RSS

สังเคราะห์ เมืองไทยภายใต้ระบอบทักษิณ

สังเคราะห์ เมืองไทยภายใต้ระบอบทักษิณ
"อนุช อาภาภิรม"

รายงาน  มติชนรายวัน  วันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2548 ปีที่ 28 ฉบับที่ 9869

หมายเหตุ : บทวิเคราะห์และสังเคราะห์เรื่อง "ประเทศไทย 2547 : ภูมิทัศน์การเมืองโลกที่เปลี่ยนไป" จัดทำโดยนายอนุช อาภาภิรม หัวหน้าโครงการข่าวสารทิศทางประเทศไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) ใช้ในการประกอบในการเสวนาในชื่อเรื่องเดียวกัน เมื่อวันที่ 17 มีนาคม "มติชน" ขอนำมาคัดย่อสรุปในบางประเด็น

 บทนำ : ระบอบทักษิณกับภูมิทัศน์การเมืองโลก

ในรอบปี 2547 มีสัญญาณแสดงว่าภูมิทัศน์การเมืองโลกกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่ โดยอำนาจและอิทธิพลของสหรัฐที่เป็นอภิมหาอำนาจแต่เพียงหนึ่งเดียวลดถอยลง เปิดให้ภูมิภาคอื่น ได้แก่ ยุโรป ญี่ปุ่น จีน และอินเดียขึ้นมาแข่งอำนาจและอิทธิพล ภายในประเทศระบอบทักษิณทำให้ภูมิทัศน์การเมืองไทยเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างเห็นได้ชัดเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ในบางด้าน เช่น ระบบราชการแบบเดิมอาจไม่หวนกลับ

สถานการณ์ในประเทศ

ตลอดช่วง 2547 มีการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับระบอบทักษิณอย่างกว้างขวาง ทั้งด้านบวกและด้านลบ โดยในประวัติศาสตร์ระยะใกล้ ยังไม่มีผู้นำใดที่ก่อการเปลี่ยนแปลง และการวิพากษ์วิจารณ์ได้มากเท่าระบอบทักษิณ โดยพื้นฐานเป็นการสืบทอดเจตนารมณ์เดิม ได้แก่ การพัฒนาระบบทุนหรือการไล่ทันตะวันตกหรือชาติพัฒนาแล้ว รวมทั้งรับเอามรดกทางวัฒนธรรมการเมืองการปกครองของไทยบางอย่าง ได้แก่ ลัทธิอุปถัมภ์ ลัทธิอำนาจนิยม และลัทธิพ่อบ้านเป็นการแหวกทางตัน(Breakthrough) จากระบบเดิม อันเป็นการบริหารการปกครองโดยมีระบบราชการเป็นแกน ผู้นำสำคัญ ได้แก่ ขุนนางราชการ และขุนนางนักวิชาการ รอบแกนนำนี้ ได้แก่ พรรคและนักการเมือง กลุ่มธุรกิจ รวมถึงผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นที่ฟันกันเกลียว ทั้งร่วมกันและขัดแย้งผลประโยชน์กันอย่างหนัก

-ระบอบทักษิณก่อปรากฏการณ์ใหม่บางอย่าง

ทางการเมือง ได้แก่ มีการเมืองที่รวมศูนย์อำนาจจากการเลือกตั้งค่อนข้างเด็ดขาด มีนโยบายการบริหารประเทศของตนอย่างเด่นชัด การปฏิรูประบบราชการการเดินนโยบายประชานิยม(ทางการรัฐบาลเรียกว่านโยบายที่ถือประชาชนเป็นศูนย์กลาง-People-centered Policy) เข้าถึงประชาชนฐานรากโดยตรง แสดงบทบาทบนเวทีโลกชัดเจน

ทางเศรษฐกิจ ได้แก่ การก้าวสู่ระดับภูมิภาคและระดับโลกอย่างได้ผล การขยายการลงทุนอย่างทั่วด้าน การนำการผลิตระบบตลาดและจิตใจผู้ประกอบการกระจายไปทั่วประเทศ การเร่งทำสัญญาเขตการค้าเสรี และการปฏิรูประบบสถานบันการเงิน

ในด้านสังคมชุมชน ได้แก่ การขยายฐานะระบบทุนนิยมสูงประชาชนรากหญ้า การขจัดผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นและสร้างประชาสัมคมใหม่ ที่เป็นมิตรกับระบบทุนมากขึ้น เร่งรัดพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

-ในด้านของการวิพากษ์วิจารณ์ระบอบทักษิณ

อาจใช้ชื่อกลางๆ ว่า "รู้ทันทักษิณ" เกิดจากเหตุปัจจัยหลายอย่าง ได้แก่ ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ความไม่พอใจส่วนตัว และความไม่พอใจด้านทรรศนะและแนวทางการพัฒนา พลังที่ออกหน้ามาจากนักวิชาการและเอ็มจีโอบางกลุ่ม แต่พลังที่เป็นแกน ได้แก่ กลุ่มที่เรียกกันว่า "นายทุนเก่าผู้ดีเก่า" เนื่องจากการสืบเนื่องจากของเดิม ความเรียกร้องทางสถานการณ์ปัจจุบัน และการเติบโตของชนชั้นนายทุนไทย คาดหมายว่าระบอบทักษิณน่าจะดำเนินต่อไปอีก

-ผลกระทบบางประการต่อการเมืองในภูมิภาค ได้แก่

1) ทำให้ประเทศไทยมีบทบาทที่สูงขึ้น 2) เป็นตัวเร่งความสำนึกทางภูมิภาคขึ้น 3) เป็นแบบอย่างให้แก่ประเทศอื่นบางประเทศ

 สถานการณ์ในต่างประเทศ

มีความขัดแย้งใหญ่ภายในโลก 3 ประการ ได้แก่ 1) ความขัดแย้งในศูนย์กลาง 3 ศูนย์ โดยสหรัฐมีสัญญาณอ่อนพลังลง 2) ความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจกับประเทศกำลังพัฒนา 3) ความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจทุนนิยมและเครือข่ายกับขบวนการขององค์กรที่ต่ำกว่ารัฐ ซึ่งมีทั้งที่ใช้การก่อความสยดสยอง เช่น กลุ่มก่อการร้าย และการเคลื่อนไหวทางสังคม เช่น สมัชชาสังคมโลก

 เศรษฐกิจ : ผลสำเร็จท่ามกลางข่าวร้าย

-เศรษฐกิจของประเทศยังคงเติบโตสูงแต่ในอัตราที่ลดลง สวนทางกับประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีอัตราการเติบโตสูงขึ้น ทั้งนี้ เนื่องจากผลกระทบจากข่าวร้ายหลายประการ ได้แก่ การระบาดของไข้หวัดนก กรณีความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ น้ำมันราคาแพง ความขัดแย้งในหมู่ชนชั้นนำ และในช่วงปลายปี เกิดกรณีธรณีพิบัติภัยคลื่นยักษ์สึนามิ การที่ประเทศยังคงสามารถรักษาการเติบโตได้สูงส่วนหนึ่งเกิดการการเพิ่มขึ้นของการส่งออกมากเป็นประวัติการณ์ และการบริโภคในประเทศก็สูงขึ้นด้วย เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศมีพื้นฐานที่ค่อนข้างมั่นคง แต่ก็มีสิ่งที่ต้องติดตามหลายประการ เช่น การได้เปรียบดุลการค้าที่ลดลง อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น แนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น ความผันผวนของค่าเงินดอลลาร์ การทำความตกลงเขตการค้าเสรี

 -ภาครัฐยังคงเป็นแกนนำในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยมี 3 ยุทธศาสตร์ใหญ่ ได้แก่ การสร้างความเข้มแข็งและความมั่นคงทางเศรษฐกิจ การส่งเสริมความสามารถในการแข่งขัน และการพัฒนามนุษย์และสังคม มีสัญญาณว่าชนชั้นนำมีความเห็นพ้องกันในบางเรื่อง ได้แก่ การเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และการพัฒนาอย่างยั่งยืน คาดหมายว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจน่าจะลดลงในปี 2548 ตามภาวะเศรษฐกิจโลก

 การเมือง : ความขัดแย้งและปรากฏการณ์ใหม่

สถานการณ์การเมืองสำคัญในปี 2547 ได้แก่ เกิดปรากฏข่าวความขัดแย้งในหมู่ชนชั้นนำอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีการเคลื่อนไหว เช่น เกิดชมรมคนรู้ทันทักษิณ วิเคราะห์กันว่าเป็นการขัดแย้งหลักระหว่าง 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มทุนเก่า/ผู้ดีเก่าที่พึ่งพิงระบบราชการและมีลักษณะท้องถิ่น กับกลุ่มทุนใหม่ที่มีลักษณะเป็นผู้ปฏิรูปและบริหารระบบราชการและเป็นแบบโลกาภิวัตน์ ความขัดแย้งดังกล่าว มีด้านดีทำให้เกิดความสนใจในนโยบายสาธารณะ ทิศทางการพัฒนาและปัญหาคอร์รัปชั่นมากขึ้น ทางฝ่ายรัฐบาลได้พยายามพลิกสถานการณ์ และในเดือนพฤศจิกายน เหตุการณ์ได้คลี่คลายไปในทางเป็นผลดีแก่ฝ่ายรัฐบาล

-การปฏิรูประบบราชการที่ก่อผลสูง ได้แก่ การปรับโครงสร้างวิธีทำงานระบบงบประมาณใหม่ บางกรณี เช่น ผู้ว่าฯซีอีโอและทูตซีอีโอผลยังไม่ชัดเจน โดยรวมทำให้ระบบราชการเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ แต่ยังไม่ถึงขั้นเป็นระบบรัฐใหม่

-กรณีสามจังหวัดภาคใต้ เป็นการท้าทายต่ออำนาจรัฐและกลุ่มผู้ปกครองของไทยครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งกรณีกรือเซะ และตากใบ ทำให้ทางการรัฐบาลตกเป็นฝ่ายรับทางการเมือง และอาจส่งผลกระทบให้เกิดการทบทวนแนวคิดและบทบาทของรัฐใหม่ในยุคหลังสมัยใหม่ และน่าจะเก็บบทเรียนทั้งจากในอดีตและในพื้นที่ต่างๆ เพื่อที่จะได้เข้าใจและแก้ปัญหาเหตุร้ายดังกล่าวได้ดีขึ้น

 -ปรากฏการณ์ใหม่ทางการเมือง ที่น่าสนใจได้แก่ 1) เกิดระบบพรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรคขึ้น 2) รัฐบาลจากการเลือกตั้งสามารถอยู่จนครบวาระได้ 3) บทบาทของพรรคการเมืองเข้มแข็งขึ้น ดาวสภาลดลง 4) การปรับคณะรัฐมนตรีหลายครั้งโดยไม่กระทบต่อเสถียรภาพรัฐบาล 5) การเลือกตั้งทั่วไปเดือนกุมภาพันธ์ 2548 พรรคไทยรักไทยได้รับคะแนนเสียงท่วมท้นสามารถจัดรัฐบาลพรรคเดียวได้สำเร็จ

-ควรจับตา 1) ชนชั้นนายทุนไทยจะมีวุฒิภาวะพอที่จะออกหน้าเป็นผู้ปกครองแท้จริงหรือไม่ 2) บทบาทของรัฐสภาในการเมืองมิติใหม่

 ประชากร สิ่งแวดล้อมและพลังงาน : ปัจจัยชะลอการเติบโตทางเศรษฐกิจ

-ด้านประชากร

มีสถานการณ์ที่น่าสนใจ ดังนี้ 1) การออกกฎหมายเพื่อคุ้มครองเยาวชน สตรี และผู้สูงอายุ ตลอดจนการจัดทำแผนแม่บทระบบสวัสดิการสังคม เป็นหลักไมล์ในการสร้างความมั่นคงของมนุษย์ ควรให้ความสนใจในทางปฏิบัติและแก้ไขปรับปรุง 2) ด้านแรงงาน มีข่าวการขาดแคลนแรงงานในบางระดับ ซึ่งอาจขยายไปทุกระดับหากเศรษฐกิจมีการเติบโตต่อเนื่อง 3) ประเทศไทยประสบความสำเร็จในกรลดอัตราคนยากจนมาก แต่ปัญหาช่องว่างในสังคมยังรุนแรงและอาจขยายตัว

-ด้านสิ่งแวดล้อม

โดยทั่วไปอยู่ในภาวะน่าเป็นห่วงและต้องปรับปรุงแก้ไข กรณีขัดแย้งเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ปรากฏเป็นข่าวตลอดปี ทั้งนี้ เนื่องจากการพัฒนาเศรษฐกิจมักมีผลกระทบด้านลบต่อสิ่งแวดล้อม อนึ่ง ได้ปรากฏภัยธรรมชาติรุนแรงทั่วโลก ที่รุนแรงที่สุด ได้แก่ ธรณีพิบัติภัยที่ก่อคลื่นยักษ์ในปลายเดือนธันวาคม ก่อความเสียหายแก่ชีวิตทรัพย์สินจำนวนมากอย่างอื่น ได้แก่ การเกิดพายุรุนแรง อากาศหนาวจัดร้อนจัด คาดว่าสืบเนื่องจากภาวะโลกร้อน แรงกดดันจากสิ่งแวดล้อมรวมทั้งปัญหาราคาน้ำมันแพงจะชะลอการเติบโตทางเศรษฐกิจ

-ด้านพลังงาน

มีประเด็นสำคัญเรื่อง 1) ความมั่นคงทางพลังงาน ที่กลายเป็นประเด็นร้อนเมื่อราคาน้ำมันสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ มีการริเริ่ม เช่น โครงการศูนย์กลางพลังงานแห่งภูมิภาค ใช้เรื่องทางการตลาดหรือการพาณิชย์เป็นตัวนำ ควรจะได้อาศัยชุมชนเพิ่มขึ้นด้วย 2) น้ำมันราคาแพงเป็นประวัติการณ์ในปี 2547 เนื่องจากความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากความพยายามพัฒนาเศรษฐกิจประเทศต่างๆ โดยเฉพาะจีนและอินเดีย คาดหมายว่ายุคน้ำมันราคาถูกคงจบสิ้นแล้ว

 บทลงท้าย : รุดหน้าด้วยความระมัดระวัง

ความรวดเร็วฉับไวในการบริหารจัดการ และการปรับตัว เป็นความจำเป็นในโลกที่มีการแข่งขันและความเสี่ยงสูง ประเทศยังมีโอกาสในการพัฒนาและเติบโตในระยะใกล้นี้ ส่วนหนึ่งเนื่องจากอยู่ในภูมิภาคที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ การวิเทศสัมพันธ์จะมีบทบาทสูงมากต่อความเป็นไปของชาติ จำต้องรุดหน้าไปบนฐานความปรองดองและเปิดใจกว้าง ควรมีสำนักกลางติดตามสถานการณ์ต่างๆ เพื่อแจ้งเตือน ควรผนวกรูปแบบเศรษฐกิจที่หลากหลายเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน ควรเพิ่มความสำคัญกับนโยบายด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม

ในภาวะแห่งการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทางการเมืองและความไม่แน่นอนของโลก การหยุดอยู่กับที่ เกือบเป็นไปไม่ได้ สำหรับประเทศไทยที่เปิดประเทศมานาน การก้าวไปอย่างช้าๆ อาจถูกประเทศอื่นวิ่งแซง ไม่ต้องกล่าวถึงการไล่ทันประเทศที่อยู่ข้างหน้า แต่การเร่งรุดไปมีความเสี่ยงสูง จึงเป็นสถานการณ์ที่ไม่น่าพึงใจนัก จำต้องก้าวหน้าไปด้วยความรอบคอบ และพึงระลึกว่าความสำเร็จต่างๆ ที่สำคัญเกิดจากการทำงานหนักด้วยสติปัญญาและคุณธรรม

  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS