RSS

การกำหนดทางเลือกและการตัดสินใจเลือกนโยบาย

การกำหนดทางเลือกและการตัดสินใจเลือกนโยบาย

Anderson (1994, pp. 33-34) ได้อธิบายว่า การกำหนดทางเลือกและการตัดสินใจ เลือกนโยบาย (public policy decision making and determination) เป็นกระบวนการ ที่พัฒนามาจากการก่อรูปนโยบาย โดยมีปัญหาสาธารณะ (public problems) เป็นโครงสร้างพื้นฐานของกระบวนการในกระบวนการก่อรูปนโยบาย การกำหนดทางเลือกนโยบายและการตัดสินใจนโยบาย สิ่งที่นักวิเคราะห์จะต้องคำนึงถึงตลอดเวลา
คือ ความเป็นไปได้ใน การนำนโยบายไปปฏิบัติให้บรรลุเป้าประสงค์อย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล การกำหนดทางเลือกและการตัดสินใจเลือกนโยบายที่มิได้คำนึงถึงความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ มีโอกาสที่จะประสบความลัมเหลวได้มาก เมื่อต้องนำไปปฏิบัติให้ปรากฎเป็นจริง และจะส่งผลกระทบทางลบต่ออนาคตทางการเมืองของผู้ตัดสินใจเลือกนโยบายดังกล่าวอย่างรุนแรง
 การกำหนดทางเลือกนโยบาย จะต้องคำนึงถึงคุณลักษณะที่สำคัญ 3 ประการ คือ (1) การจินตนาการ (imagination) (2) การสร้างสรรค์(creativity) และ (3) นวัตกรรม (innovation) ทางเลือกนโยบายที่ดีควรจะเริ่มจากการมีจินตนาการในการแก้ไขปัญหาสาธารณะ เพื่อให้เกิดสังคมที่ดี และนำไปสู่การสร้างสรรค์ โดยการคิดค้นทางเลือกใหม่ๆ ให้ปรากฏเป็นจริง แล้วนำทางเลือกที่สร้างสรรค์ขึ้นใหม่ไปใช้ประโยชน์ โดยทำให้การแก้ไขปัญหาประสบผลสำเร็จ ทั้งนี้จะต้องคำนึงอยู่เสมอว่าทางเลือกนโยบายที่มีลักษณะสร้างสรรค์ดังกล่าว จะต้องมีความเป็นไปได้ทั้งทางการเมืองและการนำไปปฏิบัติให้ ปรากฏเป็นจริง

Mohr (1969, p. 112) ได้จำแนกให้เห็นความแตกต่างของ การสร้างสรรค์ว่าหมายถึง การนำสิ่งใหม่ไปกระทำ ให้ปรากฏเป็นจริง (bringing something new into being) ส่วนนวัตกรรม หมายถึง การนำ สิ่งใหม่ไปสู่การใช้ประโยชน์ (bringing something new into use) อาทิเช่น การประดิษฐ์ ดาวเทียมเป็นการสร้างสรรค์และการใช้ดาวเทียมเพื่อประโยชน์ในการสื่อสารโทรคมนาคม เป็นนวัตกรรม หรือการประดิษฐ์คอมพิวเตอร์(computer) เป็นการสร้างสรรค์และ การใช้ระบบคอมพิวเตอร์เพื่อประโยชน์ในการผลิตและการจัดการเป็นนวัตกรรม เป็นต้น

จากความเห็นของ (Lasswell 1959, p. 203) กล่าวว่า การสร้างสรรค์คือ การจัดการขั้นสุดท้ายที่นักวิเคราะห์นโยบายจะต้องพยายามกระทำให้ได้ เพราะการสร้างสรรค์ที่อยู่ ในบริบทของนโยบาย คือ การรับรู้คุณค่าของนวัตกรรมที่จะมีผลต่อการแก้ไขปัญหาสาธารณะอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

บรรณานุกรม

อาณัฐชัย รัตตกุล. (2551). นโยบายการขนส่งมวลชนของประเทศไทย: กรณีศึกษาระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสาธารณะ. ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (รัฐประศาสนศาสตร์), มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

Anderson, J. E. (1994). Public policy-making: An introduction (2nd ed.).New York: Houghton.

Mohr, L. B. (1969). Determinants of innovation in organizations.AmericanPolitical Science Review, 63(3), 111-126.

Lasswell, H. D. (1959). The social setting of creativity. In H. H. Anderson(Ed.), Creativity and Its Cultivation (2nd ed., pp. 203-204). New York: Harper & Row.

  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS