RSS

พุทธสันติวิธีกับความสัมพันธ์ทางการทูตและพาณิชย์สัมพันธ์กับต่างประเทศ ในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช


พุทธสันติวิธีกับความสัมพันธ์ทางการทูตและพาณิชย์สัมพันธ์กับต่างประเทศ
ในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

บทคัดย่อ

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากเหตุการณ์ประวัติศาสตร์สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทำให้ได้ทราบว่าพระองค์ทรงเป็นทั้งกษัตริย์นักรบ ทรงพระปรีชาสามารถในด้านการปกครอง ด้านการทูต พาณิชย์สัมพันธ์กับต่างประเทศ ทรงรอบรู้ในการเมืองระหว่างประเทศและทรงส่งเสริมการค้ากับนานาชาติด้วย หลักฐานเกี่ยวกับเมืองไทยในเอกสารภาษาสเปนสะท้อนให้เห็นถึงหลักมรรค ๘  ส่งผลให้การตัดสินพระทัยอยู่ภายใต้หลักของศีล สมาธิ ปัญญา ความสัมพันธ์สามเส้าระหว่าง ไทย เขมรและสเปน เป็นหลักการทางพุทธศาสนากล่าวถึงความเกี่ยวเนื่องกันของเหตุและผล พรหมวิหาร ๔ ในเอกสารฮอลันดาที่ทรงแสดงความมีเมตตาต่อหญิงชรา อิทธิบาท ๔ กับความหลากหลายทางด้านการปกครองประเทศ การทูต และการค้ากับนานาชาติจากเอกสารชีวประวัติ Jacques de Coutre และพระราชพงศาวดารฉบับวันวลิต การเจริญสติ สมาธิและพละ ๕กับความสัมพันธ์ไทย จีน จากการจดบันทึกเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ของจีนอย่างเป็นระบบมาเป็นเวลาช้านาน เอกสารโบราณที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์จึงมีหลายรูปแบบ การได้ทราบถึงอดีตเป็นบทเรียนให้เราได้ทราบถึงเหตุและปัจจัยซึ่งกันและกันบนพื้นฐานของหลักพุทธธรรม จดหมายเหตุของชาติต่างๆที่เขียนถึงสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จึงเป็นอีกมุมมองหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพของพระองค์อย่างแท้จริง






Historical evidence of international relations that transpired during the reign of King Naresuan the Great assures us that this Royal Personage was not only a Warrior King but also a true expert in the art of governance, diplomacy, international commerce and politics. The King also played an active role in promoting international trade. Ancient documents written in Spanish concerning old Siam reflected the eightfold path which influenced King Naresuan’s decisions, confirming that his decisions were indeed based on the principles of Silp, Samaddhi and Panya. The King also applied the principle of specific conditionality to explain the triangular relationship between Thailand, Cambodia and Spain. This Buddhist precept explains the connectivity between cause and effect.  The concept of 4 holy abidings which appears in the Dutch document testifies to the King’s compassion for elderly women.  The Four Paths of accomplishment which appear in the biography of Jacque de Coutre were discernible from various decisions taken by the King in the context of governance, diplomatic relations as well as international trade ventures.   The Wanwalit version of the historical legends emphasized the importance of mindfulness, insight, and the 5 strengths of a king in the course of conducting Thai- Chinese relations. Because China’s history has been systematically recorded throughout the ages, ancient historical documents have been handed down to us in various forms. Knowledge of the past enables us to understand the connectivity between cause and effect based on the Buddhist precept of nature or Dhamma.
In conclusion, documents written by foreign nationals concerning King Naresuan the Great give us new perspectives of the ingenuity of this great King.





บทนำ
การทูต (Diplomacy) เป็นศิลปะและทักษะการเจรจา สนทนา สื่อสาร รวมถึงการติดต่อธุระต่าง ๆระหว่างบุคคลที่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการให้เป็นตัวแทนการเจรจาขององค์กรหรือประเทศ การทูต เป็นการแสดงถึงการเชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่างกัน ให้มีความสัมพันธ์ทางด้านต่าง ๆ ที่ประเทศนั้น ๆ มีต่ออีกประเทศหนึ่ง โดยจะมีข้อตกลงที่เป็นลายลักษณ์อักษร เช่น การทูต เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่าง ไทย-มาเลเซีย โดยมีท่านทูตไปประจำทั้ง ๒ ประเทศ
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหมายถึงการแลกเปลี่ยนและปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นข้ามเขตพรมแดนของรัฐ ซึ่งอาจเกิดขึ้นโดยรัฐหรือตัวแสดงอื่น ๆ ที่ไม่ใช่รัฐ ซึ่งส่งผลถึงความร่วมมือหรือความขัดแย้งระหว่างประเทศต่าง ๆ ในโลก

ขอบเขตของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมีขอบเขตที่ครอบคลุมเรื่องต่าง ๆ ดังนี้
๑.ความสัมพันธ์ทางการเมือง หมายถึง กิจกรรมข้ามพรมแดนเพื่อมีอิทธิพลหรือเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตลอดจนการตัดสินใจขององค์การหรือรัฐบางต่างประเทศ เช่น การดำเนินการทางการฑูต การทหาร การแสวงหาพันธมิตร การแทรกแซงบ่อนทำลายประเทศอื่น การใช้กำลังบีบบังคับ การกำหนดและดำเนินนโยบายต่างประเทศ เป็นต้น
๒.ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ หมายถึง กิจกรรมการแลกเปลี่ยนทรัพยากรด้านบริการหรือวัตถุเพื่อตอบสนองความต้องการในการอุปโภคของผู้แลกเปลี่ยน เช่น การซื้อขายสินค้า การให้ทุนกู้ยืม การธนาคาร  ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจเช่นนี้ เรียกว่า เศรษฐกิจระหว่างประเทศ
. ความสัมพันธ์ทางสังคม หมายถึง กิจกรรมที่มีวัตถุประสงค์ในการแลกเปลี่ยนทางการศึกษา การศาสนา วัฒนธรรม การพักผ่อนหย่อนใจ การท่องเที่ยว ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ทางสังคมข้ามขอบเขตพรมแดนของรัฐ เช่น การส่งฑูตวัฒนธรรมหรือคณะนาฎศิลป์ไปแสดงในประเทศต่าง ๆ การเผยแพร่ศาสนาโดยตัวแทนทางศาสนาของประเทศอื่น เป็นต้น
. ความสัมพันธ์ทางกฎหมาย เมื่อมีการแลกเปลี่ยนและปฏิสัมพันธ์ข้ามเขตพรมแดนของรัฐมากขึ้น เพื่อให้กิจกรรมดังกล่าวดำเนินไปโดยเรียบร้อยและมีระเบียบแบบแผน ประเทศต่างๆ จึงได้กำหนดกฎเกณฑ์ ระเบียบ หรือแนวทางปฏิบัติที่แต่ละประเทศพึงยึดถือปฏิบัติในด้านต่างๆ ขึ้น กฎเกณฑ์หรือระเบียบนี้อาจปรากฏในรูปข้อตกลงลายลักษณ์อักษร ซึ่งมีชื่อเรียกต่างๆ กัน เป็นต้นว่า สนธิสัญญา อนุสัญญา กติกาสัญญา กฎบัตร ความตกลง ฯลฯ หรืออาจเป็นความเข้าใจกันซึ่งแต่ละฝ่ายยึดถือปฏิบัติโดยไม่ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรก็ได้ ซึ่งเรียกว่า กฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ
.ความสัมพันธ์ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ความสัมพันธ์ประเภทนี้มุ่งให้มีการแลกเปลี่ยนพัฒนาความรู้และความช่วยเหลือทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เช่น มีการร่วมมือกันค้นคว้าทดลองและวิจัยในบริเวณทวีปแอนตาร์กติกา การร่วมมือกันระหว่างนักวิทยาศาสตร์หลายประเทศ เพื่อกำจัดโรคภัยไข้เจ็บสำคัญ เช่น โรคมะเร็ง การร่วมมือกันส่งเสริมพัฒนาการทางวิทยาศาสตร์ เช่น การให้รางวัลระหว่างประเทศ จัดการประชุมสัมมนาระหว่างประเทศ เป็นต้น

ผลของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ปัจจุบันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนและชาติต่าง ๆ มากกว่าที่เคยเป็นในอดีต เนื่องจากจำนวนประชากรโลกเพิ่มมากขึ้น ประเทศต่าง ๆ ต้องพึ่งพากันมากขึ้นในด้านต่าง ๆ และพัฒนาการของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว มีผลให้โลกดูจะมีขนาดเล็กลง ซึ่งผลของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มีต่อด้านต่าง ๆ ดังนี้
.ผลของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่อสังคมโลก รัฐ ประชาชนและผู้นำของประเทศ
๑.๑) ด้านสังคมโลก ปัจจุบันโลก สังคมโลกเป็นที่รวมของกลุ่มสังคมที่เรียกว่า รัฐ มีระบบและกระบวนการดำเนินความสัมพันธ์ใกล้ชิดกัน เช่น ระบบการเมืองระหว่างประเทศ ระบบเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เป็นต้น การเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างชาติมหาอำนาจมีผลกระทบกระเทือนความสัมพันธ์ทางการเมืองของมหาอำนาจอื่น และกลุ่มประเทศอื่นๆ ด้วย
๑.๒) ด้านรัฐ นอกเหนือจากผลของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งกระทบต่อสังคมโลกและสะท้อนถึงรัฐแต่ละรัฐแล้ว รัฐยังเป็นผู้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและสัมพันธ์กับตนโดยตรงอีกด้วย ตัวอย่างเช่น การตัดสินใจดำเนินนโยบายต่างประเทศของอภิมหาอำนาจย่อมมีผลต่อการตัดสินใจของรัฐที่สังกัดกลุ่มของอภิมหาอำนาจนั้น ผลที่เกิดต่อรัฐอาจเป็นได้ทั้งในแง่ความมั่นคง ระบบโครงสร้างและกระบวนการทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมภายในรัฐ
๑.๓) ด้านประชาชน ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศซึ่งกระทบกระเทือนรัฐย่อมมีผลต่อประชาชนด้วย ผลดังกล่าวนี้ย่อมมีแตกต่างกันไป คือ อาจกระทบคนบางกลุ่มบางเหล่า หรือกระทบประชาชนโดยส่วนรวมทั้งโดยทางตรง หรือโดยทางอ้อมก็ได้ ตัวอย่างกรณีสงครามในกัมพูชานั้น ประชาชนไทยที่ได้รับความกระทบกระเทือนก็คือ พวกที่อยู่ตามบริเวณชายแดนไทยกัมพูชา เช่น ในจังหวัดสุรินทร์ ศรีสะเกษ ส่วนประชาชนที่อยู่ห่างไกลออกไปได้รับผลน้อยลง
๑.๔) ด้านผู้นำของประเทศ การเปลี่ยนแปลงภายนอกประเทศ หรือเหตุการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอาจมีผลต่อภาวะผู้นำภายในประเทศด้วย และอาจมีการเปลี่ยนแปลงตัวบุคคลที่ปกครองประเทศก็ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีที่มีการแทรกแซงจากต่างประเทศ ผลที่เกิดต่อสังคมโลก ต่อรัฐ ต่อประชาชน และต่อผู้นำของประเทศเช่นนี้ อาจเป็นได้ทั้งในทางดีหรือทางร้าย
. ลักษณะของผลที่เกิดขึ้นต่อบุคคลและกลุ่มสังคมทั้งภายในและระหว่างประเทศ
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจึงนับว่ามีความสำคัญต่อชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์และสังคมมนุษย์ ดังปรากฏในหลายลักษณะ ดังนี้
๒.๑) ด้านความมั่นคงของชาติ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศโดยเฉพาะทางด้านการเมืองและการทหาร ส่งผลถึงความมั่นคงปลอดภัย เอกราชและอำนาจอธิปไตยของชาติตลอดจนเสถียรภาพทางการเมืองและบูรณภาพแห่งดินแดนของแต่ละชาติ ความมั่นคงของชาติซึ่งเกี่ยวข้องกับปัญหาเรื่องเอกราช บูรณภาพแห่งดินแดน และการธำรงไว้ซึ่งสิทธิแห่งรัฐอธิปไตยเป็นเรื่องที่ผู้กำหนดนโยบายของประเทศจัดเป็นเป้าหมายสำคัญอันดับแรกของนโยบายต่างประเทศ
๒.๒) ด้านความปลอดภัยและการกินดีอยู่ดีของประชาชน ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอาจมีผลทั้งโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อมต่อความปลอดภัยและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในแต่ละประเทศ
๒.๓) ด้านการพัฒนา ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอาจมีผลต่อความพยายามของรัฐและประชาชนในการเปลี่ยนแปลงฐานะทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และเทคนิควิทยาการของตนด้วย การเปลี่ยนแปลงฐานะดังกล่าวนี้ คือ การพัฒนานั่นเอง การพัฒนาการเมืองมุ่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการเมืองไปสู่ระบบการเมืองที่มีเสถียรภาพ เปลี่ยนไปโดยสันติ และรองรับการกระทบกระเทือนจากภายนอกได้ด้วยดี การพัฒนาทางเศรษฐกิจมุ่งให้มีการเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิตและแลกเปลี่ยนสินค้นและบริการที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลประโยชน์ตอบแทนต่อประชาชนและรัฐได้ดีขึ้น การพัฒนาทางสังคมมุ่งให้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและความสัมพันธ์ทางสังคมในประเทศเป็นไปอย่างราบรื่น ปราศจากการขัดแย้งรุนแรง และการพัฒนาทางเทคนิควิทยาการมุ่งให้มีการยกระดับความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น ความพยายามให้เกิดการพัฒนานี้ส่วนหนึ่งได้รับผลจากความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย
โดยสรุป ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมีผลต่อความสงบเรียบร้อย การกินดีอยู่ดีและการพัฒนาของประชาชน รัฐ และสังคมโลกทั้งโดยตรงและโดยอ้อม จึงนับว่ามีความสำคัญมีคุณค่าควรแก่การสนใจติดตามทำความเข้าใจทั้งโดยนักวิชาการ ผู้กำหนดนโยบายและประชาชนโดยทั่วไป
การได้มีโอกาสได้ทราบถึงความสัมพันธระหว่างประเทศจากเหตุการณ์ประวัติศาสตร์สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทำให้ได้ทราบว่าพระองค์ไม่ได้ทรงเป็นกษัตริย์นักรบแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังทรงพระปรีชาสามารถในด้านการปกครอง ทรงรอบรู้ในการเมืองระหว่างประเทศและทรงส่งเสริมการค้ากับนานาชาติด้วย การได้ทราบถึงอดีตเป็นบทเรียนให้เราได้ทราบถึงเหตุและปัจจัยซึ่งกันและกันบนพื้นฐานของหลักพุทธธรรม จากจดหมายเหตุของชาติต่างๆที่เขียนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอีกมุมมองหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพของพระองค์อย่างแท้จริง

หลักฐานตะวันตกเกี่ยวกับรัชกาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
                คนไทยเรายกย่องสมเด็จพระนเรศวรมหาราชในฐานะที่ทรงเป็นนักรบและนักปกครองเป็นส่วนใหญ่ แต่หลักฐานประวัติศาสตร์ร่วมสมัยที่นักจดหมายเหตุตะวันตกบันทึกไว้ได้กล่าวถึงบทบาทของพระองค์ในด้านอื่นๆด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการทูตและพาณิชย์สัมพันธ์กับต่างประเทศ แม้ว่ากรุงศรีอยุธยาจะต้องเผชิญศึกกับพม่าและกัมพูชาตลอดรัชกาลนี้ แต่ก็มีการติดต่อค้าขายกับชาวต่างชาติอยู่พอสมควร จึงยังมีหลักฐานประเภทจดหมายเหตุชั้นต้นหลงเหลืออยู่บ้างจำนวนหนึ่ง
                จดหมายเหตุของชาวตะวันตกนั้นมีเอกสารที่เขียนขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระนเรศวรฯเองและที่เขียนขึ้นในภายหลัง แต่เล่าถึงเหตุการณ์ในรัชกาลของพระองค์ เอกสารภาษาตะวันตกที่สำคัญที่สุดในแง่ของการให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับรัชกาลสมเด็จพระนเรศวรฯ ได้แก่เอกสารของชาวสเปนและชาวฮอลันดา ชนสองชาตินี้เข้ามาติดต่อค้าขายกับไทยเป็นครั้งแรกในรัชกาลสมเด็จพระนเรศวรฯ โดยชาวสเปนจากมะนิลาเข้ามาติดต่ออย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกใน ค.ศ. ๑๕๙๘ / พ.ศ. ๒๑๔๑ ส่วนชาวฮอลันดานั้นเข้ามาเป็นครั้งแรกในค.ศ.๑๖๐๔ / พ.ศ. ๒๑๔๗ ในช่วงปลายรัชกาล

วิเคราะห์พุทธสันติวิธีกับความสัมพันธ์ทางการทูตและพาณิชย์สัมพันธ์กับต่างประเทศ
ในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
หลักมรรค ๘ ในการติดต่อกับสเปน
เอกสารสเปน
พระนเรศวรฯทรงนำหลักมรรค ๘ [๑]มาใช้ในการติดต่อกับสเปน มรรค (ภาษาสันสกฤต : มรฺค; ภาษาบาลี : มคฺค) คือ หนทางถึงความดับทุกข์ เป็นส่วนหนึ่งของอริยสัจ (เรียกว่า มัคคสัจจ์ หรือ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ) และนับเป็นหลักธรรมสำคัญอย่างหนึ่งในพระพุทธศาสนา ประกอบด้วยหนทาง ๘ ประการด้วยกัน เรียกว่า "มรรคมีองค์แปด" หรือ "มรรคแปด" (อัฏฐังคิกมรรค) โดยมีรายละเอียดดังนี้
๑.สัมมาทิฏฐิ คือ ปัญญาเห็นชอบ หมายถึง เห็นถูกตามความเป็นจริงด้วยปัญญา
๒.สัมมาสังกัปปะ คือ ดำริชอบ หมายถึง การใช้สมองความคิดพิจารณาแต่ในทางกุศลหรือความดีงาม
๓.สัมมาวาจา คือ เจรจาชอบ หมายถึง การพูดสนทนา แต่ในสิ่งที่สร้างสรรค์ดีงาม
๔.สัมมากัมมันตะ คือ การประพฤติดีงาม ทางกายหรือกิจกรรมทางกายทั้งปวง
๕.สัมมาอาชีวะ คือ การทำมาหากินอย่างสุจริตชน
๖.สัมมาวายามะ คือ ความอุตสาหะพยายาม ประกอบความเพียรในการกุศลกรรม
๗.สัมมาสติ คือ การไม่ปล่อยให้เกิดความพลั้งเผลอ จิตเลื่อนลอย ดำรงอยู่ด้วยความรู้ตัวอยู่เป็นปกติ
๘.สัมมาสมาธิ คือ การฝึกจิตให้ตั้งมั่น สงบ สงัด จากกิเลส นิวรณ์อยู่เป็นปกติ
อริยมรรคมีองค์แปด เป็นทางสายกลาง (มัชฌิมาปฏิปทา) คือ ทางที่นำไปสู่การพ้นทุกข์ที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสรู้แล้ว ด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำญาณให้เกิด ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน
หลักฐานเกี่ยวกับเมืองไทยในเอกสารภาษาสเปนนั้น แปลเป็นภาษาอังกฤษแล้วในหนังสือชุด The Philippinne Islands ๑๔๙๓-๑๘๙๘ ของ Emma Helen Blair และ J.A. Robertson ซึ่งตีพิมพ์ที่เมือง
Cleveland, Ohio ระหว่างปี ค.ศ. ๑๙๐๓-๑๙๐๙ เอกสารสเปนที่มีข้อความเกี่ยวกับกรุงศรีอยุธยาทั้งหลายนี้ จันทร์ฉาย ภัคอธิคมแปลเป็นภาษาไทยแล้วในหนังสือเรื่อง กรุงศรีอยุธยาในเอกสารหลักฐานสเปน (สมาคมประวัติศาสตร์ กรุงเทพฯ ๒๕๓๒) เอกสารในหนังสือของ Blair และ Robertson มีอยู่หลายประเภทด้วยกัน มีทั้งพระราชสาส์น จดหมาย บันทึก และรายงานเอกสารบางฉบับเขียนขึ้นโดยข้าราชการและบางฉบับเป็นเรื่องราวซึ่งบาทหลวงได้บันทึกไว้
                ในสมัยที่เริ่มติดต่อกับไทย สเปนได้ตั้งฐานทัพและอาณานิคมไว้ ณ กรุงมะนิลาในหมู่เกาะฟิลิปปินส์ หลายสิบปีก่อนหน้าที่สเปนจะเข้ามาติดต่อกับไทยนั้น โปรตุเกสได้เริ่มสร้างสัมพันธภาพทางการทูตและการค้ากับราชอาณาจักรสยามไว้แล้ว แต่ในช่วงค.ศ. ๑๕๘๐-๑๖๔๐ (พ.ศ. ๒๑๒๓-๒๑๘๓) กษัตริย์แห่งสเปน เริ่มด้วยพระเจ้า Philip ที่๒ ได้ผนวกโปรตุเกสเข้าไว้ในอาณาจักรสเปน จึงเป็นธรรมดาที่สเปนพยายามเผยแผ่ศาสนาและติดต่อค้าขายกับดินแดนวึ่งชาวโปรตุเกสเคยติดต่อด้วยเป็นประจำเช่น อาณาจักรอยุธยา เป็นต้น
                เมื่อค.ศ. ๑๕๙๘ ข้าหลวงใหญ่สเปนที่กรุงมะนิลา Don Francisco Tello ได้ส่งนาย Juan Tello de Aguirre มาติดต่อค้าขายกับกรุงศรีอยุธยา ทั้งนี้เนื่องจากสมเด็จพระนเรศวรฯ ได้ทรงส่งพระราชสาส์นไปถึงข้าหลวงใหญ่แห่งกรุงมะนิลา แสดงความสนพระทัยที่จะค้าขายกับสเปน ในกรณีนี้ฝ่ายไทยเป็นฝ่ายริเริ่มการติดต่อกับสเปน ดังรายละเอียดในจดหมายจาก Don Francisco Tello ถวายพระเจ้า Philip ที่ ๓ :
                “ข้าพระพุทธเจ้าได้รับพระราชสาส์นจากพระเจ้ากรุงสยาม...ในพระราชสาส์นนั้น พระเจ้ากรุงสยามทรงประสงค์การพาณิชย์และการค้ากับหมู่เกาะนี้ (หมู่เกาะฟิลิปปินส์) ...โดยที่ได้เห็นว่า พระมหากษัตริย์องค์นี้โปรดเช่นนั้น  ปีที่แล้ว (ค.ศ. ๑๕๙๘) ข้าพระพุทธเจ้าได้แต่งกัปตัน Juan Tello พร้อมคณะทูตไปเข้าเฝ้าพระเจ้ากรุงสยามเป็นการตอบพระราชสาส์น โดยได้กล่าวถึงความนิยมชมชื่นอย่างใหญ่หลวงสำหรับพระราชไมตรีที่ทรงแสดงต่อข้าพระพุทธเจ้า และความนิยมชมชื่นสำหรับพระราชปรารถนาที่จะให้ชาวสเปนค้าขายในราชอาณาจักร... กัปตันJuan Telloได้ออกเดินทางไปสยามและเมื่อปฏิบัติการทูตสมบูรณ์แล้ว เขาได้ทำข้อตกลงด้วยว่า (สยาม) ควรเปิดเมืองท่าเมืองหนึ่งสำหรับการค้าเพื่อให้ชาวสเปนสามารถไปเมืองนั้นได้และตั้งหลักแหล่งได้โดยอิสระ และได้รับการยกเว้นจากภาษีทั้งปวง[๒]
พระองค์ทรงนำหลักสัมมาทิฏฐิ คือ ปัญญาเห็นชอบ มาใช้ในการตัดสินใจเซ็นกับประเทศตะวันตกประกอบกับหลักธรรมอื่นๆได้แก่สัมมาสังกัปปะ คือ ดำริชอบ หมายถึง การใช้สมองความคิดพิจารณาแต่ในทางกุศลหรือความดีงามต่อประเทศ
สัญญาฉบับนี้เป็นเพียงฉบับที่สองที่ไทยตกลงเซ็นกับประเทศตะวันตก ฉบับแรกได้แก่สนธิสัญญาที่เซ็นกับโปรตุเกสในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ เพื่อให้ความสัมพันธ์ระหว่างสเปนกับไทยเอื้อประโยชน์ต่อสเปนในหลายๆทาง Don Francisco Tello ได้ส่งคณะทูตคณะที่สองมาถึงกรุงศรีอยุธยา โดยประสงค์ที่จะขออนุญาตสมเด็จพระนเรศวรฯ ส่งบาทหลวงคณะ Dominican มาเผยแพร่คริสต์ศาสนาในเมืองไทย หัวหน้าคณะทูตคณะที่สองนี้ชื่อว่า Juan de Mendoza Gamboaเอกสารเรื่อง Sucesos de las Islas Filipinas (“เรื่องเหตุการณ์ในหมู่เกาะฟิลิปปินส์”) ของ Antonio de Morgaซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกในเม็กวิโกเมื่อ ค.ศ. ๑๖๐๙ / พ.ศ. ๒๑๕๒ ได้ระบุไว้ว่านาย Mendoza ล้มเหลวในการติดต่อกับราชสำนักสมเด็จพระนเรศวรฯ เนื่องจากขัดแย้งกับข้าราชการไทยเกี่ยวกับเรื่องของขวัญที่นำมาให้กับฝ่ายไทย ทางฝ่ายราชสำนักไทยต้องการของขวัญที่ดีกว่าของขวัญที่ได้รับจากคณะทูตสเปน สมเด็จพระนเรศวรฯทรงประสงค์ที่จะยึดปืนใหญ่ของพวกสเปน นาย Mendozaจึงเห็นจำเป็นที่จะต้องโยนปืนใหญ่เหล่านั้นลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อไม่ให้ปืนตกเป็นของไทยเสีย การเจรจาทางการทูตระหว่าง Mendoza กับราชสำนักไทยไม่ประสบผลสำเร็จมากนัก ทางฝ่ายสมเด็จพระนเรศวรฯ ทรงผิดหวังในการค้ากับสเปน ซึ่งมิได้นำกำไรรายได้มาสู่พระคลังเท่าที่ควร จึงไม่ทรงตอบสาส์นของข้าหลวงใหญ่กรุงมะนิลา ส่วนนายMendoza นั้นพยายามออกไปจากเมืองไทยโดยมิได้รับตราอนุญาตจากกรมพระคลัง (โกษาธิบดี) นอกจากนั้นแล้วเขายังกลับมางมปืนที่จมไว้ใต้น้ำกลับขึ้นสู่เรือของเขา และมารับตัวชาวสเปนกับชาวโปรตุเกส ซึ่งประสงค์จะออกนอกประเทศไปพร้อมกับเขา การกระทำ
เหล่านี้ทำให้สมเด็จพระนเรศวรฯ ทรงดำเนินการอย่างเด็ดขาด ทรงส่งทหารพร้อมเรือไล่ตามเรือของ  Mendoza มีการรบพุ่งกันในแม่น้ำ ทหารทั้งสองฝ่ายล้มตายไปหลายคน ในที่สุดเรือสเปนก็หลบหนีไปได้ แต่นาย Mendoza เองนั้นบาดเจ็บถึงตาย หลังจากนั้นความสัมพันธ์ระหว่างาณาจักรอยุธยากับสเปนก็ได้หยุดชะงักไปชั่วคราว
สมเด็จพระนเรศวรฯทรงตระหนักถึงความสำคัญของการค้านานาชาติ โดยเฉพาะการค้าทางทะเลเพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจอยุธยา ซึ่งได้รับความเสียหายพอสมควรจากสงครามต่างๆในสมัยนั้น นอกจากนั้นยังทรงต้องการสินค้าฟุ่มเฟือยจากการค้ากับกรุงมะนิลา (ตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๕๙๔ / พ.ศ. ๒๑๓๗)
สิ่งที่สองซึ่งสมเด็จพระนเรศวรฯ ทรงต้องการนั้นเป็นเพียงข้อสันนิษฐานของผู้เขียน ภายหลังจากที่ได้ศึกษาเอกสารชั้นต้นมาแล้วจำนวนหนึ่ง จุดประสงค์ประการที่สองของสมเด็จพระนเรศวรฯ ในการติดต่อกับสเปนเนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองอันปั่นป่วนในเขมร กล่าวคือ พระองค์ทรงใช้หลักสัมมากัมมันตะ คือ การประพฤติดีงาม ทางกายหรือกิจกรรมทางกายทั้งปวงต้องระมัดระวังมิให้ชาวสเปนและชาวโปรตุเกสเข้ามามีบทบาทมากเกินไปในการเมืองภายในของเขมร แต่ในขณะเดียวกันก็ทรงพยายามรักษาสัมพันธภาพที่ดีไว้ด้วยการติดต่อกับสเปนทางการทูตและการค้าโดยใช้หลักสัมมาวาจา คือ เจรจาชอบ หมายถึง การพูดสนทนา แต่ในสิ่งที่สร้างสรรค์ดีงาม เพื่อให้เกิดสัมมาอาชีวะ ทั้งนี้เนื่องจากพระองค์ทรงปฏิบัติขณิกสมาธิ จากสัมมาสมาธิ มีการฝึกจิตให้ตั้งมั่น สงบ สงัด จากกิเลส นิวรณ์อยู่เป็นปกติ ทำให้การตัดสินพระทัยอยู่ภายใต้หลักของศีล สมาธิ ปัญญา

อิทัปปัจจยตากับความสัมพันธ์สามเส้าระหว่าง ไทย เขมรและสเปน
                จดหมายเหตุของDr. Antonio de Morga[๓]และหลักฐานสเปนฉบับอื่นๆกล่าวถึงเหตุการณ์ในเขมร (เมืองละแวก) ไว้มาก เนื่องจากในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ ชาวสเปนได้เข้าไปมีบทบาทใน
เหตุการณ์ทางการเมืองภายในของเขมร สเปนพยายามเข้ามามีบทบาทในช่วงที่เขมรต้องรบกับไทย และนอกจากนั้นแล้ว เจ้านายเขมรก็แย่งชิงอำนาจกันเองอยู่ตลอดเวลา ความสัมพันธ์สามเส้าระหว่าง ไทย เขมรและสเปน จึงเป็นเรื่องที่น่าศึกษาอย่างยิ่ง[๔]เอกสารภาษาสเปนหลายฉบับเน้นเหตุการณ์ในเขมรสมัยปลายคริสต์ศตวรรษที่๑๖ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “นักผจญภัย” สองราย อันได้แก่ Blas Ruiz และ DiogoVeloso (Belloso) ได้เข้าไปมีบทบาทสำคัญในการเมืองและการต่างประเทศของเขมร
สมเด็จพระนเรศวรฯ ได้ทรงกรีธาทัพไปตีเมืองละแวกแตกในค.ศ. ๑๕๙๔ / พ.ศ. ๒๑๓๗ ทำให้นักพระสัฏฐา กษัตริย์เขมร พยายามขอความช่วยเหลือจากสเปน ข้าหลวงใหญ่ของสเปน ณ กรุงมะนิลาตัดสินใจส่งกองทัพมาช่วยเหลือนักพระสัฏฐาในต้นปี ค.ศ. ๑๕๙๖ / พ.ศ. ๒๑๓๘ ทั้งๆที่ชาวสเปนหลายคนที่กรุงมะนิลาไม่เห็นด้วยกับเขา คนจำนวนหนึ่งเกรงว่าสเปนจะต้องกลายเป็นศัตรูของกรุงศรีอยุธยาไปโดยที่ไม่จำเป็น เพราะสมเด็จพระนเรศวรฯเพิ่งส่งพระราชสาส์นมายังกรุงมะนิลาและทรงเชื้อเชิญให้ชาวสเปนไปค้าขายในประเทศสยาม ในที่สุดกองทัพสเปนในบังคับบัญชาของ Juan JúrezGallinatoก็ประสบปัญหามากมาย และประสบความล้มเหลวเนื่องจากสถานการณ์ในเขมรเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและรุนแรง
แม้ว่าจะมีปัญหามากมายในเขมรในช่วง ค.ศ. ๑๕๙๔-๖ และแม้ว่านักแสวงโชคชาวสเปนและโปรตุเกสจะเข้าไปมีบทบาทโดยมีรัฐบาลกรุงมะนิลาหนุนหลังอยู่ ทางฝ่ายสมเด็จพระนเรศวรฯก็ยังทรงติดต่อกับข้าหลวงใหญ่แห่งกรุงมะนิลาต่อไป ในบรรดาเอกสารสเปนยังคงมีสำเนาพระราชสาส์น(ฉบับแปล) หลงเหลืออยู่ฉบับหนึ่งเป็นเอกสารซึ่งเขียนขึ้นเมื่อ ค.ศ. ๑๕๙๘ หรือ ๑๕๙๙  (ราวๆ พ.ศ. ๒๑๔๑-๒) ในพระราชสาส์นฉบับนี้สมเด็จพระนเรศวรฯทรงแสดงความพึงพระทัยที่ทางกรุงมะนิลาส่งคณะทูตมาเจริญสัมพันธไมตรีกับอาณาจักรอยุธยา พระองค์มิได้ทรงเอ่ยถึงเขมร แสดงว่าทรงเน้นแต่เรื่องมิตรภาพและการค้าขายก่อนหน้าที่จะเผชิญปัญหาคณะทูต Mendoza
พระองค์ทรงใช้หลักอิทัปปัจจยตากับความสัมพันธ์สามเส้าระหว่าง ไทย เขมรและสเปน เป็นหลักการทางพุทธศาสนากล่าวถึงความเกี่ยวเนื่องกันของเหตุและผล เมื่อมีเหตุย่อมมีผล และเมื่อเหตุดับผลก็ดับคือเมื่อสิ่งนี้มีสิ่งนี้ย่อมมี เพราะความเกิดขึ้นแห่งสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงเกิดขึ้นเมื่อสิ่งนี้ ไม่มีสิ่งนี้ย่อมไม่มีเพราะความดับไปแห่งสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงดับไป อิทัปปัจจยตา ถือเป็นหัวใจของปฏิจจสมุปบาทเป็นกฎเหนือกฎทั้งปวง เป็นพุทธธรรมอันติมะหรือสัจธรรมความจริงแท้ ที่สุดของพุทธศาสนา และเชื่อมโยงคำสอนทั้งปวง ของพระพุทธเจ้าว่า ล้วนเป็นไปตามหลักธรรม หรือกฎของอิทัปปัจจยตาทั้งสิ้น[๕]
จึงสรุปได้ว่าสัมพันธภาพระหว่างไทยกับสเปนในรัชกาลสมเด็จพระนเรศวรฯ ได้ดำเนินไปด้วยมิตรภาพบ้าง ความเข้าใจผิดบ้าง และมีการขัดผลประโยชน์กันบ้าง เพราะสเปนมุ่งหวังอยู่ตลอดเวลาที่จะขยายอิทธิพลมาสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีป ในขณะที่สมเด็จพระนเรศวรฯ ทรงพยายามควบคุมเขมรให้เป็นเมืองประเทศราชของกรุงศรีอยุธยา

พรหมวิหาร ๔ ในเอกสารฮอลันดา
                เนื่องจากบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดา (VereenigdeOost-IndischeCompagnieหรือเรียกย่อๆว่า VOC) ได้เริ่มเปิดสำนักงานการค้าขึ้นที่กรุงศรีอยุธยา เมื่อค.ศ. ๑๖๐๘ / พ.ศ. ๒๑๕๑ ใน
รัชกาลสมเด็จพระเอกาทศรถ เอกสารร่วมสมัยที่มีข้อความเกี่ยวกับกรุงศรีอยุธยาในรัชกาลสมเด็จพระนเรศวรฯ จึงไม่มีหลงเหลืออยู่เลยในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ณ กรุงเฮก (AlgemeenRijksarchief, Den
Haag) แต่มีเฉพาะเอกสารของสำนักงาน VOC ในสยามเขียนขึ้นหลังปี ๑๖๐๘ แล้วเท่านั้น
                ในตอนแรก บริษัท VOC เข้ามาในเมืองไทยโดยหวังที่จะอาศัยเรือสำเภาหลวงของราชสำนักสยามไปค้าขายที่เมืองจีน ทั้งนี้เพราะ Wijbrand van Warwijckได้ทราบจากราชทูตไทยซึ่งมาแวะที่ปัตตานีว่าพระเจ้ากรุงสยามส่งเรือสำเภาไปเมืองจีนเป็นประจำ และชาวฮอลันดาอาจอาศัยเรือสำเภาหลวงไปได้ VOC ต้องการหาลู่ทางไปค้าขายที่เมืองจีนโดยตรง van Warwijck จึงส่งผู้แทนของบริษัทไปยังกรุงศรีอยุธยาในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๖๐๔ พ่อค้าฮอลันดากลุ่มแรกที่มาเมืองไทย มี Lambert Jacobsz. Heijnและ CornelisSpecxเป็นผู้นำ พวกเขาได้นำปืนใหญ่  ๒ กระบอก เป็นเครื่องบรรณาการถวายสมเด็จพระนเรศวรฯพร้อมสารคำกราบบังคมทูลของ van Warwijck ซึ่งอธิบายถึงเหตุผลที่บริษัท VOC เข้ามาติดต่อราชสำนัก สินค้าที่VOCนำเข้ามาครั้งแรกนี้มีมูลค่า ๔,๐๐๐ กิลเดอร์สมเด็จพระนเรศวรฯทรงให้รับรอง Heijnและ Specx เป็นอย่างดี แต่ความฝันของพ่อค้า VOC ที่จะอาศัยเรือสำเภาหลวงไปค้าขายที่เมืองจีนต้องสลายไป เมื่อสมเด็จพระนเรศวรฯ เสด็จไปการศึกที่พม่าและเสด็จสวรรคตใน ค.ศ. ๑๖๐๕ / พ.ศ. ๒๑๔๘ ทำให้ราชสำนักไทยต้องผัดผ่อนการส่งสำเภาหลวงไปเมืองจีน อย่างไรก็ตาม VOC ก็ยังสนใจที่จะค้าขายในเมืองไทยต่อไป เพราะกรุงศรีอยุธยาเป็นศูนย์กลางการค้าของป่า ข้าว สินค้าจีน และอื่นๆ ซึ่งสามารถเป็นประโยชน์ต่อการค้าของบริษัทภายในภูมิภาคเอเชีย
                ข้อความที่เกี่ยวกับสมเด็จพระนเรศวรฯ ใน CortVerhaalหรือ  “พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับวันวลิต” นี้มีอยู่ ๓ ลักษณะด้วยกัน ดังต่อไปนี้
                ๑.พรรณนาเกี่ยวกับสมเด็จพระนเรศวรฯ ว่า ทรงเป็นนักรบที่เก่งกาจ เป็น “วีรบุรุษนักรบ” (“eenstrijtbaerhelt”) ทรงรบชนะข้าศึกหลายครั้งและในหลายแดน ทรงทำสงครามอยู่เกือบรัชกาล van Vlietอ้างว่า “ทรงครองราชย์อยู่เป็นเวลา ๒๐ ปี แต่ทรงพำนักอยู่ในกรุงศรีอยุธยาไม่เกินกว่า ๒ ปี เท่านั้น” หมายความว่าอีก ๑๘ ปีนั้น พระองค์ทรงออกศึกอยู่นอกอยุธยาตลอดเวลา
๒. เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับองค์สมเด็จพระนเรศวรฯ ในเชิงนิทานหรือเกร็ด อาทิเช่น เรื่องที่เย็นวันหนึ่งขณะที่พระองค์ล่องเรือไปตามแม่น้ำ ปรากฏว่ามีพายุฝนหนัก ก็ไม่สามารถเสด็จกลับวังได้ พระองค์ทรงเสด็จไปหลบฝนที่บ้านของหญิงชราผู้หนึ่งซึ่งยากจน แต่ก็เลี้ยงดูและรับรองพระองค์อย่างดี โดยที่ไม่ทราบว่าทรงเป็นพระมหากษัตริย์ แต่เมื่อทรงขอดื่มเหล้า หญิงชราก็กลัวมากว่าจะเป็นการละเมิดกฎหมาย เนื่องจากช่วงนั้นเป็นระยะเข้าพรรษา ในที่สุดก็ยอมเอาสุราออกมาให้พระองค์ทรงดื่ม หลังจากนั้นก็ได้เสด็จกลับพระราชวัง ต่อมาอีกวันหนึ่ง มีเรือมาจากพระราชวังหลวงมารับหญิงชราผู้นี้ไปเข้าเฝ้าฯสมเด็จพระนเรศวรฯ หญิงชรารู้สึกกลัวมาก เพราะสำนึกว่าตนได้กระทำผิดในการนำสุราออกมาให้คนดื่มในช่วงเข้าพรรษา แต่ที่จริงแล้วสมเด็จพระนเรศวรฯ ทรงประสงค์เพียงแต่จะยกย่องและเลี้ยงดูหญิงชราคนนี้เหมือนเป็นพระมารดา เกร็ด หรือ “นิทาน” เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่า คนไทยในสมัยอยุธยาเพียงไม่กี่ปีหลังจากที่สมเด็จพระนเรศวรฯเสด็จสวรรคตก็เริ่มยกย่องพระองค์เสมือนเป็น “folk hero” หรือพระเอกในนิทานพื้นบ้านสะท้อนให้เห็นถึงความเมตตา กรุณา มุทิตาและอุเบกขาที่พระองค์ทรงมีต่อราษฏรภายใต้พรหมวิหาร ๔[๖]
พรหมวิหาร๔ (ธรรมเครื่องอยู่อย่างประเสริฐ, ธรรมประจำใจอันประเสริฐ, หลักความประพฤติที่ประเสริฐบริสุทธิ์, ธรรมที่ต้องมีไว้เป็นหลักใจและกำกับความประพฤติ จึงจะชื่อว่าดำเนินชีวิตหมดจด และปฏิบัติตนต่อมนุษย์สัตว์ทั้งหลายโดยชอบ - holy abidings; sublime states of mind)
๑. เมตตา (ความรักใคร่ ปรารถนาดีอยากให้เขามีความสุข มีจิตอันแผ่ไมตรีและคิดทำประโยชน์แก่มนุษย์สัตว์ทั่วหน้า - loving-kindness; friendliness; goodwill)
๒. กรุณา (ความสงสาร คิดช่วยให้พ้นทุกข์ ใฝ่ใจในอันจะปลดเปลื้องบำบัดความทุกข์ยากเดือดร้อนของปวงสัตว์ - compassion)
๓. มุทิตา (ความยินดี ในเมื่อผู้อื่นอยู่ดีมีสุข มีจิตผ่องใสบันเทิง กอปรด้วยอาการแช่มชื่นเบิกบานอยู่เสมอ ต่อสัตว์ทั้งหลายผู้ดำรงในปกติสุข พลอยยินดีด้วยเมื่อเขาได้ดีมีสุข เจริญงอกงามยิ่งขึ้นไป - sympathetic joy; altruistic joy)
 ๔. อุเบกขา (ความวางใจเป็นกลาง อันจะให้ดำรงอยู่ในธรรมตามที่พิจารณาเห็นด้วยปัญญา คือมีจิตเรียบตรงเที่ยงธรรมดุจตราชั่ง ไม่เอนเอียงด้วยรักและชัง พิจารณาเห็นกรรมที่สัตว์ทั้งหลายกระทำแล้ว อันควรได้รับผลดีหรือชั่ว สมควรแก่เหตุอันตนประกอบ พร้อมที่จะวินิจฉัยและปฏิบัติไปตาม
ธรรม รวมทั้งรู้จักวางเฉยสงบใจมองดู ในเมื่อไม่มีกิจที่ควรทำ เพราะเขารับผิดชอบตนได้ดีแล้ว เขาสมควรรับผิดชอบตนเอง หรือเขาควรได้รับผลอันสมกับความรับผิดชอบของตน - equanimity; neutrality; poise)
ผู้ดำรงในพรหมวิหาร ย่อมช่วยเหลือมนุษย์สัตว์ทั้งหลายด้วยเมตตากรุณา และย่อมรักษาธรรมไว้ได้ด้วยอุเบกขา ดังนั้น แม้จะมีกรุณาที่จะช่วยเหลือปวงสัตว์แต่ก็ต้องมีอุเบกขาด้วยที่จะมิให้เสียธรรม
       พรหมวิหารนี้ บางทีแปลว่า ธรรมเครื่องอยู่ของพรหม, ธรรมเครื่องอยู่อย่างพรหม, ธรรมประจำใจที่ทำให้เป็นพรหมหรือให้เสมอด้วยพรหม, หรือธรรมเครื่องอยู่ของท่านผู้มีคุณยิ่งใหญ่ - (abidings of the Great Ones)
       พรหมวิหาร ๔ เรียกอีกอย่างว่า อัปปมัญญา ๔(unbounded states of mind; illimitables) เพราะแผ่สม่ำเสมอโดยทั่วไปในมนุษย์สัตว์ทั้งหลาย ไม่มีประมาณ ไม่จำกัดขอบเขต
๑.  เมตตา = (ในสถานการณ์ที่คนอื่นอยู่เป็นปกติ ในที่นี้คือการที่หญิงชราได้ดูแลและรับรองพระองค์อย่างดี และทรงตอบแทนยกย่องและเลี้ยงดูหญิงชราคนนี้เหมือนเป็นพระมารดา) 
 ลักษณะ = เป็นไปโดยอาการเกื้อกูลแก่คนสัตว์ทั้งหลาย 
 หน้าที่ = น้อมนำประโยชน์เข้าไปให้แก่เขา 
 ผลปรากฏ = กำจัดความอาฆาตแค้นเคืองให้ปราศไป 
 ปทัสถาน = เห็นภาวะที่น่าเจริญใจของคนสัตว์ทั้งหลาย
๒.  กรุณา = (ในสถานการณ์ที่คนอื่นตกทุกข์เดือดร้อน หญิงชรามีฐานะที่ยากจน พระองค์ทรงมีความปรารถนาดีเปลี่ยนแปลงความเป็นอยู่ให้หญิงชรา) 
 ลักษณะ = เป็นไปโดยอาการปลดเปลื้องทุกข์แก่คนสัตว์ทั้งหลาย 
 หน้าที่ = ไม่นิ่งดูดาย/ทนนิ่งอยู่ไม่ได้ต่อทุกข์ของคนสัตว์ทั้งหลาย 
 ผลปรากฏ = ไม่เบียดเบียน/อวิหิงสา 
 ปทัสถาน = เห็นภาวะไร้ที่พึ่ง/สภาพน่าอนาถของคนสัตว์ทั้งหลายที่ถูกทุกข์ครอบงำ
๓.  มุทิตา = (ในสถานการณ์ที่คนอื่นมีสุขสำเร็จหรือทำอะไรก้าวไปด้วยดีพระองค์ทรงยกย่องหญิงชราประหนึ่งพนะมารดา) 
 ลักษณะ = พลอยยินดี/ยินดีด้วย 
 หน้าที่ = ไม่ริษยา/เป็นปฏิปักษ์ต่อความริษยา 
 ผลปรากฏ = ขจัดความริษยา ความไม่ยินดีหรือความทนไม่ได้ต่อความสุขสำเร็จของผู้อื่น 
 ปทัสถาน = เห็นสมบัติ/ความสำเร็จของคนสัตว์ทั้งหลาย
๔.  อุเบกขา = (ในสถานการณ์รักษาธรรมตามความรับผิดชอบต่อกรรมที่เขาทำ ทรงวางเฉยไม่แสดงตนว่าเป็นพระมหากษัตริย์ มองว่าทุกคนมีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน ดูที่การกระทำความดีที่หญิงชราแสดงต่อพระองค์) 
 ลักษณะ = เป็นไปโดยอาการเป็นกลางต่อคนสัตว์ทั้งหลาย 
 หน้าที่ = มองเห็นความเสมอภาคกันในคนสัตว์ทั้งหลาย 
 ผลปรากฏ = ระงับความขัดเคืองเสียใจและความคล้อยตามดีใจ 
 ปทัสถาน = มองเห็นภาวะที่ทุกคนเป็นเจ้าของกรรมของตนว่า สัตว์ทั้งหลายจักได้สุข พ้นทุกข์ ไม่เสื่อมจากสมบัติที่ได้ที่ถึง ตามใจชอบได้อย่างไร
 ฉันทะ คือ กัตตุกัมยตาฉันทะ (ความอยากจะทำให้ดี หรือความต้องการที่จะทำให้คนสัตว์ทั้งหลายดีงามสมบูรณ์ปราศจากโทษข้อบกพร่อง เช่น อยากให้เขาประสบประโยชน์สุข พ้นจากทุกข์เป็นต้น) เป็นจุดตั้งต้น (อาทิ) ของพรหมวิหารทั้ง 4 นี การข่มระงับกิเลส (เช่นนิวรณ์) ได้ เป็นท่ามกลางสมาธิถึงขั้นอัปปนา (คือ ภาวะจิตที่มั่นคงเรียบรื่นสงบสนิทดีที่สุด) เป็นที่จบของพรหมวิหารทั้ง ๔ นั้น
๓. การเน้นเรื่องความเข้มงวดรุนแรงในการปกครอง van Vilietอ้างว่ามีหลักฐาน (รวมทั้งหลักฐานของผู้ที่เห็นเหตุการณ์ต่างๆด้วยตนเอง) ซึ่งกล่าวว่า ในระหว่างที่ทรงครองราชย์การปกครองของพระองค์เป็นที่เข้มงวดที่สุดในประวัติศาสตร์สยาม : “Is den strijtbaerstenendegestrengsten in regeringegeweest die in Siam bekent is.”
แม้แต่พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาของไทยก็ได้ระบุไว้เช่นเดียวกัน หากพิจารณาบริบททางประวัติศาสตร์จะเห็นว่ารัชกาลสมเด็จพระนเรศวรฯ เป็นช่วงเวลาอันวิกฤตสำหรับอาณาจักรอยุธยา ไทยต้องทำสงครามกับรัฐเพื่อนบ้านเป็นประจำ จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่สมเด็จพระนเรศวรฯ อาจทรงใช้มาตรการที่รุนแรงเป็นพิเศษในการปกครองพระราชอาณาจักร
๔. อันที่จริงvan Viliet มิได้พยายามเจาะจงโจมตีสมเด็จพระนเรศวรฯ ข้อความใน CortVerhaalได้สรุปไว้ว่าบ้านเมือง “เจริญรุ่งเรือง” ในรัชกาลของพระองค์คงจะเป็นเพราะ “พระนเรศราชาธิราชทรงเป็นวีรบุรุษนักรบ”[๗]

อิทธิบาท ๔ กับความหลากหลายทางด้านการปกครองประเทศ การทูต และการค้ากับนานาชาติ
อิทธิบาท ๔ เป็นศัพท์ในพุทธศาสนา หมายถึง ฐานหรือหนทางสู่ความสำเร็จ หรือ คุณเครื่องให้ถึงความสำเร็จ คุณเครื่องสำเร็จสมประสงค์ ทางแห่งความสำเร็จ คุณธรรมที่นำไปสู่ความสำเร็จแห่งผลที่มุ่งหมาย มี ๔ ประการ[๘] คือ
ฉันทะ (ความพอใจ) คือ ความต้องการที่จะทำ ใฝ่ใจรักจะทำสิ่งนั้นอยู่เสมอ และปรารถนาจะทำให้ ได้ผลดียิ่งๆขึ้นไป
วิริยะ (ความเพียร) คือ ขยันหมั่นประกอบสิ่งนั้นด้วยความพยายาม เข้มแข็ง อดทน เอาธุระไม่ท้อถอย
จิตตะ (ความคิด) คือ ตั้งจิตรับรู้ในสิ่งที่ทำ และทำสิ่งนั้นด้วยความคิด เอาจิตฝักใฝ่ ไม่ปล่อยใจให้ฟุ้งซ่านเลื่อนลอยไป
วิมังสา (ความไตร่ตรอง หรือ ทดลอง) คือ หมั่นใช้ปัญญา พิจารณาใคร่ครวญ ตรวจหาเหตุผล และตรวจสอบข้อยิ่งหย่อนในสิ่งที่ทำนั้น มีการวางแผน วัดผล คิดค้นวิธีแก้ไขปรับปรุง
เอกสารชีวประวัติ Jacques de Coutreเป็นหลักฐานที่สำคัญมากสำหรับประวัติศาสตร์อยุธยาสมัยสมเด็จพระนเรศวรฯเพราะ de Coutreเขียนในฐานะเป็น “eye witness” ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอยุธยา เอกสารฉบับนี้ได้แก่เรื่อง ชีวประวัติ Jacques de Coutreซึ่งเป็นเอกสารภาษาสเปน แต่เขียนโดยชาวเฟลมิช Jacques de Coutreเป็นชาวเมือง Bruges เดินทางมาเอเชียกับพวกโปรตุเกสในฐานะทหารรับจ้าง และภายหลังมีอาชีพค้าเพชรพลอยอัญมณี Jacques de Coutreใช้ชีวิตอยู่ในเอเชียเป็นเวลานาน และได้เดินทางมาที่กรุงศรีอยุธยาในรัชกาลสมเด็จพระนเรศวรฯ ประมาณปี ค.ศ.๑๕๙๖ / พ.ศ. ๒๑๓๙ เป็นหลักฐานที่สำคัญมากสำหรับประวัติศาสตร์อยุธยาสมัยสมเด็จพระนเรศวรฯ
จะเห็นได้ชัดว่า เอกสารเช่น CortVerhaalหรือ พระราชพงศาวดารฉบับวันวลิต มีทั้งข้อความเกี่ยวกับการสงครามและข้อความที่เล่าว่า ในรัชกาลสมเด็จพระนเรศวรฯ มีชาวต่างชาติมาติดต่อ
พระองค์มาก เพราะพระองค์ “ทรงนิยมชาวต่างชาติ”ภายใต้หลักอิทธิบาท ๔ ส่วนเอกสารภาษาสเปนก็มีเรื่องราวเกี่ยวกับการติดต่อทางการทูตและการค้าระหว่างมะนิลากับกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรฯ อาจสรุปได้ว่าแม้ว่าไทยรบกับรัฐเพื่อนบ้านอยู่เกือบตลอดรัชกาลนี้ แต่ทางราชสำนักไทยก็ยังคงพยายามติดต่อกับต่างประเทศ โดยใช้หลักฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา เพื่อส่งเสริมพระบารมีและ
เพื่อหารายได้เข้าพระคลัง และการที่มีความสัมพันธ์กับสเปนและฮอลันดาก็เป็นผลพลอยได้ที่ทำให้มีหลักฐานประวัติศาสตร์เพิ่มขึ้นจาการที่ชาวตะวันตกได้จดบันทึกไว้เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ไทยผู้ทรงเกียรติยศเกริกไกรพระองค์นี้

การเจริญสติ สมาธิและพละ ๕กับความสัมพันธ์ไทย – จีน
พละ หรือ พละ ๕ คือ กำลัง ห้า ประการ [๙]ได้แก่
๑.ศรัทธาพละ ความเชื่อ กำลังการควบคุมความสงสัย
๒.วิริยะพละ ความเพียร กำลังการควบคุมความเกียจคร้าน
๓.สติพละ ความระลึกได้ กำลังการควบคุมความประมาท การไม่ใส่ใจ ใจลอย ไร้สติ
๔.สมาธิพละ ความตั้งใจมั่น กำลังการควบคุมการวอกแวกเขว่ไขว่ ฟุ้งซ่าน
๕.ปัญญาพละ ความรอบรู้ กำลังการควบคุมเพิกเฉยไม่สนใจ หลงงมงาย
พละทั้งห้านี้ เป็นหลักธรรมที่ผู้เจริญวิปัสสนาพึงรู้ ศรัทธาต้องปรับให้สมดุลกับปัญญา วิริยะต้องปรับให้สมดุลกับสมาธิ ส่วนสติพึงเจริญให้มากเนื่องเป็นหลักที่มีสภาวะปรับสมดุลของจิตภายใน
ตัวเองอยู่แล้ว เป็นหลักธรรมที่คู่กับอินทรีย์๕ คือศรัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์ โดยมีความเหมือนความแตกต่างและความเกี่ยวเนื่องคือ พละ๕เป็นสภาวะที่เกิดขึ้นแก่จิตในปัจจุบันที่ทำให้เกิดมีขึ้น ส่วนอินทรีย์คือพละ๕ที่สะสมจนตกผลึก เหมือนกับนิสัย หรือสันดาน เช่นผู้มีสมาธิทรีย์มากก็อาจทำสมาธิได้ง่ายกว่าผู้มีน้อยกว่า ผู้มีปัญญินทรีย์มากก็มีปกติเป็นคนฉลาด พละ๕อาจเกิดขึ้นได้ดีและสั่งสมเป็นอินทรีย์ได้ไวคือผู้ทีบวชหรือประพฤติพรหมจรรย์ และผู้ปฏิบัติโมเนยยะปฏิบัติ
                จีนมีประเพณีการจดบันทึกเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์อย่างเป็นระบบมาเป็นเวลาช้านาน เอกสารโบราณที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์จึงมีหลายรูปแบบ และมีเนื้อหาสาระครอบคลุมเรื่องราวต่างๆตั้งแต่เรื่องการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ตลอดจนเรื่องการต่างประเทศ ดังนั้นเอกสารโบราณของจีนจึงได้จดบันทึกเกี่ยวกับความสัมพันธ์กับไทยเป็นหลัก และเรื่องราวในอดีตของประเทศไทยอยู่บ้างพอเป็นสังเขป เอกสารโบราณของจีนที่จะใช้อ้างอิงในบทความนี้มีอยู่ ๓ ประเภท กล่าวคือ
๑.เอกสารที่เรียกว่า เจิ้งสื่อ หรือประวัติศาสตร์ราชวงศ์ฉบับหลวงซึ่งเป็นเอกสารสำคัญที่สุด เพราะเป็นงานที่จักรพรรดิจีนของราชวงศ์ที่ครองราชย์อยู่มีพระบรมราชโองการ ให้นักปราชญ์ราชบัณฑิตของพระองค์รวบรวมและเรียบเรียงเรื่องราวเกี่ยวกับราชวงศ์ที่เพิ่งหมดอำนาจไป และยึดถือเป็นประเพณีที่รชสำนักจีนทุกราชวงศ์มีหน้าที่และความรับผิดชอบ ที่ต้องกระทำซึ่งต่อเนื่องมาแต่สมัยราชวงศ์ถังเป้นต้นมา สำหรับประวัติศาสตร์ราชวงศ์ฉบับหลวงที่จะใช้อ้างอิงในบทความนี้คือ ประวัติศาสตร์ราชวงศ์หมิงฉบับหลวง
๒.เอกสารอีกประเภทหนึ่งได้แก่ สือลู่ หรือ จดหมายเหตุประจำรัชกาล เอกสารนี้ก็เป็นงานที่จักรพรรดิจีนองค์ที่ครองราชย์อยู่มีพระราชโองการให้นักปราชญ์ราชบัณฑิตรวบรวมเรียบเรียงเกี่ยวกับรัชกาลที่เพิ่งจะสิ้นสุดลง โดยอาศํยหลักฐานราชการทุกชนิด รวมทั้งบันทึกราชกิจรายวันและบันทึกอนุทิน เอกสารนี้จะบันทึกแบบเรียงลำดับวันเดือนปี และมีรายละเอียดมาก สำหรับจดหมายเหตุประจำรัชกาลที่ใช้อ้างอิงคือ จดหมายเหตุประจำรัชกาลจักรพรรดิเสินจงแห่งราชวงศ์หมิง
๓. เอกสารประเภทสุดท้าย ได้แก่เอกสารโบราณเอกชน เอกสารประเภทนี้เรียบเรียงโดยเอกชน
เอกสารโบราณของจีนที่ได้บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างราชวงศ์หมิงกับกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช มีเรื่องที่สำคัญอยู่เรื่องหนึ่งคือ พันธมิตรทางการทหารระหว่างไทยกับจีน


พันธมิตรทางการทหารครั้งที่หนึ่ง
                การติดต่อสัมพันธ์ระหว่างกรุงศรีอยุธยาของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับราชวงศ์หมิงคงดำเนินไปตามปกติ ประวัติศาสตร์ราชงศ์หมิงฉบับหลวงในบรรพว่าด้วย “สยาม” บันทึกไว้ว่า
ในระหว่างรัชศกหลงชิ่ง (ค.ศ.๑๕๖๗-๑๕๗๓ / พ.ศ.๒๑๑๐-๒๑๑๖) ประเทศตงหมานนิว(พม่าหรือตองอู) ซึ่งเป็นประเทศใกล้เคียงของประเทศนั้น (หมายถึงเซียนหลอหรือสยาม) ได้สู่ขอพระราชธิดาแต่ได้รับการปฏิเสธ จึงมีความรู้สึกทั้งโกรธแค้นและอับอาย ครั้นแล้วก็ได้ยกทัพใหญ่เข้าตีประเทศนั้นถึงเมืองแตก กษัตริย์สยามได้ทรงกระทำอัตวินิบาตกรรมด้วยการผูกพระศอ กองทัพตงหมานนิวได้จับตัวพระราชโอรสองค์โตและยึดเอาตราที่ราชสำนักจีนพระราชทานให้ไปด้วย พระราชโอรสองค์รองจึงได้สืบราชสมบัติ และได้ถวายพระสุพรรณบัฎแก่จักรพรรดิจีน พร้อมทั้งขอพระราชทานตราด้วย จักรพรรดิจีนได้พระราชทานให้นับแต่นั้นเป็นต้นมา (สยามประเทศ)ก็ถุกตงหมานหนิวเข้าครอบงำ กษัตริย์ผู้สืบราชสมบัติได้หมายมั่นจะแก้แค้นให้จงได้ ในระหว่างรัชศกว่านลี่ กองทัพข้าศึกได้ยกทัพเข้ามาอีก กษัตริย์ได้จัดกองทัพเข้ากระหน่ำตีจนข้าศึกแตกพ่ายไปอย่างราบคาบ และได้ฆ่าพระราชโอรสของตงหมานหนิว ทหารที่เหลือก็แตกทัพหลบหนีไปในความมืดตอนกลางคืน ต่อจากนั้นก็เคลื่อนย้ายกองทัพไปตีเจินล่า (กัมพูชา) จนแตกพ่าย และกษัตริย์ประเทศนั้นได้ยอมจำนนอีกด้วย ตั้งแต่นั้นมาก็ทำศึกสงครามุกปี จนสามารถดำรงความเป็นใหญ่เหนือประเทศทั้งหลาย
เมื่อปีที่ ๖ แห่งรัชศกว่านลี่ (ค.ศ. ๑๕๗๘/ พ.ศ.๒๑๒๑) สยามได้ส่งราชทูตมาถวายเครื่องราชบรรณาการ ปีที่ ๒๐ (ค.ศ. ๑๕๙๒/ พ.ศ.๒๑๓๕)ญี่ปุ่นได้เข้ามาตีเกาหลีจนเมืองแตก เพื่อมุ่งหมายกดดันญี่ปุ่นแนวหลัง สือชิงซึ่งเป็นเสนาบดีในส่วนกลางเห็นพ้องด้วย แต่เซียวเอี้ยนซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาทหารกวางตุ้งกว่างซีคัดค้าน เรื่องนี้จึงยุติแค่นี้
ประวัติศาสตร์ราชวงศ์หมิงฉบับหลวง บรรพ ๒๒๗ เรื่องประวัติเซียวเอี้ยนได้บันทึกในเรื่องเดียวกันนี้ว่า
ครั้งนั้นญี่ปุ่นเข้าย่ำยีเกาหลี ในโอกาสเดียวกันนั้น สยามได้เข้าถวายเครื่องบรรณาการ ราชทูตแห่งประเทศนี้ขออาสาส่งกองทัพเข้าช่วยทำศึกสงคราม สือชิงเสนาบดีจึงให้ยกทัพไปโจมตีญี่ปุ่นได้ แต่เอี้ยนเห็นว่าสยามตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกอันไกลโพ้นห่างจากญี่ปุ่นเป้นระยะทางถึงหมื่นลี้ จะสามารถบินข้ามทะเลอันกว้างใหญ่ไพศาลได้หรือ จึงขอยุติข้อเสนอนี้เสีย แต่สือชิงไม่เห็นพ้องด้วย คงยืนยันยึดมั่นในความเห็นเดิม อย่างไรก็ตาม ในที่สุดกองทัพสยามก็มิได้ยกออกไปแต่อย่างใด

พันธมิตรทางการทหารครั้งที่สอง
ความสัมพันธ์ระหว่างราชสำนักจีนกับกรุงศรีอยุธยาของสมเด็จพระนเรศวรฯตามที่ได้กล่าวในเรื่องพันธมิตรทางการทหารครั้งแรกเป็นการติดต่อทางทะเล แต่ทางบกทั้งสองประเทศก็มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดแนบแน่น เอกสารที่กล่าวถึงเป็นเอกสารภาคเอกชน อาทิ ในหนังสือ เหมียนเลี่ยแต่งโดยเปาเจี้ยนเจี๋ย ซึ่งอ้างจากหนังสือประมวลเอกสารข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของยูนนานรวบรวมโดยหวางชง มีดังนี้
เมื่อเดือน ๑๒ ปีที่ ๒๑ (ค.ศ. ๑๕๙๓ /พ.ศ. ๒๑๓๖) แห่งรัชศกว่านลี่ ฯลฯ เมื่อเดือนดังกล่าวเฉินย่งปิน ได้ก่อสร้างป้อมปราการ และดำเนินการปลูกข้าวโดยทหารและว่าจ้างชาวบ้าน ทั้งนี้เพื่อเป็นกำลังต่อต้านพม่า ทางพม่ารู้ดีว่าป้อมปราการดังกล่าวจะเป็นอุปสรรคแก่ฝ่ายตนในการทำสงคราม จึงได้พยายามต่อต้านขัดขวางอยู่หลายครั้งหลายหน เฉินย่งปินผู้ตรวจราชการได้จัดส่งหวงกงซึ่งเป็นชาวฮกเกี๊ยนเป็นทูตไปสยามโดยนำสาส์นไปด้วย ทั้งนี้ได้มุ่งหมายให้ไปเจรจากับสยาม ร่วมมือกับเต๋อเลิงตีกระหนาบพม่าทั้งจากภายนอกและภายใน ฯลฯ หลังจากนั้นหวงกงซึ่งเป็นทูตที่ย่งปินส่งไปได้เดินทางไปถึงสยาม ทางสยามได้นัดหมายกับหวงกง  แล้วก็ยกทัพเข้าตีเอาพะโคและทำให้เป็นเมืองร้าง หลังจากนั้นพม่าก็ถูกสยามและเต๋อเลิงรุกตีบ่อยครั้ง กองทัพต้องเหนื่อยยากจากการเดินทัพทางไกลไปมาอยู่ตลอดเวลา จึงมิได้เข้ามาก่อกวนจีนอีกต่อไป
ในหนังสือ เตียนซีซื่อเลี้ย แต่งโดยซือฝ่านอ้างจากหนังสือประมวลเอกสารข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของยูนนาน โดยหวางชง มีว่า
เมื่อปีที่๒๒ (ค.ศ. ๑๕๙๔ / พ.ศ. ๒๑๓๗) แห่งรัชศกว่านลี่จับได้ตัวเอียนกับบุตรแล้วประหารชีวิตเสียทั้งหมด ย่งปินยังได้ส่งสาส์นถึงสยามขอให้ร่วมโจมตีพม่า พม่าจึงต้องเหนื่อยยากจากการเดินทัพทางไกลไปมาอยู่ตลอดเวลา จากนั้นการก่อกวนรุกรานทางชายแดน จึงได้ยุติไประยะหนึ่ง
นอกจากนี้ในหนังสือ ประมวลเรื่องท้องถิ่น ของเถิงเอี้ยโจวฉบับรัชกาลเฉียนหลงแห่งราชวงศ์ชิง บรรพ ๘ ประวัติเฉินย่งปิน อ้างจากหนังสือข้อมูลสังเชปทางเอกสารประวัติศาสตร์ของยูนนานโยฟางกั๋วอี๋ หน้า ๓๐๘ มีว่า
เมื่อปีที่ ๒๓ (ค.ศ. ๑๕๙๕ / พ.ศ. ๒๑๓๘) แห่งรัชศกกว่านลี่จัดสร้างป้อมปราการ ๘ แห่งที่เถิงชง แต่งตั้งผู้รักษาการป้อมปราการที่หมานฮาและหล่งปา โดยจัดกำลังทหารรักษาไว้ด้วย จัดหาคนไปสยามเพื่อนัดหมายกันให้ตีกระหนาบหน่ำ พร้อมกันนั้นได้จัดสร้างป้อมปราการที่เมืองมาว และตั้งชื่อว่าเมืองผิงลู่
จากเอกสารโบราณทางประวัติศาสตร์ของจีนดังกล่าวมีข้อที่น่าพิจารณาว่า กรุงศรีอยุธยาของสมเด็จพระนเรศวรฯกับจีนในปลายรัชสมัยแห่งราชวงศ์หมิง ได้เป็นพันธมิตรทางทหารกัน การเป็นพันธมิตรทางทหารได้เกิดขึ้น ๒ กรณี กรณีแรก เป็นพันธมิตรทางทหารไปตีญี่ปุ่นซึ่งเป็นสงครามทางทะเล กรณีที่สองเป็นพันธมิตรทางทหารไปตีพม่าซึ่งเป็นสงครามทางบก สำหรับสงครามทางบกนั้นแสนยานุภาพแห่งกองทัพบกของสมเด็จพระนเรศวรฯย่อมเป็นที่ประจักษ์แก่ปวงชนชาวไทยอยู่แล้ว แต่สำหรับสงครามทางทะเล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำสงครามทางทะเลซึ่งมีระยะทางเดินทัพถึงญี่ปุ่น ซึ่งไกลแสนไกลเช่นนี้ ถึงแม้ว่าในที่สุดกองทัพเรือสมเด็จพระนเรศวรฯมิได้ยกออกไปตีก็ตาม แต่แสนยานุภาพแห่งกองทัพเรือของพระองค์ก็น่าจะเป็นสิ่งอัศจรรย์ในยุคสมัยนั้น ทั้งนี้ก็ด้วยกฤษฎาภินิหารขององค์สมเด็จพระนเรศวรฯซึ่งทำให้ประเทศไทยเป็นมหาอำนาจแห่งยุคในภูมิภาคนี้

หลักธรรมนำไปสู่ดวงประทีปแห่งปัญญา
การที่พระนเรศวรมหาราชทรงใช้ธรรมะของพุทธเจ้าไม่ว่าจะเป็นหลักมรรค ๘ ในการติดต่อกับสเปนอิทัปปัจจยตากับความสัมพันธ์สามเส้าระหว่าง ไทย เขมร และสเปนพรหมวิหาร ๔ ในเอกสารฮอลันดาอิทธิบาท ๔ กับความหลากหลายทางด้านการปกครองประเทศ การทูต และการค้ากับนานาชาติการเจริญสติ สมาธิและพละ๕กับความสัมพันธ์ไทย จีน ล้วนเป็นหลักธรรมที่เป็นเหตุและปัจจัยที่เหมาะสมในเวลานั้น พระองค์ทรงเสียสละความสะดวกสบายและผลประโยชน์ส่วนพระองค์ทั้งหมดทำเพื่อประเทศชาติเพื่อเป็นการดำรงไว้ซึ่งความเป็นชาติไทย ในขณะเดียวกันก็ทรงรักษาความสัมพันธ์ทางการฑูตและพาณิชย์สัมพันธ์กับต่างประเทศเพื่อให้สยามประเทศเกิดความร่มเย็น อดีตเป็นพื้นฐานให้กับปัจจุบัน แม้เหตุการณ์จะผ่านไปนานแล้วก็ตาม คติธรรม วิธีการคิด ยุทธศาสตร์ทางการรบ การบริหารด้วยพระอัจฉริยภาพของพระนเรศวรมหาราชก็ยังคงเป็นที่กล่าวขานภายใต้หลักธรรมของพระพุทธองค์ที่เสมือนเป็นดวงประทีปแห่งปัญญาที่โชติช่วงไม่รู้ดับเหนือกาลเวลา




















บรรณานุกรม

หนังสือ
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ , พระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช , วิสดอมบริษัทบุ๊ค พอยท์ จำกัด ๒๕๕๓.
หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล, ตามรอยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช, พิมพ์ครั้งแรก แพรวสำนักพิมพ์ ธันวาคม ๒๕๔๙.
คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย ,สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ๔๐๐ ปี ของการครองราชย์, พิมพ์ครั้งที่ห้า สำนักพิมพ์สร้างสรรค์บุ๊คส์, ๒๕๕๑.
ทันตแพทย์สม สุจิรา ,เจาะตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช,อมรินทร์ธรรมะ,๒๕๕๒.
ราช เลอสรวง ,ภารกิจกู้ชาตินเรศวรมหาราช, สำนักพิมพ์อนิเมทกรุ๊ป ,๒๕๔๙.
จิตรสิงห์ ปิยะชาติ ,เสียแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่๑ และครั้งที่๒,ยิปซีสำนักพิมพ์ ,๒๕๕๒.
พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ ,พระนเรศวรกู้แผ่นดิน, บริษัทไพลินบุ๊คเน็ต จำกัด ,๒๕๕๔.
ชวลิต ยิ้มประเสริฐ ,สมบัติพระนเรศวร ,สำนักพิมพ์อนิเมทกรุ๊ป ,๒๕๕๒.
ศ.ดร.บุญทัน ดอกไธสง  ,ขอบข่ายรัฐประศาสนศาตร์ยุคโลกาภิวัตน์  ,สำนักพิมพ์ปัญญาชน  ,๒๕๕๓.
วนาศรี สามนเสน แปล,พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับวันวลิต,กรุงเทพฯ ๒๕๒๓.
พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช) ป.ธ. ๙ ราชบัณฑิต,พจนานุกรมเพื่อการศึกษาพุทธศาสน์ ชุด คำวัด, วัดราชโอรสาราม กรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๕๔๘.
พระธรรมปิฎก(ป.อ.ปยุตฺโต) ,พุทธธรรม, มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย,๒๕๔๓.
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส. นวโกวาท. กรุงเทพ: สำนักพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๔๐
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ,พจนานุกรมพุทธศาสตร์ฉบับประมวลธรรม, พิมพ์ครั้งที่ ๑๒,  ๒๕๔๖, หน้า ๘๔๒.
จันทร์ฉาย ภัคอธิคม . กรุงศรีอยุธยาในเอกสารหลักฐานสเปน,สมาคมประวัติศาสตร์ กรุงเทพฯ ๒๕๓๒.

ภาษาอังกฤษ
George Vinal Smith, The Dutch in SeventeenthCentury Thailand, De  Kelb ,๑๙๗๗.
Translated by Leonard Andaya,edited by David K. Wyatt, The Short History of the Kings of Siam,Bangkok,๑๙๗๕.
Bernard Philippe Groslier, Angkor et le Cambodge  au XVI siècle d`après les sources portugaises et espagnoles, Paris , ๑๙๕๘.
Translated and editd by J.S. Cummins ,Antonio de Morge, Sucesos de las Islas Filipinas, Hakluyt Society, ๑๙๗๑.
Chester Mueller and John Olson, Small Arms Lexican and Concise Encyclopedia, Chooter’s Bible Inc., ๑๙๖๘.












ประวัติผู้วิจัย

             แม่ชีเณรัชฌา ศักดิ์ศิริสัมพันธ์ สำเร็จการศึกษาครุศาสตร์บัณฑิตในระดับปริญญาตรีจากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่ปี ๒๕๒๙  ได้ไปศึกษาต่อที่เมืองนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา สำเร็จการศึกษาหลักสูตร English as a Second Language จาก Hunter College ในปี ๒๕๓๑ และได้รับอนุปริญญาในปี ๒๕๓๓ หลักสูตรTextile and Surface Design จาก Fashion Institute of Technology ต่อมาในปี๒๕๔๖ ได้ศึกษาต่อในระดับปริญญาโท สำเร็จการศึกษาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต หลักสูตร English for Business จากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยในปี ๒๕๔๘ เป็นผู้ที่มีความสนใจใฝ่รู้ทางด้านพุทธศาสนา จึงได้ทำการบวชเป็นแม่ชี ที่วัดเขาอิติสุคโต จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ตั้งแต่ปี ๒๕๕๓ จนถึงปัจจุบัน

ประวัติการทำงาน
๒๕๓๓-๒๕๓๙   ดีไซน์เนอร์ ที่บริษัทชินวัตรไหมไทย จำกัดและบริษัทสิ่งทอซาติน จำกัด
๒๕๓๙-๒๕๔๔    บรรณาธิการพ็อกเก็ตบุ๊คสำนักพิมพ์ Windows on the World Publishing Co.,Ltd.
๒๕๔๖-๒๕๔๘    ครูใหญ่โรงเรียนการจัดการสุขภาพจุฬาเวช
๒๕๔๘-๒๕๕๐    บรรณาธิการนิตยสารTextile Digest บริษัท ทีทีไอเอส จำกัด
๒๕๕๐-๒๕๕๒    บรรณาธิการ สำนักพิมพ์ IGroup Press Co.,Ltd.
                                    บรรณาธิการนิตยสารMedia  and Sign Asia
                                    สำนักพิมพ์ I Design Publishing   Co.,Ltd.


                             



[๑]พระธรรมปิฎก(ป.อ.ปยุตฺโต) ,พุทธธรรม,มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย,๒๕๔๓หน้า๖๐๑-๖๐๓.
จันทร์ฉาย ภัคอธิคม . กรุงศรีอยุธยาในเอกสารหลักฐานสเปน,สมาคมประวัติศาสตร์ กรุงเทพฯ ๒๕๓๒, หน้า ๖๒-๖๓.
[๓]Antonio de Morga, Dr. op.cit.,  p.๘๑ กล่าวว่าสมเด็จพระนเรศวรฯ ทรงต้องการอัญมณีหรือหินสีขนาดใหญ่เพื่อมาทำเป็นด้ามพระแสง
[๔]ดู Bernard Philippe Groslier, Angkor et le Cambodge  au XVI siècle d`après les sources portugaises et espagnoles, Paris , ๑๙๕๘.
[๕]พระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาส อินฺทปญโญ) ,อิทัปปัจจยตา, พุทธทาสภิกขุ , พิมพ์ครั้งแรก ,๒๕๑๖.
[๖]พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ,พจนานุกรมพุทธศาสตร์ฉบับประมวลธรรม, พิมพ์ครั้งที่ ๑๒,  ๒๕๔๖, หน้า ๑๑๖.
Jeremias van Vliet, op.cit., pp.๔๑, ๔๒, ๘๕  &๘๗.
[๘]พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ,พจนานุกรมพุทธศาสตร์ฉบับประมวลธรรม, พิมพ์ครั้งที่ ๑๒,  ๒๕๔๖, หน้า ๘๔๒.
[๙]สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส. นวโกวาท. กรุงเทพ: สำนักพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๔๐

  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS