RSS

นักรัฐศาสตร์ ได้ให้ความเห็น เกี่ยวกับการกำหนดทางเลือกและการตัดสินใจเลือกนโยบาย ดังนี้

การกำหนดทางเลือกและการตัดสินใจเลือกนโยบาย : Brever and Deleon (1983)

Brever and Deleon (1983, p. 62) ได้ให้ความเห็นว่า การสร้างสรรค์ คือ สมรรถนะในการพิจารณาปัญหาและข้อเสนอทางเลือกนโยบายภายใต้ทัศนียภาพ (perspectives) และระเบียบวิธีการวิเคราะห์ที่มีเอกภาพ และแตกต่างไปจากความพยายาม ที่เคยกระทำมาก่อนในการแก้ไขปัญหาสาธารณะทำนองเดียวกัน

 บรรณานุกรม

อาณัฐชัย รัตตกุล. (2551). นโยบายการขนส่งมวลชนของประเทศไทย: กรณีศึกษาระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสาธารณะ. ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (รัฐประศาสนศาสตร์), มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
Brever, G. D., & Deleon, P. (1983). The foundation of policy analysis. Homewoods, IL: Dorsey.



การกำหนดทางเลือกและการตัดสินใจเลือกนโยบาย : Barron (1965)

Barron (1965, p. 7) ได้ให้ความเห็นว่า การสร้างสรรค์จะมีจุดมุ่งหมายเกี่ยวกับ การกำหนดทางเลือกนโยบายใดก็ตามที่มีลักษณะใหม่น่าสนใจ (fresh) แปลกใหม่ (novel) ไม่ปกติธรรมดา (unusual) สะท้อนถึงความฉลาด (clever) มีความเหมาะสม (pats) สะท้อนความแตกต่างจากของเดิม (divergence) และสะท้อนถึงปฏิภาณในการคิดค้นใหม่ (ingenious) การตัดสินใจเลือกนโยบาย (policy decision-making) เกี่ยวข้องกับการกระทำของ ข้าราชการหรือองค์การที่มีอำนาจในการให้ความเห็นชอบ (adopt) ดัดแปลง (modify) หรือ ปฏิเสธ (reject) ทางเลือกนโยบายที่นำเสนอเพื่อการพิจารณา กระบวนการดังกล่าวส่วนใหญ่จะกระทำโดยฝ่ายนิติบัญญัติในรูปของการประกาศใช้เป็นกฎหมาย หรือกระทำโดย ฝ่ายบริหารในรูปของมติคณะรัฐมนตรี อย่างไรก็ตาม การศึกษาจะต้องตระหนักให้ชัดเจน ถึงความแตกต่างระหว่างการตัดสินใจนโยบายที่มีผลกระทบอย่างสำคัญต่อเนื้อหาของนโยบาย และการตัดสินใจในงานกิจวัตร (routine decisions) ซึ่งการตัดสินใจนโยบาย คือ การตัดสินใจขั้นสุดท้ายในการพิจารณาเลือกทางเลือกนโยบายที่ได้ผ่านกระบวนการ กำหนดนโยบายมาแล้ว

ในขั้นตอนของการรับหรือการให้ความเห็นชอบนโยบายนั้น มิใช่กระบวนการที่จะเลือกทางเลือกนโยบายที่ได้รับการพัฒนาอย่างสมบูรณ์ที่สุด (full-blown policy alternatives) แต่เป็นกระบวนการที่จะพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อทางเลือกนโยบาย ที่มีโอกาสชนะมากกว่า ถึงแม้ว่าทางเลือกนั้นจะมิใช่ทางเลือกที่ถูกใจมากที่สุดก็ตาม และในการพิจารณาตัดสินใจเลือกนโยบายบางนโยบายอาจจะถูกปฏิเสธ บางนโยบาย อาจได้รับความเห็นชอบหรือบางนโยบายอาจถูกดัดแปลงแก้ไข โดยความเป็นจริงแล้ว กระบวนการตัดสินใจนโยบายเป็นเพียงรูปแบบของความเป็นทางการในการพิจารณาทางเลือกนโยบายเท่านั้น เพราะการตัดสินใจที่แท้จริงว่าจะรับหรือไม่รับทางเลือกนโยบาย ได้กระทำสิ้นสุดก่อนหน้านี้แล้วโดยกลุ่มทางการเมืองที่เกี่ยวข้อง เพราะการตัดสินใจเลือกนโยบาย คือ การแสดงออกขั้นสูงสุดของการใช้อำนาจทางการเมือง อย่างไรก็ตาม ความแน่นอนของการตัดสินใจนโยบายจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อได้มีการประกาศใช้นโยบายอย่างเป็นทางการเท่านั้น

การตัดสินใจนโยบายที่กระทำโดยฝ่ายนิติบัญญัตินั้น เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า เป็นสิ่งที่ชอบธรรม (legitimacy) เพราะกระทำภายใต้กระบวนการที่มีข้อกำหนดชัดเจน ดังนั้น โดยทั่วไปแล้วการตัดสินใจนโยบายที่กระทำโดยทางการ จึงได้รับการพิจารณาว่า เป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ถ้าผู้ตัดสินใจนโยบายเป็นผู้มีอำนาจตามกฎหมาย (legal authority) ที่จะทำการตัดสินใจนโยบาย

แนวความคิดเกี่ยวกับความชอบธรรมเป็นสิ่งยากที่จะนิยามให้ชัดเจน ซึ่งแตกต่างจากความถูกต้องตามกฎหมาย (legality) ถึงแม้ว่าความถูกต้องตามกฎหมาย คือ สิ่งที่เชื่อได้ว่าเป็นสิ่งชอบธรรม ซึ่งมุ่งเน้นที่ความรู้สึกของประชาชนเกี่ยวกับความถูกต้อง (lightness) และความเหมาะสม (appropriateness) ต่อการกระทำของรัฐบาล สำหรับการกำหนดนโยบาย ความชอบธรรมตามกฎหมายพิจารณาได้จากการที่ปัญหาสาธารณะ ได้รับการแก้ไขอย่างไร และมีปัญหาอะไรบ้างที่รัฐบาลกำลังดำเนินการแก้ไข การกระทำ ของรัฐบาลในบางกรณี แม้ว่าจะมีความถูกต้องตามกฎหมายและถูกต้องตามอำนาจที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญแต่ถือได้ว่าไม่มีความชอบธรรมเพราะว่าไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชน เช่น กรณีที่ชาวอเมริกันจำนวนมากไม่ยอมรับความชอบธรรมของสงครามเวียดนาม (Anderson, 1994, p. 120) และโครงการรถไฟฟ้า BTS โดยเฉพาะในระยะก่อสร้างโครงการ ที่เกิดมีการต่อต้านอย่างมากจากประชาชนหลายกลุ่ม เป็นต้น

บรรณานุกรม

อาณัฐชัย รัตตกุล. (2551). นโยบายการขนส่งมวลชนของประเทศไทย: กรณีศึกษาระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสาธารณะ. ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (รัฐประศาสนศาสตร์), มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
Anderson, J. E. (1994). Public policy-making: An introduction (2nd ed.).New York: Houghton.
Barron, F. (1965). The psychology of creativity, In T. Newcomb (Ed.). New directions in psychology II (pp. 3-134) New York: Holt Rinehart & Winston.


การกำหนดทางเลือกและการตัดสินใจเลือกนโยบาย : สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ (2544)

สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ (2544, หน้า 385) ได้ให้ทัศนะว่า ความเป็นจริงครึ่งหนึ่งที่ได้จากการสังเกตการตัดสินใจของประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา โดยพบว่า ประธานาธิบดี พยายามที่จะชักจูงรัฐมนตรี สมาชิกสภาคองเกส หรือสมาชิกวุฒิสภาให้คล้อยตามข้อเสนอของประธานาธิบดี เพื่อให้การตัดสินใจของประธานาธิบดีได้รับการสนับสนุนอย่างเพียงพอ ซึ่งเป็นความพยายามโน้มน้าว (persuasion) ที่จะทำให้กลุ่มการเมืองอื่นเชื่อมั่นในความถูกต้องต่อข้อเสนอนโยบายของตน หรือเชื่อมั่นในฐานะตำแหน่งของตนที่จะเป็นเสมือนหลักประกันต่อผู้สนับสนุน และทำให้ผู้สนับสนุนยอมรับข้อเสนอด้วยความเต็มใจ

นอกจากนี้รูปแบบของการตัดสินใจนโยบาย อาจพิจารณาได้จากลักษณะของ การต่อรอง (bargaining) และการใช้คำสั่ง (command) โดยมีรายละเอียด คือในกระบวนการตัดสินใจการต่อรอง เป็นกระบวนการทางการเมืองที่สำคัญ ซึ่งบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ต่างอยู่ในตำแหน่งที่มีอำนาจทำการเจรจาเพื่อปรับเป้าหมายที่ไม่สอดคล้องกันให้เป็นที่ยอมรับกัน ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการยอมรับในการนำนโยบายไปปฏิบัติ ประกอบไปด้วย การเจรจาต่อรอง (negotiation) เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่น (flexible) การให้และการรับ (give and take) และการประนีประนอม (compromise) ซึ่งลักษณะการต่อรองดังกล่าว สามารถกระทำได้ทั้งชนิดอย่างเปิดเผยและชนิดในทางลับ ส่วนการใช้คำสั่งจะเป็นความเกี่ยวข้องของความสัมพันธ์ตามลำดับชั้น ระหว่างผู้บังคับบัญชาและผู้ที่อยู่ใต้บังคับบัญชา โดยผู้บังคับบัญชามักจะมีการใช้อิทธิพลในลักษณะการใช้อำนาจ เพื่อครอบงำความคิด และการตัดสินใจอิสระของผู้ใต้บังคับบัญชาในการบริหารการทำงานอย่างอิสระ เพราะผู้บังคับบัญชาเป็นบุคคลที่สามารถให้คุณและให้โทษได้การใช้อิทธิพลดังกล่าวถือเป็น เครื่องมือเพื่อให้ผู้รับคำสั่งตัดสินใจตามที่ตนเองต้องการได้ เช่น การออกคำสั่งของนายกรัฐมนตรีเพื่อให้รัฐมนตรีดำเนินโครงการหรือนโยบายของนายกรัฐมนตรีโดยตรง และหากผู้รับผิดชอบไม่ดำเนินการตามความต้องการของนายกรัฐมนตรีแล้ว นายกรัฐมนตรีก็จะดำเนินการลงโทษในเชิงการโยกย้ายหน้าที่ และตำแหน่งของรัฐมนตรีได้ หรือแม้กระทั่งถูกปลดออกจากตำแหน่งได้ (สมบัติธำรงธัญวงศ์,2544,หน้า385)

สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ (2544,หน้า 386)ได้ให้ความเห็นว่าในเชิงปฏิบัติตามรูปแบบ ของการตัดสินใจเลือกนโยบายนั้นพบว่า ส่วนใหญ่ในการตัดสินใจเลือกนโยบายนั้น มักจะใช้รูปแบบทั้งการต่อรอง การโน้มน้าว และการใช้คำสั่งปะปนกันไปโดยมีการปรับปรุง หรือเปลี่ยนแปลงนโยบายบางส่วนเพื่อความยืดหยุ่นในนโยบาย และสามารถนำไป ดำเนินการได้โดยได้รับการสนับสนนจากหลายฝ่ายหรือเพิ่มมากขึ้น และเกิดการมีส่วนร่วมในนโยบายมากขึ้น

บรรณานุกรม

อาณัฐชัย รัตตกุล. (2551). นโยบายการขนส่งมวลชนของประเทศไทย: กรณีศึกษาระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสาธารณะ. ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (รัฐประศาสนศาสตร์), มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
สมบัติ ธำรงธัญวงศ์. (2544). นโยบายสาธารณะ: แนวคิดการวิเคราะห์และกระบวนการ. กรุงเทพมหานคร: สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.


การกำหนดทางเลือกและการตัดสินใจเลือกนโยบาย : Nimmo and Ungs (1969)

Nimmo and Ungs (1969, p. 367) ให้ทัศนะว่า โดยทั่วไปแล้วลักษณะการตัดสินใจเลือกนโยบายนั้นจะเป็นรูปแบบการต่อรอง ส่วนการโน้มน้าวกับการใช้คำสั่งนั้นจะเป็น เพียงส่วนประกอบเท่านั้น เพราะการต่อรองเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับแนวความคิดที่ว่า เพื่อสิ่งที่เหมาะสมกว่า สำหรับสังคมการตัดสินใจเลือกนโยบายควรจะสอดคล้องกับค่านิยมของคนส่วนใหญ่ ที่เป็นระบบที่สะท้อนให้เห็นถึงบูรณาการของการใช้อำนาจในการสร้างความเป็นเอกภาพของสังคมนับเป็นแนวทฤษฎีที่สอดคล้องกับความเป็นจริงมาก

บรรณานุกรม

อาณัฐชัย รัตตกุล. (2551). นโยบายการขนส่งมวลชนของประเทศไทย: กรณีศึกษาระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสาธารณะ. ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (รัฐประศาสนศาสตร์), มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
Nimmo, D., & Ungs, T. D. (1969). American political patterns (2nd ed.).Boston: Little Brown.

  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS