไทยได้มีการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย ได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับแรกเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 ระบบราชการไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2475 จนถึงปี พ.ศ. 2522 มีลักษณะเป็นแบบอำมาตยาธิปไตย (bureaucratic elite system)
ชัยอนันต์ สมุทวณิช (2522, หน้า 140-142) เสนอว่า เมื่อมีข้าราชการเข้าไปดำรงตำแหน่งสำคัญในคณะรัฐมนตรีและตำแหน่งทางการเมือง อื่น ๆ ข้าราชการจะมีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบาย เพราะมีบทบาททั้งสองด้าน คือ ทั้งการเมืองและการบริหารในเวลาเดียวกัน อย่างไรก็ดี การเมืองเริ่มมีบทบาทมากขึ้น เพราะการเมืองเป็นเรื่องของการกำหนดนโยบายและเป้าหมายของรัฐ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจในเชิงคุณค่า (value judgement) โดยตรง การตัดสินใจว่าควรดำเนินนโยบายเช่นนี้เท่ากับเป็นการยอมรับว่านโยบายนั้นดี กว่าทางเลือกด้านอื่น ๆ นักการเมืองสามารถอ้างความชอบธรรมในการเลือกและกำหนดคุณค่าได้ ก็เพราะการที่ได้รับเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน และเป็นผู้กลั่นกรอง ตลอดจนสะท้อนเจตนารมณ์และความต้องการของประชาชน
ไพศาล สุริยะมงคล (2531, หน้า 702, 709) ได้นำเสนอให้เห็นว่า การกำหนดนโยบายสาธารณะของประเทศไทยมีปัจจัยเกี่ยวกับวัฒนธรรมทางการเมืองของ ไทยเข้ามามีบทบาทสำคัญ ในกรณีที่การกำหนดนโยบายสาธารณะสอดคล้องกับวัฒนธรรมทางการเมือง นโยบายสาธารณะนั้นก็จะสามารถดำเนินการไปได้ด้วยดี เพราะได้รับการสนับสนุนจากประชาชน แต่ในขณะเดียวกัน ถ้านโยบายนั้นขัดแย้งอย่างรุนแรงกับวัฒนธรรมทางการเมืองก็จะไม่ได้รับการ สนับสนุนจากประชาชน เป็นผลให้ไม่สามารถดำเนินนโยบายนั้นได้หรือการปฏิบัติตามนโยบายไม่เกิดผลตาม ที่ต้องการ ตัวอย่างเช่น วัฒนธรรมทางการเมืองเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ จะเห็นว่าคนไทยเคารพเทิดทูนสถาบันกษัตริย์ เมื่อรัฐกำหนดนโยบายหรือกิจกรรมเพื่อเป็นการเทิดทูนองค์พระมหากษัตริย์ เช่น การเดินเทิดพระเกียรติ เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระ-เจ้าอยู่หัว จึงมักได้รับการสนับสนุนจากสถาบันและกลุ่มสังคมต่าง ๆ ตลอดจนประชาชนชาวไทยทั่วประเทศ ส่วนปัจจัยที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ ปัจจัยทางเศรษฐกิจมีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายสาธารณะมาก จะเห็นได้จากนโยบายบางนโยบายซึ่งมีประโยชน์และประชาชนเรียกร้องอย่างมาก แต่ถ้านโยบายนั้นต้องใช้งบประมาณมากอันเป็นการเกินฐานะทางการเงินการคลังของ รัฐบาลแล้ว รัฐบาลก็อาจไม่สามารถดำเนินนโยบายที่พึงปรารถนานั้นได้
ส่วนองค์กรที่มีอำนาจตามกฎหมายในการกำหนดนโยบายสาธารณะของไทย ก็คือ รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ตุลาการ และกระทรวง ทบวง กรม นอกจากนี้ยังมีองค์กรและบุคคลที่มีส่วนร่วมอย่างไม่เป็นทางการในการกำหนด นโยบายสาธารณะของไทย ได้แก่ พรรคการเมือง กลุ่มผลประโยชน์ สื่อมวลชน ประชาชนทั่วไป รวมทั้งหน่วยราชการอื่นที่ไม่มีอำนาจตามกฎหมายในการกำหนดนโยบายสาธารณะ ตัวอย่างเช่น รัฐสภามีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำกฎหมาย คณะรัฐมนตรีมีอำนาจในการกำหนด ดูแล กำกับและติดตามผลการปฏิบัติตามนโยบายของกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ และกระทรวง ทบวง กรม ได้รับมอบหมายให้มีอำนาจออกกฎและระเบียบต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นการกำหนดนโยบายสาธารณะ เป็นต้น

บรรณานุกรม

นาย ธีรทร วัฒนกูล. (2549). การกำหนดนโยบายในการจัดตั้งสถาบันประกันเงินฝาก. ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (รัฐประศาสนศาสตร์), มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

ชัยอนันต์ สมุทวณิช. (2522). การเมืองกับการบริหาร. กรุงเทพมหานคร: จุฬาลงกรณ์-มหาวิทยาลัย, คณะรัฐศาสตร์.

ไพศาล สุริยะมงคล. (2531). นโยบายสาธารณะของไทย. ใน เอกสารการสอนชุดวิชานโยบายสาธารณะและการวางแผน (หน่วยที่ 14, พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์ประชาชน.

อุทัย เลาหวิเชียร. (2544). รัฐประศาสนศาสตร์: ลักษณะวิชาและมิติต่าง ๆ (พิมพ์ครั้งที่ 7). กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์เสมาธรรม.

  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS