กระบวนทัศน์ใหม่ (New Paradigm) กับปัญหาของชาติ
ศาสตราจารย์ นพ.วันชัย วัฒนศัพท์
หลายคนที่ได้รับรู้เหตุการณ์บ้านเมืองในรอบสิบปีที่ผ่านมา ที่เผชิญกับการประท้วง ความขัดแย้ง การชุมนุมคัดค้านที่บางครั้งนำไปสู่ความรุนแรง นอกจากบ่นและเบื่อ แล้วหลายๆ คนก็ตั้งคำถามขึ้นมาว่า สงสัยต่อไปนี้ไม่ต้องคิดพัฒนา คิดสร้างอะไรแล้ว โรงไฟฟ้าก็ไม่ให้สร้าง เขื่อนก็ไม่ให้สร้าง แม้แต่ที่ทิ้งขยะที่ทุกๆ คน รวมทั้งผู้ประท้วงก็สร้างขยะขึ้นทุกวี่ทุกวันก็สร้างไม่ได้ เพราะทุกคนก็จะบอกว่าจะไปสร้างที่ไหนก็แล้วแต่ แต่ห้ามมาสร้างใกล้บ้านฉัน (หรือ Not in my backyard : NIMBY)
หลายคนมองไปถึงว่า นี่หรือคือประชาธิปไตย และบางคนก็พูดหนักๆ ไปเลยว่า เป็นประชาธิปไตยของกู เรียกร้องให้เผด็จการกลับคืนมาก็มี คำถามก็คือว่าเกิดอะไรขึ้นในบ้านเมืองนี้ ทำไมจึงสับสนวุ่นวายไม่รู้จบ คำตอบคงจะมีหลายอย่าง แต่อย่างหนึ่งก็คือว่า ประเทศไทยกำลังอยู่ในระหว่างเปลี่ยนผ่านของกระบวนทัศน์เดิม เป็นกระบวนทัศน์ใหม่ (New Paradigm) จากประชาธิปไตยแบบตัวแทนเป็นประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม หรือจากการโอนอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จจากประชาชนให้กับผู้แทน (สส., สว., สจ., สก., สท. ฯลฯ) มาเป็นการโอนอำนาจให้เช่นเดิมแต่ยังสงวนอำนาจที่จะตรวจสอบโดยการที่ผู้แทนจะไปคิดอะไรทำอะไรก็แล้วแต่ หากมีผลกระทบต่อประชาชนหรือต่อสิ่งแวดล้อม จะต้องมาถามมาปรึกษา หรือ แม้แต่มาให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมพิจารณาตัดสินก่อนที่จะดำเนินการใดๆ ก็แล้วแต่ ภายในกระบวนทัศน์ใหม่ที่กำลังอยู่ในระหว่างเปลี่ยนผ่านนี่เอง จึงเกิดปัญหา โดยหลายๆ ฝ่ายที่อยู่ในกระบวนทัศน์ยังไม่เข้าใจตรงกัน หรือกำลังปรับวิธีคิด ปรับกระบวนการ แสวงหากระบวนการที่ดีที่สุดที่จะทำให้เกิดผลที่ดีกว่า หรือดีที่สุด ในขณะที่กระบวนทัศน์กำลังปรับเปลี่ยนอยู่นี่เอง ไม่ว่าจะเป็นการปรับกระบวนทัศน์เรื่องอะไร จะมีความรู้สึกไม่มั่นคง ไม่มั่นใจ ไม่ค่อยจะถนัด จะทำได้ไหม และอีกหลายๆ อย่าง ในช่วงเปลี่ยนผ่าน เหมือนกับเวลาเราเปลี่ยนกระบวนทัศน์เมื่อตอนเด็กๆ จากคืบคลานมาเป็นเดิน เราอาจจะอยากเดิน แต่เดินไปก็ล้มไป คุณพ่อคุณแม่ต้องตามมาช่วยจับช่วยจูง กว่าเราจะเดินคล่อง หรือเมื่อเราหัดขี่จักรยาน เราก็มีความหวั่นไหว กลัวล้ม ไม่แน่ใจว่าเราขี่ไปได้หรือเปล่า ระยะเปลี่ยนผ่านเหล่านี้ จะรู้สึกทุกอย่างยากไปหมด เหมือนกับช่วงเปลี่ยนผ่านของกระบวนทัศน์ประชาธิปไตย กระบวนทัศน์การบริหารที่กำลังเกิดขึ้น ความไม่เข้าในชัดเจนของกระบวนการมีส่วนร่วม การประชาพิจารณ์ รวมถึงแนวคิดของคนที่ยังไม่ปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ ยังอยู่ในกระบวนทัศน์เดิม ก็เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึง
มีคำถามคือ “กระบวนทัศน์” (Paradigm) คืออะไร คงจะมีคำแปลอยู่หลายๆ อย่าง เริ่มจาก โทมัส คูน (Thomas S. Khun) นักประวัติศาสตร์ด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นต้นตำรับของการใช้คำว่า Paradigm หรือ กระบวนทัศน์ โดยมุมมองทางด้านวิทยาศาสตร์ได้นิยามไว้ว่า “ คือตัวอย่างต่างๆ ที่เป็นที่ยอมรับของการทำงานด้านวิทยาศาสตร์อย่างแท้จริง ตัวอย่างที่รวมไปถึงกฎ ทฤษฎี การนำไปใช้และเครื่องมือรวมกัน ซึ่งทั้งหมดนี้ได้ก่อให้เกิดรูปแบบที่ซึ่งนำไปสู่แนวปฏิบัติที่เชื่อมโยงกันอย่างเฉพาะพิเศษในงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์และอธิบายต่อว่า “คนที่มีงานวิจัยอยู่ในกระบวนทัศน์เดียวกัน จะมีกฎและมาตรฐานการปฏิบัติทางวิทยาศาสตร์เหมือนกันและได้ผลออกมาเหมือนกัน”
ต่อมาอดัม สมิท (Adam Smith) จากหนังสือPower of the Mind ก็มาให้คำจำกัดความที่กระชับขึ้นว่า “กระบวนทัศน์ คือ วิถีทางที่เรามองโลก ดังเช่น ปลามองน้ำ กระบวนทัศน์อธิบายเรื่องราวของโลกต่อเรา ช่วยให้เราคาดเดาพฤติกรรมของโลกได้ การคาดเดามีความสำคัญมาก” และยังมีอีกหลายๆ คนที่มาพยายามอธิบายความหมายของกระบวนทัศน์ แต่ผู้ที่ให้ความหมายที่น่าจะเข้าใจง่ายที่สุด คือ โจเอล อาร์เธอร์ บาร์เคอร์ (Joel Arthur Barker) ผู้เขียนหนังสือ Paradigm และ Future Edge ได้ให้ความหมายว่า “กระบวนทัศน์” คือ ชุดของกฎและกติกา(ที่เป็นหรือไม่เป็นลายลักษณ์อักษร) ที่ทำสองอย่าง : (1) ทำหน้าที่วางหรือกำหนดกรอบ (2) ทำหน้าที่บอกเราว่าควรจะประพฤติปฏิบัติอย่างไรภายในกรอบเพื่อให้เกิดความสำเร็จ” รวมไปถึง “เราวัดความสำเร็จนั้นอย่างไร” บาร์เคอร์สรุปว่า กีฬาทุกชนิดมีกระบวนทัศน์ของตนเอง กระบวนทัศน์ของเทนนิส แน่นอนมีกรอบ มีกติกา มีกระบวนการที่จะต้องแก้ปัญหาให้เกิดความสำเร็จ เมื่อเผชิญกับลูกบอลที่กระดอนข้ามเนตมา เราจะแก้ปัญหาโดยการตีหรือตบอย่าไรให้ลงคอร์ทตามกฎกติกาของเทนนิส กระบวนการแก้ปัญหาเหล่านี้ เราต้องใช้ไม้แรคเก็ตเทนนิสตีหรือตบ ไม่ใช่ใช้ไม้แบดมินตัน หรือใช้มือตีหรือใช้เท้าเตะ และถ้าเราตีกลับไปด้วยเครื่องมือที่ถูกต้อง ข้ามเนตไปตกอยู่ในเส้นกรอบของคอร์ท เราก็ได้แก้ปัญหานั้นสำเร็จ และก็กลายเป็นปัญหาให้คู่ตีของเราต้องแก้ปัญหาบ้าง เกมส์กีฬาทุกชนิดจึงมีกระบวนทัศน์ของตนเอง คนที่มีอาชีพต่างๆ กัน ก็มีกระบวนต่างไปในการประพฤติปฏิบัติและประสบความสำเร็จ มีความแตกต่างบางประการระหว่างกระบวนทัศน์วิทยาศาสตร์และกระบวนทัศน์อื่นๆ คือ กระบวนทัศน์ทางวิทยาศาสตร์ ถ้าเราทำการทดลองสำเร็จเรื่องใดก็ตาม เมื่อคนอื่นทำตามด้วยเครื่องมือแบบเดียวกันและขั้นตอนเหมือนกันจะประสบความสำเร็จเหมือนกัน แต่กระบวนทัศน์อื่นๆ เช่น ด้านกีฬาและศิลปะ จะแตกต่างกันที่เราเอาไม้แรคเก็ตก็ดี แปรงสี สีและกระดาษให้คนสองคนทำตามทุกขั้นตอนเหมือนกัน แต่อาจจะประสบความสำเร็จหรือไม่สำเร็จต่างกันก็ได้
ทำไมอดัม สมิท จึงกล่าวว่า กระบวนทัศน์นี้เหมือนกับปลาที่มองไปที่น้ำที่ตัวเองว่ายอยู่ เมื่อปลาอยู่ในน้ำ ว่ายในน้ำ สิ่งที่ปลามองเห็นคงไม่ใช่น้ำ เพราะปลาคงมองไม่เห็นว่าเป็นน้ำ ก็จะเหมือนกับที่อดัม สมิท พูดอีกว่า “เมื่อเราอยู่ท่ามกลางกระบวนทัศน์ใด เราจะนึกไม่ออกถึงกระบวนทัศน์อื่นๆ มีคำถามที่โจเอล อาร์เธอร์ บาร์เคอร์ ถามคือ “ทำไมคนฉลาดๆ ที่มีความมุ่งมั่นอย่างดี แต่มักจะทำอะไรไม่ค่อยดีนักในการมองทะลุไปข้างหน้า” จะตอบคำถามนี้ได้ ต้องฟังเรื่องราวที่บาร์เกอร์เล่าให้ฟังถึงประวัติเกี่ยวกับอุตสาหกรรมการผลิตนาฬิกาดังนี้
ตราบจนกระทั่งถึง ปี ค.ศ. 1968 (พ.ศ.2511) ประเทศสวิสได้ชื่อว่าเป็นผู้ผลิตนาฬิกาที่ไม่มีใครทาบติด แต่เหตุใดเวลาผ่านมาถึงปี ค.ศ. 1980 (พ.ศ.2523) ตลาดนาฬิกาของสวิสได้ตกลงจากร้อยละ 65 เหลือเพียงน้อยกว่าร้อยละ 10 รายได้อันมหาศาลได้ลดลงถึงเหลือน้อยกว่าร้อยละ 20 สวิสได้ตกจากตำแหน่งจ้าวแห่งนาฬิกา ภายในเวลาสิบสองปีเท่านั้นเอง เกิดอะไรขึ้นหรือ สิ่งที่ปรากฏขึ้นก็คือ มีการเคลื่อนของกระบวนทัศน์ นั่นคือ มีการเปลี่ยนกฎ กติกาพื้นฐานของการผลิตนาฬิกาจากเดิมที่เป็นเรื่องของการพัฒนาส่วนของฟันเฟือง สปริง และการหมุนรอบที่ไม่มีแรงเสียดทาน ซึ่งเป็นเรื่องที่สวิสมองว่านั้นคือสิ่งที่เขาจะต้องพัฒนาไม่ใช่เรื่องกลไกอื่นๆ
ความจริงก็คือ คนสวิสนั่นเองได้เป็นผู้ผลิตการเคลื่อนไหวของนาฬิกาโดยใช้ระบบอิเลคทรอนิกส์ที่เรารู้จักกันว่า ควอทส์ ที่สถาบันวิจัย ชื่อ บอยชาเทลที่สวิสเซอร์แลนด์ ทั้งๆ ที่นักวิจัยสวิสนี้ได้นำเสนอในการปฏิวัติแนวคิดใหม่ของนาฬิกาให้กับผู้ผลิตนาฬิกาของสวิสเมื่อปี ค.ศ. 1967 (พ.ศ. 2510) แต่ปรากฏว่าถูกปฏิเสธ ไม่มีใครสนใจและผู้ผลิตนาฬิกามองเห็นว่า นี่ไม่ใช่นาฬิกา ไม่น่าจะใช่นาฬิกาแห่งอนาคต และผู้ผลิตนาฬิกาสวิสมองไม่เห็นประโยชน์ของนาฬิกาปฏิวัติวิธีคิดใหม่นี้ และยอมให้นักวิจัยนำผลงานนี้ไปเสนอผลงานในการประชุมระดับโลกด้านนาฬิกาในปีเดียวกัน ครับ! ผู้ที่มองเห็นและมองทะลุ คือ บริษัทนาฬิกาไซโก นั่นเอง ทำให้ประวัติศาสตร์ด้านนาฬิกาเปลี่ยนโฉมไปสิ้นเชิง ระหว่างในปี พ.ศ. 2522 ถึงปี พ.ศ. 2524 เหตุการณ์ไม่น่าเชื่อก็เกิดขึ้น คือ มีคนงานผลิตนาฬิกา สวิสตกงานถึงหกหมื่นสองพันคน และตลาดนาฬิกาโลก ได้เปลี่ยนจากสวิสเป็นของญี่ปุ่นที่เคยครองตลาดเพียงน้อยกว่าร้อยละหนึ่ง เพิ่มเป็นถึงร้อยละสามสิบสาม
ทำอย่างไรเราจะหลีกเลี่ยงความผิดพลาดของสวิสที่เกิดขึ้นดังเรื่องที่ปรากฏ ซึ่งเรื่องเช่นนี้ไม่ใช่เฉพาะแต่กับบริษัทหรือโรงงานของสวิสแต่เกิดขึ้นกับเรื่องอื่นๆ อีกมากมาย ครับ เราไม่อาจจะเปลี่ยนอดีตได้ เหตุการณ์ต่างๆจะเกิดขึ้นในปัจจุบันเท่านั้น และเวลาของปัจจุบันก็ผ่านไปอย่างรวดเร็ว อนาคตเท่านั้นเป็นเรื่องที่เรามีเวลาที่จะเตรียมเนื้อเตรียมตัว เพื่อเมื่อเวลาปัจจุบันมาถึง เราจะได้ไม่พลาด บาร์เกอร์บอกว่า อนาคตคือเวลาที่เราจะเดินเข้าไปหาตลอดช่วงชีวิต ฉะนั้น จะไม่เป็นประโยชน์กว่าหรือที่เราจะรู้จักเตรียมตัวเราให้ดี สำหรับอนาคตก่อนที่เราจะเดินเข้าไปถึง
ทำไมผู้ผลิตนาฬิกาสวิสจึงมองไม่ทะลุสู่อนาคต เพราะผู้ผลิตเหล่านี้มีกรอบมีกติกาที่ยึดถือมาตลอด ไม่สามารถมองออกนอกกรอบได้ ผู้คนแต่ละอาชีพ ก็จะมีกรอบของตนเองที่ยึดถืออยู่ คนเป็นแพทย์ เป็นพยาบาล เป็นวิศวกร นักบัญชี นักกฎหมาย นักธุรกิจ ข้าราชการ นักการเมือง ต่างก็มีกรอบของตัวเอง ทำอย่างนี้ได้ ทำอย่างนี้ไม่ได้ คนไม่สามารถมองทะลุกรอบได้ ก็คือ ขาดความคิดวิเคราะห์ที่เรียกว่า Critical Thinking หรือ Lateral Thinking (คิดออกนอกกรอบ) หรือบางคนเรียกว่า Creative Thinking (ความคิดสร้างสรรค์) ความคิดสร้างสรรค์เช่นนี้ อดีตประธานาธิบดีอเมริกัน จอห์น ควินซี่ อาดัมส์ (President John Quinsey Adams) ได้กล่าวว่า ก็จะเหมือนกับ Reactive Thinking (การคิดแบบ “เอ๊ะ”) ซึ่งถ้าดูให้ดีระหว่างคำว่า Creative กับ Reactive คือ ตัว “C” ที่อยู่คนละตำแหน่ง หรือที่ อาดัมส์ บอกว่า “C” ก็คือ “See” (มอง) ฉะนั้นอยู่ที่ “ซี” (หรือการมอง) หมายถึงว่าแล้วแต่ใครจะมองอย่างไร สมมติมามองคำว่า “Opportunity is NOWHERE” เราจะอ่านว่าอย่างไรก็ได้ อ่านว่า “Opportunity is No Where” (โอกาสไม่เห็นมีเลย) ก็ได้ หรือ Opportunity is Now Here” (โอกาสมาอยู่ที่นี่แล้ว) บางคนมองน้ำที่เหลืออยู่ครึ่งแก้วว่า “เหลืออีกตั้งครึ่งแก้ว” บางคนก็มองว่า “เหลืออยู่แค่ครึ่งแก้วจะพอหรือ” เป็นต้น
เมื่อพูดถึง “Opportunity” หรือ “โอกาส” ก็ยังมีมุมมองอีกว่า อะไรคือ “โอกาส” และอะไรคือ “วิกฤต” หลาย ๆ ครั้งคนเรามองผิดพลาด เรามักจะมองโอกาสที่จริง ๆ ไม่ใช่โอกาส เช่น ยุคเศรษฐกิจฟองสบู่ หลาย ๆ คนมองว่าเป็นโอกาสที่จะซื้อที่ดินเพื่อเก็งกำไร สร้างบ้านจัดสรรเพื่อผลกำไร รวมไปถึง สร้างโรงพยาบาลเพื่อกอบโกย ด้วยสุภาษิต “น้ำขึ้นให้รีบตัก” เราก็รีบตักกันใหญ่ โดยหารู้ไม่ถึงวิกฤตที่จะเกิดขึ้น เพราะจริง ๆ ไม่ใช่โอกาสแล้วกำลังกลายเป็นวิกฤต เพราะเมื่อทุก ๆ คนมองเห็นว่าเป็นโอกาสแล้ว จริงๆ ไม่ใช่โอกาส เหมือนกับการที่เราชอบแห่ไปลงทุนอะไรเหมือน ๆ กันจนมากเกินพอ กลายเป็นวิกฤต เพราะจำนวนบ้านจัดสรร ที่ดิน ก็มากเกินความต้องการ โรงพยาบาลเอกชน ก็มากเกินไปถึงร้อยละ 300 เล่าจื้อ (Lao Tru) จึงบอกว่า เมื่อคนทั้งหลายเดินไปทางทิศตะวันตก สูเจ้าจะเดินไปทางทิศตะวันออก โอกาสจะเกิดขึ้นก็คือเมื่อเราหรือกลุ่มเราเท่านั้นมองเห็น โอกาสจะเกิดขึ้นเสมอเมื่อมีการเปลี่ยน กระบวนทัศน์ ฉะนั้น การรู้ว่า กระบวนทัศน์ กำลังเปลี่ยนหรือไม่ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่มนุษย์เราจะต้องรู้ หากไม่รู้ว่าจะผลักดันเพื่อเปลี่ยนกระบวนทัศน์อย่างไร ก็ควรจะรู้ว่าถึงเวลาแล้วที่ กระบวนทัศน์ กำลังเปลี่ยน กระบวนทัศน์จะเปลี่ยนเมื่อการแก้ปัญหาอะไรก็แล้วแต่ถึงภาวะตีบตัน หรือถึงทางตัน
กระบวนทัศน์การสื่อสารได้เปลี่ยนจากการใช้ควันไฟ เช่น อินเดียแดง หรือกระจกสะท้อน เช่น ทหารเรือสมัยโบราณ มาเป็นการใช้ม้าเร็ว ใช้จดหมายผูกติดขานก หรือเขียนจดหมายลอยใส่ขวด มาเป็นการใช้จดหมายทางไปรษณีย์ ใช้การส่งรหัสมอร์ส โทรเลข จนมาถึงการใช้โทรศัพท์ตามสาย โทรศัพท์ไร้สาย จนถึงเครื่องโทรสาร หรือ e-mail ซึ่งสามารถส่งกระดาษที่มีข้อความตั้งแต่หนึ่งหน้าไปจนถึง เอนไซโคลปีเดีย เป็นเล่ม ๆ ภายในเวลาไม่กี่นาที ไม่กี่วินาที ข้ามทวีปไปในที่ต่าง ๆ ได้ กระบวนทัศน์การสื่อสารในปัจจุบันถึงเล่าให้คนในอดีต 50 ปี 100 ปี ก็จะไม่เข้าใจเพราะกระบวนทัศน์ยุคก่อนนั้น ไม่สามารถอธิบายกฎ กติกา กระบวนการทฤษฎีและเครื่องมือที่ใช้อยู่ในปัจจุบันได้ เราก็ไม่อาจจะคาดเดาไปได้ในอนาคต แต่จินตนาการนั้นไปได้ไกลกว่า วิทยาศาสตร์ที่ยังอธิบายหลาย ๆ เรื่องที่มนุษย์มีจินตนาการไม่ได้ เช่น การเคลื่อนย้ายมวลสาร เช่น ตัวตนคนจากจุดหนึ่งไปยังจุดหนึ่งเหมือนในหนังเรื่อง Star Trek หรือ The Fly อ้ายแมลงวัน แต่ความฝันเหล่านั้นสักวันหนึ่ง อาจจะเป็นจริงไปได้ จินตนาการเหล่านี้ก็เกิดขึ้นในอดีตก่อนจะเป็นความจริง เช่น ความฝันที่จะบินได้แบบนก ของมนุษย์ จนได้มีความพยายามที่จะบินอย่างนกมาหลายต่อหลายครั้งและมาสำเร็จเมื่อพี่น้อง ตระกูลไรท์ ได้เปลี่ยน กระบวนทัศน์ของการบินสำเร็จ ความคิดเห็นหรือจินตนาการของคนเราจึงมักถูกจะมองว่าสติไม่ดีหรือ บ๊อง ๆ จนกว่าจินตนาการนั้นเป็นความจริงคนที่มองทะลุก่อนใครไปในอนาคต จึงจะเห็นโอกาสไม่ต้องดูอื่นไกล กระบวนทัศน์แห่งการสื่อสารที่เปลี่ยนจากโทรศัพท์มีสายไปเป็นกระบวนทัศน์โทรศัพท์ไร้สายก็ดี หรือ การสื่อสารทางไปรษณีย์ไปเป็นโทรสารไปเป็นอิเลคโทรนิคเมลล์ (electronic Mail หรือ e-mail ) ก็ดีผู้ที่มองเห็นก่อนและดำเนินธุรกิจด้านนี้ ก็จะประสบความสำเร็จอย่างมากมายได้
เมื่อกระบวนทัศน์เปลี่ยนทุกคนจะเริ่มต้นจากศูนย์พร้อม ๆ กัน แต่ถ้าคนที่มองทะลุกรอบ รู้ว่ากระบวนทัศน์กำลังจะเปลี่ยน แล้วเตรียมตัวก่อน เสียก่อน ก็มีโอกาสถึงเส้นชัยก่อน
เราลองมาดูจากนักคิดว่า กระบวนทัศน์ที่เปลี่ยนไปที่บรรดานักมองอนาคตหรือผู้มีวิสัยทัศน์ได้พยายามบอกเราว่าอะไรกำลังเปลี่ยน หรือเพิ่งจะเปลี่ยนไปของกระบวนทัศน์มีอะไรบ้าง
จากหนังสือ Leadership in Future ของ Peter Drucker Foundation ได้พูดถึงกระบวนทัศน์ใหม่ของผู้นำ สิ่งแรกที่ผู้นำจะต้องมี คือ “การทำในสิ่งที่ถูกต้อง” หรือ ภาษาอังกฤษใช้คำว่า “Doing the Right Things” ซึ่งจะต่างจากกระบวนทัศน์เดิมซึ่งเป็น กระบวนทัศน์ของผู้จัดการ คือ “การทำอะไรให้ถูกต้อง” หรือ “Doing the Things Right” ซึ่งถ้าพูดเร็วหรือฟังเร็วจะดูเหมือนๆ กัน แต่ถ้ามานั่งคิดให้ดีจะเห็นว่ามีความสำคัญต่างกัน คือผู้นำจะทำในสิ่งที่ถูกต้อง คือ การจะนำใครไปในทิศทางไหนก็แล้วแต่ เช่น สมมติจะเดินขึ้นบันได การจะพาดบันไดไปกับกำแพงไหนจะมีทางเดินต่อไปไหม หรือจะกลายเป็นเหวอยู่ข้างหน้า จึงสำคัญมากสำหรับยุคสมัยนี้ อาจจะสำคัญว่า การทำอะไรให้ถูกด้วยซ้ำไป เพราะถ้าเดินผิดทิศ แม้จะเดินดีแล้ว แม้จะปีนบันไดได้อย่างดีไม่พลาดตกลงมาแต่จุดหมายปลายทางไม่ใช่จุดที่ถูกต้องแล้ว ก็คงจะเสียเวลาเปล่า ก็เหมือนตอกย้ำเรื่องของนาฬิกาสวิสนั่นเอง
มุมมองของกระบวนทัศน์ใหม่ของหลาย ๆ เรื่องคือ มุมมองเกี่ยวกับการบริการสุขภาพ กระบวนทัศน์เดิมคือ การวินิจฉัยและการรักษา ซึ่งเป็นกระบวนทัศน์ที่เราอยู่และทำกันมาตลอด แต่เราจะไม่ชนะ ถ้าเรามองแต่การรักษา ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาปลายเหตุ เช่นเดียวกับการผ่าตัดรักษามะเร็ง ซึ่งเป็นการรักษาปลายเหตุ เมื่อคนไข้มาช้า ซึ่งมักจะมาช้าก็สายเกินไป แต่กระบวนทัศน์ใหม่ที่ควรจะเป็น คือ กระบวนทัศน์ของการส่งเสริมและการสร้างสุขภาพ ไม่ใช่การซ่อมอย่างในอดีต เพราะการส่งเสริมให้มีการป้องกันโรค ให้มีการออกกำลังกายให้ร่างกายแข็งแรงจะคุ้มค่ากว่าประหยัดกว่าและได้ผลมากกว่า คนที่มองเห็นว่ากระบวนทัศน์ตรงนี้กำลังเปลี่ยนหรือเปลี่ยนและได้เห็นทิศทางนี้ มาทำธุรกิจด้านการเสริมสุขภาพ เช่น อาหารชีวจิต ศูนย์ออกกำลังกาย มักจะประสบความสำเร็จที่ดี เนื่องจากปัจจุบัน ประชาชนเห็นความสำคัญของการมีสุขภาพที่ดี (Health Conscious) ตลาดด้านนี้จึงเปิดกว้างอย่างมากทีเดียว
มุมมองเกี่ยวกับความยุติธรรม กระบวนทัศน์เดิมที่ผ่านมาที่เราใช้กระบวนการตัดสินโดยศาลยุติธรรมซึ่งถือว่ามีความเหมาะสมที่สุด เริ่มเปลี่ยนไปเพราะกระบวนการนี้ จะเป็นการกระบวนการที่เรียกว่า Adversarial process หรือ กระบวนการปฏิปักษ์ คือ โจทก์ก็ดี จำเลยก็ดี หาหลักฐานมาแสดงเพื่อยืนยันว่า “ฉันถูก” “เธอผิด” เพื่อที่พิสูจน์กับศาลให้ศาลเชื่อว่า “ฉันถูก” “เธอผิด” ศาลเมื่อฟังทั้งสองข้างแล้ว ก็ทำหน้าที่ตัดสินออกมาให้ฝ่ายหนึ่งแพ้ ฝ่ายหนึ่งชนะ เป็น แพ้ – ชนะ ศาลไม่เคยตัดสินให้ใครเสมอกัน นอกจากทั้งคู่ประนีประนอมยอมความตกลงกันได้แล้ว ศาลก็พิพากษาตามยอม กระบวนทัศน์ใหม่คือการใช้วิธีการเจรจาไกล่เกลี่ย โดยคนกลาง (Mediation) หรือบางครั้งเรียกว่า วิธีการแก้ปัญหาข้อพิพาททางเลือก (Alternative Dispute Resolution : ADR) หรือการแก้ปัญหาข้อพิพาทอย่างเหมาะสม (Appropriate Dispute Resolution Process : ADRP) เป็นกระบวนการที่คนกลางทำหน้าที่กำกับกระบวนการเจรจา ให้คู่กรณีได้มาแลกเปลี่ยน เรียนรู้กัน (Learning process) และร่วมกันหาข้อยุติร่วมกันที่ทั้งสองฝ่ายพอใจ เกิดสิ่งที่เรียกว่า “ฉันทามติ” (Consensus) การตัดสินตรงนี้ ก็ไม่ใช่วิธีลงมติโดยการโหวตเสียงข้างมาก แต่ใช้วิธีที่ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องต้องกันด้วยความพอใจ หลักการตัดสินก็อาศัย ความยุติธรรม ความชอบธรรมอย่างโปร่งใสที่คู่กรณีและสังคมยอมรับด้วยความพอใจ ผลออกมาเป็นชนะ-ชนะ
อีกมุมหนึ่งเกี่ยวกับการทำธุรกิจซึ่งในอดีตไม่นานนี้ที่ผ่านมา จะพูดถึงการบริการลูกค้าให้เกิดความพึงพอใจสูงสุด (Total Customer Satisfaction) นั่นคือถือว่าลูกค้าสำคัญที่สุดที่เราเคยได้ยินว่า “ลูกค้าถูกต้องเสมอ” (Customer is always right) ปัญหาก็คือว่าเมื่อให้ลูกค้าพอใจ แต่ผู้ให้บริการทนทุกข์ทรมาน ก็คงจะไม่ดีนัก ฉะนั้นกระบวนทัศน์ใหม่จึงต้องมองผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายรวมถึงผู้ให้บริการด้วยที่ควรจะมีความพอใจทั้งหมด (หรือ Total Stakeholders Satisfactions) นั่นคือมองเรื่อง คุณภาพของความสัมพันธ์มิตรภาพความไว้วางใจ ความรักระหว่างกันทุก ๆ ฝ่าย
ผู้นำจึงต้องเป็นผู้ชี้ช่องทางที่ถูกต้องว่าจะเดินไปทางไหน (Path Finding) ทำการปรับโครงสร้างระบบและกระบวนการให้ตรงกับทิศทางที่จะเดินไป (Aligning) และเติมพลัง (Empowering) สร้างสรรค์ซึ่งซ่อนอยู่ เพื่อตอบสนองทั้งลูกค้าและผู้มีส่วนร่วมทุก ๆ ฝ่าย
โดยสรุปความเข้าใจในเรื่องกระบวนทัศน์ หรือ Paradigm โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับประชาธิปไตยก็ดี เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการที่ดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการมีส่วนร่วมหรืออื่น ๆ สำหรับประเทศไทยนั้น ก็ยังอยู่ในระหว่างเปลี่ยนผ่านเหมือนกระบวนทัศน์อีกหลาย ๆ อย่างนี้ยังไม่ตกผลึก ยังไม่ชัดเจน ทุกคนจึงรู้สึกยากลำบาก หมายถึง ก่อให้เกิดความขัดแย้ง และเมื่อถึงวิธีการจัดการความขัดแย้งในกระบวนการที่ใช้ กระบวนการแก้ปัญหาข้อพิพาททางเลือก หรือการเจรจาไกล่เกลี่ยคนกลางก็เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ใหม่ ที่สังคมยังไม่ค่อยเข้าใจ และก็ไม่ใช่วิทยาศาสตร์สามารถจะทำการทดลองซ้ำโดยใคร ๆ ก็ได้ ให้ได้ผลมาเหมือนกัน แต่เป็นกระบวนการทางสังคมที่ต้องการทักษะเฉพาะตัวที่ต้องฝึกฝนเหมือนกับกระบวนทัศน์ทางกีฬา ทางดนตรี และอีกหลาย ๆ อย่าง
suthep.cru.in.th/mgnt38.doc
สืบค้นวันที่ 17 มิถุนายน 2553
กระบวนทัศน์ใหม่ (New Paradigm) กับปัญหาของชาติ
Posted by
Kanta