RSS

กรอบแนวคิดและการตั้งสมมติฐานการวิจัย

กรอบแนวคิดและการตั้งสมมติฐานการวิจัย


รศ.พ.ต.อ.หญิง ดร.พัชรา  สินลอยมา·


กรอบแนวคิดในการวิจัย

กรอบแนวคิดการวิจัยคืออะไร มีการเขียนกรอบแนวคิดในการวิจัยอย่างไร
การสร้างกรอบแนวคิดในการวิจัย เป็นขั้นตอนของการนำเอาตัวแปรและประเด็นที่ต้องการทำวิจัยมาเชื่อมโยงกับแนวคิดทฤษฏีที่เกี่ยวข้องในรูปของคำบรรยาย แบบจำลองแผนภาพหรือแบบผสมการวาง กรอบแนวคิดในการวิจัยที่ดี จะต้องชัดเจน แสดงทิศทางของความสัมพันธ์ ของสิ่งที่ต้องการศึกษา หรือตัวแปรที่จะศึกษา สามารถใช้เป็นกรอบในการกำหนดขอบเขตของการวิจัย การพัฒนาเครื่องมือในการวิจัย รูปแบบการวิจัย ตลอดจนวิธีการรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูล หลักสำคัญของการเขียนกรอบแนวคิดการวิจัย คือ
1. กำหนดตัวแปรต้น หรือตัวแปรอิสระ ไว้ด้านซ้ายมือ พร้อมทั้งใส่กรอบสี่เหลี่ยมไว้ เพื่อให้สามารถแยกแยะตัวแปรที่ต้องการศึกษาได้
2. กำหนดตัวแปรตาม ไว้ด้านขวามือ พร้อมทั้งใส่กรอบสี่เหลี่ยมไว้ เพื่อให้สามารถแยกแยะตัวแปรที่ต้องการศึกษาได้
3.  เขียนลูกศรชี้จากตัวแปรต้นแต่ละตัวมายังตัวแปรตามให้ครบทุกคู่ที่ต้องการศึกษา
กรอบแนวคิดในการวิจัย เป็นผลสรุปจากการศึกษาทฤษฏีและผลที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อปัญหาการวิจัย ซึ่งผู้เสนอเค้าโครงสรุปเป็นแนวคิดของตนเองสำหรับการดำเนินการวิจัย ของตน โดยทั่วไปก่อนการกำหนดกรอบแนวคิดในการวิจัย ผู้วิจัยจำเป็นต้องศึกษา ทฤษฏีและผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องให้มากพอว่ามีใครเคยทำวิจัยเรื่องทำนองนี้มาบ้างเขาทำอย่างไรและข้อค้นพบของการวิจัยมีอะไรบ้างแล้วนำมาประกอบการวางแผนการวิจัยของตนโดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำหนดกรอบในเชิงเนื้อหาสาระซึ่งประกอบด้วยตัวแปรและการระบุความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรสำหรับการวิจัยเชิงพรรณา (Descriptive research) กรอบแนวคิดในการวิจัยอาจมีแต่การระบุเฉพาะตัวแปรว่ามีตัวแปรอะไรที่จะนำมาศึกษา กรอบแนวคิดดังกล่าวจึงเปรียบเสมือนขอบเขตทางด้านเนื้อหาสารของการวิจัย ส่วนการวิจัยประเภทอธิบาย (Fxplanatory research) กรอบแนวคิดของการวิจัยมีการระบุความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรด้วย
กรอบแนวคิดคือการประมวลความคิดรวบยอดของงานวิจัยว่างานวิจัยที่กำลังทำอยู่นี้ มีตัวแปรอะไรที่เกี่ยวข้องบ้าง ความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรที่ศึกษาเป็นอย่างไร อะไรเป็นตัวแปรอิสระ อะไรเป็นตัวแปรตาม

 ความหมายของกรอบแนวคิดในการวิจัย

กรอบแนวคิดการวิจัย  หมายถึง  กรอบของการวิจัยในด้านเนื้อหาสาระ  ซึ่งประกอบด้วยตัวแปร  และการระบุความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร  ในการสร้างกรอบแนวคิดการวิจัย  ผู้วิจัยจะต้องมีกรอบพื้นฐานทางทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับปัญหาที่ศึกษาและมโนภาพ(concept)ในเรื่องนั้น  แล้วนำมาประมวลเป็นกรอบในการกำหนดตัวแปรและรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรต่าง ๆ  ในลักษณะของกรอบแนวคิดการวิจัยและพัฒนาเป็นแบบจำลองในการวิจัยต่อไป

แหล่งที่มาของกรอบแนวคิดการวิจัย

1.     ผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง  เพื่อให้ได้มาซึ่งกรอบแนวคิดที่รัดกุม มีเหตุมีผล ผู้วิจัยควรอย่างยิ่งที่ต้องศึกษาทฤษฎีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่ศึกษา ไม่ว่าจะอยู่ในสาขาพยาบาล สาขาแพทย์ หรือสาขาทางสังคมศาสตร์อื่น ๆ ทั้งนี้เพราะไม่เพียงแต่จะได้ตัวแปรต่างๆ เท่านั้น ยังได้ความรู้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรกับปรากฏการณ์ที่ศึกษาอย่างมีเนื้อหาสาระ คำอธิบายหรือข้อสรุปต่างๆ ที่ได้จากการวิเคราะห์หรือสรุปผลจะได้มีความหนักแน่นในเชิงทฤษฎี ดังนั้นการศึกษาทฤษฎีที่เกี่ยวข้องนอกจากจะชี้ให้เห็นถึงตัวแปรใดสำคัญและมีความสัมพันธ์กันอย่างไรแล้ว ยังทำให้กรอบแนวคิดในการวิจัยมีแนวทางที่ชัดเจนและมีเหตุผล
2.     ทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง  หมายถึงงานวิจัยที่ผู้อื่นได้ทำมาแล้วมีประเด็นตรงกับประเด็นที่เราต้องการศึกษา หรือมีเนื้อหา หรือตัวแปรบางตัวที่ต้องการศึกษารวมอยู่ด้วย งานวิจัยที่เกี่ยวข้องนั้นอาจจะไม่ได้อยู่ในสาขาทางการพยาบาลเท่านั้น แต่อาจจะอยู่ในสาขาอื่นๆ ด้วย ดังนั้นผู้วิจัยควรมุ่งศึกษาว่าผู้ที่ได้ทำวิจัยมาแล้วมองเห็นว่า ตัวแปรใดมีความสำคัญหรือไม่อย่างไรกับปรากฏการณ์หรือประเด็นที่เราต้องการศึกษา หรือบางตัวแปรอาจจะไม่เกี่ยวข้องแต่ผู้วิจัยไม่ควรตัดทิ้ง เพราะสามารถนำมาศึกษาวิเคราะห์เพื่อยืนยันต่อไปว่า มีหรือไม่มีความสำคัญในกลุ่มประชากรที่ศึกษาอยู่
3.     กรอบแนวคิดของผู้วิจัยเองที่สังเคราะห์ขึ้นเอง นอกจากการศึกษาผลงานวิจัยและทฤษฎีต่างๆที่เกี่ยวข้องแล้ว กรอบแนวคิดยังจะได้มาจากความคิดและประสบการณ์การทำงานของผู้วิจัยเองอีกด้วย

หลักการเลือกและประโยชน์ของกรอบแนวคิดในการวิจัย

กรอบแนวคิดที่ดีควรจะเป็นกรอบแนวคิดที่ตรงประเด็นในด้านเนื้อหาสาระตัวแปรที่ต้องการศึกษา  มีความสอดคล้องกับความสนใจในเรื่องที่วิจัย  มีความง่ายและไม่สลับซับซ้อนมาก  และควรมีประโยชน์ในเชิงนโยบายหรือการพัฒนาสังคม
กรอบแนวคิดที่จะนำมาใช้ในการวิจัยจะมีประโยชน์ต่อการดำเนินการวิจัยขั้นต่อ ๆ ไป  โดยเฉพาะในขั้นการรวบรวมข้อมูล  ขั้นการออกแบบการวิจัย  ขั้นการวิเคราะห์  และการตีความหมายผลการวิเคราะห์

การนำเสนอกรอบแนวคิดในการวิจัย
การนำเสนอกรอบแนวคิดในการวิจัยอาจทำได้หลายวิธี ดังนี้
1.     การเขียนบรรยาย โดยระบุตัวแปรที่ศึกษาและความสัมพันธ์ระหว่าง ตัวแปร
2.     การเขียนแบบจำลองหรือสัญลักษณ์และสมการ    
3.     การเขียนแผนภาพ แสดงตัวแปรต่างๆ และความสัมพันธ์ระหว่าง ตัวแปร
4.     การเขียนแบบผสมผสาน

หลักเกณฑ์ในการเขียนกรอบแนวคิดในการวิจัย
1.     ตัวแปรแต่ละตัวที่เลือกมาศึกษา หรือที่นำเสนอไว้ในกรอบแนวคิดในการวิจัยต้องมีพื้นฐานเชิงทฤษฏีว่ามีความสัมพันธ์หรือเกี่ยวข้องกับสิ่งที่ต้องการศึกษา
2.     มีความตรงประเด็นในด้านเนื้อหาสาระ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านตัวแปรอิสระหรือตัวแปรที่ใช้ควบคุม
3.     มีรูปแบบสอดคล้องกับความสนใจ หรือ วัตถุประสงค์ของการวิจัย
4.     ระบุรายละเอียดของตัวแปรและหรือสามารถแสดงความสัมพันธ์ของตัวแปรได้ชัดเจนด้วยสัญลักษณ์หรือแผนภาพ

หลักในการเลือกกรอบแนวคิด
หลักสำคัญในการเลือกกรอบแนวคิดในการวิจัยทางการพยาบาล มีอยู่ด้วยกัน 4 ประการ คือ
1.   ความตรงประเด็น กรอบแนวคิดที่ตรงประเด็นของการวิจัย กล่าวคือ มีความตรงประเด็นในด้านเนื้อหา ซึ่งพิจารณาได้จากเนื้อหาของตัวแปรอิสระหรือตัวแปรที่ใช้ควบคุม และระเบียบวิธีที่ใช้ในการวิจัย ในกรณีที่มีแนวคิดหลายๆ แนวตรงกับหัวข้อเรื่องที่ผู้วิจัยต้องการศึกษา ผู้วิจัยควรเลือกแนวคิดที่ตนเองคิดว่าตรงกับประเด็นที่ต้องการศึกษามากที่สุด
2.   ความง่ายและไม่สลับซับซ้อน กรอบแนวคิดที่ควรจะเลือกควรเป็นกรอบที่ง่ายแก่การเข้าใจ ไม่ยุ่งยากซับซ้อน หากมีทฤษฎีหลายทฤษฎีที่จะนำมาใช้เป็นกรอบแนวคิด ผู้ที่ทำวิจัยควรเลือกทฤษฎีที่ง่ายที่สุดที่สามารถอธิบายปรากฏการณ์ที่ต้องการศึกษาได้พอๆกัน
3.   ความสอดคล้องกับความสนใจ กรอบแนวคิดที่ใช้ควรมีเนื้อหาเกี่ยวกับตัวแปร หรือความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรที่สอดคล้องกับความสนใจของผู้ที่จะทำการวิจัย
4.   ความมีประโยชน์ต่อการปฏิบัติการพยาบาล การวิจัยนั้นควรมีกรอบแนวคิดสะท้อนถึงประโยชน์ที่สามารถนำไปใช้ในการปฏิบัติการพยาบาลด้วย

วิธีการสร้างกรอบแนวคิด
การสร้างกรอบแนวคิด เป็นการสรุปโดยภาพรวมว่างานวิจัยนั้นมีแนวคิดที่สำคัญอะไรบ้าง มีการเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกันอย่างไร มีความสัมพันธ์กันอย่างไร ผู้วิจัยต้องนำข้อมูลจากหลายแหล่งมาวิเคราะห์ สังเคราะห์ เพื่อให้ได้ข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวข้องกับปัญหาวิจัยจริงๆ สิ่งสำคัญคือ ผู้วิจัยจำเป็นต้องศึกษาความรู้ในทฤษฎีนั้นๆ ให้มากพอ ทำความเข้าใจทั้งความหมายแนวคิดที่สำคัญของสมมติฐานจนสามารถเชื่อมโยงในเชิงเหตุผลให้เห็นเป็นกรอบได้อย่างชัดเจน การเชื่อมโยงของแนวคิดนี้ บางที่เรียกว่า รูปแบบ หรือตัวแบบ (model)
วิธีการสร้างกรอบแนวคิด กระทำได้ 2 ลักษณะ คือ
1. โดยการสรุปประเด็นต่างๆ จากข้อมูลที่ผู้วิจัยได้ศึกษาจากเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องให้กระจ่าง
2. กำหนดจากกรอบทฤษฎีที่มีใช้ เป็นส่วนสำคัญในการศึกษาวิจัย ในขอบเขตของเอกสารและงานวิจัยที่ได้ศึกษา เช่น การนำทฤษฎีการพยาบาลของรอย โอเร็ม มาใช้เป็นกรอบการวิจัยในการวิจัยเชิงบรรยายที่มีวัตถุประสงค์เพื่อค้นหาตัวแปร กรอบแนว คิดมักจะเป็นในลักษณะที่ 1 คือการสรุปประเด็นข้อมูล ส่วนในการวิจัยทดลอง จะต้องมีพื้นฐานทฤษฎี หลักการของการวิจัยที่ชัดเจน การกำหนดกรอบแนวคิดมักจะเป็นลักษณะที่ 2

วิธีการเขียนกรอบแนวคิด
ในการเขียนกรอบแนวคิด ผู้วิจัยจะต้องเขียนแสดงความสัมพันธ์ของแนวคิดในการวิจัยของตนให้ชัดเจน ในขอบเขตของเอกสารและงานวิจัยที่ศึกษา อาจเขียนไว้ท้ายก่อนหน้าส่วนของการศึกษาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง(ท้ายบทที่ 1) หรือ ท้ายส่วนของการศึกษาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง(ท้ายบทที่ 2) ก็ได้ รูปแบบการเขียนทำได้ 3 ลักษณะ คือ
1. เขียนแบบบรรยายต่อเนื่องกันโดยไม่แยกหัวข้อ ความยาวของการเขียนประมาณ 1 หน้ากระดาษ
2. เขียนเป็น แผนภูมิ แสดงความสัมพันธ์และทิศทางระหว่างตัวแปรที่ศึกษา หรือ
3. เขียนเป็นแผนภูมิประกอบคำบรรยายเพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น ถ้ามีตัวแปรหลายตัว หรือตัวแปรมีความสัมพันธ์สลับซับซ้อน

รูปแบบการนําเสนอกรอบแนวคิดในการวิจัย
กรอบแนวคิดในการวิจัยหมายถึง การระบุความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรชุดต่างๆ เป็น    อย่างไร กรอบแนวคิดในการวิจัยจึงแตกต่างจากขอบเขตของการวิจัย ผู้วิจัยจะพบเห็นการวางกรอบแนวคิดในการวิจัยไว้หลายที่ด้วยกัน วิทยานิพนธ์บางเล่มนําเสนอกรอบแนวคิดในบทที่ 1 แต่การนําเสนอที่มีเหตุผลควรนําเสนอในบทที่ 2 เพราะกรอบแนวคิดในการวิจัยไม่ได้เกิดขึ้นจากสุญญากาศหรือโดยอัตโนมัติ แต่เกิดจากการศึกษาแนวคิดทฤษฎีต่าง ๆ รวมทั้งงานวิจัยที่มีมาแล้วหรือที่ใกล้เคียงทั้งในสาขาที่เกี่ยวข้องหรือสาขาอื่นๆ กรอบแนวคิดในการวิจัยที่สมบูรณ์ต้องผ่านกระบวนการทําความชัดเจนในประเด็นคําถามของการวิจัยและการทบทวนแนวคิดทฤษฎีและผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องมาแล้ว ซึ่งการนําเสนอกรอบแนวคิดในการวิจัยสามารถนําเสนอได้ 4 รูปแบบดังต่อไปนี้
1. การนําเสนอเชิงบรรยาย เป็นการพรรณนาด้วยประโยคข้อความต่อเนื่องเพื่อแสดงความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร 2 ชุดคือ ตัวแปรอิสระหรือตัวแปรเหตุ กับตัวแปรตามหรือตัวแปรผลแต่ในการวิจัยบางประเภท เช่น การวิจัยเชิงสํารวจไม่มีการกําหนด ว่าตัวแปรใดเป็นตัวแปรอิสระหรือตัวแปรตาม การบรรยายจึงเป็นการอธิบายความสัมพันธ์ของตัวแปรที่ศึกษาชุดนั้น
2. การนําเสนอเชิงภาพ เป็นการนําเสนอด้วยแผนภาพจากการกลั่นกรองความเข้าใจของผู้วิจัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของตัวแปรที่ใช้ในการศึกษาของผู้วิจัยได้อย่างชัดเจน ซึ่งผู้อื่นที่อ่านเรื่องนี้เพียงแต่เห็นแผนภาพแล้วเข้าใจผู้วิจัยควรนําเสนอเฉพาะตัวแปรหลัก ไม่จําเป็นต้องมีรายละเอียดของตัวแปรในแผนภาพ
3. การนําเสนอแบบจําลองคณิตศาสตร์ เป็นการนําเสนอด้วยสมการทางคณิตศาสตร์เพื่อให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร 2 ชุดได้ชัดเจนและช่วยให้สามารถเลือกใช้เทคนิคการวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างเหมาะสม
4. การนําเสนอแบบผสม เป็นการนําเสนอผสมกันทั้ง 3 แบบหรือ ผสมกัน 2 แบบที่กล่าวมาข้างต้นงานวิจัยบางประเภทไม่จําเป็นต้องนําเสนอกรอบแนวคิดในการวิจัยที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรอิสระและตัวแปรตามงานวิจัยประเภทนี้ต้องการจัดกลุ่มหรือจัดโครงสร้างของตัวแปร เช่นงานวิจัยที่ใช้เทคนิคการวิเคราะห์ปัจจัย (Factors analysis) หรืองานวิจัย
เชิงคุณภาพ เป็นต้น
การนําเสนอกรอบแนวคิดในการวิจัยต้องยึดหลักว่านําเสนอแต่น้อยเรียบง่ายและไม่รกรุงรังดังนั้น ผู้วิจัยไม่จําเป็นต้องบอกรายละเอียดของตัวแปรที่ใช้ในการศึกษาทั้งหมด เพราะจะต้องนําเสนอในหัวข้อต่อไปอยู่แล้ว

ประโยชน์ของกรอบแนวคิด
การสร้างกรอบแนวคิดที่ชัดเจน จะเป็นประโยชน์ต่อผู้วิจัยและผู้ที่อ่านงานวิจัย ดังนี้
1. สามารถเข้าใจแนวคิดสำคัญที่แสดงถึงแก่นของปัญหาการศึกษาในระยะเวลาอันสั้น
2.  เป็นตัวชี้นำทำให้ผู้วิจัยเกิดความมั่นใจว่างานวิจัยเป็นไปในแนวทางที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์
3. สร้างความชัดเจนในงานวิจัยว่าจะสามารถตอบคำถามที่ศึกษาได้
4. เป็นแนวทางในการกำหนดความหมายตัวแปร การสร้างเครื่องมือ และการเก็บรวบรวมข้อมูลในการวิจัย
5.  สามารถเชื่อมโยงไปสู่การกำหนดกรอบทิศทางการทำวิจัยได้เหมาะสม ถูกต้อง โดยเฉพาะวิเคราะห์ข้อมูล

สรุป
การเลือกกรอบแนวคิด มีประโยชน์ และเกี่ยวข้องกับงานวิจัยทุกขั้นตอนตั้งแต่ การรวบรวมข้อมูล การออกแบบวิจัย การตั้งสมมติฐานการวิจัย รวมถึงการวิเคราะห์และอภิปรายผลการวิจัย


การตั้งสมมติฐานการวิจัย

ความหมาย
สมมติฐาน หมายถึง ข้อความที่คาด คะเนความสัมพันธ์หรือความแตกต่างระหว่าง
ตัวแปรที่ศึกษา ที่สมมติขึ้นชั่วคราว สมมติฐาน ถือได้ว่าเป็นเครื่องช่วยในการกำหนดข้อมูลที่
จะต้องรวบรวม
สมมติฐาน หมายถึง
         ข้อความหรือคำอธิบายเฉพาะที่ผู้วิจัยคาดคะเนคำตอบโดยอาศัยแนวคิด หลักการ ทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง  หรือประสบการณ์
         ข้อความหรือข้อสมมติซึ่งผู้วิจัยคาดไว้เกี่ยวกับคุณลักษณะของตัวแปร  หรือความสัมพันธ์ของ 2 ตัวแปรขึ้นไป
         เป็นข้อสมมติชั่วคราวเพื่อเป็นแนวทางในการค้นคว้าหาข้อเท็จจริง
มีนักวิชาการหลายท่านให้ความหมายของสมมติฐานไว้อย่างน่าสนใจ เช่น
สมมติฐาน คือ คำสรุปโดยอาศัยการเดาเพื่อคาดการณ์ล่วงหน้า และคำสรุปนั้นยังไม่คงที่แน่นอนตายตัว มีรากฐานมาจากความเป็นจริง สามารถทดสอบได้โดยการใช้ข้อมูล สมมติฐานอาจเป็นคำพูดที่กล่าวถึงความสัมพันธ์ของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อทำนายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น
สมมติฐาน คือ ข้อความที่มีหน้าตาเสมือนข้อความเชิงบอกเล่า แต่แท้จริงแล้วเป็นการคาดคะเนถึงสภาพการณ์นั้นๆ เอกลักษณ์ที่สำคัญของสมมติฐานก็คือ เป็นการคาดการณ์ที่จะต้องทดสอบต่อไปว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรแน่
สมมติฐาน คือ เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ เป็นข้อความที่ชี้แนะความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร 2 ตัวแปรขึ้นไป หรือคำตอบปัญหาการวิจัยที่คาดหวังไว้ กล่าวโดยสรุปก็คือ สมมติฐานเป็นข้อเสนอที่ต้องพิสูจน์ให้แคบเข้า หรือต้องการพิสูจน์ให้เป็นทฤษฎีนั่นเอง
สมมติฐาน คือ ข้อความเฉพาะที่ผู้วิจัยคาดคะเนคำตอบไว้ โดยอาศัยทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง ความรู้ กฎเกณฑ์ต่างๆ หรือจากประสบการณ์ของผู้วิจัยเอง ซึ่งจะใช้เป็นแนวทางในการเก็บรวบรวมข้อมูลต่อไป
สมมติฐาน คือ ข้อเสนอหรือเงื่อนไขต่างๆ ที่ผู้วิจัยกำหนดขึ้นมา โดยคาดคะเนว่าเป็นคำตอบของปัญหา ซึ่งยังไม่มีการพิสูจน์ และหากว่าได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นความจริงหรือตรงกับข้อเท็จจริง สมมติฐานนี้ก็จะกลายเป็นคำอธิบายที่ถูกต้อง กลายเป็นส่วนหนึ่งของความรู้ใหม่ สมารถสร้างเป็นหลักทั่วไป หรือกลายเป็นส่วนหนึ่งของทฤษฎีที่ใช้อธิบายในพฤติกรรมเรื่องนั้นๆ ได้
สรุปก็คือ สมมติฐานเป็นส่วนหนึ่งของการอธิบายปรากฏการณ์ที่ต้องการศึกษา ในสมมติฐานเราจึงต้องระบุให้ชัดเจนว่าอะไรสัมพันธ์กับอะไร สัมพันธ์กันอย่างไร หรืออะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นผล สมมติฐานเป็นข้อยืนยันเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรสองตัวหรือเกินกว่า

การตั้งสมมติฐานในการวิจัย  (Research Hypothesis)
การตั้งสมมติฐานในการวิจัย  เป็นขั้นตอนของการคาดคะเนหรือคาดเดาคำตอบของปัญหาการวิจัย การคาดเดาคำตอบมีประโยชน์ในการกำหนดทิศทางการหาข้อมูล เพื่อตรวจสอบปัญหาการวิจัย เป็นการ คาดเดาคำตอบอย่างมีเหตุมีผล ผู้วิจัยควรตั้งสมมติฐานการวิจัยหลังจากที่ได้ศึกษาทฤษฎี เอกสารต่าง ๆ ตลอดจนงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง จนผู้วิจัยมีแนวความคิดเพียงพอที่จะคาดเดา โดย
อาศัยเหตุผลเหล่านั้น ได้อย่างสมเหตุสมผล
สมมติฐานในการวิจัยเป็นคำกล่าวที่ แสดงความถึงความสัมพันธ์ที่คาดการณ์หรือเดาระหว่างตัวแปรสองตัวขึ้นไป คำกล่าวนี้จะต้องแสดงทิศทางของความสัมพันธ์ว่าเป็นเช่นไรเช่นเป็นบวกหรือลบและเป็นคำกล่าวที่จะต้องพิสูจน์ต่อไปว่าเป็นจริงเช่นนั้นหรือไม่เพราะฉะนั้นสมมติฐานวิจัยจะต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้
1. มีตัวแปรอย่างน้อย 2 ตัวและระบุตัวแปรให้ชัดเจน ทั้งตัวแปรต้นและตัวแปรตาม
2. เป็นความสัมพันธ์ที่จะต้องบอกทิศทาง ความสัมพันธ์ของตัวแปรตั้งแต่ 2 ตัวขึ้นไป
3. ต้องนำไปพิสูจน์ต่อไปในอนาคต

ความสำคัญของสมมติฐาน
สมมติฐานจัดว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นมากอย่างหนึ่งในการวิจัยเพราะเป็นแหล่งเชื่อมโยงระหว่างปัญหากับข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ที่จะตอบปัญหา สมมติฐานยังเป็นเสมือนแนวทางในการสำรวจปรากฏการณ์ที่เกี่ยวกับปัญหาที่กำลังทำการสืบค้นอยู่นั้น ความสำคัญของสมมติฐานพอจะประมวลได้เป็นข้อๆ ดังนี้
1.     การชี้ให้เห็นปัญหาชัดเจน ถ้าไม่มีสมมติฐานเป็นเครื่องชี้นำ ผู้วิจัยอาจเสียเวลาในการหาสาเหตุและการแก้ปัญหาโดยเป็นการกระทำที่ผิวเผิน แต่การตั้งสมมติฐานนั้น ผู้วิจัยจะต้องได้ตรวจสอบอย่างถี่ถ้วนถึงข้อเท็จจริงและมโนทัศน์ที่คาดว่าจะสัมพันธ์กับปัญหา แล้วแยกแยะให้เห็นข้อสนเทศที่คาดว่าจะเกี่ยวข้องในเชิงความสัมพันธ์ ทั้งนี้ในกระบวนการสร้างสมมติฐาน การนิรนัยผลที่ตามมา และการนิยามคำที่ใช้นั้นจะช่วยทำให้เห็นประเด็นของปัญหาที่ทำการวิจัยชัดเจนขึ้น
2.     สมมติฐานช่วยกำหนดความเกี่ยวข้องระหว่างข้อเท็จจริง ความรู้เชิงวิทยาศาสตร์ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงที่ได้รับการเลือกเฟ้นอย่างรอบคอบ ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งในการสืบค้นความจริง การรวบรวมข้อมูลจำนวนมากโดยปราศจากจุดหมายนั้น เป็นการกระทำที่ไร้ประโยชน์เพราะข้อมูลเหล่านั้น ที่มิได้เลือกเฟ้นจะให้เหตุผลที่เป็นไปได้หลายหลากแตกต่างกัน จนไม่สามารถจะสรุปเป็นข้อยุติที่ชัดเจนได้ ข้อเท็จจริงที่จำเป็นในการแก้ไขปัญหานั้นจะไม่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ แต่ถ้ามีสมมติฐานแล้ว จะทำให้ผู้วิจัยแน่ใจว่าควรรวบรวมข้อเท็จจริง
3.     อะไรมากน้อยแค่ไหนจึงจะเพียงพอที่จะทดสอบผลที่ตามมาได้ครบถ้วน สมมติฐานจึงช่วยในการกำหนดและรวบรวมสิ่งที่ต้องการเพื่อแก้ปัญหาวิจัยนั้น
4.     สมมติฐานเป็นตัวชี้การออกแบบการวิจัย สมมติฐานไม่ใช่เพียงแต่ชี้แนวทางว่าควรพิจารณาข้อสนเทศใดแต่จะช่วยบอกวิธีที่จะรวบรวมข้อมูลด้วย สมมติฐานที่สร้างอย่างดีจะเสนอแนะว่ารูปแบบการวิจัยควรจะเป็นเช่นไรจึงจะเหมาะสมกับการแก้ไขปัญหาเฉพาะที่ต้องการทราบ สมมติฐานจะบอกแนวทางถึงกลุ่มตัวอย่างแบบสอบหรือเครื่องมือที่จำเป็นต้องใช้ จะมีวิธีการอย่างไร วิธีการสถิติที่เหมาะสมคืออะไรตลอดจนจะรวบรวมข้อเท็จจริงในสถานการณ์ใดที่เหมาะสมกับปัญหา
5.     สมมติฐานช่วยอธิบายปรากฏการณ์ การค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์นั้นไม่ใช่เป็นเพียงการรวบรวมข้อเท็จจริงและจัดพวกตามคุณสมบัติผิวเผินของข้อเท็จจริงเหล่านั้น เช่นไม่ใช่เพียงแต่จัดตารางบอกลักษณะของพฤติกรรมก้าวร้าว หรือเสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับยุวอาชญากรรมเท่านั้น แต่นักวิจัยจะต้องกำหนดว่าองค์ประกอบใดก่อให้เกิดปรากฏการณ์เช่นนั้น โดยอธิบายให้เห็นความสัมพันธ์ที่น่าจะเป็นสาเหตุและผลอย่างเหมาะสม สมมติฐานที่สร้างขึ้นจากข้อเท็จจริงจะช่วยให้ผู้วิจัยมีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการสำรวจและอธิบายสิ่งที่แฝงอยู่เบื้องหลังได้
6.     สมมติฐานช่วยกำหนดขอบเขตของข้อยุติ ถ้าหากผู้วิจัยได้ตั้งสมมติฐานในเชิงนิรนัยไว้ ก็เท่ากับได้วางขอบเขตในข้อยุติไว้แล้ว ผู้วิจัยอาจระบุเหตุผลว่าถ้า H1 จริงแล้วข้อเท็จจริงเหล่านี้ย่อมเกิดขึ้นจากการทดสอบกับข้อมูลจริง ข้อเท็จจริงนั้นเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้น ดังนั้นข้อยุติก็จะเป็นว่า ได้รับการยืนยันหรือไม่ได้รับการยืนยัน สมมติฐานจึงให้ขอบเขตในการตีความข้อค้นพบอย่างเฉียบขาดและมีความหมายกระชับ ถ้าไม่มีสมมติฐานที่เป็นการทำนายล่วงหน้าข้อเท็จจริงก็ไม่มีโอกาสที่จะได้รับการยืนยันหรือไม่ได้รับการยืนยันแต่อย่างใด

แหล่งที่มาของสมมติฐาน
 โดยที่สมมติฐานเป็นการคาดคะเนผลการวิจัยก่อนที่จะดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูล ฉะนั้น เพื่อให้คำตอบหรือสมมติฐาน นั้นมีความน่าเชื่อถือหรือถูกต้องมากที่สุด ผู้วิจัยควรหาวิธีการและเหตุผลที่จะนำมาใช้ประกอบหือสนับสนุนการกำหนดสมมติฐาน ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยอาจศึกษาจากแหล่งที่มาดังต่อไปนี้
 1.   ความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ของผู้วิจัย เพราะในการทำวิจัยเรื่องหนึ่งเรื่องใด นั้น ผู้วิจัยจะต้องมีความรู้หรือมีประสบการณ์อย่างดีในเรื่องที่จะทำ เพราะความรู้ ความสามรถ และประสบการณ์ที่เกี่ยวข้อง (หรือพัฒนาขึ้นโดยการศึกษาหาความรู้ เช่น การอ่าน เป็นต้น) จะช่วยให้การกำหนดสมมติฐานเป็นไปในลักษณะที่ถูกต้อง หรือใกล้เคียงกับความเป็นจริง
2.  การใช้หลักเหตุผล  สมมติฐานที่กำหนดขึ้นต้องสมเหตุสมผล ฉะนั้นผู้วิจัยจึงควรใช้หลักเหตุผลหรือความเป็นไปได้มาคิดวิเคราะห์หรือแยกแยะสิ่งต่างๆ เพื่อหาเหตุ และผล ว่ามีอะไรสำคัญ และอะไรที่มีความสัมพันธ์กัน จากการคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผลนี้เอง ที่นำมาซึ่งการสร้างสมมติฐานที่ดี
3.  การใช้ทฤษฎี แนวคิด และหลักการ  ทั้งนี้เพราะทฤษฎี แนวคิด และหลักการต่างๆ เป็นสิ่งที่ได้รับการยืนยันสนับสนุน และพิสูจน์มาแล้ว ฉะนั้น หากผู้วิจัยมีความรู้ความเข้าใจในทฤษฎี หลักการ และแนวคิดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการวิจัยอย่างดีแล้ว จะทำให้ผู้วิจัยเกิดแนวคิดในการกำหนดสมมติฐานได้
4. การศึกษาค้นคว้าจากเอกสาร บทความ รายงาน และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง การศึกษาค้นคว้าจากแหล่งดังกล่าวนี้ จะให้ประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้วิจัย ในการที่จะนำไปใช้กำหนดสมมติฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลการวิจัยในประเด็นปัญหาทำนองเดียวกัน  เช่น ต้องการศึกษาเรื่องความพึงพอใจในการปฏิบัติงานของนักประชาสงเคราะห์ ท่านอาจไปค้นคว้าดูว่ามีงานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับความพึงพอใจในการปฏิบัติงานของผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานอื่นตำแหน่งอื่นบ้างหรือไม่ ถ้ามีก็ให้ดูต่อไปว่าผลการศึกษานั้นๆ พบว่าอย่างไร โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยอย่างไร เป็นต้น
5. การศึกษาเปรียบเทียบ การเปรียบเทียบความเป็นจริงต่างๆ ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ หรือเปรียบเทียบกับความเป็นจริงที่ค้นพบในสาขาวิชาอื่นๆ ศาสตร์อื่นๆ อาจทำให้ผู้วิจัยสามารถนำไปกำหนดสมมติฐานได้ เพราะการวิจัยบางเรื่องต้องใช้วิธีการกำหนดสมมติฐานในเชิงเปรียบเทียบ
 6. ความเชื่อ ค่านิยม ขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมต่างๆ  ความเชื่อ ค่านิยม ขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมต่างๆ ที่เชื่อถือกันมากๆ สามารถนำมากำหนดเป็นสมมติฐานในการวิจัยได้ เช่น ในการส่งเสริมให้ประชาชนใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ ต้องพบกับปัญหามากมาย โดยที่ปัญหาหนึ่งพบว่า ผู้ชายไทยมีความเชื่อว่า การใช้ถุงยางอนามัยเปรียบเสมือนการอาบน้ำโดยไม่ถอดเสื้อผ้า ทำให้สมรรถภาพทางเพศลดถอยลง หรือในการรณรงค์ให้บิดามารดาส่งบุตรหลานเข้าเรียนในสถานศึกษาใกล้บ้าน พบว่าค่านิยมเกี่ยวกับชื่อเสียงของสถานศึกษาทำให้การรณรงค์นี้ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เป็นต้น จึงเห็นได้ว่าความเชื่อ ค่านิยม ขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมต่างๆ อาจนำมากำหนดเป็นสมมติฐานสำหรับนำไหพิสูจน์ และทดสอบต่อไป

ลักษณะของสมมติฐานวิจัยที่ดี 
การเขียนสมมติฐานนั้น ผู้วิจัยต้องมีอุปกรณ์ของความคิดและข้อเท็จจริงต่างๆ มากพอเพื่อที่ให้สมมติฐานแต่ละข้อมีอำนาจในการพยากรณ์สูง ฉะนั้น การเขียนสมมติฐานจะต้องอาศัยความรู้ ความเข้าใจ จินตนาการ การอ่านอย่างกว้างขวาง ตลอดจนมีการทดลองวิจัย (Pilot Study) แล้วนำข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์ และใช้หลักตรรกศาสตร์สังเคราะห์ขึ้นเป็นสมมติฐาน ดังนั้น สมมติฐานที่ดีจึงควรมีลักษณะดังนี้
1. สมมติฐานที่ดีต้องอธิบาย หรือตอบคำถามได้หมด และอยู่ในรูปแบบที่สามารถสรุปได้ว่าจะสนับสนุนหรือคัดค้านได้
2. สมมติฐานที่ดีจะต้องสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงที่รู้กันอยู่ทั่วไป ใช้เทคนิคที่สามารถวัดได้ และเป็นเทคนิคที่มีอยู่แพร่หลาย ใช้กันในวงกว้าง
3. ภาษาที่ใช้ในการเขียนต้องเข้าใจง่าย ทั้งในแง่ภาษา เหตุผล และวิธีการที่จะตรวจสอบ
4. สมมติฐานที่ดีต้องสามารถทดสอบได้ด้วยข้อมูล หรือหลักฐาน
5. สมมติฐานที่ดีต้องสมเหตุสมผลตามทฤษฎี และความรู้พื้นฐาน และจำกัดขอบเขตของการตรวจสอบได้ สมมติฐานหนึ่งข้อ จึงควรใช้คำถามเพียงหนึ่งข้อเท่านั้น
6. สมมติฐานที่ดีต้องสอดคล้องกับจุดมุ่งหมายการวิจัย
7. สมมติฐานที่ดีต้องมีอำนาจการพยากรณ์สูง นั่นคือ สมมติฐานนั้นควรนำไปใช้อธิบายสภาพการณ์ที่คล้ายๆ กันได้
ประเภทของสมมติฐาน
1.   สมมติฐานการวิจัย  ความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรทั้ง 2 ตัวขึ้นไป/ทิศทาง
ตัวอย่างเช่น  อายุ (ตัวแปรอิสระ)  น่าจะมีผล มีอิทธิพลเชิงบวก/เชิงลบ ต่อ การทำงาน ( ตัวแปรตาม )
2.   สมมติฐานทางสถิติ
§  สมมติฐานศูนย์ (Ho) บอกว่าตัวแปรที่ศึกษา มี/ไม่มี ความสัมพันธ์หรือ มี/ไม่มี ความแตกต่าง
§  สมมติฐานขัดแย้ง (H1) ตัวแปรที่ศึกษามีความสัมพันธ์กันหรือมีความแตกต่างกัน

ประเภทของสมมติฐาน
สมมติฐานแบ่งได้เป็น 2 ประเภทคือ
1. สมมติฐานเชิงบรรยาย (Descriptive hypothesis) เป็นสมมติฐานที่เขียนคาดเดา คำตอบของการวิจัย อยู่ในรูปของการบรรยาย หรืออธิบายความสัมพันธ์ของตัวแปรที่ศึกษาสมมติฐานประเภทนี้ ใช้ในการเขียนรายงานการวิจัย หรือเรียกว่าสมมติฐานการวิจัย (Research
hypothesis) ตัวอย่างสมมติฐานการวิจัย
ผู้ที่สูบบุหรี่เป็นโรคมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่  การสูบบุหรี่ มีความสัมพันธ์ทางบวก กับ การเป็นมะเร็งในปอด
2. สมมติฐานเชิงสถิติ (Statistical hypothesis) เป็นสมมติฐานที่ เขียนคาดเดาคำตอบของการวิจัย อยู่ในรูปของความ สัมพันธ์หรือความแตกต่างของตัวแปร ในรูปของโครงสร้างทางคณิตศาสตร์ ซึ่งใช้สัญลักษณ์แทนค่าพารามิเตอร์ (Parameter) สมมติฐานประเภทนี้ ใช้ในการทดสอบทาง สถิติ ความจริงที่ค้นพบจากการวิจัยเป็น ความจริงที่มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นบ่อย ๆ หรือมีโอกาสที่จะเป็นจริงมาก ซึ่งตรวจสอบโดยอาศัยหลักความน่าจะเป็น (Probability) ในทางสถิติสัญลักษณ์ของค่าพารามิเตอร์ ที่ใช้เขียนในสมมติฐานทางสถิติได้แก่
u แทนค่าคะแนนเฉลี่ย
O แทนค่าความแปรปรวน
O แทนค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน
V แทนค่าสหสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร

สมมติฐานเชิงสถิตินั้น แบ่งได้เป็น 2 ประเภทคือ
1. สมมติฐานเป็นกลาง (Null hypothesis) เป็นสมมติฐานที่มีลักษณะเป็นเงื่อนไขหรือข้อตกลงเบื้องต้นที่ยอมรับก่อน มีลักษณะเงื่อนไขที่เท่ากันหรือเป็นกลาง เช่น
Ho : μ1 = μ2
Ho : O1 = O2
2. สมมติฐานไม่เป็นกลางหรือ สมมติฐานทางเลือก (Alternative hypothesis)เป็นสมมติฐานอื่นที่ไม่ใช่สมมติ ฐานเป็นกลาง ใช้เพื่อรองรับการสรุปผล เมื่อนักวิจัยปฏิเสธสมมติฐานที่เป็นกลาง การเขียนสมมติฐานไม่เป็นกลางนี้ สามารถเขียนได้ 2 ลักษณะคือ
2.1 สมมติฐานที่มีทิศทาง คือสมมติ ฐานที่เขียนแสดงถึง ความสัมพันธ์หรือความแตกต่างของตัวแปรไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง ซึ่งอาจจะเป็นไปในทางบวกหรือทางลบ เช่น
Hi : μ1 > μ2
Hi : μ1 < μ2
Hi : ผู้ที่สูบบุหรี่ เป็นโรคมะเร็งใน ปอดมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่
Hi : ผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ เป็นโรคมะเร็ง ในปอดน้อยกว่าผู้ที่สูบบุหรี่
2.2 สมมติฐานทีไม่มีทิศทาง คือ สมมติฐานที่เขียนแสดงถึงความสัมพันธ์หรือความแตกต่างของตัวแปรที่ไม่บอกว่าความสัมพันธ์จะเป็นไปในทิศทางใด เช่น
Hi : μ1 = μ2
Hi : ผู้ที่สูบบุหรี่ เป็นโรคมะเร็งใน ปอดแตกต่างกับผู้ที่ไม่สูบบุหรี่

ข้อแนะนำในการเขียนสมมติฐาน
1. เขียนอยู่ในรูป ประโยคบอกเล่า
2. เขียนหลังจากได้ศึกษา เอกสาร งานวิจัยมามากเพียงพอ
3. เลือกใช้คำหรือข้อความ ที่รัดกุม ไม่ฟุ่มเฟือย
4. มีสมมติฐานให้ครอบคลุม สอด คล้องกับจุดมุ่งหมายของการวิจัย
5. สมมติฐานแต่ละข้อเขียนเพื่อตอบ คำถามเพียงคำถามเดียว

สิ่งที่ควรคำนึงเมื่อจะตั้งสมมติฐาน
1. ท่านมีสมมติฐานว่าอย่างไร
2. สมมติฐานนี้มีทางเป็นไปได้ไหม
3. สมมติฐานนั้นกล่าวไว้รัดกุม หรือชัดเจนเพียงใด
4. สมมติฐานนั้นมีทางทดสอบได้หรือไม่
5. สมควรตั้งสมมติฐานเป็นประโยคบอกเล่า หรือเป็นคำถาม
6. มีสมมติฐานที่จะต้องทดสอบจริงๆ เท่าไร
7. สมมติฐานแต่ละข้อมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันหรือไม่
8. ท่านควรจะตั้งสมมติฐานเชิงเหตุและผล หรือเชิงความสัมพันธ์

ลักษณะของสมมติฐานที่ดี
1. สามารถตรวจสอบได้ ด้วยข้อมูล และหลักฐาน
2. สมเหตุสมผลตามหลักทฤษฎีหรือ ความรู้พื้นฐาน
3. สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายของการ วิจัย
4.  ใช้ภาษาง่ายสื่อความหมาย
5. สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง

จำนวนสมมติฐาน
โครงการวิจัยหนึ่งอาจมีสมมติฐาน เพียงข้อเดียวหรือหลายข้อก็ได้ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายในการวิจัยที่ผู้วิจัยกำหนดไว้ ตัวแปรที่ปรากฏในสมมติฐานข้อใด ข้อ
หนึ่งแล้ว ยังสามารถนำไปใช้เป็นตัวแปรในสมมติฐานข้ออื่นอีกได้ นอกจากนั้นแล้วยังสามารถเปลี่ยนแปลงสถานภาพของตัวแปรอิสระ เป็นตัวแปรตาม หรือในทางตรงข้ามได้ สมมติฐานทุกข้อจะต้องมุ่งไปในทางที่จะให้ได้มา ซึ่งคำตอบต่อปัญหาการวิจัยตามที่กำหนดไว้ในกรอบแนวคิด

ประโยชน์ในการตั้งสมมติฐาน
การตั้งสมมติฐานมีประโยชน์ต่อการวิจัย ดังต่อไปนี้
1. สมมติฐานช่วยให้ผู้วิจัยมองเห็นปัญหาการวิจัยชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น ทำให้มองเห็นว่าปัญหานี้มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับตัวแปรใดบ้าง และเป็นปัญหาลักษณะใด เป็นต้น
2. สมมติฐานช่วยจำกัดขอบเขตของการวิจัย ทำให้ผู้วิจัยทราบแนวทางที่กำลังวิจัย ทำให้การวิจัยมีจุดมุ่งหมายที่แน่นอน คือ ผู้วิจัยจะทำการวิจัยเฉพาะสมมติฐานที่กำหนดไว้เท่านั้น
3. สมมติฐานช่วยให้มองเห็นภาพของข้อมูลต่างๆ และความสัมพันธ์ของข้อมูลที่จะนำมาทดสอบสมมติฐานนั้น
4. สมมติฐานช่วยชี้แนวทางในการเก็บรวบรวมข้อมูลว่า ควรจะเก็บรวบรวมข้อมูลในเรื่องอะไร แค่ไหน และจะเก็บในลักษณะใด พร้อมทั้งช่วยวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างถูกต้องและมีคุณภาพ
5. สมมติฐานอาจสามารถบอกให้ทราบถึงการวางแผนรูปแบบของการวิจัย (Research Design) หรือวิธีแก้ปัญหา
6. สมมติฐานช่วยให้ผู้วิจัยเข้าใจตัวแปรที่ศึกษาได้อย่างแจ่มแจ้ง เพราะการกำหนดสมมติฐาน เป็นการกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรต่างๆ ซึ่งผู้วิจัยจำเป็นต้องศึกษาลักษณะและธรรมชาติของตัวแปรให้เข้าใจอย่างลึกซึ้ง
7. สมมติฐานช่วยชี้แนวทางในการแปลผล และสรุปผลที่ได้จากการวิเคราะห์ข้อมูล หรือเป็นเครื่องมือในการกำหนดโครงร่างหรือแผนงาน (Frame Work) ในการสรุปผลให้แก่ผู้วิจัยนั่นเอง ทั้งนี้เพราะในการแปลผลการวิจัยนั้น จะยึดสมมติฐานเป็นหลัก โดยพิจารณาว่าผลที่ได้นั้นมีความสอดคล้องหรือขัดแย้งกับสมมติฐานที่กำหนดไว้เพียงใด ซึ่งจะทำให้การแปลผลและสรุปผลง่ายขึ้น

สรุป
สมมติฐานเป็นข้อเสนอเพื่อนำไปทดสอบความถูกต้อง โดยทดสอบจากประสบการณ์แห่งความจริง สมมติฐานอาจทดสอบว่าผิดหรือถูกก็ได้ สมมติฐานที่ทดสอบว่าผิดมิได้หมายความว่าเป็นสมมติฐานที่ไม่มีประโยชน์ สมมติฐานที่ปฏิเสธ (Reject) อาจจะช่วยแนะนำนักวิจัยให้สนใจข้อเท็จจริง หรือความสัมพันธ์ระหว่างข้อเท็จจริงบางอย่างที่ไม่ได้คาดหมายไว้ก็ได้ ดังนั้น สมมติฐานจะบอกให้เราทราบว่า จะค้นหาอะไร เมื่อได้รวบรวมข้อเท็จจริง โดยมีการจัดระเบียบและวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างกันแล้ว ข้อเท็จจริงก็ประกอบกันเป็นทฤษฎี เพราะฉะนั้นทฤษฎีจึงมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมาก ในทางปฏิบัติ ทฤษฎีก็คือสมมติฐานที่ได้ปรับปรุงแล้วนั่นเอง


อ้างอิง
เอกสารประกอบการสอน

วิชา  ระเบียบวิธีการวิจัยทางนิติศาสตร์

หัวข้อ

กรอบแนวคิดและการตั้งสมมติฐานการวิจัย

บรรยายโดย

รศ.พ.ต.อ.หญิง ดร.พัชรา  สินลอยมา

คณะวิทยาศาสตร์  สาขานิติวิทยาศาสตร์

มหาวิทยาลัยศิลปากร

ภาคเรียนที่  2 ปีการศึกษา 2551























  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS