พุทธสันติวิธีเพื่อสร้างความปรองดอง
Buddhist approach to peace, harmony and Reconciliation.
กันต์ สาระทิศ
Kanta Sarathit
นิสิตปริญญาเอก มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
--------------------------------------
บทคัดย่อ
บทความนี้เพื่อศึกษาพุทธสันติวิธีเพื่อสร้างความปรองดอง สืบเนื่องจากความขัดแย้งในสังคมไทยมีขึ้นอย่างต่อเนื่องและทวีความรุนแรงตลอดมา เกิดขึ้นจากหลายเหตุปัจจัย นำไปสู่การแตกแยกทางความคิด การแบ่งฝักฝ่าย และเกิดความไม่ลงรอยกันทางความคิด ไม่สามารถที่จะประสานรอยร้าวที่เกิดจากความไม่เข้าใจร่วมกันให้เป็นเอกภาพได้ ภาวะความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนี้มิใช่เฉพาะในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเท่านั้น ปัญหาเหล่านี้ลุกลามไปสู่ปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง แม้กระทั่งศาสนา จนเกิดขบวนการที่นำปัญหาต่างๆ เหล่านั้นโยงไปสู่การแบ่งแยกทางสังคมจนยากที่จะก่อให้เกิดสังคมสมานฉันท์ได้โดยง่าย พระพุทธศาสนาเป็นส่วนหนึ่งของระบบสังคม ที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ พระพุทธศาสนาเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพสังคม เศรษฐกิจและการเมือง แต่พระพุทธศาสนาก็มีอิทธิพลและบทบัญญัติต่อวิถีชีวิตของบุคคลในสังคม ซึ่งนักสังคมศาสตร์ให้การยอมรับความสำคัญของพระพุทธศาสนาในลักษณะที่เป็นระบบควบคุมสังคมให้สุขสงบ และเป็นสถาบันเบื้องต้นสำหรับการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และสวัสดิการของมนุษย์[1]
Abstracts.
This article is to study the Buddhist Peace to create harmony and Reconciliation. Due to conflicts in Thai society has continued and intensified throughout. Arise from several causes. Led to the schism of thought. The median side. And the inconsistency of thought. Unable to synchronize the hiatus caused by mutual understanding and unity to. Situations of conflict that is not specific to any one matter only. These problems have spread to the economic, social, political and even religious. Process until the issue. Those related to discrimination and it was hard to bring social harmony has to offer. Buddhism is a part of society. That can not be separated from each other. Buddhism by changing social conditions. Economic and political. But Buddhism's influence and the provision of social life. The society recognizes the importance of Buddhism in such a way as to control the social peace. The basic institutions for the promotion of ethical and moral welfare of mankind.
๑. บทนำ
โดยธรรมชาติของมนุษย์นั้นเป็นสัตว์สังคม (Social Animals) และเป็นส่วนหนึ่งของผลผลิตจากการคบหาสมาคมซึ่งกันและกัน จึงเป็นธรรมชาติในอันที่จะแบ่งหน้าที่กันรับผิดชอบในหน้าที่ต่าง ๆ แต่การแบ่งหน้าที่กันนั้นเป็นเสมือนการแบ่งชนชั้นไปโดยไม่รู้ตัว ในสภาพสังคมดั้งเดิม (Primitive Society) มีจุดประสงค์อยู่ที่การอยู่ร่วมกันอย่างผาสุก เนื่องจากทุกคนส่วนใหญ่มักเป็นพี่น้องกัน ทำให้ไม่มีการแบ่งกลุ่มที่ทำหน้าที่แตกต่างกันมากนัก การแบ่งงานมักแบ่งเฉพาะหน้าที่ของชายกับหญิง เด็กกับผู้ใหญ่ แต่สำหรับชนชั้นในสังคมยุคสมัยใหม่ (Modern Society) เป็นการจัดลำดับชนชั้นที่มนุษย์สร้างขึ้นตามกฎเกณฑ์ของตน เพื่อจุดประสงค์ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นไปเพื่ออำนาจหรือผลประโยชน์ของตนและพวกพ้อง นั่นเป็นเหตุให้สังคมไร้ระเบียบ (Chaos)[2]
ความขัดแย้งในสังคมไทยมีขึ้นอย่างต่อเนื่องและทวีความรุนแรงตลอดมา เกิดขึ้นจากหลายเหตุปัจจัย นำไปสู่การแตกแยกทางความคิด การแบ่งฝักฝ่าย และเกิดความไม่ลงรอยกันทางความคิด ไม่สามารถที่จะประสานรอยร้าวที่เกิดจากความไม่เข้าใจร่วมกันให้เป็นเอกภาพได้ ภาวะความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนี้มิใช่เฉพาะในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเท่านั้น ปัญหาเหล่านี้ลุกลามไปสู่ปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง แม้กระทั่งศาสนา จนเกิดขบวนการที่นำปัญหาต่าง ๆ เหล่านั้นโยงไปสู่การแบ่งแยกทางสังคมจนยากที่จะก่อให้เกิดสังคมสมานฉันท์ได้โดยง่าย
สังคมโลกในยุคโลกาภิวัตน์ เป็นสังคมที่เต็มไปด้วยความ “ไร้ระเบียบ” (Chaos)[3] ปี ค.ศ.๑๙๖๐ หรือ พ.ศ.๒๕๐๓ Lewis Fry Richardson ได้ทำการศึกษาประเด็นของ “ความขัดแย้ง” ซึ่งนำไปสู่ “ความรุนแรง” ที่เป็นสาเหตุแห่งความตายของมนุษย์ในรูปของสงคราม การปฏิวัติและการฆาตกรรมตั้งแต่ปี ค.ศ.๑๘๒๐ หรือ พ.ศ.๒๓๖๓ ถึง ค.ศ.๑๙๔๕ หรือ พ.ศ.๒๔๘๘ พบว่าในช่วง ๑๒๖ ปีดังกล่าว มีผู้คนล้มตายเพราะความ ขัดแย้งซึ่งนำไปสู่ความรุนแรงในรูปแบบอื่น ๆ รวมทั้งสิ้นความรุนแรงคร่าชีวิตผู้คน ๕๙ ล้านคนในรอบ ๑๒๖ ปีนั้น[4] ซึ่งหมายความว่าคนหนึ่งคนสามารถฆ่าคนอีกคนหนึ่งทุก ๖๘ วินาที และถ้าพิจารณาตั้งแต่ราว ๓,๖๐๐ ปีก่อนคริสตกาลจนถึง ค.ศ.๑๙๘๐ หรือพ.ศ.๒๕๒๓ จะพบว่าโลกต้องเผชิญกับสงครามใหญ่ประมาณ ๒,๔๐๐-๓,๕๐๐ ครั้ง มีเหตุการณ์รุนแรงในระดับนานาชาติและระดับชาติถึง ๑๓,๖๐๐ ครั้ง สำหรับสงครามใหญ่แล้ว ในช่วงเวลาดังกล่าวมีคนตายเพราะสงครามโดยตรงไม่นับพลเรือนที่บังเอิญต้องตายลงไป หรือผู้ที่ตายโดยผลของสงครามทางอ้อม เช่น ความอดอยากเป็นต้น มียอดสูงถึง ๑.๑ พันล้านคน[5]
จะเห็นได้ว่า ประวัติศาสตร์มนุษยชาติที่ผ่านมาแทบจะแยกไม่ออกจากสงคราม และความรุนแรงที่นับวันจะรุนแรงมากขึ้น เพียงแค่นับถอยหลังไป ๑๐๐ ปี ระหว่างปี ค.ศ. ๑๙๐๐ – ๑๙๘๙ อันเป็นปีที่สงครามเย็นยุติ คาดกันว่าจะมีคนตายไปเพราะสงครามถึง ๘๖ ล้านคน ถ้านับจำเพาะหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ปี ค.ศ. ๑๙๔๕ มาจนถึงปี ค.ศ. ๑๙๙๐ มีคนตายเพราะสงครามถึง ๒๒ ล้านคน ทั้งนี้ยังไม่นับถึงคนที่ตายเพราะรัฐบาลของตนเองอีกถึง ๔๘ ล้านคน[6] ในขณะที่สังคมมีความสลับซับซ้อน (Chaos) เมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้นมามักจะมีแนวโน้มไปสู่ความรุนแรงได้ง่าย สันติวิธีจะเข้ามามีบทบาท และทำหน้าที่ในการประสานร่องรอยความขัดแย้งเหล่านั้น เพื่อให้สังคมไทยได้ปรับกระบวนทัศน์ (Paradigm shift) จากวิธีเดิมที่ใช้อำนาจเข้าไปแก้ไขปัญหาแบบสังคมโบราณซึ่งใช้ไม่ได้แล้วในสังคมปัจจุบัน ไปสู่กระบวนการทางสังคมที่เน้นการเข้ามามีส่วนร่วมกันคิด ร่วมกันทำ เรียกว่า “วิธีการอารยะ” (Civilize) หรือ “ความเป็นอารยะ” (Civility) กล่าว คือ เป็นการพัฒนาจากสังคมเดิมไปสู่แนวทางสันติวิธี[7]
เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว ประเด็นปัญหาที่น่าสนใจก็คือว่า “สันติภาพจะเกิดขึ้นได้อย่างไร” หรือ “สันติวิธีใน การที่จะสร้างสรรค์สันติภาพคืออะไร” แนวคิดที่ท่านย้ำก็คือ “ควรที่จะมุ่งเน้นตามมรรค ๘ หรือ ความถูกต้อง ๘ ประการ กล่าวคือ ความถูกต้องทางทิฎฐิ ความถูกต้องทางความดำริ ความถูกต้องทางการทำงาน ความถูกต้องทางการดำรงชีวิต ความถูกต้องในความเพียร ความถูกต้องในความมีสติ และความถูกต้องในความมีสมาธิ ซึ่งความถูกต้องทั้ง ๘ ประการนี้ จัดได้ว่าเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดสันติภาพ และความปองดอง ในขณะเดียวกันความรู้ที่ถูกต้อง และความหลุดพ้นที่ถูกต้อง ทั้ง ๒ ประการนี้ จัดได้ว่าเป็นผลของสันติภาพ ด้วยเหตุนี้ ท่านย้ำว่า ความถูกต้องทั้ง ๑๑ ประการดังกล่าวถือได้ว่าเป็น “ตัวแท้ของพระพุทธศาสนา”[8] และหลักธรรมที่จะทำให้นักปกครองหรือนักการเมือง และประชาชน มีความสามัคคีในการสร้างความเจริญให้แก่ประเทศชาติ ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาคในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งถือว่าคนทุกคนมีความเท่าเทียมกัน เป็นส่วนหนึ่งของรัฐเหมือนกัน เป็นหลักการที่ควบคู่กับหลักเสรีภาพ ส่งเสริมให้ประชาชนแสดงออกถึงการเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย เรียกว่า อปริหานิยธรรม[9] มี ๗ ประการ คือ (๑) หมั่นประชุมเนืองนิตย์ (๒) พร้อมเพรียงกันประชุม (๓) ไม่บัญญัติสิ่งที่มิได้บัญญัติไว้ (๔) สักการะเคารพนับถือ (๕) ปกป้องคุ้มครองเด็กและสตรีไม่ให้ถูกข่มเหงน้ำใจ (๖) เคารพสักการบูชาปูชนียสถานและปูชนียวัตถุ (๗) บำรุงรักษาผู้มีธรรมทั้งหลายที่เป็นที่พึ่งของประชาชน อปริหานิยธรรม ๗ สามารถที่จะส่งเสริมให้นักปกครอง และประชาชนผู้ใต้ปกครองให้มีความสามัคคีปรองดองในการสร้างความเจริญให้แก่ประเทศชาติ อยู่ร่วมกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทำให้เกิดความเข้าใจอันดีต่อกัน สามัคคีปรองดองกัน มีความเป็นเอกภาพ ทำให้เกิดความสมดุลพอดี มีความเสมอภาคทางด้านต่างๆ มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น รับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะของทุกคน โดยไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของคนอื่น ปฏิบัติตามกฎระเบียบที่ได้ตกลงกันไว้ ตลอดทั้งยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ส่งเสริมความเข้าใจอันดีและความสมานฉันท์ระหว่างศาสนิกชนของศาสนา รวมทั้งสนับสนุนการนำหลักธรรมของพระพุทธศาสนามาใช้เพื่อเสริมสร้างคุณธรรมและพัฒนาคุณภาพชีวิต
๒. ความหมายและความสำคัญของพุทธสันติวิธี
๒.๑ ความหมายของพุทธสันติวิธี
คำว่า “พุทธสันติวิธี” ในบริบทนี้ หมายถึง แนวทางสันติแบบพุทธ คือการสร้างสันติภาพด้วยหลักการของพระพุทธเจ้า คือการสร้างสันติภาพจากภายในสู่ภายนอก การแก้ปัญหาความขัดแย้งไปที่เรื่องของชีวิตโดยมุ่งหมาย ไปที่เรื่องของชีวิตทุกชีวิต และสอนเฉพาะเรื่องที่สามารถนำไปถอนทุกข์ถอนปัญหาของชีวิต ซึ่งความขัดแย้งต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นเสมือนชีวิตที่ถูกยิงด้วยลูกศรอาบยาพิษ จำเป็นต้องรีบถอนลูกศรนั้นออกจากชีวิตให้ได้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ เพราะเวลาของชีวิตมีน้อย ดังข้อความตอนหนึ่งในจูฬมาลุงโกยวาทสูตรว่า ชีวิตของมนุษย์เปรียบเสมือนคนที่ถูกยิ่งด้วยลูกศรที่อาบด้วยยาพิษจำต้องผ่าเอาลูกศรนั้นออกโดยด่วน หากมั่วแต่สงสัยว่าลูกศรนั้นทำด้วยอะไร และใครเป็นคนยิง หากมัวถามเรื่องไร่สาระอยู่เช่นนี้ โดยไม่รีบพาไปหาหมอแล้วก็ เขาผู้นั้นก็คงตายก่อนเป็นแน่ ดังนั้นเมื่อรู้ว่าชีวิตนี้เป็นของน้อย เต็มไปด้วยทุกข์ ต้องรีบแก้ไขปัญหาและต้องรีบพาไปหาหมอเพื่อทำการรักษาโดยด่วน[10] ชีวิตถูกชรานำเข้าไป อายุจึงสั้น ผู้ที่ถูกชรานำเข้าไปแล้วไม่มีเครื่องต้านทาน บุคคลพิจารณาเห็นภัยนี้ในมรณะ ควรละโลกามิส มุ่งสู่สันติเถิด[11] ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ พระพุทธศาสนาจึงสอนโดยมุ่งหมายไปที่เรื่องของชีวิต และสอนเฉพาะเรื่องที่สามารถนำไปถอนทุกข์ถอนปัญหาของชีวิตซึ่งเป็นเสมือนลูกศรอาบยาพิษออกจากชีวิตให้ได้โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้เพราะเวลาของชีวิตมีน้อยนิด ดังที่พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ได้ชี้ว่า ทำอย่างไรจะพัฒนาปุถุชนไปให้เป็นอริยชนหรืออารยชน เราจึงต้องพัฒนาปุถุชนนี้ขึ้นไปอีก เพื่อไม่ให้มนุษย์ปุถุชนเหล่านี้มาสร้างปัญหาความขัดแย้ง ไม่มาทำสงครามกัน ไม่ให้มาเอารัดเอาเปรียบข่มเหงรังแกอะไรต่างๆ สารพัด ที่มันเกิดเป็นปัญหาในสังคมปัจจุบัน[12]
พุทธสันติวิธี คือ เมื่อกล่าวถึง สังคมแห่งสันติ จัดได้ว่า เป็นสังคมที่ไร้ความรุนแรง หรือปราศจากความรุนแรงทั้งทางตรงและทางอ้อม แต่สังคมดังกล่าวยังมีความขัดแย้ง และบางครั้ง หรือบางสถานการณ์ความขัดแย้งดังกล่าวได้พัฒนาตนเองไปสู่จุดที่ สังคมไร้สันติ หรือ ปราศจากสันติ จึงมีความจำเป็นต้องใช้ วิธีเชิงสันติ เข้าไปจัดการความขัดแย้งแบบสันติ หรือจัดการความรุนแรงแบบสันติ[13]
สังคมจะเกิดสันติสุขได้ ทุกคนในสังคมจะต้องมีแนวทางการประพฤติปฏิบัติร่วมกัน มีความหนักแน่นเสมอกันและปรับตัวเข้าหากันได้ มีความเข้าใจอันดีต่อกัน สามัคคีปรองดองกัน มีสิทธิเสรีภาพต่างๆ อย่างเท่าเทียมกัน มีความเสมอภาคทางด้านต่างๆ ทำให้มีความสุขทั้งส่วนตน และในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงาน ในทางพระพุทธศาสนา เรียกว่า สมชีวิธรรม[14] มี ๔ ประการ คือ
(๑) สมศรัทธา ประชาชนทุกคนในสังคมควรมีแนวความคิด ความเชื่อถือ อุดมการณ์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น เพื่อให้การดำเนินการแก้ไขข้อขัดแย้งเป็นในเดียวกัน จึงต้องมีกฎหมายไว้เป็นเครื่องมือสำหรับการขจัดข้อขัดแย้งดังกล่าวให้หมดสิ้นไป มีกฎหมายเป็นหลักในการอำนวยความสุขร่วมกัน และทุกคน จะต้องเคารพสิทธิ เสรีภาพของประชาชนคนอื่นๆ มีความเชื่อ ความเลื่อมใสต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย มีความคิดนิยมในคุณค่าหรือมีความยึดถือในระบอบประชาธิปไตย มีทัศนคติค่านิยมที่ไม่ขัดแย้งกัน ย่อมทำให้มีชีวิตที่ราบรื่นมั่นคง ถ้าหากทุกคนมีความคิดเห็นลงรอยกัน ก็สามารถปรับตัวเข้าหากันได้ง่าย ถ้าหากต่างคนต่างมีความคิดเห็นไม่ตรงกันก็ต้องปรับความคิดเห็นให้ประสานกัน โดยไม่ยึดเอาแต่เพียงความคิดของตนว่าถูกต้องดีงาม ให้เกียรติและเคารพความคิดเห็นของผู้อื่น เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติให้ยึดมั่นและเคารพตนเอง เป็นแนวทางในการพัฒนาการปกครองระบอบประชาธิปไตย เพื่อเป็นการถนอมน้ำใจซึ่งกันและกัน มิฉะนั้นแล้วจะทำให้เกิดความขัดแย้ง และความแตกแยกได้
(๒) สมสีลา รัฐควรส่งเสริมให้ประชาชนทุกคน ประพฤติปฏิบัติในทางเดียวกัน ดำเนินชีวิตอยู่ในระดับเดียวกัน ไม่ให้มีความเหลื่อมล้ำทางสังคม มีความเสมอภาคเป็นส่วนหนึ่งของรัฐเหมือนกัน ยึดมั่นในความเสมอภาคเสรีภาพของบุคคล มีความเสมอภาคทางการเมือง มีความเสมอภาคต่อการปฏิบัติของกฎหมาย มีความเสมอภาคในโอกาส เศรษฐกิจ และสังคม ไม่ควรให้ความแตกต่างทางเศรษฐกิจและสังคมมาเป็นเครื่องกำหนดให้บุคคลหนึ่งเหนือกว่าอีกบุคคลหนึ่ง ประชาชนทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะมียศ ฐานะ หรือตำแหน่งใดๆ ไม่ว่าจะร่ำรวยหรือยากจน มีสิทธิและหน้าที่ที่จะร่วมในกิจกรรมทางการเมืองเท่าๆ กัน จึงจะสามารถปรับตัวเข้ากับคนอื่นได้โดยการสร้างความสัมพันธ์อันดีต่อกัน หากนักปกครองและประชาชนผู้ใต้ปกครอง มีความประพฤติที่ใกล้เคียงกัน ไม่แตกต่างกันจนถึงกับเข้ากันไม่ได้ การมีความประพฤติที่แตกต่างกันก็จะทำให้เกิดความรังเกียจและดูหมิ่นกันได้ เพราะทนรับพฤติกรรมของฝ่ายตรงข้ามไม่ได้ ถึงแม้ว่าแต่ละคนย่อมมีพฤติกรรมใดไม่เป็นที่ยอมรับของผู้อื่น ก็ควรละเสีย เช่น ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ไม่ใช่เพียงแค่ความขัดแย้งที่ผิวเผิน หากแต่เป็นความขัดแย้งทางความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกัน ที่วางอยู่บนฐานความแตกต่างของชนชั้น ซึ่งต้องแก้ไขหรือทำให้ความแตกต่างคลี่คลายไป เพื่อให้เกิดความเป็นเอกภาพอันหนึ่งอันเดียวกัน
(๓) สมจาคา รัฐควรส่งเสริมให้ประชาชนมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่โอบอ้อมอารี มีจิตใจกว้างขวางเหมือนๆ กัน ดำเนินชีวิตอยู่ในระดับเดียวกัน ไม่ให้มีความเหลื่อมล้ำทางสังคม มีความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ มีการกระจายรายได้ที่เป็นธรรม มิให้มีช่องว่างระหว่างชนชั้นมากนัก มีความเสมอภาคไม่ว่าจะเป็นเพศชายหรือเพศหญิง เด็ก ผู้ใหญ่ หรือคนชรา มีการศึกษาต่ำหรือสูง มีฐานะร่ำรวยหรือยากจนก็ตาม ย่อมจะได้รับสิทธิต่างๆ โดยเท่าเทียมกัน มีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ มีความสำคัญเหมือนกัน จะแตกต่างกันบ้างก็เพียงหน้าที่และความรับผิดชอบในบางเรื่องเท่านั้น ก็จะสร้างไมตรีต่อกันทั้งสองฝ่าย หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ที่มีจิตใจคับแคบ ตระหนี่ถี่เหนียว และอีกฝ่ายหนึ่งมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ก็จะทำให้เกิดความขัดแย้งทั้งทางความคิดและพฤติกรรม จะต้องปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเสมอภาคกัน เช่น การไปรับการตรวจรักษาจากโรงพยาบาล เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลจะจัดให้เข้ารับการตรวจตามลำดับก่อน-หลัง เป็นต้น
(๔) สมปัญญา ประชาชนทุกคนในรัฐจะต้องมีปัญญา รู้จักเหตุ รู้จักผล สามารถแยกแยะดีชั่ว ใช่ประโยชน์มิใช่ประโยชน์ การเป็นคนที่มีเหตุผลเหมือนกันย่อมตัดสินสิ่งต่างๆ ด้วยเหตุผล ไม่เอาอารมณ์หรือความรู้สึกส่วนตัวไปตัดสิน ทุกเรื่องสามารถตกลงกันได้ด้วยเหตุและผล เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นจะต้องร่วมกันคิดและช่วยกันตัดสินใจ และนักปกครอง ควรเปิดโอกาสให้แก่ประชาชนได้รับโอกาสที่จะใช้ความสามารถในการศึกษาหรือประกอบธุรกิจการงาน โอกาสที่จะแสวงหาเพื่อความเจริญก้าวหน้าของการดำรงชีพหรือการเลื่อนสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของเขา และในการเลือกสรรบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งทางการเมือง นักปกครอง จะต้องยึดหลักความสามารถของบุคคล มิใช่การยึดถือชาติตระกูล ดังนั้น ประชาชนจะต้องมีความเสมอภาคที่จะได้รับโอกาสในการคัดเลือกเข้าดำรงตำแหน่งหน้าที่ของรัฐ ทั้งตำแหน่งข้าราชการเมืองและข้าราชการประจำ โดยคำนึงถึงความสามารถที่เหมาะสมเป็นเกณฑ์ เน้นการใช้ปัญญาใช้เหตุผลและความถูกต้องในการตัดสินปัญหาทั้งปวง ทำให้ยอมรับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ปฏิบัติตามมติของเสียงส่วนมากในที่ประชุมและการทำงานต่างๆ พยายามอภิปรายจนกระทั่งสามารถชักจูงใจให้ทุกคนเห็นคล้อยตามเมื่อมีเหตุผลที่ดีด้วยกัน หรือใช้วิธีการออกเสียง หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นคนไม่มีเหตุผลขาดปัญญาในการแก้ปัญหา ก็จะทำให้เกิดความขัดแย้งกัน
เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว สมชีวิธรรม ๔ เหล่านี้ เป็นหลักธรรมที่จะส่งเสริมให้นักปกครองและประชาชนผู้ใต้ปกครอง มีแนวทางการประพฤติปฏิบัติร่วมกัน มีความหนักแน่นเสมอกันและปรับตัวเข้าหากันได้ ทำให้เกิดความมั่นคง มีความสุขทั้งส่วนตน และในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงาน สามัคคีปรองดองกันทำให้เกิดความสามัคคีกันทำให้ประเทศชาติเป็นเอกภาพอันหนึ่งอันเดียวกัน ทำให้เกิดความสมดุล พอดี ทำให้ทุกคนมีเสรีภาพต่างๆ อย่างเท่าเทียมกัน มีความเสมอภาคทางด้านต่างๆ ศรัทธาในการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีการประพฤติปฏิบัติในทางเดียวกัน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เสียสละ นึกถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลักและยึดหลักเหตุผล และยอมรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น
๒.๒ ความสำคัญของพุทธสันติวิธี
ในประเทศไทยขณะนี้ความขัดแย้งทางความคิดลงลึกแทบจะทุกหมู่บ้าน ในชุมชนมี มองแทบไม่เห็นหนทางแห่งความสมานฉันท์ และเห็นวิวัฒนาการของประชาธิปไตย เครื่องมือสำคัญในการพัฒนาและส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น สิ่งที่สามารถเป็นฐานรองรับการพัฒนาประชาธิปไตยก็คือ กระบวนการที่ว่าด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุก ๆ กลุ่มของสังคม ซึ่งหัวใจสำคัญของการมีส่วนร่วมก็คือ “การทะลายและสลายความเป็นอัตลักษณ์” และ “ยอมรับในความแตกต่าง” ของมนุษย์แต่ละคน อันเป็นการส่งเสริม และยอมรับในศักยภาพของมนุษย์ โดยมนุษย์ และเพื่อมนุษย์เองเป็นฐานรากว่าเข้มแข็งพอที่จะทำให้เชื่อมั่นได้ว่าจะพาให้ชุมชนก้าวผ่านความขัดแย้งหนนี้ไปได้ ดังนั้น การศึกษาแนวคิดเกี่ยวกับการสร้างปรองดอง และรูปแบบการจัดการความขัดแย้งโดยพุทธสันติวิธีตามที่ปรากฏในคัมภีร์พระไตรปิฎก กล่าวถึงสาเหตุของปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นและแนวทางการสร้างสังคมสมานฉันท์ในกรอบของพุทธสันติวิธี จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการสร้างสรรค์สังคมให้มีความสุข มีความรู้ความเข้าใจศาสนาที่ตนนับถืออย่างเพียงพอ โดยปราศจากการนำศาสนาเข้ามาเป็นเครื่องกีดกั้นสันติสุขที่จะพึงมีร่วมกัน นอกจากนี้ ยังต้องอาศัยกรอบความคิดและการวิเคราะห์จากสหศาสตร์ ประกอบด้วย สังคมศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ธรรมชาติสาขาต่าง ๆ ด้วย ดังที่ ท่านพุทธทาสภิกขุ ได้เสนอแนวคิดนี้ในหนังสือ “สันติภาพของโลก” โดยได้นำเสนอแนวคิดเรื่อง “สันติภาพ” อีกทั้งนำเสนอแนวคิด “สันติวิธี” อันเป็นแนวทาง หรือมรรควิธีที่ทำให้เกิดขึ้นสันติภาพในสังคมยุคปัจจุบัน พุทธทาสภิกขุได้ตั้งคำถามว่า “ทำไมจึงปรารภเรื่องสันติภาพ” เหตุผลก็คือ “สันติภาพนั้น มันสำคัญอยู่ในตัวมันเอง คือ จำเป็นสำหรับชีวิตทุกชีวิตไม่ว่าจะอยู่ในระดับส่วนบุคคล หรือทั้งหมดในโลก ล้วนต้องการสันติภาพ”[15] ท่านชี้ว่า “โลกจำเป็นต้องมีสันติภาพ”[16] เพราะ “ยุคปัจจุบันนี้เกิดวิกฤติการณ์ ซึ่งวิกฤติการณ์ที่ถือได้ว่าเลวร้ายที่สุดก็คือ การที่ “คน” เข้าไปเกี่ยวกับข้องกับธรรมชาติด้วยกิเลส ตัณหา และด้วยอำนาจแห่งกิเลสตัณหานั้น จึงทำให้คนได้ฉกฉวยผลประโยชน์ต่าง ๆ จากธรรมชาติเพื่อสนองความอยากของตนเอง” ฉะนั้นทางออกก็คือ “การคิดหาวิธีเกี่ยวข้องกับธรรมชาติโดยไม่ทำให้ธรรมชาติสูญเสีย ความสงบ หรือสูญเสียคุณสมบัติดั้งเดิมของธรรมชาติ”[17] ด้วยเหตุนี้ “พุทธบริษัทจึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องศึกษาและทำความเข้าใจเรื่องสันติภาพ เพราะสันติภาพเป็นจุดมุ่งหมายอย่างยิ่งของพระพุทธเจ้าเพื่อที่ขวนขวายช่วยกันและกันให้เกิดสันติภาพขึ้นมา”[18]
จากภาวะการณ์แห่งปัญหาดังกล่าว ท่านพุทธทาสภิกขุได้เสนอไว้ว่า ต้องใช้หลักอริยสัจ ๔ เป็นหลักการสำหรับพิจารณา และศึกษาหามรรควิธีในการแก้ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ คือ
(๑) ทุกข์ หรือวิกฤติการณ์ต่างๆ คือความไม่มีสันติภาพ ไม่มีความปองดอง
(๒) สมุทัย สาเหตุแห่งความทุกข์ คือ เหตุแห่งวิกฤติการณ์ ต้นเหตุที่แท้จริงของวิกฤติการณ์แห่งความแตกแยกในสังคมไทย หรือในโลกก็คือ ความไม่มีศีลธรรม จึงเป็นเหตุให้เห็นแก่ตัว พอเห็นแก่ตัว ก็เป็นความเดือดร้อนแก่บุคคลนั้นและเดือดร้อนแก่บุคคลอื่นทันที
(๓) นิโรธ ความดับทุกข์ คือ สันติภาพ หรือความปองดอง ซึ่งถือว่าเป็นนิพพานสำหรับคนทั่วไปในโลก
(๔) มรรค ทางให้ถึงสันติภาพ หรือความปองดอง คือ ความถูกต้องทุกประการ รวมกันเข้าเป็นหนทางที่เรียกว่า มรรคมีองค์ ๘ อันประกอบด้วยสาระสำคัญดังต่อไปนี้ คือ (๑) เห็นชอบ (สัมมาทิฏิฐิ) (๒) ดำริชอบ (สัมมาสังกัปปะ) (๓) เจรจาชอบ (สัมมาวาจา) (๔) กระทำชอบ (สัมมากัมมันตะ) (๕) เลี้ยงชีพชอบ (สัมมาอาชีวะ) (๖) พยายามชอบ (สัมมาวายามะ) (๗) ระลึกชอบ (สัมมาสติ) (๘) ตั้งจิตมั่นชอบ (สัมมาสมาธิ) นอกจากนี้เราสามารถนำเอาระบบไตรสิกขาและมรรคมีองค์ ๘ เป็นแนวทางในการปฏิบัติสำหรักการพัฒนามนุษย์ทั้งในองค์การและสังคมเพื่อสร้างความปองดอง โดยประมวลสาระสำคัญได้ ดังนี้
(๑) ศีล คือการไม่ทำความชั่วทั้งปวงอันประกอบด้วยมรรค ๓ คือ สัมมาวาจา (การพูดชอบ) สัมมากัมมันตะ (การกระทำชอบ) และสัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพชอบหรือดำรงชีพชอบ)
(๒) สมาธิ คือการบำเพ็ญความดีให้เพียบพร้อมอันประกอบด้วยมรรค ๓ ประการ คือ สัมมาวายาม (พยายามชอบ) สัมมาสติ (ระลึกชอบ) สัมมาสมาธิ (จิตมั่นชอบ) และ
(๓) ปัญญา คือ การทำจิตของตนให้ผ่องใส อันประกอบด้วยมรรค ๒ ประการ คือ สัมมาทิฏฐิ (ความเห็นชอบ) และสัมมาสังกัปปะ (ความดำริชอบ)[19]
ดังนั้น เมื่อมนุษย์มีสัมมาทิฎฐิ ความเห็นที่ถูกต้อง ด้วยปัญญาที่เกิดจากโยนิโสมนสิการแล้ว ก็จะสามารถขับเคลือนขบวนการทางสังคม ด้วยจิตที่รู้ จิตที่ตื่น จิตที่เบิกบาน ดังคำกล่าวของ น.พ. บรรจบ ชุณหสวัสดิกุล ว่า”จิตที่รู้ตื่น จะพลิกผันโลก เพราะความคิดจิตสำนึกของคนเราเมื่อมนุษย์เราได้ใคร่ครวญอย่างสุขุม รอบคอบ จนเปลี่ยนแปลงทัศนะของตนที่มีต่อสิ่งอัน เป็นสัจธรรมแล้ว มนุษย์นั้นไซร้ก็กำลังจะพลิกผันโลกทั้งใบ"[20] และสามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางสังคมที่กำลังดำเนินอยู่นี้ได้อย่างสันติ
จะเห็นได้ว่า ประชาธิปไตยจึงเปิดโอกาสให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างมีประสิทธิผล มีการลงคะแนนเสียงโดยเท่าเทียมกัน มีการสร้างความเข้าใจร่วมกัน มีการควบคุมทางนโยบาย ประชาธิปไตยนำมาสู่ การหลีกเลี่ยงทรราชย์ การมีสิทธิเสรีภาพ มีการแสดงความคิดเห็นของตนเอง มีความอิสระทางความคิด มีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ปกป้องความสนใจส่วนบุคคล มีความเท่าเทียมกันทางการเมือง และประชาธิปไตยนำมาสู่การแสวงหาเสรีภาพ และความเจริญ
เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว ทั้ง “สันติวิธี” และ”ประชาธิปไตย” จึงมีความสัมพันธ์ และเกื้อหนุนกัน ถ้าพัฒนาประชาธิปไตยได้มาก โอกาสที่สันติวิธีสัมฤทธิ์ได้มาก และมีโอกาสประสบความสำเร็จ เมื่อสันติวิธีทำงานได้สำเร็จ ประชาธิปไตยต้องได้รับการเกื้อหนุน หรือสร้างสรรค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “มิติของความเท่าเทียม” หรือ “ความเสมอภาค” อย่างสุจริตและเป็นธรรมในสังคมด้วยหลัก “ธรรมาธิปไตย” คือถือธรรมเป็นใหญ่ คำนึ่งถึงความถูกต้องความสมควร ถือได้ว่าการ ทำความดีก็เพราะเห็นแก่ความดี ทำความดีเพราะเห็นแก่ความดี ความถูกต้องไม่ใช้ทำด้วยหวังอะไรตอบแทน หลักธรรมาธิปไตยพระพุทธศาสนาสอนอย่างตรงไปตรงมาเป็นอย่างดี เพราะหลักธรรมาธิปไตย อาจนำไปใช้ได้ ทุกกรณีและสอดคล้องกับสังคมปัจจุบันที่ทุกผู้คนนั้นต้องคำนึงถึงหลัก ธรรมาธิปไตย เมื่อสังคมไทยมีความรัก ความสามัคคีแล้วก็เกิดความปรองดองของคนในชาติ เพราะหากคุณสมบัติเช่นนี้เกิดขึ้นในสังคมได้ คนในสังคมสามารถยอมรับ “ความแตกต่าง” ในมิติต่าง ๆ ได้ เช่น ความคิดเห็น ชาติพันธุ์ ศาสนา ภาษา เป็นต้น ซึ่งหลักการเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่เกื้อหนุน “สันติวิธี” ทั้งสิ้น[21]
๓. ไม่มีความรู้ ปรองดองกันไม่ได้
ความไม่รู้เป็นที่มาแห่งปัญหาแห่งความขัดแย้งในสังคมไทยในปัจจุบัน เพราะฉะนั้นการแสวงหาความรู้เป็นที่มาแห่งปัญญาในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งต่างๆ ที่กำลังดำเนินอยู่ในสังคมไทย ดังที่ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ได้นำเสนอกระบวนทัศน์พุทธสันติวิธี (Buddhist Paradigm) เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันว่า “ในยุคปัจจุบันที่โลกกว้างไร้พรหมแดนจนกลายเป็นชุมชน หรือเหมือนหมู่บ้านอันเดียวกัน แทนที่ผู้คนในสังคมจะอยู่ร่วมกันด้วยดี โดยความสงบสุข และปกติสุข แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วไปกลับปรากฎในทางตรงกันข้าม และดูเหมือนจะรุนแรงกว่าเดิมด้วยซ้ำ ผู้คนในยุคใหม่นี้ยังมีจิตใจที่คับแคบ ต่างฝ่ายต่างแบ่งแยกกันมากขึ้น แต่ละฝ่ายต่างมุ่งหาผลประโยชน์ให้แก่ตน และพรรคพวก มุ่งรักษาและเสริมอำนาจความยิ่งใหญ่ของตน ทะเลาะวิวาทกัน และทำร้ายกันอย่างรุนแรงทั้งในระดับบุคคล ชุมชน และระดับประเทศชาติ ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า โลกสากล คนยิ่งสากรรจ์”
เมื่อพิจารณาโดยละเอียดแล้ว พบว่าเกิดผลลัพธ์ที่ต้นต่อแห่งความขัดแย้งในสังคมไทย หรือเรียกอย่างเข้าใจแบบง่ายๆ คือหล่มความทุกข์แห่งประวัติศาสตร์ของสังคมไทยอย่างน้อย ๖ ล่ม คือ
(๑) ความอยุติธรรมทางสังคม
(๒) ปัญหาทางสังคม ความเจ็บป่วยทางสังคม และการขาดความสุข
(๓) การคอร์รัปชั่น
(๔) ความไร้ซึ่งเสถียรภาพ
(๕) ความไร้ซึ่งความยั่งยืน และ
(๖) ความไร้ซึ่งสันติสุขและสันติภาพ[22]
เมื่อพิจารณาอย่างไร้อคติแล้วจะพบว่า ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยนั้น พบว่ามีสาเหตุสำคัญมาแต่ภายในจิตใจของมนุษย์นั่นเอง ทำให้มนุษย์ดำเนินบทบาทต่างๆ ในโลกแห่งความขัดแย้งทางความคิด ทางสังคม และทางการเมือง ทั้งนี้เพราะมีสาเหตุ ๓ ประการ คือ
(๑) ตัณหา หรือ กิเลส การแสวงหากำไรสูงสุดและผลประโยชน์อันสืบเนื่องจากการทุจริตคอร์รัปชั่น และการบริโภคนิยมถูกครอบงำโดย โลภะจิต โทสะจิต โมหะจิต
(๒) มานะ ความต้องการอำนาจอย่างบ้าคลั่ง
(๓) ทิฎฐิ ความยึดมั่น ถือมั่น ในลัทธิความเชื่ออุดมการณ์ และศาสนา
หลักพุทธธรรมมีแนวทางปฏิบัติให้มนุษย์มองเข้ามาในตัวตน คือ จิตของตนเองก่อนจะมองออกไปนอกตัวตน เมื่อพิจารณามนุษย์ และสภาพแว้มล้อมรอบตัว เพื่อพิจารณาความสมดุลระหว่างมนุษย์ ธรรมชาติ และสังคม ภายใต้หลักมัชฌิมาปฏิปทา คือ การใช้หลักสัมมาอาชีวะ หมายถึง การมีพฤติกรรมทางการบริหารตนที่ถูกต้อง ด้วยความเป็นสายกลาง ความพอดีและความรู้จักประมาณ คือ จุดที่คุณภาพชีวิตกับความพึงพอใจมาบรรจบกันนอกเหนือจากนี้แล้ว หลักการที่สำคัญที่สุดอีกประการหนึ่งของการชี้นำแนวทาง และพฤติกรรมการจัดการความขัดแย้งตามแนวพุทธ เช่น หลักคุณธรรม ๑๐ ประการ[23] สำหรับนักบริหารหรือนักปกครองที่จะใช้หลักยึดในการ ครองตน ครองคน และครองงาน ซึ่งจะนำสังคมให้เกิดความเสมอภาคและเป็นธรรม อันประกอบด้วย
(๑) ทาน หมายถึงการให้ การเสียสละ นอกจากเสียสละทรัพย์สิ่งของแล้ว ยังหมายถึงการให้น้ำใจแก่ผู้อื่นด้วยความมีน้ำใจและเมตตาธรรม
(๒) ศีล คือความประพฤติที่ดีงาม ทั้ง กาย วาจา และใจ ให้ปราศจากโทษ ทั้งในการปกครอง อันได้แก่ กฎหมาย นิติราชประเพณี และในทางศาสนา ยึดถือความถูกต้อง เที่ยงธรรมและเป็นธรรม
(๓) บริจาค คือ การเสียสละความสุขส่วนตน เพื่อความสุขส่วนรวม
(๔) ความซื่อตรง คือ ความซื่อตรงในฐานะที่เป็นผู้ปกครอง ดำรงอยู่ในสัตย์สุจริต
(๕) ความอ่อนโยน (มัททวํ) คือ การมีความอ่อนโยน มีสัมมาคารวะต่อผู้อาวุโสและอ่อนโยนต่อบุคคลที่ เสมอกันและต่ำกว่า
(๖) ความเพียร คือ มีความอุตสาหะในการปฏิบัติงาน โดยปราศจากความเกียจคร้าน
(๗) ความไม่โกรธ คือ ความไม่แสดงความโกรธให้ปรากฏเห็นเช่นทำร้ายผู้อื่นแม้จะลงโทษผู้ทำผิดก็ทำตามเหตุผล
(๘) ความไม่เบียดเบียน คือ การไม่เบียดเบียน หรือบีบคั้น ไม่ก่อทุกข์หรือเบียดเบียนผู้อื่น
(๙) ความอดทน คือ การมีความอดทนต่อสิ่งทั้งปวง รักษาอาการ กาย วาจา ใจให้เรียบร้อย
(๑๐) ความเที่ยงธรรม คือ ความหนักแน่น ถือความถูกต้อง เที่ยงธรรมเป็นหลัก ไม่เอนเอียงหวั่นไหวด้วยคำพูด อารมณ์ หรือลาภสักการะใดๆ
จะเห็นได้ว่า พระพุทธศาสนานั้นสอนให้ยึดหลัก ธรรมาธิปไตย คือการอำนวยความยุติธรรมและการพิจารณาว่า อะไรผิดอะไรถูก ในการอำนวยความยุติธรรม คือถือธรรมเป็นใหญ่โดยเฉพาะผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ในหน่วยงานเมื่อมีธรรมาธิปไตยแล้ว ก็จะไม่ตกอยู่ภายใต้อคติหรือความลำเอียง ๔ ประการคือ (๑) ลำเอียงเพราะรักหรือชอบกัน เรียกฉันทาคติ (๒) ลำเอียงเพราะชังเรียกว่าโทสาคติ (๓) ลำเอียงเพราะหลงหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์เรียกโมหาคติ กับข้อสุดท้าย (๔) ลำเอียงเพราะกลัวเรียกภยาคติ
เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว ปัจจุบันนี้สังคมไทยได้มีการเปลี่ยนแปลง ความคิดความเห็นต่างๆ ของคนหนุ่มคนสาวมีความคิด เห็นที่หลากหลายเมื่อความคิดที่ต่างกันก็ มีการแบ่งกลุ่มแบ่งสีแตกแยกความคิดทำให้สังคมไทยขาดความ ปรองดอง เพราะฉะนั้น จึงจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจในหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา เพราะเป็นหลักธรรมที่กว้างที่ครอบคลุมถึงคุณงาม ความดี นับว่าทันสมัยและทรงคุณค่าและสูงในคุณค่า รวมทั้งหลักเรื่องการทำความดีเพราะเห็นแก่ความดี ในสังคมปัจจุบันนี้มีความสับสนวุ่นวายโดยเฉพาะสังคมประเทศไทย ในอดีตนั้นเป็นสังคมที่ เอื้ออาทรเป็นสังคมน่าอยู่ หรือสยามเมืองยิ้มนั้นเอง ผู้คนต่างยิ้มแย้มแจ่มใส มีน้ำจิตน้ำใจ เป็นสังคมที่มีความ สามัคคีมีความรักและไม่เห็นแก่ตัว มีสถาบันหลักคือ ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมน้ำใจของคน ในชาติ การพิจารณาว่าอะไรถูกอะไรผิดนั้นต้องฟังด้วยเหตุและผล การวินิจฉัยเรื่องราวต่างๆ ที่จะ นำมาเป็นแนวประพฤติปฏิบัติ หรือรับไว้ดำเนินชีวิตที่เพื่อร่มเย็นเป็นสุขหรือก่อให้เกิดความรักความสามัคคีเกิดความปรองดองของคนในชาติ เมือสังคมนั้นๆ มีหลักธรรมยึดถือหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาถือธรรมะ คือความถูกต้องแล้วสังคมนั้นก็กลับร่มเย็นเป็นสุขเป็นสังคมน่าอยู่ น่าอาศัย และเต็มไปด้วยรอยยิ้ม ดังเช่นในอดีตที่ผ่านมาอย่างแน่นอน
๔. ความรู้ การเข้าถึง ความเข้าใจ ทำให้เกิดความปรองดอง
ก่อนอื่นที่เราจะสร้างความปองดองกันได้นั้น สิ่งแรกที่เราต้องทำคือต้องมีความรู้ถึงปัญหาอย่างลึกและกว้าง เมื่อรู้แล้วต้องเข้าถึงปัญหาเหล่านั้น อย่างเข้าใจในประเด็นและรายละเอียดต่างๆ ของปัญหาเหล่านั้น แล้วค่อยมาคิดหาวิธีแก้ปัญหาเหล่านั้น ซึ่งพระพุทธศาสนาได้แสดงหลักการในการแก้ปัญหาของชีวิตไว้แล้วใน หลักธรรม ชื่อ อริยสัจ ๔ นั้นคือ (๑) ทุกข์ หรือวิกฤติการณ์ต่างๆ คือความไม่มีสันติภาพ ไม่มีความปองดอง (๒) สมุทัย สาเหตุแห่งความทุกข์ คือ เหตุแห่งวิกฤติการณ์ ต้นเหตุที่แท้จริงของวิกฤติการณ์แห่งความแตกแยกในสังคมไทย หรือในโลกนี้ก็คือ ความไม่มีศีลธรรม จึงเป็นเหตุให้เห็นแก่ตัว พอเห็นแก่ตัว ก็เป็นความเดือดร้อนแก่บุคคลนั้นและเดือดร้อนแก่บุคคลอื่นทันที (๓) นิโรธ ความดับทุกข์ คือ สันติภาพ หรือความปองดอง ซึ่งถือว่าเป็นนิพพานสำหรับคนทั่วไปในโลก (๔) มรรค ทางให้ถึงสันติภาพ หรือความปองดอง[24]
นอกจากนั้นแล้วการอยู่ร่วมกันในสังคม ควรรู้หน้าที่และความสัมพันธ์ของคนในรัฐ ควรปฏิบัติต่อกันในสังคมเพื่อความสามัคคี เป็นหลักใฝ่สามัคคีที่ควรมีต่อกันในสังคมที่ตนเป็นอยู่หรืออยู่ร่วม ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งหรือฐานะใดในสังคม ไม่เกิดการตั้งข้อรังเกียจอันเป็นเหตุให้เกิดการแตกความสามัคคีของคนในรัฐ มีความเป็นเอกภาพอันหนึ่งอันเดียวกัน คนทุกคนมีความเสมอภาคทางด้านต่างๆ เป็นส่วนหนึ่งของรัฐเหมือนกัน เรียกว่า สาราณียธรรม[25] มี ๖ ประการ คือ
(๑) เมตตากายกรรม ควรแสดงออกทางกายด้วยความเมตตา ด้วยกิริยาอาการที่สุภาพเรียบร้อย อ่อนโยน แสดงไมตรีและความหวังดีต่อกัน มีการช่วยเหลือมีการให้ความร่วมมือ เคารพในสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น ให้ความสำคัญแก่สมาชิกทุกคนโดยไม่เลือกชั้นวรรณะ เพศ หรืออายุ เพราะถือว่าสมาชิกทุกคนมีความเสมอภาคทางด้านสังคม ไม่ควรให้ความแตกต่างทางเศรษฐกิจและสังคมมาเป็นเครื่องกำหนดให้บุคคลหนึ่งเหนือกว่าบุคคลหนึ่ง ควรคิดว่าคนทุกคนเท่าเทียมกัน ในฐานะของความเป็นมนุษย์เหมือนกัน มีคุณค่าและมีความสำคัญเท่าเทียมกันโดยไม่มีผู้ใดผู้หนึ่งถูกดูหมิ่น เหยียดหยาม หรือถูกกลั่นแกล้ง ทั้งนี้ โดยไม่คำนึงถึงสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคม ระดับการศึกษา หรือความแตกต่างทางวัฒนธรรม
(๒) เมตตาวจีกรรม ควรแสดงออกทางวาจาด้วยความเมตตา ด้วยคำพูดที่สุภาพ น้ำเสียงที่ไพเราะชวนฟังบอกถึงความหวังดีแก่กัน ช่วยบอกแจ้งสิ่งที่เป็นประโยชน์ สั่งสอนหรือแนะนำตักเตือนกันด้วยความหวังดี แสดงความเคารพนับถือกัน ใช้เหตุผลในการเจรจากันโดยใช้ปัญญา ไม่แสดงอาการโกรธกริ้ว ไม่ใช้อารมณ์ในการแก้ปัญหา ทะเลาะโจมตีด่าว่ากัน พูดด้วยความหวังดีต่อกันและมุ่งประโยชน์ต่อส่วนรวม โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ในเวลามีเหตุการณ์อะไรต่างๆ ก็จะหันหน้ามาพูดจาปรึกษาหารือกันปรับความเข้าใจกันได้ การวิพากษ์วิจารณ์อย่างมีเหตุผลและในทางสร้างสรรค์
(๓) เมตตามโนกรรม ควรแสดงออกทางใจด้วยความเมตตา โดยตั้งจิตปรารถนาดีต่อกัน นึกคิดแต่ในสิ่งที่จะก่อประโยชน์ให้แก่กันและกัน ไม่คิดเบียดเบียนมุ่งร้ายผู้อื่น ตั้งจิตปรารถนาดี คิดทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม มองกันในแง่ดี มีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส แสดงความรักและไมตรีอย่างจริงใจโดยไม่มีอุบายซ่อนเร้น ไม่มีลักษณะที่เรียกว่าจุดร่วม สงวนจุดต่าง แต่เป็นแบบว่ายอมรับจุดต่างและอยู่ด้วยจุดร่วม คือ แม้จะมีความแตกต่างโดยผิวพรรณ เชื้อชาติ ลัทธิศาสนา และสติปัญญา ก็รับรู้และยอมรับกันตามเป็นจริง ไม่ถือเป็นเหตุที่จะแบ่งแยกรังเกียจเดียดฉันท์กัน พร้อมใจที่จะสมัครสมานสามัคคี โดยจุดร่วมพื้นฐานที่ทำให้รักกันและอยู่ร่วมกันได้ สำนึกเกี่ยวกับคุณค่าและศักดิ์ศรีของบุคคล ถือว่าบุคคลมีความเท่าเทียมกันในฐานะที่เป็นมนุษย์ แม้ว่าจะมีลักษณะอย่างอื่นไม่เหมือนกัน เช่น เพศ วัย ความรู้ รสนิยม เป็นต้น
(๔) สาธารณโภคี จะต้องแบ่งปันในสิ่งของที่ได้มาโดยชอบธรรม มีความสุขในการให้ แม้เป็นของเล็กน้อยก็ไม่หวงนำมาเฉลี่ยแบ่งกันให้ได้ใช้สอยบริโภคทั่วกัน มีการกระจายรายได้ที่เป็นธรรม มิให้ช่องว่างระหว่างชนชั้นมากนัก ถ้าหากต่างคนต่างคอยคิดแต่จะเอาประโยชน์ส่วนตัวยึดมั่นติดในผลประโยชน์เห็นแก่ตัวมาก โดยไม่คำนึงหรือมองถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก ไม่สามารถเฉลี่ยเจือจานกันได้ จะทำให้สังคมมีความเหลื่อมล้ำต่ำสูงกันมาก เมื่อคนมีความเหลื่อมล้ำต่ำสูงกันมากในเรื่องรายได้ในเรื่องทรัพย์สินสมบัติหรือสิ่งที่ครอบครอง จะก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่คนอื่น ดังนั้น ทุกคนควรมีความโอบอ้อมอารีเผื่อแผ่แบ่งปันเจือจานแก่กัน เรียกว่าสิ่งของที่ได้มานั้นเป็นของส่วนรวม เช่น รัฐให้บริการด้านสาธารณสุขแก่ประชาชนให้มีสุขภาพอนามัยสมบูรณ์แข็งแรง ส่งเสริมอาชีพให้แก่ประชาชนเพื่อเพิ่มพูนรายได้ให้สูงขึ้น จัดให้มีบริการด้านสาธารณูปโภคที่ดีแก่ประชาชน เช่น ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ เป็นต้น
(๕) ศีลสามัญญตา ควรมีความประพฤติ รักษาระเบียบวินัย มีความสุจริตทางกาย วาจา ที่จะกลมกลืนเข้ากันได้ มีความประพฤติดีงามต่อกัน ถูกต้องตามระเบียบวินัยของบ้านเมือง ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ก่อความเดือดร้อนแก่สังคม จะต้องประพฤติตนในข้อปฏิบัติเดียวกัน ปฏิบัติตามกฎหมาย เชื่อและยึดถือเคารพในสิ่งเดียวกันของสังคม ไม่ทำตัวเป็นแกะดำในวงสังคม เคารพกฎหมายและระเบียบของสังคมที่ตกลงยอมรับกัน ทำตามกฎกติกาของสังคม มีความเสมอภาคส่วนบุคคล ขจัดการเอารัดเอาเปรียบระหว่างสมาชิกในสังคม ไม่ทำให้ตนเองเป็นที่รังเกียจแก่ผู้อื่นและสังคม มีระเบียบวินัย ประพฤติปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของสังคม มีการเลือกผู้แทนเข้าไปปฏิบัติหน้าที่แทนตน และยึดเสียงข้างมากเป็นหลักในการยุติความขัดแย้ง ใช้สันติวิธีในการประนีประนอม ถ้าในสังคมนี้มีความประพฤติไม่สม่ำเสมอกัน มีโจรผู้ร้ายมาก กฎหมายไม่สามารถควบคุมคนให้มีความประพฤติเสมอกัน หรือสถาบันการปกครองไม่สามารถปฏิบัติต่อทุกคนอย่างยุติธรรมเสมอกัน ปล่อยให้มีการเบียดเบียนก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่างๆ เช่น มีกลุ่มก่อการร้าย ขบวนการยาเสพติด กลุ่มล่อลวงหญิงและเด็กไปค้าประเวณีบ้าง เป็นต้น อย่างนี้สังคมประชาธิปไตยก็อยู่ไม่เป็นสุข ระส่ำระสายและพัฒนาประชาธิปไตยลำบาก ผู้ไม่มีระเบียบวินัยไร้คุณธรรมส่วนมากจะเป็นผู้ที่ปกครองตนเองไม่ได้ หรือปกครองตนเองไม่เป็น ถ้าในสังคมไม่สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสงบเรียบร้อยแล้ว ความขัดแย้งวุ่นวายกันทำให้สับสนระส่ำระสาย กลายเป็นเหตุผลให้คนที่เราเรียกว่าเผด็จการ ยกเป็นข้ออ้างเข้ามาจัดการปกครองบีบบังคับเหมือนกับว่า เมื่อฝ่ายปกครองตัวเองไม่เป็น ปกครองกันไม่ได้แล้ว ก็จะต้องใช้วิธีการโดยการจัดการให้สงบเรียบร้อย เมื่อความยุ่งยากกันมากเป็นเวลานาน คนจำนวนมากก็จะอยากได้การปกครองแบบนี้อีก วงจรอุบาทว์ความชั่วร้ายก็เลยวนเวียนไม่มีที่สิ้นสุด ทุกคนจะต้องอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุขโดยการยึดมั่นในระเบียบวินัย กฎเกณฑ์กติกาสังคมจะต้องร่วมกันรักษา ผดุงความยุติธรรมเคารพกฎระเบียบค่านิยมของสังคม
(๖) ทิฏฐิสามัญญตา จะต้องมีความเชื่อมั่นยึดถือในหลักการ อุดมการณ์ และอุดมคติที่ร่วมกันหรือสอดคล้องไปกันได้ มีความเห็นเสมอกันมีการยอมรับในหลักการเดียวกัน ยอมรับนับถือความคิดเห็นของกันและกัน ทุกคนมีสิทธิที่จะแสดงออกซึ่งการเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย เคารพกฎเกณฑ์และกติกาของการปกครองแบบประชาธิปไตย โดยเฉพาะนักการเมืองจะต้องเคารพเสียงข้างมากของประชาชน การป้องกันสิทธิของฝ่ายเสียงข้างน้อย มีความเสมอภาคระหว่างบุคคล การวิพากษ์วิจารณ์ การปฏิบัติตามกฎหมายที่บัญญัติขึ้นตามวิถีทางประชาธิปไตย ประชาชนไม่ว่าจะร่ำรวยหรือยากจนจะต้องได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน เมื่อกระทำผิดจะต้องใช้กฎหมายเดียวกัน การลงโทษอย่างเดียวกัน และถ้าได้รับเหตุอันควรปราณีก็ควรได้รับเช่นเดียวกัน
จะเห็นได้ว่า สาราณียธรรม ๖ เป็นหลักธรรมสำหรับสร้างความปรองดอง ในการแสดงออกถึงหน้าที่และความสัมพันธ์ของคนในรัฐควรปฏิบัติต่อกันในสังคม เพื่อความสามัคคี อยู่ร่วมกันในสังคมมีความเห็นใจกัน และมีปฏิสัมพันธ์อันดีต่อกันต่อหน้าและลับหลัง ทำให้เกิดความระลึกถึงกันสร้างสรรค์ให้เกิดความรัก ความเคารพ การสงเคราะห์ อนุเคราะห์กัน ไม่ให้มีการทะเลาะวิวาทกัน เสริมสร้างให้เกิดความสามัคคีในสังคม ยึดมั่นในความเสมอภาคเสรีภาพของประชาชน คนทุกคนมีส่วนร่วมทางการเมืองเท่าเทียมกัน ดังนั้น ประชาชนทุกคน จะต้องปฏิบัติต่อกันอย่างเสมอภาค มีสิทธิเสมอภาคต่อการปฏิบัติตามกฎหมาย มีความเสมอภาคในโอกาส เศรษฐกิจ และสังคม มีความเชื่อมั่นยึดถือในหลักการ อุดมการณ์ประชาธิปไตย เคารพในกติกาของการปกครองระบอบประชาธิปไตย ย่อมนำมาซึ่งความผาสุก
เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว ในการแก้ทุกข์หรือแก้ไขปัญหาต่างๆ ของมนุษย์จำเป็นต้องจัดการกำจัดโรคทางจิตของมนุษย์ คือ (๑) ตัณหา หรือ กิเลส การแสวงหากำไรสูงสุดและผลประโยชน์อันสืบเนื่องจากการทุจริตคอร์รัปชั่น และการบริโภคนิยมถูกครอบงำโดย โลภะจิต โทสะจิต โมหะจิต (๒) มานะ ความต้องการอำนาจอย่างบ้าคลั่ง (๓) ทิฎฐิ ความยึดมั่น ถือมั่น ในลัทธิความเชื่ออุดมการณ์ทางการเมือง เมื่อเราสามารถแก้ไขปัญหาภายในจิตใจของทุกคนเหล่านี้ได้ ปัญหาต่างๆ ภายนอกที่เกิดขึ้นแล้วก็จะสงบไปเองโดยปริยาย เปรียบเสมือนดังไฟที่หมดเชื้อแล้ว เพราะฉะนั้น วิธีการสร้างความปรองดองที่ดีที่สุด คือการแก้ที่ภายในจิตใจของทุกคนตามหลักพุทธสันติวิธีดังกล่าวแล้ว จึงจะสามารถสร้างความปรองดองในสังคมได้อย่างถาวรมั่นคง
๕. บทสรุป
พุทธสันติวิธีเพื่อสร้างความปรองดอง สืบเนื่องจากความขัดแย้งในสังคมไทยมีขึ้นอย่างต่อเนื่องและทวีความรุนแรงตลอดมา เกิดขึ้นจากหลายเหตุปัจจัย นำไปสู่การแตกแยกทางความคิด การแบ่งฝักฝ่าย และเกิดความไม่ลงรอยกันทางความคิด ไม่สามารถที่จะประสานรอยร้าวที่เกิดจากความไม่เข้าใจร่วมกันให้เป็นเอกภาพได้ ภาวะความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนี้มิใช่เฉพาะในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเท่านั้น ปัญหาเหล่านี้ลุกลามไปสู่ปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง แม้กระทั่งศาสนา จนเกิดขบวนการที่นำปัญหาต่างๆ เหล่านั้นโยงไปสู่การแบ่งแยกทางสังคมจนยากที่จะก่อให้เกิดสังคมสมานฉันท์ได้โดยง่าย ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ [26] ได้กล่าวถึงทัศนะที่ถือว่าสันติภาพคือสภาพที่ปราศจากความขัดแย้ง ตั้งอยู่บนสมมติฐานความเชื่อที่ไม่เป็นความจริงสองประการ คือ (๑) ความขัดแย้งของมนุษย์เป็นสิ่งที่สามารถขจัดให้หมดสิ้นไปได้ (๒) ความขัดแย้งเป็นสิ่งเลวร้ายหรือเป็นปัญหา สมมติฐานข้อแรกถูกวิจารณ์ว่าเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ ปัญหาของมนุษย์จึงอาจมิใช่การขจัดความขัดแย้งให้สูญสิ้นไป เพราะเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ หากแต่อยู่ที่ว่ามนุษย์จะแก้ไขความขัดแย้งในแต่ละเรื่องด้วยวิธีใด สมมติฐานข้อที่สองได้รับการโต้แย้งว่า ความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมดาที่มีอยู่ทั่วไปในสังคมและมิใช่เป็นสิ่งเลวร้ายเสมอไป เพราะบางครั้งความขัดแย้งก็เป็นประโยชน์ได้ บางครั้งความขัดแย้งในสังคมก็ทำหน้าที่ประดุจลิ้นนิรภัย (Safety value) ซึ่งช่วยผ่อนคลายความเป็นศัตรูกันและกันให้เบาบางลงได้ นอกจากนั้นยังช่วยตอกย้ำเอกลักษณ์ของกลุ่มให้ชัดเจนขึ้นในกรณีที่เกิดความขัดแย้งกับกลุ่มและเสริมสร้างความเป็นเอกภาพและดุลยภาพนอกจากนั้นความขัดแย้งยังเปรียบเสมือนสัญญาณเตือนสังคมว่า ปัญหากำลังคุกรุ่นอยู่ ความขัดแย้ง จึงไม่ใช่สิ่งที่ต้องลบให้หายไปจากสังคมมนุษย์โดยสิ้นเชิง นักวิจัยสันติภาพคงต้องถามปัญหาว่าจะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งต่าง ๆ ให้ยุติลงด้วยสันติอย่างไรมากกว่า[27] เพื่อสร้างสรรค์และพัฒนารูปแบบวิถีชีวิตสังคมนิยม ด้วยความสมัครใจของประชาชน ปราศจากการใช้อำนาจของรัฐ มหาตมะ คานธีให้ทัศนะว่า “รูปแบบการปกครองที่ดีนั้นจำเป็นต้องให้ประชาชนมีส่วนในการปกครองตนเองจะทำให้เกิดลักษณะในการปกครองโดยรัฐบาลที่ได้มาจากประชาชนปกครองประชาชน วิถีทางต่างๆ ที่ประชาชนจะปกครองหรือสามารถปกครองตนเองได้นั้น คือการปกครองในระบอบประชาธิปไตยถ้าประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองมากขึ้น รูปแบบการปกครองก็จะมีลักษณะเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ถ้าประชาชนมีส่วนร่วมน้อยลงความเป็นประชาธิปไตยก็มีน้อยลง”[28]
พระพุทธศาสนาเป็นส่วนหนึ่งของระบบสังคม ที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ พระพุทธศาสนาเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพสังคม เศรษฐกิจและการเมือง แต่พระพุทธศาสนาก็มีอิทธิพลและบทบัญญัติต่อวิถีชีวิตของบุคคลในสังคม ซึ่งนักสังคมศาสตร์ให้การยอมรับความสำคัญของพระพุทธศาสนาในลักษณะที่เป็นระบบควบคุมสังคมให้สุขสงบ และเป็นสถาบันเบื้องต้นสำหรับการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และสวัสดิการของมนุษย์[29] หลักธรรมที่จะทำให้นักปกครองหรือนักการเมือง และประชาชน มีความสามัคคีในการสร้างความเจริญให้แก่ประเทศชาติ ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาคในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งถือว่าคนทุกคนมีความเท่าเทียมกัน เป็นส่วนหนึ่งของรัฐเหมือนกัน เป็นหลักการที่ควบคู่กับหลักเสรีภาพ ส่งเสริมให้ประชาชนแสดงออกถึงการเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย เรียกว่า อปริหานิยธรรม[30] มี ๗ ประการ คือ
(๑) หมั่นประชุมเนืองนิตย์ นักปกครอง ควรพบปะปรึกษาหารือกัน แสดงความคิดเห็น เพื่อหาข้อยุติความขัดแย้งโดยใช้วิธีการอภิปรายในรัฐสภา ข้อขัดแย้งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม นักปกครอง ควรใช้วิธีการลงมติอภิปรายในสังคม ไม่ใช้อำนาจความรุนแรงในการแก้ปัญหา ส่งเสริมให้ประชาชนได้เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองเท่าๆ กัน ดังนั้น นักปกครอง จะต้องส่งเสริมให้ประชาชนได้รับฟังข่าวสารทางการเมือง มีการชักชวนให้ประชาชนได้พบปะหารือกัน เพื่อสนทนาเรื่องการเมือง ตลอดทั้งการรณรงค์ชักชวนให้ประชาชนไปเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งคนใดคนหนึ่ง โดยให้มีการโฆษณาหาเสียงและการรณรงค์ให้ประชาชนออกไปใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้ง ดังนั้น การเลือกตั้ง นักปกครองจะต้องมีกำหนดเวลาเลือกตั้งที่แน่นอน โดยกำหนดให้มีการเลือกตั้งโดยตลอดหรือการทำเป็นเนืองนิตย์ โดยปกติทุก ๔ ปี เป็นต้น ดังนั้น ประชาชนทุกคนจะต้องพร้อมเพรียงกันในการออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง นอกจากนี้ การทำประชาพิจารณ์ การลงประชามติ ประชาชนจะต้องพบปะปรึกษาหารือกันเพื่อแสดงความคิดเห็น ตลอดทั้งการอภิปราย มีการพูดคุยถกเถียงปัญหาทางการเมือง โดยการเข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจแก้ปัญหาสังคม การติดตามความเคลื่อนไหวของทางราชการ และการเสนอแนะการแก้ปัญหาของสังคมให้แก่รัฐบาล
(๒) พร้อมเพรียงกันประชุม นักปกครอง ควรส่งเสริมให้ประชาชนรู้จักระเบียบกฎเกณฑ์ที่ได้ตกลงกันไว้ในการร่วมมือกันทำกิจการต่างๆ เมื่อทำการใดก็ช่วยกันและทำพร้อมกัน เลิกพร้อมกัน ไม่อิดออดล่าช้า หรือถ่วงเวลา รับผิดชอบต่อหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากส่วนรวมและในสังคม ประชาชนมีความเสมอภาคทางด้านการเมืองเท่าๆ กัน กล่าวคือ ความเสมอภาคทางการเมืองจะส่งเสริมให้ประชาชนแสดงออกซึ่งการเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริง เช่น การออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งเมื่ออายุถึงเกณฑ์ นักปกครอง ควรรณรงค์ให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง เป็นการเลือกตั้งทั่วไป โดยผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งทั่วประเทศ จะต้องมาลงคะแนนเสียงโดยพร้อมเพรียงกัน การเลือกตั้งซ่อมในกรณีที่ผู้แทนราษฎรพ้นจากสมาชิกภาพก่อนครบวาระ ประชาชนก็ต้องมาลงคะแนนเสียงพร้อมๆ กัน เช่นเดียวกันกับการเลือกตั้งทั่วไป
(๓) ไม่บัญญัติสิ่งที่มิได้บัญญัติไว้ นักปกครอง จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศ ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ทางสังคม (อันขัดต่อหลักการเดิม) ไม่ล้มล้างสิ่งที่ไม่บัญญัติ (ตามหลักการเดิม) ถือว่าเป็นกฎหมายที่ประชาชนส่วนใหญ่ได้ให้การยอมรับ เพราะถ้าหากคนส่วนใหญ่ไม่เห็นชอบกับตัวบทกฎหมายใดๆ ก็สามารถที่จะผลักดันให้มีการแก้ไขปัญหานั้นๆ ได้ โดยอาศัยกลไกทางการเมืองการปกครอง ดังนั้น การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญควรกระทำได้ยาก ต้องผ่านกระบวน การแก้ไขด้วยวิธีการพิเศษยิ่งกว่าการแก้ไขกฎหมายอื่นๆ ที่ผ่านมา เมื่อเกิดปัญหาจากช่องว่างและข้อจำกัดในรัฐธรรมนูญ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ นอกจากจะล่าช้าติดขัดในระบบจนไม่สามารถแก้ไขได้สักเรื่องเดียวแล้ว การให้นักการเมืองมีส่วนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กลับกลายเป็นอุปสรรค เพราะนักการเมืองเป็นกลุ่มคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มักจะไม่กระตือรือร้นหรือรีบเร่งพิจารณาแก้ไขเท่าที่ควรจะเป็น การยืดหยุ่นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยการแก้ไขเป็นวิธีที่ง่ายดีกว่าการล้มล้าง เพราะว่ารัฐธรรมนูญแก้ไขยากแต่ล้มล้างง่ายนั่นเอง
(๔) สักการะเคารพนับถือ นักปกครองจะต้องเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชน ให้ความสำคัญต่อประชาชน โดยการรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และความต้องการของประชาชน ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง มีความเสมอภาคทางสังคม คนทุกคนจะต้องได้รับความเคารพว่า ไม่มีอุปสรรคจอมปลอมเป็นเครื่องกีดขวางการคบค้าสมาคมระหว่างคนรวยกับคนจนหรือคนต่างอาชีพกัน นอกจากนี้ นักปกครองจะต้องเคารพกฎเกณฑ์และกติกาของการปกครองแบบประชาธิปไตย ได้แก่ การเคารพเสียงข้างมากของประชาชน การป้องกันสิทธิของฝ่ายเสียงข้างน้อย ความเสมอภาคระหว่างบุคคล การวิพากษ์วิจารณ์ การปฏิบัติตามกฎหมายที่บัญญัติขึ้นตามวิถีทางประชาธิปไตย
(๕) ปกป้องคุ้มครองเด็กและสตรีไม่ให้ถูกข่มเหงน้ำใจ นักปกครอง จะต้องส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคของประชาชน ความเสมอภาคทางด้านสังคม และความเสมอภาคในโอกาส เด็ก เยาวชน และบุคคลในครอบครัว มีสิทธิได้รับความคุ้มครองโดยรัฐ จากการใช้ความรุนแรงและการปฏิบัติอันไม่เป็นธรรม เด็กและเยาวชนซึ่งไม่มีผู้ดูแล มีสิทธิได้รับการเลี้ยงดูและการศึกษาอบรมจากรัฐ ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ และได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล เพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิดเชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ สภาพทางกาย หรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญจะกระทำมิได้ กล่าวคือ นักปกครองจะต้องให้การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย การจับ คุมขัง ตรวจค้นตัวบุคคล หรือการกระทำใดอันกระทบต่อสิทธิ และเสรีภาพจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
(๖) เคารพสักการบูชาปูชนียสถานและปูชนียวัตถุ นักปกครอง จะต้องเคารพสักการบูชา ปูชนียสถานและปูชนียวัตถุ ตลอดถึงอนุสาวรีย์ที่เคารพสักการะสืบต่อกันมาแต่โบราณ อันเป็นศูนย์รวมจิตใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในชาติ มีความยึดมั่นในสิ่งที่เคารพสักการะอันเดียวกัน และนักปกครอง จะต้องเปิดโอกาสให้คนทุกคนในสังคมได้ใช้แสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ การเคารพในสถาบันพระมหากษัตริย์ เคารพเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ในทุกโอกาส พระมหากษัตริย์เป็นผู้มีอำนาจอธิปไตยส่วนหนึ่ง เพราะว่ากฎหมายที่สำคัญไม่ว่า รัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด พระราชกฤษฎีกา จะมีผลใช้บังคับได้จะต้องให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยก่อน นอกจากนี้ การแต่งตั้งข้าราชการประจำระดับสูง เช่น ปลัดกระทรวงต้องให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยแต่งตั้งด้วย อีกทั้งในการตัดสินคดีของศาล ศาลยังตัดสินในพระปรมาภิไธยด้วย
(๗) บำรุงรักษาผู้มีธรรมทั้งหลายที่เป็นที่พึ่งของประชาชน นักปกครอง ควรให้การสนับสนุนผู้ที่มีคุณธรรมทั้งหลาย ให้ได้รับโอกาสที่จะใช้ความสามารถในการได้รับการศึกษา โอกาสที่จะแสวงหาเพื่อความเจริญก้าวหน้าในการดำรงชีพหรือการเลื่อนฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม กล่าวคือ รัฐจะต้องให้ความอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา ส่งเสริมความเข้าใจ อันดีและความสมานฉันท์ระหว่างพุทธศาสนิกชน รวมทั้งสนับสนุนการนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนามาใช้เพื่อเสริมสร้างคุณธรรมและพัฒนาคุณภาพชีวิต
เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว อปริหานิยธรรม ๗ สามารถที่จะส่งเสริมให้นักปกครอง และประชาชนผู้ใต้ปกครองให้มีความสามัคคีปรองดองในการสร้างความเจริญให้แก่ประเทศชาติ อยู่ร่วมกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทำให้เกิดความเข้าใจอันดีต่อกัน สามัคคีปรองดองกัน มีความเป็นเอกภาพ ทำให้เกิดความสมดุลพอดี มีความเสมอภาคทางด้านต่างๆ มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น รับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะของทุกคน โดยไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของคนอื่น ปฏิบัติตามกฎระเบียบที่ได้ตกลงกันไว้ ตลอดทั้งยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ส่งเสริมความเข้าใจอันดีและความสมานฉันท์ระหว่างศาสนิกชนของศาสนา รวมทั้งสนับสนุนการนำหลักธรรมของพระพุทธศาสนามาใช้เพื่อเสริมสร้างคุณธรรมและพัฒนาคุณภาพชีวิต
[4] Kaare Svalastoga, on Deadly Violence, (Oslo-Bergen-Troms Universitets forlaget, 1982), pp. 32-34.
[5] Francis A. Beer, Peace Against War:The Ecology of International Violence, (San Francisco : W.H. Freeman and Company, 1981), pp.37–38.
[9] ที.ม. ๑๐/๗๐/๙๐.
[10] ดูรายละเอียดใน ม.ม. (ไทย) ๑๓/๑๕๐/๑๑๗-๑๒๒.
[12] พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต), พัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยจิตวิทยาแบบยั่งยืน, มูลนิธิพุทธธรรม, ๒๕๔๓, หน้า ๒๘-๒๙.
[13] พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส (นิธิบุณยากร), พุทธสันติวิธี การบูรณาการหลักการและเครื่องมือจัดการความขัดแย้ง, กรุงเทพมหานคร : บริษัท ๒๑ เซ็นจูรี จำกัด, ๒๕๕๔, หน้า ๑๙๗.
[14] องฺ.จตุกฺก. ๒๑/๕๕/๘๐.
[18] พุทธทาสภิกขุ, สันติภาพของโลก, หน้า ๑๒-๑๔.
[19] กฤติ เพิ่มทันจิตต์ ศ.ดร., แนวทางการบริหารภายใต้กระบวนทัศน์วิถีพุทธ,หน้า ๑๖๗.
[20] เรื่องเดียวกัน, หน้า ๑๖๗.
[21] Robert A, Dahl, On Democracy, (New Haven and London : Yale University Press, 2000), pp. 38-44.อ้างใน บวรศักดิ์ อุวรรณโณ และถวิลวะดี บุรีกุล, ธรรมชาติของความขัดแย้งในวัฒนธรรมไทย, (นนทบุรี : เอกสารประกอบการเรียนการสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรแนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับการจัดการความขัดแย้งด้านนโยบายสาธารณะโดยสันติวิธี, มปป.), หน้า ๕.
[22] กฤษ เพิ่มทันตจิตต์ ศ.ดร., กระบวนทัศน์และหลักการบริหารวิถีพุทธ, ๒๕๕๓, หน้า ๙๕-๑๒๙.
[24] พุทธทาส อินทปัญโญ, สันติภาพของโลก, กรุงเทพมหานคร : ธรรมทานมูลนิธิ, ๒๕๓๐, หน้า ๕๓-๗๗.
[25] ที.ปา. ๑๑/๓๑๗/๒๕๗.
[30]ที.ม. ๑๐/๗๐/๙๐.