อำนาจอธิปไตย กับ การทำเขตการค้าเสรี (FTA)
โดย อ.เจริญ คัมภีรภาพ
คำว่า “อธิปไตย (sovereign)” เป็นคำที่มีนัยะความหมายกินความที่ลึกซึ้งบ่งบอกถึงนัยสำคัญทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อสถานะภาพของ “รัฐ” (state) ในทางกฎหมายระหว่างประเทศ (international law) เพราะนอกจากจะเป็นการบ่งบอกถึงความเป็นอิสระจากอธิปไตย (sovereign immunity) ที่ไม่ขึ้นตรงหรืออยู่ภายใต้อาณัติหรืออำนาจใดๆของรัฐประเทศอื่น ที่ผูกพันตนเองในทางระหว่างประเทศ (International obligations) ในอันที่จะต้องให้ความเคารพในความเป็นอธิปไตยของรัฐเหนือดินแดนนั้นแล้ว อธิปไตย หรือ sovereign ยังเป็นพื้นฐานที่จำเป็นของการใช้อำนาจ และ การกระทำของรัฐ (state actor) ผ่านกระบวนการดำเนินนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และ การเมือง ตลอดทั้ง การก่อนิติสัมพันธ์ระหว่างประเทศในอีกหลากหลายรูปแบบด้วยอีกทาง โดยเฉพาะในระบอบสังคมประชาธิปไตย (democracy system) ที่ให้ความสำคัญกับสิทธิและเสรีภาพอีกทั้งบทบาทของประชาชนในทางการเมืองการปกครอง ทำให้อำนาจอธิปไตยของรัฐผูกรากฐานที่ว่านี้ไว้ให้ผูกพันอยู่กับประชาชนภายในรัฐ เพื่อเป็นการยอมรับและสะท้อนถึงอำนาจสูงสุดของปวงชนอันเป็นรากฐานที่มาขององค์กรทางการเมือง ที่จะเข้าไปใช้อำนาจอย่างกรณีของไทย ตัวอย่างเช่น ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๓ บัญญัติไว้ ความว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาลตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้” บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญดังกล่าวนี้ได้แสดงถึงนัยะความสัมพันธ์ ที่มีต่อกันของอำนาจอธิปไตยของปวงชน กับ โครงสร้าง และการใช้อำนาจรัฐ จากฝ่ายบริหาร (executive power) ฝ่ายนิติบัญญัติ (legislative power) และ ฝ่ายตุลาการ (judicial power) ความน่าสนใจของสัมพันธภาพที่ว่านี้ จึงขึ้นอยู่กับการจัดความสัมพันธ์ในการใช้อำนาจรัฐของทั้ง ๓ อำนาจ ว่าจะสามารถจัดสรรกลไก ความสัมพันธ์ และกระบวนการใช้อำนาจที่ว่านั้น ให้สอดคล้องและสะท้อนต่อความเป็นอธิปไตยสูงสุดของปวงชนได้อย่างไร ทั้งนี้เพราะการที่ประเทศสามารถจัดสรรกลไก การจัดการ การใช้อำนาจอธิปไตยของรัฐให้สัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกับประชาชนอย่างเหมาะสมลงตัวแล้ว ย่อมนำมาซึ่งหลักประกันได้ว่า การใช้อำนาจอธิปไตยของรัฐ จะสามารถตอบสนองต่อผลประโยชน์ของประชาชนส่วนรวม และเกิดความยั่งยืนในการพัฒนา (sustainable development) ได้มากกว่าการใช้อำนาจอธิปไตยแบบอำนาจเดี่ยวเด็ดขาด ที่ปราศจากการมีจุดยึดโยงรับผิดชอบต่อประชาชนภายใต้บริบทของอำนาจอธิปไตยของปวงชนในความหมายโดยแท้ อันเป็นคนละเรื่องกับการตรวจสอบจากองค์กรตรวจสอบทางการเมือง ไม่ว่าจะโดยองค์กรนิติบัญญัติ หรือ องค์กรตรวจสอบอื่น ๆ ที่รัฐธรรมนูญก่อตั้งขึ้น ซึ่งมีความสัมพันธ์ที่โน้มเอียงไปในลักษณะทางการเมือง เพราะเป็นผลจากการที่รัฐบาลที่มาจากพรรคการเมืองที่คุมเสียงข้างมากในรัฐสภา หรือ การเข้าไปมีส่วนในการแต่งตั้งบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งในองค์กรตรวจสอบจากรัฐสภา ที่มาจากพรรคการเมืองที่คุมเสียงข้างมากในรัฐสภาอันง่ายต่อการเข้าไปครอบงำกระบวนการตัดสินใจในองค์กรดังกล่าวได้ จึงไม่อาจเหมารวมความเอาอย่างง่าย ๆ ว่ากระบวนการตรวจสอบเหล่านี้ถือเป็นจุดสูงสุดของประชาชนในการใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชน
ด้วยเหตุนี้ นัยสำคัญของอธิปไตย (sovereign) จึงไม่อาจดูได้จากการมีองค์กรทางการเมืองอย่างรัฐสภา หรือองค์กรตรวจสอบที่รัฐธรรมนูญจัดตั้งขึ้นเพื่อรองรับตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐแบบพิธีกรรมเท่านั้น หากแต่อธิปไตยของปวงชนจึงเป็นหลักการสำคัญเชิงสาระ (substantial matter) ที่ซ่อนฝัง (embedded) อยู่ข้างในของระบอบประชาธิปไตยที่ถูกมองข้าม และ ขาดการพัฒนานำมาประยุกต์ใช้ในเชิงสาระ เพื่อทัดทานกับระบบการเมืองประชาธิปไตยแบบการเลือกตั้งที่ยังคงยึดผู้คุมเสียงข้างมากในรัฐสภา เป็นผู้นำในการบริหารประเทศ ที่จะมาใช้อำนาจในทางบริหาร ซึ่งในที่สุด ก็จะกระทบเกี่ยวข้องโดยตรงต่อการใช้อำนาจอธิปไตยของประเทศ โดยเฉพาะในยุคสังคมเศรษฐกิจการเมืองที่มีความสลับซับซ้อน (complexity) ในทางเศรษฐกิจการเมืองและการค้าระหว่างประเทศ ภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์ (globalization) ที่เผชิญหน้าท้าทายสังคมไทยอยู่ในเวลานี้
ปัจจุบันมีเหตุผลแห่งยุคสมัยที่สำคัญอย่างน้อย ๒ ประการที่ชี้ให้เห็นว่าหลักการสำคัญของเรื่องอธิปไตยของปวงชน สมควรได้รับการพิจารณาทบทวนและยกระดับในทางวิชาการ ในบริบททางเศรษฐกิจ สังคม และ การเมืองไทย โดยเฉพาะในการพัฒนาประยุกต์ใช้กฎหมายที่มุ่งหมายต่อความยุติธรรมและเป็นธรรมในสังคม เพื่อนำพาประเทศให้รอดพ้น จากการรุกไล่และแข่งขันกันภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์ (globalization) การแผ่อิทธิพลของระบบเสรีนิยมใหม่ (neo-liberalism) และการพัฒนาปฎิรูปการเมืองไทย ให้สามารถตอบสนองต่อผลประโยชน์ของประชาชนและสาธารณะมากยิ่งขึ้น ควบคู่กับการรักษาฐานทรัพยากร (natural resource base) และ สภาวะแวดล้อมของประเทศให้เกิดความยั่งยืนขึ้น ด้วยการพิจารณาข้อสำคัญเชิงสาระของประเด็นอธิปไตยของปวงชน ภายใต้เหตุผลและเงื่อนไข ๒ ประการคือ
เงื่อนไขที่หนึ่ง
ความสลับซับซ้อนของกระบวนการโลกาภิวัฒน์ (globalization process) โดยเฉพาะจากการแผ่อิทธิพลของ เสรีนิยมใหม่ (neo-liberalism) ได้ปฎิวัติระบบกลไกการทำงานของตลาดสินค้าและบริการจากเดิมไปอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพัฒนาการทางเศรษฐกิจยุคใหม่เวลานี้ การเกิดขึ้นของตลาดสินค้าและบริการ (trade and services) หาได้เกิดขึ้นโดยธรรมชาติจากการทำงานของระบบกลไกการตลาด (market system) ที่ถือเป็นปัจจัยสำคัญของการเกิดขึ้นหรือการพัฒนาสินค้าและการบริการ อันจะนำไปสู่การจัดสรรแบ่งปันที่สมบูรณ์ในสังคมดังที่เป็นปรัชญาพื้นฐานของนักปรัชญาทางเศรษฐกิจ Adam Smith หากแต่ปัจจุบันการเกิดขึ้นของตลาดสินค้าและบริการนั้นจะถูกบีบบังคับกะเกณฑ์ ขึ้นจากการเรียกร้องจากข้อกำหนดของข้อตกลงระหว่างประเทศ ทั้งแบบพหุภาคี (multilateral agreement) และ แบบทวิภาคี (bilateral agreement) ที่ได้สร้างตลาดสินค้าและบริการที่ว่านั้น ขึ้นมาในลักษณะข้ามรัฐและขยายตัวอย่างรวดเร็ว ยังผลให้รัฐจำต้องยึดถือปฏิบัติตามพันธะสัญญาหรือข้อตกลง ผ่านกลไกการดำเนินงานและบริหารนโยบายสาธารณะของประเทศ แม้ว่าการดำเนินการตามเงื่อนไขข้อผูกพันที่ว่านั้น จะส่งผลกระทบในด้านลบ (negative impact) ต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เพราะรัฐจำต้องยินยอมดำเนินการตามข้อผูกพันระหว่างประเทศ (international obligation) ที่ข้อตกลงที่ว่านั้นได้กำหนดกะเกณฑ์เอาไว้ ปรากฎการณ์โฉมหน้าการเกิดขึ้นของการค้าและบริการในโลกยุคใหม่เช่นนี้ ทำให้เกิดกระบวนการเปลี่ยนแปลงภายในรัฐอันก่อผลกระทบโดยตรง ต่ออธิปไตยของประเทศ ในอันที่จะเลือกและดำเนินนโยบายสาธารณะที่เหมาะสมและความเป็นลักษณะเฉพาะของประเทศ (sui generis) ในบริบทการพัฒนาของประเทศ ที่ไม่สามารถทำได้อย่างราบรื่นได้อีกต่อไป
อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่า รัฐไทยจะมีกลไกที่ทำให้กระบวนการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญนี้ต้องรับผิดชอบต่อรัฐสภา ผ่านกลไกการให้ความเห็นชอบ กติกาข้อตกลงระหว่างประเทศ ตามเงื่อนไขแห่งรัฐธรรมนูฐแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๒๒๔ ที่บัญญัติไว้ ความว่า
“พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการทำหนังสือสัญญาสันติภาพ สัญญาสงบศึก และสัญญาอื่น กับนานาประเทศหรือกับองค์การระหว่างประเทศ หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรือเขตอำนาจแห่งรัฐ หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามสัญญา ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา”
แต่ถึงกระนั้นก็ตามการปรับตัวของรัฐไทยต่อการเปลี่ยนแปลงในกรณีนี้ หาได้เป็นไปเพื่อความพยายามที่จะลดช่องว่าง หรือ เป็นไปเพื่อการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้การใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชนมีฐานะที่สูงขึ้น ในทางตรงกันข้าม กลับเป็นการกระทำที่ส่อเจตนาที่จะเพิกเฉยต่อการถูกตรวจสอบจากรัฐสภา และการไม่ให้ความสนใจต่อฐานะและบทบาทของอธิปไตยของปวงชนทั้งโดยทางตรง หรือทางอ้อม ผ่านกระบวนการตัดสินใจในทางการเมือง ดังตัวอย่างที่แสดงออกจากทัศนคติของอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ท่านหนึ่ง ที่เคยพูดต่อสาธารณะในทำนองที่ว่า “รัฐสภาไม่มีอำนาจหน้าที่ ที่จะมาเกี่ยวข้องกับการจัดทำเขตเสรีทางการค้า หรือ FTA (free trade agreement)” หรือการกระทำในลักษณะตรงกันข้าม ที่จะหลีกเลี่ยงการจะนำข้อตกลงระหว่างประเทศที่เข้าเงื่อนไข ที่จะต้องมาขอความเห็นชอบจากรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ ฯ มาตรา ๒๒๔ ด้วยวิธีการที่แยบยล ๓ วิธีการ ได้แก่ วิธีการแรก โดยการแอบแก้ไขหรือหมกเม็ดเอาหลักการต่าง ๆ ที่บรรดาข้อตกลงระหว่างประเทศกำหนดให้มี มาบัญญัติไว้ในกฎหมายภายใน (domestic law) เสียก่อน ก่อนที่ประเทศไทยจะเข้าไปผูกพันหรือเข้าเป็นภาคี หรือ ให้สัตยาบัน ในความตกลงระหว่างประเทศนั้น ๆ อันเป็นการปฎิบัติการที่หลีกเลี่ยงบาลีที่จะนำเอาข้อตกลงระหว่างประเทศไปขอความเห็นชอบจากรัฐสภา ทั้งนี้เพราะไม่เข้าเงื่อนไขที่จะต้องมีการตรากฎหมายขึ้นมารับรอง หากมีการเข้าไปผูกพันในความตกลงระหว่างประเทศดังกล่าว วิธีการที่สอง กระทำโดยการพยายามที่จะตีความกฎหมายภายใน ว่าสอดคล้องเหมาะสมกับหลักการที่ข้อตกลงระหว่างประเทศนั้น ๆ เมื่อกฎหมายภายในสอดคล้องกับข้อตกลงระหว่างประเทศเสียก่อนแล้ว ก็จะไม่เข้าเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๒๔ วรรคสอง กล่าวคือไม่จำต้องแก้ไขหรือปรับปรุงกฎหมายภายใน จึงไม่เข้าเงื่อนไขที่จะนำเอาการเข้าไปผูกพันในข้อตกลงระหว่างประเทศนั้น ๆ ไปขอความเห็นชอบจากรัฐสภา วิธีการที่สาม กระทำโดยการพยายามเข้าไปตีความในรัฐธรรมนูญ ฯ มาตรา ๒๒๔ วรรคสอง นั้นเอง โดยอ้างว่า “เขตอำนาจรัฐ” นั้นหมายถึงอาณาเขตทางภูมิศาสตร์หรือเขตแดนที่รัฐใช้อำนาจ โดยละเลยครอบคลุมถึง อำนาจบริหาร อำนาจนิติบัญญัติ และ อำนาจตุลาการ ที่จะต้องถูกกระทบ หมด หรือเปลี่ยนแปลงไป ภายหลังจากการเข้าไปผูกพันในข้อตกลงระหว่างประเทศ อันเป็นความประสงค์ที่จะตีความบทบัญญัติรัฐธรรมนูญในทางที่ลดอำนาจอธิปไตยของรัฐให้ลดน้อยถอยลง ให้เหลือหรือจำกัดวนเวียนอยู่แต่เพียงอาณาเขต หรือเขตแดนทางภูมิศาสตร์เป็นสรณะ
ตัวอย่างกรณีศึกษา (case studies) ที่เกิดขึ้นจริง ทั้งสามกรณีข้างต้นนี้ ไม่รวมถึงการปกปิด หรือไม่ให้ข้อมูลที่แท้จริงต่อสาธารณะ ในการดำเนินการนำประเทศเข้าไปผูกพันกับข้อตกลงระหว่างประเทศ นับได้ว่า เป็นการพังทลายของอำนาจอธิปไตยของปวงชนที่น่าสะพรึงกลัวเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะกับยุคสมัยของการเปลี่ยนแปลงในกระบวนการโลกาภิวัฒณ์ และ การแผ่อิทธิพลของเสรีนิยมใหม่ ที่การเปลี่ยนแปลงตลาดการค้า และบริการ ตลอดทั้งการลงทุนข้ามรัฐ ขยายตัวอย่างรวดเร็วผ่านกระบวนการเจรจาทางการค้าและการลงทุน ภายใต้กรอบความตกลงพหุภาคีภายใต้องค์การการค้าโลก หรือ WTO (World Trade Organization) หรือ กรอบความตกลงแบบทวิภาคี กรณีการทำเขตการค้าเสรี หรือ FTA (Free Trade Agreement) ที่ประเทศไทยเตรียมการทำกับประเทศต่าง ๆ หรือกรณีการทำข้อตกลงในกลุ่มความร่วมมือต่าง ๆ ที่ประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิกอยู่ด้วย เช่น ASEAN, APEC เป็นต้น
ภายใต้บรรยากาศการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ จึงทำให้ฐานะและบทบาทของ อำนาจอธิปไตยของประเทศ หรือ อธิปไตยของปวงชน กำลังเผชิญและอยู่ในฐานะที่น่าอันตรายยิ่งหากมองในฐานะของการวางเงื่อนไข และ กำหนดโครงสร้าง ยุทธศาสตร์การพัฒนานโยบายสาธารณะ ที่เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริงของประเทศในอนาคต
เงื่อนไขที่สอง
สืบเนื่องจาก อธิปไตย (sovereign) มีนัยความหมายเชิงสาระ ที่สัมพันธ์เชื่อมโยงอยู่กับประชาชน ในฐานะที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ดังสะท้อนและแสดงออกอย่างชัดแจ้งตาม รัฐธรรมนูญ ฯ มาตรา ๓ ที่กล่าวมาแต่ต้น คำถามมีว่ามีกลไก และกระบวนการอย่างไรที่จะมารองรับ และสะท้อนการใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชนที่ว่านั้นให้สามารถทำงานได้จริง ในโครงสร้างทางการเมืองการปกครอง หากพิจารณาในระดับที่แคบลง ประเด็นหัวใจที่ถือเป็นรากแก้วของการใช้อำนาจอธิปไตยของรัฐ คือ ฐานะและบทบาทของ “การมีส่วนร่วมของประชาชน (people participation)” ในทางการเมือง การปกครองที่เหมาะสม และ การที่จะทำให้ประชาชนมีส่วนร่วม ในการตัดสินใจในทางการเมือง การปกครอง ยังขึ้นอยู่กับสิ่งสำคัญอย่างน้อยอีก ๓ เรื่องได้แก่ การรับรองสิทธิเสรีภาพของพลเมือง (civil rights protection) การมีองค์กรตรวจสอบที่มีความเป็นอิสระและมีประสิทธิภาพตลอดทั้ง ประชาชนมีทางเลือกและเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่เพียงพอ
ฐานะและบทบาทของ สิทธิพลเมือง (civil rights) และ อำนาจอธิปไตยของชาติ (Sovereignty of State) นั้น มีบทบาทที่สำคัญและเกี่ยวโยงสัมพันธ์กันอย่างยิ่งโดยเฉพาะต่อการกำหนดทิศทาง การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคมและการเมืองให้ตอบสนองต่อความยั่งยืน (sustainable) ในเป้าหมาย หลากหลายมิติ ทั้งนี้เพราะ ฐานะบทบาทและความสัมพันธ์ที่ไม่อาจแยกออกจากกันได้ของประเด็นทั้งสองนี้ จะเป็นตัวชี้วัด และ ส่งผลต่อการกำหนดเป้าหมาย การออกแบบ เครื่องมือและกระบวนการตัดสินใจของประเทศ ให้ตอบสนองต่อความยั่งยืนที่ว่านี้ได้ โดยนัยะการเข้าถึงสิทธิพลเมืองของประชาชนในทาง เศรษฐกิจ การเมืองและวัฒนธรรมผ่านกระบวนการตัดสินใจในนโยบายสาธารณะอย่างแท้จริงนั้น จะส่งผลสะท้อนต่อฐานะและบทบาทของการมีส่วนร่วมของประชาชนในทางการเมือง ทั้งยังเป็นตัวกำหนดทิศทางการใช้อำนาจอธิปไตยของรัฐ ที่หลอมรวมเอาผลประโยชน์ของสังคมส่วนรวม (ปวงชน) ไปสู่จุดหมายปลายทางอย่างเกื้อกูลต่อกันได้ ในทางตรงกันข้ามหากสิทธิพลเมืองถูกจำกัดตัดทอนหรือมีอยู่ในระดับต่ำ หรือเต็มไปด้วยเงื่อนไข ผลที่จะมีต่อการตัดสินใจในการใช้อำนาจอธิปไตยแห่งรัฐก็จะลดน้อยตามไปด้วย ดังตัวอย่างสิทธิเสรีภาพของพลเมืองในด้านการเมือง ที่ประชาชนพึงได้รับข้อมูลข่าวสาร และ ร่วมแสดงออกในความคิดเห็น ต่อนโยบายสาธารณะ หากประชาชนในฐานะ “บุคคล” ขาดไปซึ่งสิทธิเสรีภาพในด้านนี้ ทั้ง ๆ ที่เป็นสิทธิในฐานะปัจเจกบุคคล ก็เป็นเรื่องยาก หรือแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่ผลจากการรับรองสิทธิของปัจเจกบุคคล จะสามารถขยายไปสู่สิทธิของปวงชนที่กว้างขวางออกไปจนสามารถ พัฒนาขยายเป็นการแสดงออกถึงซึ่งสิทธิที่กว้างขวางใหญ่กว่านั้น ในฐานะอธิปไตยของปวงชนซึ่งมีรากแก้วมาจากอำนาจของปวงชนได้ ด้วยเหตุนี้ ฐานะและบทบาทของ “สิทธิพลเมือง” จึงหาได้มีความหมายจำกัดคับแคบ วนเวียนอยู่แต่เพียงเฉพาะประโยชน์ส่วนบุคคล ในแต่ละด้านตามที่กฎหมายให้การรับรองคุ้มครองไว้ หากแต่ในระดับคุณค่าหรือเป้าหมายปลายทางที่สูงกว่านั้นยังสามารถแสดงถึง ฐานะ และ บทบาทของการใช้อำนาจอธิปไตยของประเทศได้อีกทางหนึ่งด้วย
ความสัมพันธ์ในข้อนี้สามารถพิจารณาต่อไปได้อีกว่า ฐานะและบทบาทในเชิง “คุณค่า” ของการใช้อำนาจอธิปไตยของประเทศ หาใช่เพียงแค่การมีองค์กรทางการเมือง หรือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งสามารถตัดสินใจแทนคนทั้งประเทศได้อย่างรวดเร็ว เด็ดขาดไม่ หากแต่จะต้องพิจารณาใคร่ครวญให้ลึกซึ้งเห็นถึงฐานะแก่นสารของบทบาทที่แท้ของ “สิทธิพลเมือง” ว่าได้วางอยู่และสามารถนำไปสู่การบังคับใช้ได้จริงในบริบทสังคมเศรษฐกิจการเมืองแบบใด เป็นต้นว่า ได้จัดตั้งวางอยู่บนฐานแห่งวัฒนธรรมเชิงอำนาจ (authoritarian) ที่ขึ้นอยู่กับผู้นำ หรือ ประชาธิปไตยแบบการมีส่วนร่วมของประชาชน (participatory democracy) ที่การใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชน สะท้อนและมีจุดยึดโยงอยู่กับสิทธิเสรีภาพของปวงชนในสังคมได้อย่างแท้จริง ซึ่งจะส่งผลต่อกระบวนการตัดสินใจของประเทศ บนฐานความรู้ (knowledge base) สามารถทำงานได้จริงผ่านโครงสร้าง และ กลไก การใช้อำนาจรัฐ ในหลากหลายระดับ และ รูปแบบ (forms) ที่การริเริ่มหรือดำเนินการในนโยบายสาธารณะ (public service policy) นั้น มาจากเสียงสะท้อนแสดงความต้องการของสังคมโดยรวมจริง ๆ
ฐานะและบทบาทของทั้งสิทธิพลเมืองและอำนาจอธิปไตยของปวงชนในลักษณะที่เป็น สารัตถะ (substantial) นี้ นับได้ว่า มีนัยะสำคัญมากต่อความเคลื่อนไหวปรับเปลี่ยน เพื่อออกแบบกลไก การตัดสินใจแทนคนทั้งประเทศเสียใหม่ โดยเฉพาะ ในยุคสมัยที่ประเทศกำลังเผชิญกับกระบวนการจัดระเบียบโลกใหม่ของโลก (new world order) ในเวลานี้ โดยที่ระบบเสรีนิยมใหม่ (neo-liberalism) ที่เป็นผลพวงของสำนักคิดเศรษฐศาสตร์จาก Chicago School ที่แนวความคิดนี้ถูกนำมาปลูก (transplanted) และใช้กันทั่วโลกแม้กระทั่งในประเทศไทย ที่รู้จักกันในนาม การเปิดเสรีทางการค้า (trade liberalization) ที่ได้สร้างทางขึ้นให้รับกับการแผ่อิทธิพลของอำนาจทุนและเทคโนโลยี บวกกับอำนาจทางการเมืองและการทหาร สามารถเข้ามามีบทบาทและอิทธิพลต่อการกำหนด เปลี่ยนแปลงในนโยบายสาธารณะของประเทศในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น ด้านการศึกษา บริการการสาธารณะ พลังงาน ฐานทรัพยากรของประเทศ การค้าและบริการ (trade and services) ฯลฯ ทั้งนี้โดยพยายาม ขยายแนวคิด ปรับเปลี่ยนกลไกทางนโยบายของรัฐชาติให้มาตอบสนองต่อการเปิดเสรีทางการค้า โดยเฉพาะภาคการค้าและการบริการ และ พยายามเปลี่ยนสิ่งที่เป็นสมบัติสาธารณะ (public goods) ให้เป็น “สินค้า” (commodities) แล้วถ่ายโอนไปเป็นของภาคเอกชน (private sector) ภายใต้ธงของการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ (privatization) หรือ การลงทุนเป็นจุดหมายปลายทาง
กระบวนการเคลื่อนย้ายทุนและเทคโนโลยีในช่วงเปลี่ยนผ่านในครั้งนี้ ได้ส่งผลโดยตรงต่อการพลิกโฉมหน้าใหม่ของการจัดบริการสาธารณะ (public services) และการเกิดขึ้นของโครงการขนาดใหญ่ของรัฐในเรื่องใหม่ ๆ แม้กระทั่งโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐต่อรัฐ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อ ฐานะและบทบาทของสิทธิพลเมืองและอธิปไตยของปวงชนภายในรัฐโดยตรง เฉพาะอย่างยิ่ง ในประเด็น กระบวนการตัดสินใจของรัฐในการริเริ่ม ดำเนินการจัดทำนโยบายสาธารณะ หรือ นโยบายต่าง ๆ เพื่อให้ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในกระบวนการเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุน (trade liberalization and investment) ที่ผลการดำเนินการ จะไปบดบังเปลี่ยนแปลงแก่นสารในบทบาทหน้าที่ของรัฐชาติ ที่จะต้องนำการจัดบริการสาธารณะให้ตอบสนองต่อ สภาพปัญหา ความเป็นจริงของสังคมเศรษฐกิจ และระดับการพัฒนาของประเทศ หรือ ความเป็นลักษณะพิเศษเฉพาะ sui generis ของประเทศไทย ไปเป็นการมุ่งเน้น เกื้อหนุน ตอบสนองและอำนวยความสะดวกต่อนักลงทุนต่างชาติ เพื่อการแสวงหาและทำกำไร (marginalization) มากขึ้นในที่สุด ทั้ง ๆ ที่บทบาทหน้าที่ ที่ควรจะเป็นของรัฐ แทนที่จะเป็นตัวสะท้อนความต้องการของประชาชน หรือ ผลประโยชน์สาธารณะ ที่ได้จากกระบวนการตัดสินใจ ผ่านกระบวนการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชน ที่ได้แสดงความต้องการและสามารถยกระดับขยายไปจนถึง การแสดงออกถึงการใช้อำนาจอธิปไตยของประเทศ ในการก่อตั้งหรือดำเนินการในนโยบายสาธารณะในด้านต่าง ๆ ฉะนั้นการบัญญัติรับรองให้การมีส่วนร่วมของพลเมืองสามารถเกิดขึ้นได้ จะเป็นตัวสะท้อนความเป็นอธิปไตยสูงสุดของปวงชน ในการใช้อำนาจที่ว่านี้ได้เป็นอย่างดี ความข้อนี้ถือเป็นหลักการที่สำคัญมาก ที่ชี้ให้เห็นถึงเงื่อนไขความสัมพันธ์ ของการใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชน ในฐานะที่เป็นกระบวนการตัดสินใจของประเทศซึ่งไม่อาจ จะตัดความสัมพันธ์ของการมีส่วนร่วมของพลเมืองในการตัดสินใจที่ว่านี้ไปได้ ความเกี่ยวเนื่องในสาระสำคัญนี้ จึงมีนัยสำคัญอย่างยิ่งต่อความสัมพันธ์ในระดับต่อมาของการกำหนดสิทธิพลเมือง ที่พึงจะได้รับการรับรองคุ้มครอง ในประการสำคัญ หากระดับหรือฐานะสิทธิพลเมืองที่บัญญัติรับรองไว้ในกฎหมายมีความบกพร่อง เต็มไปด้วยข้อจำกัดหรือขวากหนามใด ๆ ก็จะส่งผลโดยตรงต่อการตัดสินใจที่สูงกว่านั้นในระดับประเทศ หรือ การใช้อำนาจอธิปไตยได้อย่างไม่ต้องสงสัย
จำเพาะอย่างยิ่งในสภาวะการณ์โฉมหน้าการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจยุคเสรีนิยมใหม่ หรือ ตามกระแสโลกาภิวัฒน์ ที่พลิกผันผลักดันให้รัฐต้องเปลี่ยนบทบาทให้ตอบสนองกับการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการพัฒนาเศรษฐกิจ และนโยบายสาธารณะมากมายหลายเรื่อง ให้เป็นไปตามความต้องการของกลุ่มผู้ลงทุน ไม่ว่าจะเกิดขึ้นจากการจัดทำนโยบายสาธารณะ การเปิดเสรีทางการค้า (trade liberalization) การเปิดตลาดทางการค้า (market access) การค้าและการลงทุน (trade and investment) ตลอดจนการแปรรูปสาธารณะสมบัติและสาธารณูปโภคของรัฐแก่เอกชนผู้ลงทุน (private sector) ในหลากหลายรูปแบบ (forms) เช่น กรณีความสนใจของนักลงทุนในขณะนี้ ที่กำลังหันเหเข้ามาให้ความสนใจกับการผลักดันให้มีการเปิดตลาดการค้าบริการในธุรกิจน้ำ การเจรจาในระดับพหุภาคีภายใต้องค์การการค้าโลก (World Trade Organization) ในเรื่องต่าง ๆ ข้างต้น หรือ การเจรจาในระดับทวิภาคีที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ดังตัวอย่างที่ประเทศไทยกำลังจะมีการเจรจาจัดทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี FTA (Free Trade Agreement) Thai-US และกับประเทศอื่น ต่าง ๆ เหล่านี้ ล้วนแล้วแต่เป็นต้นตอที่สำคัญและเป็นที่มาของ โครงการขนาดใหญ่ของรัฐ ซึ่งจะเกิดขึ้นตามมา เพื่อจัดบริการสาธารณะ หรือ การปฎิบัติตามเงื่อนไขของข้อตกลง ที่ดูจะเป็นเหตุผลความจำเป็นเร่งด่วนที่ประเทศไทยจะต้องมีกฎหมาย ขึ้นมาเป็นกลไกที่สำคัญรองรับกระบวนการมีส่วนร่วมของพลเมือง ตามเงื่อนไขและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะสิทธิพลเมืองที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๕๙ ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ฉะนั้น การมีอยู่ของตัวกฎหมายเพื่อรองรับกับทิศทางการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคมและการเมืองของประเทศ กับ การบรรลุผลให้ถึงที่สุด (execution) ในสิทธิพลเมือง กรณีการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของรัฐให้ส่งผลต่อการใช้อธิปไตยของปวงชน จึงเป็นปัญหาใหญ่ที่สังคมไทยโดยเฉพาะผู้ที่ให้ความสนใจต่อทิศทางการเปลี่ยนแปลงในนโยบายสาธารณะในขณะนี้ สมควรหยิบยกขึ้นมาพิจารณา และ จะยกฐานะประเด็นข้อถกเถียงและการกำหนดเป้าหมายปลายทางของการมีกฎหมายรับรองการมีส่วนร่วมของประชาชนในทางการเมือง ให้อยู่ในระดับที่สูงขึ้นไปให้ถึงคุณภาพของการใช้อำนาจอธิปไตยแห่งรัฐ ทั้งหมดนี้จึงขึ้นอยู่กับการทำความเข้าใจประเด็นความสัมพันธ์ของสิ่งสำคัญสามประการคือ สิทธิ (rights) พลเมือง(civil) และ อธิปไตย (sovereign) ให้สามารถตอบสนองต่อ การออกแบบ และกำหนด กลไก ในร่างกฎหมายที่ว่านี้ให้รอบด้านมากขึ้นได้อย่างไร
ภาพประกอบ : ความสัมพันธ์ของสิทธิพลเมืองและอำนาจอธิปไตย
จากแผนภาพแสดงให้เห็นถึง ฐานะความสัมพันธ์ขององค์ประกอบสามส่วนที่มีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งฐานะความเป็นอธิปไตยสูงสุดในระบบสังคมการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่ไม่สามารถแยก ฐานะและบทบาทของสิทธิ (rights) และผู้เป็นฐานรองรับสิทธิดังกล่าวนั้นคือ พลเมือง (civil) ได้ ในระบบสังคมที่พลเมืองปราศจากสิทธิ หรือ การเข้าถึงสิทธิเต็มไปด้วยขวากหนามหรืออุปสรรค ย่อมจะส่งผลโดยตรงต่อการใช้อำนาจอธิปไตยแห่งรัฐ (sovereignty of state) ในประการสำคัญที่ว่า การใช้อำนาจตัดสินใจดังกล่าวนั้นได้สะท้อนฐานะและบทบาทของความเป็นอธิปไตยสูงสุด ที่เป็นของประชาชนหรือไม่ ความในข้อนี้แสดงว่าการใช้อำนาจอธิปไตยแห่งรัฐ หาได้จำกัดวนเวียนเฉพาะการทำหน้าที่ ความสัมพันธ์จาก ฝ่ายบริหาร กับรัฐสภา เท่านั้นหากแต่ฝ่ายผู้ใช้อำนาจตัดสินใจ (รัฐบาล หรือ คณะรัฐมนตรี) จำต้องผูกพันตนเองต่อรัฐธรรมนูญ และ การจัดให้มีนโยบายหรือกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเพื่อ รองรับยึดโยงกับการมีส่วนร่วมของสิทธิพลเมืองเพื่อสะท้อนถึงการใช้อำนาจอธิปไตยแห่งรัฐที่ว่านี้ด้วย
ในขณะเดียวกันหากระดับของการใช้อำนาจอธิปไตยแห่งรัฐ ไม่ได้สะท้อนอำนาจของปวงชน เช่น รองรับการใช้อำนาจของผู้บริหาร ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อ สิทธิเสรีภาพ ตลอดจน การใช้สิทธิของพลเมือง (civil) ความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ส่งผลต่อกันของทั้ง อำนาจอธิปไตย สิทธิ และ พลเมือง จึงถือเป็นหัวใจสำคัญของการพิจารณาฐานะและบทบาทของสิทธิพลเมือง และ อำนาจอธิปไตยแห่งรัฐ ว่ามีฐานะอยู่อย่างไร
ได้มีการจัดสรรความสัมพันธ์ของการใช้อำนาจอธิปไตยแห่งรัฐ ซึ่งสะท้อนอำนาจอธิปไตยของปวงชนได้อีกทาง ดังกรณีการที่รัฐธรรมนูญ ฯ บัญญัติประกันสิทธิของพลเมืองในทางการเมืองไว้ เพื่อกำหนดเงื่อนไข การใช้อำนาจอธิปไตยในนามประเทศ ผ่านรัฐธรรมนูญฯ มาตรา ๒๒๔ กรณีการขอความเห็นชอบจากรัฐสภาในการเข้าไปผูกพันในกฎกติกา ข้อตกลงระหว่างประเทศ ย่อมเป็นเครื่องยืนยันได้อีกทางหนึ่งว่า ฝ่ายบริหาร รัฐบาล หรือคณะรัฐมนตรี ไม่ได้มีอำนาจโดยเด็ดขาดและเป็นอิสระ อย่างความสับสนหลงผิดที่นักการเมืองจำนวนไม่น้อยเข้าใจ หากแต่สามารถกระทำได้ภายใต้เงื่อนไข การถูกตรวจสอบจากองค์กรทางการเมือง อีกทั้งองค์กรตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญอื่น ๆ ในประการสำคัญอย่างยิ่งที่ต้องผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างเหมาะสม หรือแม้ในกรณีที่เป็นเรื่องสำคัญกระทบต่อผลประโยชน์ได้เสียของประเทศหรือของประชาชน ก็อาจนำไปสู่การออกเสียงประชามติได้ อันเป็นการสะท้อนถึงอำนาจสูงสุดของปวงชนหรืออธิปไตยของปวงชนที่ฝังลึก (embedded) อยู่ในรัฐธรรมนูญที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้นั่นเอง
กล่าวโดยสรุป เงื่อนไขทั้ง ๒ ประการที่ได้กล่าวมาข้างต้นเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ส่งผลกระทบต่อฐานะและบทบาทของ อธิปไตยของปวงชนในสองมิติ คือมิติแรก เป็นปัญหาที่ส่วนใหญ่มาจากปัจจัยภายนอกประเทศ และ ปัญหาอันเกิดจากการกำหนดโครงสร้างและจัดกระบวนการในการใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชนภายในรัฐ การปรับตัวของรัฐไทยต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวหาได้สร้างความอุ่นใจและหลักประกันในระยะยาว ที่จะทำให้ประเทศ และสังคมไทยรอดพ้นจากการถูกเอารัดเอาเปรียบจากกลุ่มทุนภายนอกได้ การถากถางหนทางเพื่อฟื้นฟูบูรณะให้อธิปไตยของประเทศ ซึ่งเป็นของปวงชนให้สามารถตอบสนองต่อการพัฒนาประเทศให้เกิดความยั่งยืน จึงจำต้อง พิจารณาเรื่องนี้ใน ๒ ระดับกล่าวคือ ในระดับแรก คือการนำเอาประเด็นอธิปไตยมาพิจารณาในฐานะที่เป็นตัวทัดทาน หรือ เครื่องมือในทางการเมืองแห่งยุคสมัย เพื่อทำหน้าที่กลั่นกรอง กระบวนการโลกาภิวัตน์ มิให้ก่อผลกระทบในด้านลบต่อประเทศ และ อีกระดับหนึง ด้วยการให้ความสำคัญในการจัดกระบวนการการใช้อำนาจอธิปไตยของรัฐ ให้ตอบสนองต่อผู้เป็นเจ้าของอำนาจ หรือ อธิปไตยของปวงชน
การค้นหาลู่ทาง เพื่อนำไปสู่การศึกษาความสัมพันธ์เพื่อที่จะยกระดับอธิปไตยของปวงชนให้เข้าสู่เป้าหมายทั้งสองระดับข้างต้นนี้ จำต้องอาศัยความรู้ระดับสูงในการถอดรหัส (decoded) กระบวนการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ การเมืองโดยเฉพาะ ที่เข้ามามีอิทธิพลเปลี่ยนแปลงการบริหารนโยบายสาธารณะของรัฐไทย ผ่านกระบวนการการใช้อำนาจที่กฎหมายเข้าไปมีส่วนในการตัดสินใจที่ว่านั้น ในประการสำคัญเพื่อการค้นหาเหตุปัจจัย ที่จะนำไปสู่การออกแบบกลไก กระบวนการที่เหมาะสมในทางการเมืองที่จะมีขึ้นตามความเหมาะสมต่อไป กล่าวคือ
๑.) ปฎิสัมพันธ์ของกระบวนการโลกาภิวัฒน์ ส่งผลกระทบต่ออธิปไตยในลักษณะใด
๒.) เงื่อนไขข้อจำกัดใดบ้าง ที่จะส่งผลที่เป็นคุณ หรือ สามารถลดความสูญเสียหรือผลกระทบในระดับประเทศ
๓.) มีปัจจัยในทางการเมือง กฎหมาย และนโยบายใดบ้าง ที่จะมุ่งตอบสนอง ส่งเสริมสนับสนุน กระบวนการใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชนเสียใหม่
สรุปส่งท้าย.
การค้นหารหัสลับ เพื่อนำไปสู่การเสริมสร้าง ความเข้มแข็งของอธิปไตยของปวงชนและประเทศ ด้วยการทำความเข้าใจประเด็นสำคัญทั้ง ๓ ประการข้างต้นนี้มิได้มีเจตนาที่จะขัดขวางการพัฒนา และ ทำตัวเป็นปฏิปักษ์อย่างชัดแจ้งกับ โลกาภิวัตน์ หรือ การนำประเทศเข้าสู่ความเป็นสากล (internationalization) หากแต่ผู้เขียนเห็นว่าการไม่ให้ความสำคัญและสนใจ กับการสำรวจตรวจสอบตัวเอง และการดำรงรักษาไว้ซึ่งความแตกต่าง หลากหลายทางสังคมและวัฒนธรรม (cultural diversity) ที่สะท้อนจากการเลือกใช้นโยบายสาธารณะที่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ และสังคมของตนเอง เพื่อให้ประเทศอยู่ได้โดยไม่เสียเปรียบ หรือ การเอาต้นทุนทางสังคม (social capital) ไปหยิบยื่นสยบยอมต่อผลประโยชน์ในระยะสั้น ของคณะบุคคลที่เข้ามาใช้อำนาจสูงสุด ผ่านการดำเนินนโยบายสาธารณะตามเงื่อนไขข้อตกลงที่จะนำไปแลกเปลี่ยนกับผลประโยชน์ของต่างชาตินั้น เป็นมิจฉาทิฐิ ที่เป็นต้นเหตุการพังทลายของอธิปไตยของประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่เกินกว่าที่ผู้ปรารถนาดีต่อบ้านเมือง จะละเลยหรือมองข้ามที่จะหยิบยกขึ้นมาพิจารณา โดยเฉพาะในโอกาสที่ข้อถกเถียง ผลได้ผลเสีย จากข้อเสนอในข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ เพราะในที่สุดของวิวาทะที่จะเกิดขึ้น ย่อมนำไปสู่คำถามร่วมกันว่าใครคือผู้มีอำนาจเด็ดขาดที่จะเลือกตัดสินใจที่ว่านั้น หากผู้ตัดสินใจสุดท้ายไม่เข้าใจหรือไม่ยอมรับรู้เกี่ยวกับ หลักการเชิงสารัตถะของอำนาจอธิปไตยเสียแล้ว จะเกิดคำถามใหม่ขึ้นมาทันทีว่า อำนาจอธิปไตยของประชาชน หายไปไหน ผู้ใดเอาอำนาจนี้ไป หรือ หยิบยื่นให้แก่ใคร...
การทำเขตการค้าเสรีสุดท้ายของเรื่องทั้งหมด คือ การกระทำของรัฐในทางเศรษฐกิจ ที่ได้กระทำต่อ เอกราช และ อำนาจอธิปไตยของประชาชน ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า กระบวนการทำเขตการค้าเสรีที่กำลังเป็นแฟชั่นอยู่ในขณะนี้ คงถึงเวลาที่ทุกฝ่ายในบ้านเมืองจะได้มีโอกาสหันมาทบทวนตนเอง และใช้สติปัญญาไตร่ตรองกันให้ลึกซึ้ง ตอบคำถามตัวเองให้ได้ว่า รัฐ (ประเทศไทย) กำลังจะทำอะไรในทางระหว่างประเทศ ผลกระทบจะเป็นอย่างไร เป็นเพียงวันนี้ พรุ่งนี้ หรือตลอดไป เรากำลังขโมยหรือทำลายโอกาสของลูกหลานเราในอนาคตให้ย่อยยับหมดโอกาศในทางเศรษฐกิจหรือไม่ มีทางเลือกอย่างอื่นที่ดีกว่านี้ได้ค้นหากันหรือยัง ผลกระทบต่อเนื่องนั้นจะเป็นอย่างไร
สุดท้ายจากจุดเปลี่ยนนี้ไป...หากหลายคนยังคงมี “สติ” และยังคงมีความรับผิดชอบอยู่บ้างต่อบ้านเมืองและลูกหลานไทยในอนาคต ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการทบทวนดังกล่าวสังคมไทยคงจะได้มาซึ่ง หลักการเชิงคุนค่าและรูปธรรมที่เป็นนวัตกรรมทางนโยบายและกฎหมายใหม่ ๆ ซึ่งเพื่อนร่วมชาติทุกคนจะได้ช่วยกันเรียกร้องในหนทางที่ควรจะเป็น หาไม่แล้ว... การสูญเสียเอกราช อธิปไตยของชาติ และประชาชนจะเกิดขึ้นได้โดยเวลาเพียงข้ามคืน ขอให้การทบทวนนำมาซึ่งสิ่งที่ดีงามต่อสังคมไทยต่อไป
รัฐธรรมนูญไทยในหล่มโคลน
สิทธิชุมชน ชุมชนไม่มีสิทธิ์
ศาสตราจารย์ เสน่ห์ จามริก
ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน
บทความนี้ยาวประมาณ 9 หน้ากระดาษ A4
เผยแพร่ครั้งแรกบทเว็ปมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2547
โครงการเสวนา "รัฐธรรมนูญไทยในหล่มโคลน" มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ร่วมกับ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๖ ห้อง ร.103 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ๙.๐๐-๑๒.๐๐ น.
สิทธิชุมชน: ชุมชนไม่มีสิทธิ ศาสตราจารย์ เสน่ห์ จามริก, ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์
(หมายเหตุ : บทความนี้คัดเอาเฉพาะในส่วนที่ ศ. เสน่ห์ จามริก พูดมานำเสนอเท่านั้น ส่วนของ ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์ อยุ่ในระหว่างการถอดเทป)
เกรียงศักดิ์ เชษฐพัฒนวนิช : วันนี้เป็นการเสวนาภายใต้หัวข้อใหญ่คือ"รัฐธรรมนูญไทยในหล่มโคลน" โดยวันนี้เป็นหัวข้อย่อยเรื่อง"สิทธิชุมชน ชุมชนไม่มีสิทธิ์" ทั้งหมดของการเสวนาในโครงการนี้ เรามีความเห็นว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้รับการออกแบบขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์ อย่างน้อย 2 ด้านคือ ด้านที่ทำให้รัฐบาลเข้มแข็ง ซึ่งก็ได้ผลดังที่ปรากฏโดยเรามีรัฐบาลที่เข้มแข็ง ส่วนดีหรือไม่ดีนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ในขณะเดียวกันอีกด้านหนึ่งของรัฐธรรมนูญ ได้รับการออกแบบขึ้นมาให้ภาคประชาชนเข้มแข็งด้วย แต่ว่าในประเด็นหลังนี้ ค่อนข้างไม่บรรลุวัตถุประสงค์เท่าที่ควร ด้วยเหตุและปัจจัยต่างๆซึ่งทำให้ต้องมีการจัดเสวนาเรื่องนี้ขึ้นมา ทั้งนี้เพื่อจะค้นหาสาเหตุ และหาทางออกว่าจะทำอย่างไรให้ภาคประชาชนเข้มแข็ง ตามความตั้งใจของรัฐธรรมนูญ
สำหรับวันนี้การเสวนาในเรื่อง"สิทธิชุมชน ชุมชนไม่มีสิทธิ์" เนื้อหาหลักจะเกาะอยู่กับเรื่องราวใน 3 ประเด็นด้วยกันคือ 1. เรื่องของปัญหาเกี่ยวกับสิทธิชุมชน, 2. เรื่องของสาเหตุที่ว่า ทำไมชุมชนไม่มีสิทธิ์ และ 3. ทางออกของภาคประชาชน วันนี้เรามีวิทยากร 2 ท่านคือ ศาสตราจารย์เสน่ห์ จามริก, ปัจจุบันท่านเป็นประธานสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, กับ ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์ เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นอกจากนี้ท่านยังเป็นเมธีวิจัยอาวุโสของ สกว.ด้วย
เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา ผมจึงขอเชิญท่านอาจารย์เสน่ห์ จามริก เป็นผู้เริ่มก่อนครับ
เสน่ห์ จามริก : สวัสดีครับ, ไหนๆเราก็มาพูดกันที่คณะรัฐศาสตร์ ซึ่งถือว่าเป็นสถาบันการศึกษา แล้วก็หัวข้อหลักในการเสวนาคือเรื่องสิทธิชุมชนในวันนี้ แต่ความจริงแล้ว เจตนาของผู้จัดต้องการให้พูดเรื่องสิทธิชุมชน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในหลายๆหัวข้อที่ผู้เข้าร่วมเสวนาคงทราบดีว่ามีเรื่องอะไรบ้างในช่วงเดือนนี้ ทั้งหมดเป็นหัวข้อซึ่งมุ่งที่จะตอบคำถามว่า รัฐธรรมนูญไทยในหล่มโคลน เป็นอย่างไร
ผมขอทำความเข้าใจในเรื่องรัฐธรรมนูญก่อนสักนิดหนึ่ง ซึ่งผู้ดำเนินการอภิปรายได้พูดถึงรัฐธรรมนูญไทยฉบับปัจจุบัน ความจริงแล้ว รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกเรียกชื่อกันหลายๆอย่าง เช่น รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน แต่สำหรับผมเรียกว่า"รัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปการเมือง" บอกว่ามีผู้ออกแบบให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ผมก็อยากจะทำความเข้าใจตรงนี้เพื่อให้เข้าใจรัฐธรรมนูญอย่างถ่องแท้ขึ้นตามสมควร ในฐานะที่พวกเราเป็นประชาชนคนไทยซึ่งจะต้องมีส่วนรับผิดชอบในความเป็นไป ในความศักดิ์สิทธิ์หรือไม่ศักดิ์สิทธิ์ ความสำเร็จหรือความล้มเหลวของรัฐธรรมนูญ
อันนี้ไม่ใช่อยู่ที่ผู้ออกแบบ หรือไม่ใช่อยู่ที่ สสร. แน่นอน สสร. และผู้ที่ร่างรัฐธรรมนูญต้องเป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกฎหมายรัฐธรรมนูญ ในฐานะที่เป็นกฎหมายสูงสุด แต่รัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นเพียงตัวบทกฎหมาย รัฐธรรมนูญเป็นมากกว่านั้น ตรงนี้ผมรู้สึกว่าเราไม่ค่อยได้มีการพูดถึงกัน ดังนั้นผมจึงอยากจะพูดตรงนี้เพื่อให้พวกเราได้ตระหนักถึงความสำคัญของรัฐธรรมนูญ มิฉะนั้นแล้วทุกครั้งที่มีปัญหา ก็บอกว่าจะต้องไปถาม สสร. ไปถามนักกฎหมายมหาชน ไปถามศาลรัฐธรรมนูญ อันนี้ไม่ใช่ครับ
มีนักวิชาการอเมริกันท่านหนึ่งซึ่งอาวุโสมากแล้ว ได้เคยให้นิยามเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งผมได้อ้างไว้ในหนังสือที่ผมเขียนว่า รัฐธรรมนูญเปรียบเสมือนเป็น"อัตชีวประวัติของสังคมการเมืองหนึ่งๆ" ถ้าเป็นสังคมเราก็เป็นอัตชีวประวัติของสังคมการเมืองไทย หรือถ้าเป็นสังคมอื่นๆ เช่น อังกฤษ อเมริกัน ก็ว่าไป
คำว่า"อัตชีวประวัติ"ก็คือประวัติของตัวเอง แปลว่าอะไร?
แปลว่า รัฐธรรมนูญเปรียบเหมือนเป็น การบันทึกถึงโลกชีวิตของสังคมไทย เมื่อเป็นโลกชีวิต ชีวิตไม่ได้เกิดวันนี้พรุ่งนี้ แต่โลกชีวิตก็มีอดีต มีประวัติศาสตร์ มีปัจจุบันและก็มีอนาคต แล้วก็มีเจตนารมณ์ของคนไทย รัฐธรรมนูญฉบับนี้กับอีกหลายๆฉบับที่ผ่านมา บอกว่าเป็นอัตชีวประวัติ เป็นประวัติชีวิตของสังคมการเมืองไทย ก็อาจจะกล่าวได้ว่า เป็นการบันทึกประวัติของสังคมการเมืองไทยเป็นมาอย่างไร และทีนี้ถ้าพวกเราอ่านหนังสือสักนิด ก็จะเข้าใจว่าสังคมไทยได้เปลี่ยนแปลงมา ตั้งแต่ที่เราถูกจักรวรรดิ์นิยมตะวันตกเข้ามาเบียดเบียน นับแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จนกระทั่งเกิดการปฏิวัติ 2475
เกิดรัฐประหาร 2490 เกิดรัฐประหาร 2501 ของจอมพลสฤษดิ์ แล้วก็มีการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจ สร้างปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทยจนเกิดปัญหา 14 ตุลาคม 2516 จากนั้นก็ 6 ตุลาคม 2519 ต่อจากนั้นก็มีรัฐธรรมนูญครึ่งใบของพลเอกเปรม ติณสูรานนท์ แล้วก็มาถึงประชาธิปไตยเต็มใบในสมัยของพลเอกชาติชาย แล้วก็เกิดรัฐประหาร ผมเรียกว่า รัฐประหารหลงยุค คือไม่รู้ว่ายุคสมัยมันเปลี่ยนแปลงไปแล้ว กูจะรัฐประหารท่าเดียว ในปี 2534 ของพลเอกสุจินดา แล้วก็เกิดพฤษภาทมิฬในปี 2535 จากปี 2535 เกิดการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปต่างๆ ซึ่งผมจะพูดถึงว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีใจความว่าอย่างไร
ช่วง 5 ปี ตั้งแต่ปี 2535-40 ซึ่งเป็นปีกำเนิดของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ตุลาคม 2540 ในช่วง 5 ปีนั้นมีการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปอย่างนั้นอย่างนี้ ก็มีการจัดตั้ง สสร.ขึ้นมา และได้บัญญัติรัฐธรรมนูญฉบับนี้ขึ้นในปี 2540 จนบัดนี้ประมาณ 6 ปีที่เราได้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้มา
จะเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเหมือนกับเป็นการรวบรวมปัญหาต่างๆ เช่น ปัญหาการใช้อำนาจหน้าที่ในทางที่กดขี่ข่มเหงประชาชน การทุจริตคอรัปชั่น อะไรต่างๆพวกนี้ ความไม่เป็นธรรมทางสังคม การพัฒนาที่ทำให้ทรัพยากรของเราต้องเสื่อมโทรมลงไป ชุมชนเกิดการแตกสลายต้องหนีความยากจน อะไรพวกนี้ มันได้มาบรรจุในรัฐธรรมนูญหมด ผมอยากจะให้พวกเราเข้าใจตรงนี้
เพราะฉะนั้น รัฐธรรมนูญจึงเป็นสิ่งที่มีชีวิต ไม่ใช่เป็นเพียงสิ่งซึ่งถูกออกแบบขึ้นมาเป็นตัวหนังสือเท่านั้น แต่มีมากกว่านั้น เป็นแต่เพียงว่าผู้ที่อยู่ในฐานะอำนาจในการใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เห็นแต่ตัวหนังสือ ไม่ได้เห็นชีวิตความเป็นมาและจิตวิญญาณ รวมทั้งเจตนารมณ์ของประชาชนในสังคม เพราะว่ามันเป็นจิตวิญญาณและเจตนารมณ์ที่ยังอยู่ในสภาพที่อ่อนแอ
ในขณะเดียวกัน วัฒนธรรมทางการเมืองของกลุ่มที่ผมเรียกรวมๆว่า "ชนชั้นนำ" ชนชั้นนำในที่นี้ผมหมายถึง กลุ่มชนที่อยู่ในอำนาจทางการเมือง อยู่ในอำนาจราชการ และนักวิชาการปัญญาชนด้วย ยังมีวัฒนธรรมการเมืองที่ค่อนข้างจะ ผมใช้คำว่า "มีลักษณะที่เป็นวัฒนธรรมที่แปลกแยกออกจากเจตนารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด ปัญหาของประชาชนส่วนใหญ่" ตรงนี้คือปัญหา
เพราะฉะนั้น คำว่า" รัฐธรรมนูญไทยในหล่มโคลน" ผมตีความอย่างนี้ มันเกิดปัญหา
เราต้องตีความให้แตกว่า เราติดปัญหาเรื่องอะไร ที่นี่เป็นคณะรัฐศาสตร์ จะต้องให้ความชัดเจนตรงนี้ "ในหล่มโคลน"หรือว่าจะเรียกอะไรก็แล้วแต่ ก็คือปัญหาช่องว่าง ความลักลั่น ความแปลกแยก ระหว่างวัฒนธรรมทางการเมืองของชนชั้นนำ ทั้งในทางราชการในระดับอำนาจการเมือง แล้วก็ระดับนักวิชาการปัญญาชน เรายังมีปัญหาตรงนี้ เพราะฉะนั้น พอรัฐธรรมนูญออกมา มันจึงเกิดปัญหารัฐธรรมนูญที่ไม่มีผลใช้บังคับตามเจตนารมณ์อย่างแท้จริง อันนี้คือข้อคิดเบื้องต้นที่อยากจะฝากเอาไว้
ทีนี้ในเนื้อหาสาระ ผมอยากจะให้ทุกคนได้เข้าใจ ไม่ใช่เข้าใจรัฐธรรมนูญเพราะไปนั่งอ่านมาตรานั้น มาตรานี้ แต่อยากให้อ่านมาตราต่างๆด้วยความเข้าใจอย่างที่ผมได้พูดมาตั้งแต่ต้น ว่าเพราะมันเกิดเหตุนี้ จึงมีรัฐธรรมนูญฉบับนี้หรือบทบัญญัติแบบนี้ขึ้นมา ผมจะอ่านให้ฟังครับ อาจจะเสียเวลานิดหน่อย เพราะเวลาที่มีปัญหาเราไม่ค่อยได้พูดถึงสิ่งที่มันเป็นหลักเป็นฐานตามสมควร
ในอารัมภบท อะไรก็ตามที่อยู่ในอารัมภบท มันแปลว่ามันบรรจุเจตนารมณ์ แก่นสาร เนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ รัฐธรรมนูญหมวดอื่น มาตราอื่นจะต้องอยู่ภายใต้กำกับของข้อความ 2-3 บรรทัดตรงนี้ บอกว่า ได้ร่างรัฐธรรมนูญโดยมีสาระสำคัญ ตรงนี้นะครับ ข้อความ 3 บรรทัด
โดยมีสาระสำคัญเป็นการส่งเสริม คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน, นั่นข้อหนึ่ง, คำอธิบายว่า เพราะเหตุที่เป็นมามันกดขี่เหยียบย่ำเสรีภาพ เขาจึงต้องยืนยันอันนี้ขึ้นมา
ประการที่สอง ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครอง เพราะที่เป็นมานั้น พยายามร่างรัฐธรรมนูญให้มีการเลือกตั้ง แต่จริงๆแล้ว ผู้ปกครองกีดกันไม่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการปกครองอย่างแท้จริง จึงได้บรรจุข้อความตรงนี้ไว้
และข้อสาม ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐเพิ่มขึ้น เพราะว่าการใช้อำนาจรัฐที่ผ่านมานั้น มันทุจริตคอรัปชั่น เบียดเบียน ข่มเหงทรัพย์สมบัติของประชาชน
ทั้งสามข้อนี้ รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ มาตราอื่นๆจะต้องอยู่ภายใต้การกำกับนี้ นั่นประการที่หนึ่ง
ประการที่สอง ให้ไปอ่านบททั่วไป รัฐธรรมนูญจะมีอารัมภบทและมีบททั่วไป บททั่วไปมาตรา 4 เป็นครั้งแรกที่รัฐธรรมนูญไทยได้บัญญัติเรื่อง ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อันนี้ไม่เคยพูด แต่คำว่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ได้เคยพูดมาตั้งแต่สมัยปฏิวัติฝรั่งเศส อันนี้ที่เอามากล่าวไว้ตรงนี้มิได้เป็นการก๊อปปี้เขา แต่มาเริ่มเห็นแล้วว่า คนไทยถูกปฏิบัติอย่างไร้ศักดิ์ศรี คนกระทำผิด ผิดหรือไม่ผิด ถูกจับถูกซ้อม ถูกทำทารุณกรรมต่างๆ
คำว่า"ศักดิ์ศรี" แปลว่าอะไร ผมขอยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นเป็นรูปธรรม ยกตัวอย่างเช่น คนผิวดำที่เมืองซานฟรานซิสโก เกิดความไม่พอใจ เกิดการเข้าทุบทำลายทรัพย์สมบัติตามร้านค้าต่างๆ ถูกจับได้ เขาก็ทำผิดครับ แต่ตำรวจผิวขาวอเมริกันจับมาแล้วซ้อม ศาลอเมริกันบอกว่า เป็นการทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพราะว่าเขาทำผิด จับได้ก็ต้องปฏิบัติอย่างที่เขามีสิทธิ์เหมือนกัน อันนี้ให้เราเข้าใจว่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มันคืออะไร
ตรงนี้คนไทยทุกคนจะต้องคิดให้ได้ ถ้าคิดไม่ได้ ไปบอกว่าความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญอยู่ที่ศาล ผมว่าไปไม่ได้ รัฐธรรมนูญจะไม่มีวันประสบความสำเร็จแน่นอน อันนี้ก็คือประเด็นที่สองซึ่งอยากจะพูดถึง ขอเสียเวลาตรงนี้นิดหนึ่ง เพราะว่าเวลาพูดถึงเรื่องสิทธิชุมชน มันเป็นเรื่องปลายมากๆ ถ้าเรามีตรงนี้แล้ว ก็จะทำให้ความเข้าใจของเรากับประเด็นต่างๆที่เราจะพูดถึงต่อไป มันมีความหมาย มันมีรากฐานที่มั่นคง
ฉะนั้น บททั่วไปก็เช่นเดียวกัน เหมือนกับอารัมภบท บทบัญญัติอะไรต่อๆไปของการใช้อำนาจจะต้องอยู่ภายใต้การกำกับตรงนี้ ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรี อันนี้ยังไม่พอ ในหมวด 3 ว่าด้วยเรื่องสิทธิเสรีภาพของชนชาวไทย สองมาตราสำคัญ เป็นมาตราที่ไม่ได้พูดว่าใครมีสิทธิ์อย่างไร แต่เป็นมาตราที่ 26 บอกว่า การใช้อำนาจโดยองค์กรของรัฐทุกองค์กร ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพ เห็นไหมว่าเป็นการตอกย้ำอีกครั้ง ตอกย้ำอารัมภบท ตอกย้ำสิ่งที่พูดในบททั่วไป
มาตรา 27 สำคัญมาก บอกว่า สิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญมีรับรองไว้โดยชัดแจ้งหรือโดยปริยาย หรือโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ย่อมได้รับความคุ้มครอง และผูกพันรัฐสภา หมายความว่า รัฐสภาจะออกกฎหมาย ไม่ใช่ว่าออกกฎหมายโดยคะแนนเสียงข้างมากอย่างเดียว ต้องดูด้วยว่า ขัดกับเจตนารมณ์หรือไม่
เห็นไหมครับว่า ไม่ใช่ใครคุมเสียงข้างมากแล้ว จะออกกฎหมายหรือทำอะไรก็ได้ แต่ต้องมีเงื่อนไข ต้องคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพ ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ คนที่คอยตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐสภาก็ต้องประชาชนครับ เห็นไหมครับ "ผูกพันรัฐสภา", "ผูกพันคณะรัฐมนตรี", คณะรัฐมนตรีจะใช้อำนาจอะไรลงมติอย่างไร ต้องคำนึงถึงเกณฑ์ที่ผมพูดมาเบื้องต้น
และ"ผูกพันศาล"เหมือนกัน ทั้งๆที่มีกฎหมายว่าอย่างนี้ แต่ถ้ามันขัดกับตรงนี้แล้ว ศาลจะต้องวินิจฉัย พิพากษาคดีให้เป็นไปตามเจตนารมณ์อันนี้ ตัวศาลเองจะต้องปรับการวินิจฉัย ปรับกฎหมายให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ ไม่ใช่ว่านั่งอ่านหนังสือแล้วตีความตามนั้น ไม่ใช่ เดี๋ยวผมจะพูดว่าความล้มเหลวอยู่ที่ไหน? ซึ่งพอดีจะมีการพูดถึงนิติศาสตร์อำพรางอะไรด้วยในวันพรุ่งนี้ ผมไม่ทราบว่าจะพูดถึงหรือเปล่า แต่ผมขอพูดถึงตรงนี้ด้วย จะได้เป็นทางให้เราได้คิดกันต่อไป
เห็นไหมครับว่า สองมาตรา คือมาตราที่ 26, 27 ยังกำกับไว้อีก การใช้อำนาจต้องมีเงื่อนไข ไม่ใช่ไม่มีเงื่อนไข พวกเรายังเข้าใจว่าระบอบประชาธิปไตยนั้น ใครมีเสียงข้างมาก จะออกกฎหมายอย่างไรก็ได้ ไม่ใช่ครับ และนอกจากนั้นยังมีมาตราต่างๆอย่างเช่น มาตราที่ 46 ซึ่งพูดถึงเรื่องของสิทธิชุมชน อันนี้ผมเอาไว้พูดทีหลัง
ก่อนอื่นผมอยากจะพูดไว้ตรงนี้ เพื่อให้เข้าใจเสียก่อนว่า โดยที่สัมมนาซึ่งมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจัด ได้ยกประเด็นเรื่อง "รัฐธรรมนูญไทยในหล่มโคลน" ขึ้นมาเป็นโจทย์ ผมอยากจะถือโอกาสขยายตรงนี้ให้ได้เนื้อหาสาระเสียก่อน มิฉะนั้นแล้วเราจะไปพูดปัญหาต่างๆ แล้วก็จะไม่มีตัวแม่บทซึ่งเราจะนำมาเป็นตัววินิจฉัย หวังว่าในหลักการเบื้องต้น ผมขอเอาไว้เพียงแค่นี้ก่อน และถ้ามีอะไรเพิ่มเติมก็ขอให้เราสนทนากันหลังจากนี้อีกทีหนึ่ง
ต่อมาก็คือว่า ทำไมเรามาพูดถึง"สิทธิชุมชน"? ถ้าจะพูดกันตามตำราจริงๆแล้ว โดยเฉพาะเวลาเราพูดถึงสิทธิมนุษยชน เรามักจะไปลอกเอาตำราของตะวันตก โดยเราไม่ได้ตระหนักว่าตำราสิทธิมนุษยชนของตะวันตกนั้น ก็เป็นตำราที่ได้ทำขึ้นบนพื้นฐานของประสบการณ์เฉพาะของตะวันตก
ของอะไรที่มาจากฝรั่ง เรามักจะบอกว่าเป็นสัจธรรมสากล ไม่ใช่! ในสังคมไทยเราก็มีบริบทเฉพาะในสังคมของเรา แต่ที่พูดเช่นนี้มิได้หมายความว่าสิทธิมนุษยชนนั้นจะแยกเป็นของไทย ของฝรั่ง ไม่ใช่! มันเป็นสากลครับ คือความเป็นมนุษย์ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ธรรมชาติเป็นสากลเหมือนกันหมด ทุกหนทุกแห่งในโลก เป็นแต่เพียงว่าวิถีชีวิตในตะวันตกกับในภูมิภาคของเรามันแตกต่างกัน ปัญหาที่เกิดขึ้นแตกต่างกัน สิทธิแบบไหนมันเกิดขึ้นแตกต่างหลากหลาย พูดง่ายๆคือมันมีความแตกต่างหลากหลายกัน
เวลานี้สิทธิมนุษยชนในตะวันตกบอกว่า ต้องเป็นสิทธิเฉพาะของบุคคล ของชุมชนมีไม่ได้ สิทธิ์ต้องเป็นเรื่องตัวปัจเจกบุคคล เขียนเป็นตำราพูดเอาไว้อย่างเด็ดขาดเลย ซึ่งตรงนี้ขอทำความเข้าใจ ในสังคมไทยเราต้องคิดถึงบริบทความเป็นจริงของเรา ถ้าเป็นอย่างนั้นและถามผมว่า ถ้าอย่างนั้นผมจะนิยามสิทธิมนุษยชนว่าอะไร จึงจะครอบคลุมอย่างนี้ได้? คำตอบของผมก็คือว่า ถ้าจะพูดจริงๆแล้ว ถ้าจะบอกว่าสิทธิมนุษยชนคืออะไร? อาจจะตอบว่า คือสิทธิที่จะเดินทางไปไหนก็ได้ สิทธิ์ที่จะแสดงความคิดเห็น ถ้าพูดอย่างนี้แล้วไม่มีวันจบ มันจะมีเป็นร้อยเป็นพันชนิดตามสภาพการณ์ที่เกิดขึ้น
ผมพูดคำเดียวว่า "สิทธิมนุษยชนคือ สิทธิในชีวิตและสิทธิในปัจจัยการดำรงชีวิต เป็นสิทธิพื้นฐานที่สุด"
ของตะวันตก สิทธิในชีวิต สิทธิในปัจจัยการดำรงชีวิต มาในยุคที่เขามีการเปลี่ยนแปลง เขาก็บอกว่า สิทธิในชีวิตก็มีเพิ่มขึ้นมาในปัจจัยการดำรงชีวิต ก็คือสิทธิในทรัพย์สิน หมายความว่า เวลาที่เราใช้แรงงานของเรา เวลาที่เราใช้ปัญญาของเราไปเก็บเกี่ยวในธรรมชาติขึ้นมาเป็นผลงานของเรา อันนี้คือทรัพย์สินของเรา ฝรั่งจึงบอกว่า สิทธิในทรัพย์สินเป็นสิทธิมนุษยชนอันหนึ่ง แต่ว่าเราเข้าใจไม่ตลอด
ความเข้าใจที่แท้จริงก็คือว่า ที่สิทธิในทรัพย์สินเป็นสิทธิมนุษยชนก็เพราะว่า ทรัพย์สินอันนั้นเป็นสิ่งที่เขาเก็บเกี่ยวจากธรรมชาติมาดำรงชีวิตของเขา มันก็เป็นสิทธิ์ในชีวิตนั่นเอง ดังนั้นสิทธิในชีวิตจึงเป็นสิทธิที่เป็นแกนกลางที่สุด หลังจากนั้นมันก็แตกลูกแตกหลานออกไปตามสภาวะที่แตกต่างกัน
ที่นี้หันกลับมาที่สังคมไทย "สิทธิชุมชน"ซึ่งตะวันตกไม่ถือว่าเป็น"สิทธิมนุษยชน"นั้น เพราะว่าเขามีวิถีชีวิตในแบบฉบับของสังคมอุตสาหกรรม ถือปัจเจกเป็นใหญ่ และมีประวัติศาสตร์ยืดยาวเรื่องความคิดความอ่าน เรื่องปรัชญา ซึ่งวันนี้ผมจะไม่ขอพูดตรงนี้ แต่เราต้องเข้าใจตะวันตกให้ได้
แต่ในกรณีของเราจะเห็นว่า สิทธิในชีวิต ปัจจัยในการดำรงชีวิตมนุษย์อยู่ในวิถีชีวิตของสังคมที่ผมเรียกว่า "สังคมฐานทรัพยากรธรรมชาติเขตร้อนของโลก" ของเราไม่เหมือนกับคนอื่นเพราะว่าอยู่ในโซนร้อน ฐานทรัพยากรธรรมชาติ เดี๋ยวอยากจะขออาจารย์อานันท์ให้อธิบายขยายความตรงนี้ ฐานทรัพยากรธรรมชาติเขตร้อนเป็นฐานทรัพยากรที่มีความบอบบาง ละเอียดอ่อน แต่มีความอุดมสมบูรณ์สารพัดอย่าง ในขณะเดียวกันมันก็เป็นฐานทรัพยากรที่สร้างวิถีชีวิตของชุมชน ความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนกับทรัพยากรธรรมชาติ มันมีความสัมพันธ์เป็นวิถีชีวิต เกิดเป็น 2 สิ่งที่ตามมาคือ
"วัฒนธรรมประเพณีในความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติ"
ของฝรั่ง ธรรมชาติไม่มีคุณค่าความหมายไปมากกว่าเป็นเพียงวัตถุดิบเพื่อเอามาป้อนโรงงาน แต่ว่าธรรมชาติสำหรับเราคือ องค์ประกอบของชีวิต แล้วก็เมื่อเป็นอย่างนี้เพื่อความอยู่รอด เขาก็ต้องรู้จักเรียนรู้ สะสมความรู้ จนกระทั่งเป็นภูมิปัญญาที่จะจัดการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน ซึ่งพูดตามสมัยใหม่ เพราะว่าถ้าเขาไปทำลายธรรมชาติ ก็เท่ากับไปทำลายชีวิตเขา เพราะฉะนั้นตรงนี้ ความเป็นชุมชนจึงเป็นสิทธิมูลฐาน ไม่ใช่เป็นสิทธิที่แตกลูกแตกหลานออกไป แต่เป็นสิทธิมูลฐานของคนไทยซึ่งมีวิถีชีวิตบนฐานทรัพยากรดังกล่าวมาแล้ว
เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่าการดำรงคงอยู่ จึงขึ้นอยู่กับสิ่งที่ผมเรียกว่า"บูรณาภาพ" ผมใช้คำนี้คงไม่ได้พูดภาษาบดีมากเกินไป หมายความว่า ความเป็นอันหนึ่งอันเดียว ความมั่นคงของทรัพยากร เพราะว่าทรัพยากรเขตร้อนของเรา สมมุติว่าคุณไปให้สัมปทานป่า ทำลายป่าไปผืนหนึ่ง มันทำลายสิ่งที่เป็นสมบัติซึ่งสำคัญที่สุด คือ"ความหลากหลายทางชีวภาพ" ประเดี๋ยวอาจารย์อานันท์ คงจะขยายความตรงนี้ด้วย
ดังนั้น ความสัมพันธ์ระหว่าง ความหลากหลายทางชีวภาพ ทรัพยากร และไม่ว่าจะเป็นลุ่มน้ำ ชายฝั่ง บนเขา หรือที่ราบอะไรก็ตาม เป็นทรัพยสินทางปัญญาซึ่ง พูดในสมัยของฝรั่งเดี๋ยวนี้คือ "ทรัพย์สินทางปัญญา" และด้วยความเห็นแก่ตัวของสังคมวัฒนธรรมฝรั่ง จึงเห็นว่าสิ่งที่เป็นทรัพย์สินทางปัญญาคือสิ่งที่เขาจะฉกฉวยได้ ตามความได้เปรียบทางด้านเทคโนโลยี ซึ่งตรงนี้ก็มีความละเอียดอ่อนต่อไปอีก
ฉะนั้นผมจึงอยากจะเรียนตรงนี้ว่า สิทธิชุมชนที่ว่านี้คือสิทธิมูลฐานของประชาชนคนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชนบท
ทีนี้คำถามว่า "ชุมชนไม่มีสิทธิ์" ชุมชนเกิดไม่มีสิทธิ์เพราะอะไร? เพราะว่าตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ เราได้ทำการพัฒนาอุตสาหกรรมเลียนแบบตะวันตก และถ้าเราไปอ่านประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมของตะวันตก จะเห็นว่าเขาได้ประสบความสำเร็จในการพัฒนาอุตสาหกรรม บนพื้นฐานของการทำลายชนบท สมัยนั้นเขาทำลายชนบทเพราะอะไร เขาปิดกั้นคนเคยใช้ทรัพยากรธรรมชาติ คนที่เคยใช้พื้นที่สาธารณะ เขาปิดกั้นหมดเพื่อมาเลี้ยงแกะ เพื่อมาทำอุตสาหกรรมผ้าและอะไรต่างๆพวกนี้ เสร็จแล้วเมื่อปฏิวัติอุตสาหกรรม เขาต้องการ 2 อย่าง คือ
1. พื้นที่ในการสร้างโรงงานอุตสาหกรรม
2. ต้องการแรงงาน
การล้มละลายของชนบทคือ สิ่งที่เป็นโชคลาภของอุตสาหกรรม เขาก็จะได้แรงงานราคาถูก
เหมือนกันครับ แบบแผนการพัฒนาตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ก็เป็นแบบนั้น ชนบทไทยก็จึงล่มสลาย เราจะเห็นว่าเวลานี้กรุงเทพมีสลัม มีอาชญากรรม โสเภณี โรคภัยไข้เจ็บ เดี๋ยวนี้คือโรคเอดส์ สารพัดไปหมด เหมือนกันครับ อันนี้เราจำลองตะวันตก หมายความว่าเอาแบบแผนของเขามาใช้ในบริบทที่เราเป็นอีกแบบหนึ่ง ถึงในแบบของเขา เขาก็ได้ทำลายสังคมของเขามาตั้งแต่อดีต อันนี้ไม่ใช่ผมพูดเอง นักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจสำคัญอย่างเช่น ศาสตร์จารย์คาร์ล โพลานยี ได้บันทึกเอาไว้ ผมเขียนอะไรพูดอะไรจะอ้างถึงบุคคลคนนี้เสมอ
แล้วในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาร้อยกว่าปีนี้ ในสมัยจักรวรรดิ์นิยมแล้วมาถึงยุคพัฒนา ก็เป็นประวัติศาสตร์ที่ประชาชาตินอกตะวันตกได้ถูกทำลายไป ไม่เฉพาะในประเทศไทย โดยเหตุนี้ในขณะเดียวกัน ในการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงบ้านเมือง หรืออย่างที่เรียกว่า"การเปลี่ยนแปลงให้ทันสมัย" เราต้องให้ทันแบบฝรั่ง เอาตะวันตกเป็นเกณฑ์ ยุคพัฒนาก็เอาตะวันตกเป็นแบบฉบับ สิ่งที่ตามมาคืออะไร คือระบบการศึกษา ผมขอพูดตรงนี้นะครับ
ถ้าเราจะพูดถึงชุมชนไม่มีสิทธิ์ ผมไม่อยากจะให้พูด หรือคิด หรือมองแต่เพียงว่า เพราะองค์กรอย่างศาล อย่างราชการไม่บังคับใช้กฎหมาย ต้องเข้าใจให้ลึกลงไปกว่านั้นอีก ว่าทำไมเขาจึงไม่คิดอ่านจะบังคับใช้กฎหมายอย่างนี้เพราะอะไร? เพราะเขามีสิ่งที่เรียกว่า"วัฒนธรรมการเรียนรู้ที่แปลกแยกออกไปจากสังคม" ไม่ได้เห็นความสำคัญของทรัพยากร
ผมทำวิจัย ทำงานกรรมการสิทธิฯทุกวันนี้ ข้าราชการ นักวิชาการไทย ไม่เคยเข้าใจ ไม่ยอมรับรู้ด้วย แต่ไปเข้าใจทรัพยากรธรรมชาติแบบฝรั่ง มีปัญหามากมายครับ ด้วยเหตุนี้ เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับนี้บันทึกปัญหาและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มีมาตราต่างๆ อย่างเช่นยกตัวอย่าง มาตรา 46. บุคคลซึ่งรวมกันเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม (ผมทราบมาว่า คำว่าดั้งเดิมมีการต่อรองใน สสร.) ย่อมมีสิทธิ์อนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือศิลปวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นและของชาติ มีส่วนร่วมในการจัดการและบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลยั่งยืน
เห็นไหมครับ มาตรานี้เหมือนกับเป็นการบันทึกสิ่งที่เราได้ผิดพลาดล้มเหลวมาจากอดีต บอกไว้ว่าต่อไปนี้ให้ชุมชนมีสิทธิอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วก็ยอมรับรู้ถึงความชอบธรรมของวัฒนธรรมประเพณี ต้องฟื้นฟูขึ้นมา
และในมาตราที่ 56 มาตราสำคัญซึ่งรองรับมาตรา 46 บอกว่า สิทธิ์ของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐกับชุมชน ตอนนี้คำว่าชุมชนเริ่มเข้ามาแล้ว ในการบำรุงรักษา ในการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ และความหลากหลายทางชีวภาพ อันนี้เป็นครั้งแรกครับที่ทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ ได้ปรากฏขึ้นมาในรัฐธรรมนูญ มันเป็นการบันทึกถึงความล้มเหลวที่เป็นมาจากอดีต แต่ตรงนี้ ความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นสิ่งที่นักวิชาการ ปัญญาชน ข้าราชการ และนักการเมือง รวมทั้งสถาบันวิชาการ รวมทั้งธรรมศาสตร์ไม่มีความเข้าใจ
นี่คือช่องว่างทางปัญญา ช่องว่างทางวัฒนธรรมการเรียนรู้ อันนี้คือสมุฏฐานอันแท้จริงของปัญหาซึ่งเรากำลังพูดถึงความล้มเหลวของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ตรงนี้เป็นปัญหาที่ผมพูดเพื่อให้เราได้เจาะลึก ได้คิด ในระบอบประชาธิปไตยที่พัฒนามาอย่างนี้แล้ว ถ้าประชาชนไม่มีบทบาทในการศึกษาเรียนรู้ซึ่งเจาะลึกลงไปในปัญหาเช่นนี้แล้ว ผมคิดว่าจะมีปัญหามาก
ฉะนั้น ผมจึงอยากสรุปรวมความตรงนี้ว่า ในขณะนี้เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เป็นเจตนารมณ์ที่ได้ประสบกับความล้มเหลว ด้วยสมุฏฐานหลักๆสองประการ ผมขอยกเป็นการท้าทายตรงนี้ด้วย
ประการแรก คิดว่าเป็นปมปัญหาจากนิติศาสตร์ที่เรายังสืบทอดวัฒนธรรมอำนาจนิยม มาจนกระทั่งจนถึงปัจจุบัน เมื่อพูดถึงอย่างนี้แล้ว ผมอยากจะเติมคำว่ารัฐศาสตร์เข้าไปด้วย รวมทั้งศาสตร์ต่างๆ แต่เมื่อเราพูดกฎหมายก็จึงขอย้ำถึงนิติศาสตร์
นิติศาสตร์เราไปเอารูปแบบของหลักนิติศาสตร์ที่เรียกว่า positivism คือหมายถึงกฎหมายซึ่งนักทฤษฎีนิติศาสตร์ของอังกฤษ ออสติน ได้เคยนิยามว่า กฎหมายคือ คำบัญชาของผู้ทรงอำนาจสูงสุด หมายความว่ากฎหมายคือคำสั่ง คืออำนาจ อันนี้คือ"นิติศาสตร์อำนาจนิยม"
แต่ถ้าเราย้อนกลับไปดูหลักธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองนี่ละครับ หลักธรรมศาสตร์นั้นให้การรับรู้ถึงความชอบธรรมของกฎประเพณีของชุมชน ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช ไปอ่านกฎหมายตราสามดวงดู เวลาที่พระเจ้าแผ่นดินจะออกประกาศพระบรมราชโองการ ซึ่งเราก็รู้ว่าเป็นกฎหมาย หรือจะทรงวินิจฉัยคดี พระเจ้าแผ่นดินก็ต้องไปถามชุมชนว่า ที่นี่มีระเบียบประเพณีอะไร? เห็นไหมว่า แม้แต่ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช ก็ยังเห็นความเชื่อมโยงระหว่างอำนาจศูนย์กลาง กับอำนาจของชุมชน กฎประเพณี นี่คือหลักธรรมศาสตร์
แต่ของเรานี่ ออสติเนียน มาก, "กฎหมายคืออำนาจ" นี่ผมคิดว่านิติศาสตร์ ไม่ใช่รัฐธรรมนูญติดหล่ม นิติศาสตร์ไทยยังติดหล่มตรงนี้ ยังอยู่ในโคลนอยู่ตรงนี้
ประการที่สอง เราไม่ค่อยตระหนักว่า การละเมิดบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะเจตนารมณ์ที่ผมพูดเรื่องอารัมภบท มาตรา 4, มาตรา 26-27, เมื่อสักครู่นี้ บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญต่างๆเหล่านี้ อารัมภบทมาตรา 4, มาตรา 26-27 ที่ว่า ผูกพันรัฐสภา ผูกพันคณะรัฐมนตรี ผูกพันศาล, สามสี่บทบัญญัตินี้ไม่ได้มีการบังคับใช้เลย
ถ้าเราย้อนกลับไปในสมัยการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 คงจำได้ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ได้ประกาศยกเว้นไม่ใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา เกิดเรื่องเลย เพราะถือว่าเท่ากับรัฐประหาร รัฐธรรมนูญมาตราหนึ่งมาตราใดที่ยกหรืองดเว้นไม่ใช้ หรือไม่นำพา เท่ากับเป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญ
เพราะฉะนั้น รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกำลังอยู่ในสภาพตรงนี้ กำลังถูกล้มล้างรัฐธรรมนูญเพราะ การไม่นำพาต่อการบังคับใช้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ซึ่งทุกบท ทุกหมวด ทุกมาตรา จะต้องประกอบกัน จะเลือกมาตราหนึ่งมาตราใดมาใช้บังคับไม่ได้ นี่ก็เป็นสาเหตุที่ผมคิดว่า อาการที่มันส่อให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้กำลังมีปัญหาก็ตรงนี้ คือ นิติศาสตร์รวมทั้งศาสตร์อื่นๆด้วย เพราะว่ามันเกี่ยวข้องกับความเข้าใจเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติอะไรต่างๆมากมาย
และผมคิดว่าพวกเราไม่ค่อยตระหนักว่า การไม่นำพารัฐธรรมนูญส่วนหนึ่งส่วนใดคือการ"ล้มล้างรัฐธรรมนูญ" ผมเคยเขียนบทความขึ้นมาเมื่อเกิดเรื่องที่จะนะ ผมบอกว่า วิกฤตรัฐธรรมนูญคือ ปัญหาของแผ่นดิน คือวิบากกรรมของแผ่นดิน ผมเคยเขียนเตือนเอาไว้ แต่ว่าก็ไม่มีใครให้ความใส่ใจ โดยเฉพาะในแวดวงของอำนาจรัฐ
รัฐธรรมนูญไทยในหล่มโคลน
สิทธิชุมชน ชุมชนไม่มีสิทธิ์ (ตอนที่ ๒)
ศ. ดร. อานันท์ กาญจนพันธุ์
ภาคสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
บทความนี้ยาวประมาณ 19 หน้ากระดาษ A4
เผยแพร่ครั้งแรกบทเว็ปมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2547
โครงการเสวนา "รัฐธรรมนูญไทยในหล่มโคลน" มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ร่วมกับ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๖ ห้อง ร.103 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ๙.๐๐-๑๒.๐๐ น.
สิทธิชุมชน: ชุมชนไม่มีสิทธิ ศาสตราจารย์ เสน่ห์ จามริก, ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์
(หมายเหตุ : บทความนี้คัดเอาเฉพาะในส่วนที่ ศ. เสน่ห์ จามริก พูดมานำเสนอเท่านั้น ส่วนของ ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์ อยุ่ในระหว่างการถอดเทป)
บทนำ
ความเข้าใจเรื่องสิทธิชุมชน
สิทธิชุมชนเกี่ยวข้องกับสิทธิด้านอื่นๆ
สิทธิชุมชนกับการเกี่ยวพันถึงอุดมการณ์ด้านอื่นๆ
สิทธิชุมชนเป็นเรื่องการเปิดพื้นที่ใหม่ทางสังคมการเมือง
สิทธิชุมชนเป็นสิ่งที่จะต้องสร้าง
สรุป
บทนำ
อานันท์ กาญจนพันธุ์ : สวัสดีท่านผู้สนใจเรื่องสิทธิชุมชน ท่านอาจารย์เสน่ห์ ซึ่งเป็นอาจารย์ของผม ณ สถาบันแห่งนี้ สำหรับครั้งนี้เพิ่งเป็นครั้งแรกตั้งแต่จบจากรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปที่ได้มาพูดที่นี่ นับมาก็ 35 ปีแล้ว ก็นานมากที่ไม่ได้กลับมา
คิดว่าสิ่งซึ่งอาจารย์เสน่ห์พูดไปมีความสำคัญอย่างยิ่ง เรื่องที่ว่าปัญหาจริงๆลึกๆแล้ว อยู่ที่ความแปลกแยกหรือช่องว่างทางปัญญาในสังคมไทยที่มันลักลั่นกันอยู่ในสังคมต่างๆ แต่สิ่งที่ผมจะพูดก็คล้ายๆกับว่า เป็นการขยายความในสิ่งที่ท่านอาจารย์เสน่ห์ได้ปูเป็นฐานทางปรัชญา ซึ่งมันเป็นปัญหารากฐานของปัญหาที่แท้จริงในสังคมไทย ประกอบกับการที่เรายังยึดติดอยู่กับวัฒนธรรมแบบอำนาจนิยม ทั้ง2 ประการนี้มันเป็นพลังมหาศาลที่ยากจะแก้ไขได้ในระยะเวลาอันสั้น
แต่สิ่งที่ผมจะพูดนั้น จะพยายามลงมาสู่ประเด็นที่เป็นรูปธรรมหรือละเอียดย่อยลงมา คือถ้าเราจะไปปรับแก้ทั้งหมด ก็คงจะต้องใช้พลังมหาศาล อาจจะต้องเคลื่อนไหวใหญ่ ยิ่งกว่าพฤษภาทมิฬ 2535 เสียอีก ดังนั้นคงจะต้องซอยย่อยลงมาในจุดที่อาจจะทำได้ในขั้นตอนที่แตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องไม่ลืมว่าพื้นฐานมันอยู่ที่ท่านอาจารย์เสน่ห์ได้พูดไปแล้ว ซึ่งก็เป็นการนำทางที่ผมคิดว่าสำคัญอย่างยิ่ง
ในส่วนที่ผมจะพูดมีอยู่ 3 ประการ
ประการที่หนึ่ง คือ การที่เรามาตั้งคำถามกันว่า การที่ชุมชนยังไม่ได้มีสิทธิ์จริงตามรัฐธรรมนูญ มันมีสาเหตุที่สำคัญอย่างไรบ้าง เพราะถ้าเราเข้าใจสาเหตุ เราจึงสามารถลงไปหาทางแก้ได้ชัดเจน สำหรับสาเหตุประการแรกอาจจะสืบทอดมาจาก หรือต่อเนื่องมาจากที่ท่านอาจารย์เสน่ห์พูดมาแล้วคือ จริงๆแล้ว ปัญหาหลักของการที่ชุมชนยังไม่มีสิทธิ์ได้ตามรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องของ"วิธีคิด" ก็คือเรื่องของ"ปัญญาที่มีช่องว่าง"
"วิธีคิด"ที่สำคัญในปัจจุบันก็คือว่า จากการที่เราหลงติดอยู่ในมายาคติ ซึ่งผมเรียกว่า "มายาคติของการยึดติดกับเรื่องสิทธิเชิงเดี่ยว" หมายความว่า สิทธิมีด้วยกันหลายอย่าง แต่การที่เรามายึดติดกับสิทธิเชิงเดี่ยว หรือดังที่อาจารย์เสน่ห์ได้พูดไปแล้วเรื่อง สิทธิกับปัจเจก หรือการมามองสิทธิว่ามันผูกติดกับหน่วยทางสังคมที่ตายตัวตามกฎหมายบัญญัติ เพราะหน่วยที่กฎหมายบัญญัติซึ่งจะเป็นหน่วยทางการได้มีไม่กี่อย่างที่เป็นหน่วยทางสังคมที่สำคัญ เช่น เรื่องของปัจเจกบุคคล กฎหมายจะบัญญัติเอาไว้ชัดเจน ไม่เช่นนั้นก็เป็นหน่วยทางการอื่นๆ เช่น หน่วยทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ จังหวัด เรื่องของ อบต. ซึ่งเป็นหน่วยที่มีการบัญญัติทางกฎหมายอย่างตายตัวแล้วพวกนี้
หน่วยในทำนองนี้มีปัญหาอยู่ คือว่า เวลาเราจะมอบอำนาจให้มีการจัดการทรัพยากร เช่น การจัดการเรื่องป่า เราก็ไปมอบให้เฉพาะกรมป่าไม้ ตามหน่วยที่มันมีอยู่แล้ว ให้เขามีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในตัวของเขาเอง พูดง่ายๆก็คือว่า การจัดการทรัพยากรก็เลยกลายเป็นอาณาจักรของหน่วยงานหนึ่ง ทั้งๆที่จริงๆแล้วทรัพยากรเป็นของประชาชน เป็นของสังคม แต่เวลาเราคิด เรากลับไปมองเชิงเดี่ยว จะมอบให้ใครมีอำนาจไปจัดการ ก็เลยทำให้วิธีคิดนี้ผูกติดอยู่กับสังคมไทย และเมื่อใครได้อำนาจนั้นไป ก็ยึดติดเหมือนเป็นอาณาจักรของตนเอง เผลอๆแล้วข้าราชการกรมป่าไม้นึกไปว่า ป่าเป็นของตนเอง
ผมอยู่ที่เชียงใหม่มีปัญหามากเพราะว่า เราส่งเจ้าหน้าที่ไปดูแลป่า ปรากฏว่าทุกอาทิตย์กลับบ้าน เวลากลับบ้านถือน้ำมันสนมาบ้างล่ะ บางทีก็เอาโต๊ะลงมา อันนี้เหมือนกับของตัวเอง ดูแล้วไม่มีปัญหาอะไรเลย อันนี้เขาทำกันอย่างเป็นปกติ สิ่งเหล่านี้ผมคิดว่าเป็นปัญหาเชิงวิธีคิดที่มันซ่อนเร้นอยู่ในสังคมไทยลึกๆ อันนี้เป็นปัญหาหลักในเรื่อง"มายาคติของหลักเรื่องสิทธิเชิงเดี่ยว"
ประการที่สอง คือการยึดติดกับมายาคติที่ว่า "รัฐเป็นตัวแทนของประชาชน" อันนี้ก็สำคัญ จากการที่ท่านอาจารย์เสน่ห์ท่านได้พูดไปแล้วว่า เราคิดว่ารัฐบาลเวลาได้เสียงข้างมากแล้ว จะทำอะไรก็ได้ แล้วคิดว่ารัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหายแทนประชาชน อันนี้ก็มีปัญหา
เวลานี้เรามีปัญหาหลายเรื่องที่ขึ้นมา บางทีรัฐไม่ฟ้องเสียเฉยๆ อย่างคดีหมอที่ฆ่าเมีย ถ้าเผื่อคนไม่เป็นผู้เสียหายเองก็ซวย เพราะเรารอให้รัฐเป็นผู้เสียหายแทนเราทั้งหมด เพราะเรายึดติดคิดว่า รัฐเป็นผู้รักษาประโยชน์แทนประชาชน แต่ในความเป็นจริงของสังคมไทย ปัญหาคือว่า รัฐมักจะเอื้อประโยชน์ให้กับคนบางกลุ่มมากกว่าคนอีกบางกลุ่ม
สังคมไทยมีหลากหลายกลุ่ม แต่รัฐจะเอื้อกับบางกลุ่ม ไม่เอื้อกับบางกลุ่ม ดังนั้นปัญหานี้จึงเป็นว่า ถ้าเผื่อว่ากลุ่มบางกลุ่มขาดอำนาจในการต่อรองแล้ว สิทธิประโยชน์ที่รัฐมี ก็จะเอื้อให้กับบางคนเท่านั้น
ผมชำนาญเรื่องป่า จึงขอยกตัวอย่างเรื่องนี้ขึ้นมาให้เห็นชัดเจน อย่างเช่นว่า คนที่มีฐานะดีแต่ทำผิดกฎหมายป่าไม้ เช่นไปละเมิดพื้นที่ป่าเพื่อเอาไปทำเป็นรีสอร์ท เป็นต้น โอเค! รัฐก็ฟ้องศาล ศาลบอกว่าผิดกฎหมาย พอผิดกฎหมายแล้วก็เป็นคนผิด แต่ปรากฏว่ารัฐไปบอกว่า เขาลงทุนไปมากแล้ว ตกลงให้เขาเช่าต่อก็แล้วกัน อันนี้จะมีความหมายอะไรกับการที่ผิดกฎหมายตรงนั้น
สังคมไทยแปลกมาก กฎหมายกลับให้รางวัลกับคนทำผิด มันเป็นเรื่องประหลาดมากทำให้อาจารย์เสน่ห์พูดถึงว่า ต้องวิพากษ์นิติศาสตร์อย่างมาก เพราะเป็นวิธีคิดในระบบ ถ้าเผื่อคนจะทำดี คนจะรวมตัวรักษาป่า อันนี้ไม่ได้ผิดกฎหมาย เห็นไหมครับ อันนี้มันมาแปลกมากและผมก็งงๆอยู่เหมือนกันว่ามันยังไง
แต่เราลองคิดดูซิครับ ถ้าใครทำผิด-รับรางวัล กฎหมายเราให้รางวัลกับคนทำผิดตลอดเวลา คนทำผิด คอรัปชั่นอะไรต่างๆ คุณทำไปเป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องวัฒนธรรมภายในองค์กร อันนี้ก็เป็นปัญหาซึ่งยกตัวอย่างมาให้ดูก็คงจะเห็นแล้ว ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะว่า รัฐยังคงความคิดในเรื่องอำนาจนิยม ก็พยายามจะรักษาอำนาจเอาไว้ในฐานะอ้างความเป็นตัวแทนเป็นหลัก
แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เขาไม่ได้บอกว่ารัฐเป็นตัวแทนประชาชนอย่างเดียว แต่การใช้อำนาจนั้นต้องมีการมีส่วนร่วม ซึ่งอาจารย์เสน่ห์ได้พูดไว้เป็นปรัชญาเป็นเจตนารมณ์สำคัญ แต่ปรากฏว่าตรงนี้เขียนเอาไว้สองไพเบี้ย ไม่มีใครฟัง ไม่มีใครอ่าน ไม่มีใครรู้ ไม่มีใครนำไปปฏิบัติ ยังคงยึดถือธรรมเนียมปฏิบัติเก่าๆซึ่งเป็นปัญหาที่เราต้องมาเขียนรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ในแง่ที่ว่า ให้รัฐมีอำนาจ และรัฐก็พยายามจะรักษาอำนาจเอาไว้
อันนี้เห็นได้ชัดเจนจากกฎหมายป่าชุมชนที่เราร่วมกันผลักดันกันเป็นเวลานาน การที่กฎหมายป่าชุมชนยังไม่ออกสักที แสดงให้เห็นชัดเจนว่า เขาพยายามจะคงอำนาจอันนั้นไว้กับการจัดการป่า ซึ่งล้มเหลวมาตลอดร้อยปีที่ผ่านมา การที่จะให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลจัดการป่า บอกว่าไม่ได้ มันจึงคาเอาไว้ในรัฐสภา
สำหรับสิ่งนี้เป็นปัญหามายาคติที่ยึดว่า"รัฐเป็นตัวแทนของภาคประชาชน" รัฐจึงทำแทนหมด คนอื่นอย่าเกี่ยว ไม่ต้องเข้ามายุ่ง อันนี้เป็นมายาคติที่เราคิดว่ามันเป็นจริง คือหมายความว่า มันเป็นการอ้างถึงสิ่งที่มันขัดแย้งกับหลักกฎหมาย หลักธรรมะ หลักธรรมศาสตร์ คือขัดแย้งกับทุกหลักการ แต่ว่าจะทำซะอย่าง อันนี้ก็แย่และลำบากเหมือนกันที่เราจะบอกว่าสังคมของเราเป็นสังคมการเมืองประชาธิปไตย แต่ปรากฏว่าลักษณะอำนาจนิยมมีอยู่เต็มไปหมด อันนี้ก็ขัดแย้งในตัวเองและเป็นปัญหาที่สำคัญ
ประการที่สาม สังคมของเราเป็นสังคมลักษณะที่เข้าสู่ระบบทุนมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นเราก็จะยึดติดกับมายาคติที่ว่า "ตลาดเป็นกลไกที่สามารถจัดสรรทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน" อันนี้ก็เป็นมายาคติอย่างมาก เพราะว่า เราไม่ยอมรับว่าตลาดมันล้มเหลวได้ เราคิดว่าตลาดทำงานดีมาก มันก็ดีซึ่งผมก็ไม่ได้ว่าอะไร แต่มันก็มีล้มเหลวได้ไม่ใช่หรือ? การที่บอกว่าตลาดดีอย่างเดียวนั้นเป็นปัญหา เพราะที่มันล้มเหลวมันมี อย่างเช่น ปัญหาที่ดิน
เราบอกว่าตลาดจัดการเรื่องตลาดที่ดินดีมาก ถ้าใครอยากจะมีที่ดินก็จะมีได้ ใช้ได้ และก็บอกว่า ถ้าเผื่อมีตลาดแล้วก็สามารถจะซื้อขายที่ดินต่างๆได้ โอเค! เราก็ยอมให้ทำ สังคมไทยก็ยอมให้มีแบบนี้มาเป็นเวลานาน วันดีคืนดีปรากฏว่า มันโผล่ ตอผลุดขึ้นมาพบว่า ที่ให้ตลาดจัดการนั้นมันล้มเหลวโดยสิ้นเชิงเพราะว่า เวลานี้สังคมไทย ที่ดินราว 30 ล้านไร่ทิ้งไว้รกร้างว่างเปล่า ซึ่งเป็นที่ที่ดีที่สุด สมบูรณ์ที่สุดของสังคมไทย สามารถจะทำการผลิตได้ดี แต่เราปล่อยให้หญ้าขึ้น
การทำอย่างนี้ก่อให้เกิดผลกระทบ เพราะเท่ากับกดดันให้คนจนต้องไปเปิดพื้นที่ป่าเพิ่ม แล้วเอาพื้นที่ที่เฮงซวยที่สุดให้คนจน ในขณะที่ที่ดีที่สุดคนรวยเก็บดองเอาไว้เฉยๆเพื่อเก็งกำไร อย่างนี้เป็นต้น อันนี้แสดงว่า ตลาดมันต้องล้มเหลวสักอย่างหนึ่ง แล้วมันก็เป็นปัญหาต่อมาเพราะว่าการที่เราทำแบบนี้ เราลองนึกภาพดูว่า เมืองไทยเวลานี้ 320 ล้านไร่ เหลือพื้นที่ป่าเพียง 80 ล้านไร่เท่านั้นเอง แล้วคุณดูซิ ทิ้งเฉยๆ 30 ล้านไร่ ให้มันนอนอยู่เฉยๆเพื่อรอเก็งกำไร
ซึ่งที่ดิน 30 ล้านไร่นี้เราต้องแบกรับภาระ ไม่ใช่มันทิ้งไว้เก็งกำไรสำหรับลูกหลานแล้วเราไม่ได้แบกรับภาระ เราแบกรับภาระเพราะอันนี้คือที่เน่า ซึ่งมันติดอยู่ในธนาคารทั้งหลายแหล่ เราก็ต้องจ่ายดอกเบื้ยในรูปของภาษีอากร เพื่อชดเชยกองทุนอะไรต่างๆซึ่งมันตั้งขึ้นมาทั้งหลายแหล่ กองทุน สถาบันบ้าๆบอๆในการปรับปรุงอะไรต่างๆ ทั้งหมดนี้เราต้องจ่าย อย่าคิดว่านี้ทำเล่นๆ เราเป็นผู้ที่ต้องจ่ายในรูปภาษี ให้คนเอาที่ดินไปดองเล่น คล้ายๆกับรอให้ลูกหลานหรือเก็งกำไร
ดังนั้นสิ่งเหล่านี้เราต้องเข้าใจว่ามันมาพันกับเรา มันมากระทบกับเรา แต่เราก็วางเฉยเพราะไม่รู้เรื่อง หรือทำเป็นไม่รู้เรื่อง จริงๆแล้วเราติดอยู่ในมายาคติ ลึกๆสุดท้ายสุด ไม่ใช่ว่าเราไม่รู้เรื่อง แต่เราคิดว่าตลาดมันจะช่วยเราทุกอย่าง แก้ไขปัญหาให้เราทุกอย่าง แต่มันล้มได้ ต้องคิดว่ามันล้มได้
เมื่อก่อนนี้ผมไม่เชื่อ ผมคิดว่าคนซื้อที่ดินเก็บดองๆไว้ ที่ดินมันก็จะราคาดีขึ้นเรื่อยๆ เดี๋ยวนี้เราเริ่มรู้แล้วว่า ที่ดินมันตกได้เหมือนกัน ช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำ ที่ดินมันตกลงไป 30 กว่าเปอร์เซ็นต์ ไม่ใช่มันจะขึ้นไปเรื่อยๆอย่างเดียว ดังนั้น ตลาดมันมีสิทธิ์ล้มเหลว ถ้าเผื่อเราเข้าใจตรงนี้ เราจะหาวิธีแก้ไขปัญหาได้ดีมากขึ้น แต่ว่าเรายังยึดติดอยู่กับตรงนี้มาก ดังนั้นจึงมีปัญหาที่ทำให้เราไม่ใส่ใจในเรื่องสิทธิชุมชน
ความเข้าใจเรื่องสิทธิชุมชน
ต่อมาคือว่า ความเข้าใจในเรื่อง"สิทธิชุมชน" ในปัจจุบันมีปัญหาหลายอย่างก็คือว่า เรายังสับสนอยู่พอสมควร อันนี้ต้องยอมรับความจริงคือ ด้านหนึ่ง เราจะมองเรื่องสิทธิชุมชนในลักษณะที่เป็นนามธรรม เพราะคำที่บัญญัติเอาไว้ในรัฐธรรมนูญมันสั้น แต่ว่ามันมีรากฐานมาจากประวัติความเป็นมาของประสบการณ์ชีวิตในสังคม อย่างที่ท่านอาจารย์เสน่ห์ได้พูดไปแล้ว ดังนั้นการจะมาเขียนบรรยายให้มันเต็มบริบูรณ์ก็ยาก จึงทำให้คนที่สนใจจะผลักดันมองเรื่องของสิทธิชุมชนเป็นนามธรรม
ส่วนคนที่ปฏิบัติราชการ ผมเจอกับปัญหานี้มาเพราะเวลาที่ไปช่วยร่างเรื่องกฎหมายป่าชุมชน จะเจอกับราชการที่บอกว่า บอกผมมาซิว่า ไอ้ชุมชนของคุณนั้นมันตรงไหน บัญญัติมาเลย อันนี้เขาก็จะคิดแบบการตั้งหมู่บ้าน เอา 50 คนได้ไหม? จะเอา อบต. หรือจะเอาหน่วยที่มีอยู่แล้วซึ่งผมพูดเอาไว้ตั้งแต่ตอนแรก คิดอยู่แค่นี้ว่าจะเอาหน่วยไหน
หน่วยของชุมชน เป็นพัฒนาการของสังคมด้วย ไม่ใช่สิ่งที่ตายตัวอยู่กับที่ ถ้าเราไปบัญญัติว่าเฉพาะ อบต. ก็ซวยแล้ว เพราะในกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 46 บอกว่า ผู้คนที่รวมตัวกันเป็นชุมชน เขาไม่ได้บอกว่าขนาดเท่าไหร่ เขาไม่ได้บอกว่าชุมชนนั้นเป็นยังไงชัดเจน แต่อาจจะมีการเติมว่าดั้งเดิมเข้าไป เพื่อเป็นการย้ำว่ามันมีรากฐานมาตั้งแต่ในอดีตด้วย ไม่ใช่เฉพาะชุมชนที่เกิดขึ้นใหม่อย่างเดียว อันนี้ก็เป็นประเด็นหนึ่งซึ่งผมคิดว่ายังมีความสับสนวุ่นวายอยู่พอสมควร
นอกจากนั้น ในสังคมไทยจริงๆเนื่องจากเราเชื่อมั่นในตลาดมาก ก็จะมีปัญหาเข้าใจผิดๆว่าสิทธิชุมชนไปขัดขวางการพัฒนาทางเศรษฐกิจ เพราะเราจะพบว่าเวลาที่อ้างถึงสิทธิชุมชนทีไร จะเป็นการคัดค้านโครงการพัฒนาบางอย่างเสมอ อย่างนี้เป็นต้น ก็เลยเข้าใจผิดคิดว่า โครงการพัฒนาเหล่านั้นมันจะเอื้อให้ตลาดทำงานดีขึ้น ส่วนพวกที่มาคัดค้านก็คือพวกที่พยายามจะขัดขวางการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือการพัฒนาระบบตลาดที่จะทำให้เรามีการกินดีอยู่ดีมากขึ้นตามความคิดเชิงเศรษฐกิจ อันนี้ก็เป็นปัญหา
จริงๆแล้ว ผมบอกได้เลยว่า"สิทธิชุมชน" ซึ่งคนเข้าใจน้อย จะช่วยรักษาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ บนพื้นฐานของความเป็นธรรมและการบิดเบือน ซึ่งเดี๋ยวจะอธิบายต่อไปว่าตรงนี้หมายความว่าอะไร เพราะคนทั่วไปคิดว่ามันไปขัดขวางการพัฒนาทางเศรษฐกิจ เขาถึงไม่ค่อยอยากจะยอมรับ แต่จริงๆแล้วสิ่งที่สังคมควรจะเข้าใจมากขึ้นคือว่า ถ้ามีสิทธิชุมชนต่างหาก การพัฒนาทางเศรษฐกิจถึงจะเป็นธรรม ไม่ใช่เพียงเน้นแต่ตัวเลขของการเจริญเติบโต อย่างที่เราฝันหวานอยู่เวลานี้ว่าจะ 8%, 10% อะไรต่างๆ ก็ฝันไปเถอะ แต่ตัวเลขมันฟ้องว่าความลักลั่นในการถือครอง หรือในการรับประโยชน์ของการพัฒนาทางเศรษฐกิจ มันบิดเบือนสิ้นดี
ตัวเลขใหม่ๆที่ออกมาก็ชัดอยู่แล้วว่า ความบิดเบือนมันมากขึ้น ก่อนเศรษฐกิจตกต่ำ คนที่รวยที่สุด 20% ของประเทศไทย ถือครองทรัพยากรและความมั่งคั่งของสังคม ประมาณ 60% คนที่จนซึ่งอยู่ส่วนล่างของสังคม ถือครองทรัพยากรประมาณ 5% กว่าๆ
วันนี้เดี๋ยวนี้หลังจากรัฐบาลที่คิดว่ามีความสามารถในการจัดการทางเศรษฐกิจ ทำดีมากเลย จากเดิมที่ 20% บนถือครอง 60% เดิมนั้น เวลานี้ปาเข้าไป 65-70% แล้ว ส่วนคนจน 20% ล่างที่อยู่ต่ำสุดในสังคม จากเดิม 5% ตอนนี้เหลือ 3% กว่าๆ แล้วคิดว่าหากพัฒนามากขึ้น มันไม่ยิ่งหดลงเรื่อยๆหรือ
นายกฯ บอกว่า 8 ปีความยากจนจะหมดไป ก็หมดแน่ๆเพราะคนจนเหลือศูนย์ ไม่มีอะไรเลย มันไม่ได้หมายความว่าความยากจนนั้นจะหมดไป เอาแค่เรื่องเศรษฐกิจไม่นับเรื่องปัญหาสังคมอื่นๆที่คุณโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ได้ออกมาเตือนๆอยู่แล้วว่า เวลาคิดถึงความยากจน ไม่ใช่คิดแต่เพียงเรื่องเศรษฐกิจ ว่ามีเงินหรือไม่มีเงินเท่านั้น มันมีปัญหาเรื่องสิทธิและโอกาสอีกมากมาย ซึ่งเกี่ยวพันกับประเด็นทางสังคมที่ไม่ได้พูดถึง อันนี้จะเป็นปัญหาอย่างมาก
นอกจากความคิดที่ผมพูดแล้ว ทั้งหมดเหล่านี้รวมๆกันแล้ว มันมาขัดขวางทำให้เราไม่สนใจใยดีในเรื่องสิทธิชุมชน
แล้วสุดท้ายที่เป็นปัญหา ซึ่งคิดว่าสำคัญมากและจะขยายความต่อไปก็คือว่า เนื่องจากความคิดเรื่องสิทธิชุมชน ไม่สามารถเอาเรื่องสิทธิชุมชนทั้งกะบิไปพูดได้ แต่เราต้องพูดว่าในเงื่อนไขใด สิทธิชุมชนถึงจะปรากฏตัวออกมา ตรงนี้ที่เป็นประเด็นในแง่ที่ว่า ในปัจจุบันความเข้าใจเรื่องของความคิดที่จะทำให้สิทธิชุมชนปรากฏได้มันมีน้อย
ความคิดที่จะทำให้สิทธิชุมชนปรากฏได้ อย่างเช่น ในรัฐธรรมนูญเขียนว่า คนมารวมตัวกัน แต่การที่สิทธิชุมชนจะปรากฏได้ มันต้องมีแนวคิดหรือ concept ที่ทำให้คำนี้ปรากฏได้ แล้วต้องเอาไปบัญญัติได้ด้วย ไม่ว่าในกฎหมายที่ต่ำกว่านั้นก็ดี ไม่ต้องกฎหมายรัฐธรรมนูญซึ่งเขียนได้แค่นั้น แต่ต้องมาปรากฏในกฎหมายที่ต่ำกว่า อย่างน้อยที่สุดต้องมีการตัดสินอะไรที่ทำให้คำเหล่านี้มันปรากฏได้มากขึ้น ซึ่งการจะปรากฏคำเหล่านี้ต้องอาศัยการเคลื่อนไหวทางสังคมมาก
ที่ทำสำเร็จแล้ว ที่ชัดเจน มีอยู่อันเดียวคือการเคลื่อนไหวของชาวบ้านที่ปากมูล เคลื่อนไหวจนกระทั่งทำให้การที่เป็นผู้เสียหาย ต้องได้รับการชดเชย เมื่อก่อนเราจะชดเชยเฉพาะในเรื่องของที่ดิน แต่ความเคลื่อนไหวของชาวบ้านก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในแง่ที่ว่า เวลาคนเสียหายคุณต้องชดเชยอาชีพด้วย เพราะว่าปากมูลได้ไปทำให้คนบางส่วนไม่ได้ใช้ที่ดิน แต่เขาใช้น้ำและเขาจับปลา ดังนั้นการสูญเสียอาชีพประมง มันเป็นเรื่องที่จะต้องชดเชย คือเขาต้องมีสิทธิ์
ดังนั้น กลุ่มคนที่เคยทำประมง ซึ่งเมื่อก่อนเขาก็ไม่ได้ตั้งบ้านที่เป็นชุมชนชัดเจน เพราะเขามาจากหลายบ้านหลายที่ แต่การที่เขาเสียสิทธิ์ในการที่จะได้จับปลาตรงนั้นไป มันเป็นสิทธิชุมชน เป็นสิทธิร่วมกันของคนที่มีอาชีพเดียวกัน รัฐต้องชดเชย แนวคิดเกี่ยวกับการชดเชยอาชีพก็จะมาเป็นแนวคิดที่ทำให้ สิทธิชุมชนปรากฏเป็นจริงได้ในบางเงื่อนไข
ความคิดอย่างนี้ อย่างเรื่องการชดเชยอาชีพ มันสำคัญและจะต้องผลักดันให้สังคมเข้าใจสิ่งเหล่านี้มากขึ้น ถึงจะทำให้เกิดการใช้สิทธิ์บังคับให้เป็นไปตามสิทธิชุมชนเกิดขึ้นได้เรื่อยๆ
ที่พูดไปแล้ว กำลังบอกว่ามันมีอะไรบ้างที่ยังขัดขวาง ทำให้สิทธิชุมชนไม่สามารถปรากฏเป็นจริงได้ ซึ่งก็จะมีอยู่มากมายถ้าเราแจกแจงออกมา ทั้งหมดนี้ก็เป็นวิธีคิดต่างๆ ทั้งที่เป็นมายาคติ ทั้งที่เป็นความเชื่อมั่นบางอย่าง ซึ่งพยายามไม่อยากจะคลายอำนาจออกไป กับการที่สังคมไทยเองยังไม่สามารถทำให้เกิดสติปัญญาบางประการ ที่จะทำให้สังคมเข้าใจว่ามันมีความคิดบางอย่างที่จะทำให้สิทธิชุมชนปรากฏขึ้นมาเป็นจริงได้
อันนี้เรายังอ่อนอยู่ เป็นความอ่อนแอของสถาบันทางวิชาการที่ไม่ได้ใส่ใจในปัญญาทางด้านนี้ จึงทำให้คนไม่เข้าใจว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ ไม่ใช่เพียงทำในตัวรัฐธรรมนูญหรือตัวกฎหมายเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ต้องทำให้คำหรือตัวแนวคิดเหล่านี้เป็นที่เข้าใจในสังคมด้วย ถึงจะทำให้คนในสังคมยอมรับและบังคับใช้เป็นกฎหมายได้
ประการที่สอง คือ เนื่องจากสิทธิชุมชนเป็นนามธรรม มีเขียนในรัฐธรรมนูญไม่ยาวนัก ก็ทำให้เกิดความสับสนอยู่พอสมควร จึงอยากใช้เวลาเล็กน้อยเป็นการอธิบายว่า ความหมายหรือความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิชุมชน ควรจะมองอย่างไรในสังคมปัจจุบัน
สิทธิชุมชน ดังที่อาจารย์เสน่ห์ได้บอกแล้วว่ามีรากฐานมาจากสังคมในอดีต ในปัจจุบันต้องไม่ลืมว่าเราเป็นปัจเจกมากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งการพัฒนายิ่งทำให้เราเป็นปัจเจกตามตะวันตกมากขึ้นดังนั้นความเข้าใจของเราในเรื่องนี้จึงค่อยๆคลายลงไป จริงๆแล้วความหมายของเรื่องสิทธิชุมชน มันเป็นเรื่องของพลวัตความสัมพันธ์เชิงอำนาจ มันไม่ใช่เป็นหน่วยทางสังคมที่ตายตัว จะเอาสิทธิชุมชนไปเทียบกับเป็นเรื่องหมู่บ้านไม่ได้ เพราะว่ามันเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ที่มันเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางสังคม
ดังนั้น สิทธิชุมชนจึงเป็นความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงอยู่กับเรื่องอุดมการณ์ คุณค่า ศีลธรรม ในฐานะที่เป็นความชอบธรรมทางสังคมด้วย แล้วยังไปพันกับเรื่องโครงสร้างทางสังคมอื่นๆอีก ซึ่งโครงสร้างเหล่านี้ก็สามารถเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงได้อยู่เสมอ สิทธิชุมชนจึงไม่ได้ผูกติดอยู่กับหน่วยทางสังคมที่มีอยู่แล้ว จะเอาหน่วยหมู่บ้าน หน่วยองค์กร หน่วยอะไรต่างๆที่มีอยู่แล้วไปใช้เทียบเคียงว่าอันนี้คือหน่วยของสิทธิชุมชน มันไม่ได้
จริงๆแล้วเรื่องสิทธิชุมชน ก็เหมือนกับเรื่องอื่นๆที่เขียนว่า "สังคมดีไม่มีขาย ถ้าอยากได้ต้องร่วมสร้าง" อันนี้คืออย่างเดียวกัน สิทธิชุมชนไม่ได้มีอยู่แล้วซึ่งเราจะไปซื้อ จะไปเอา จะหยิบเอามาใช้ได้ตรงๆ ถ้าอยากได้ต้องผลักดัน เขียนไว้เฉยๆไม่ปรากฏ
เรื่องของสิทธิชุมชนเป็นเรื่องซึ่งต้องร่วมกันสร้างขึ้น ด้วยการปฏิบัติการต่อรอง ด้วยการต่อสู้ทางสังคม จนกว่าสังคมจะเกิดการยอมรับ เราจะเอาแต่ใจของตัวเราเอง บอกว่ามีแล้ว ต่อไปนี้ต้องบังคับใช้ เป็นไปไม่ได้ มันยังต้องขับเคลื่อนด้วยการต่อรองและการต่อสู้ทางสังคม หมายความว่าต้องมีการเคลื่อนไหวทางสังคมพอประมาณ ถึงจะทำให้เกิดอันนี้ขึ้นมา
สิทธิชุมชนเกี่ยวข้องกับสิทธิด้านอื่นๆ
เท่าที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์ ขณะที่สังคมไทยมีรากฐานจากสังคมเกษตรกรรมเป็นหลัก สิทธิชุมชนจะเกี่ยวข้องกับสิทธิอื่นๆอีกหลายตัว ตามคติที่มีอยู่ในเชิงคุณค่า เชิงศีลธรรมของสังคมของเราแล้วในท้องถิ่นต่างๆ คือ สิทธิชุมชน ถ้าเผื่อเป็นสังคมเกษตรกรรมเมื่อก่อน มันก็จะซ้อนอยู่ในเรื่องสิทธิต่างๆซึ่งผมศึกษามาแล้ว เช่น "สิทธิหน้าหมู่" คือสิทธิของคนที่จะได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันในป่า ในที่ดินอะไรต่างๆ หรือว่าสิทธิในเรื่องของ"สิทธิการใช้" อย่างเช่นว่า ถ้าเห็ดเกิดขึ้นที่ไหน เพราะเห็ดเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นมาในที่ดินของใคร คนที่ไม่ใช่เจ้าของที่ดินก็สามารถไปเก็บเห็ดในที่ดินของคนอื่นได้ เพราะเห็ดมันเป็นของเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ ไม่ใช่เจ้าของที่ดินเป็นคนเพาะมันขึ้นมา อันนี้เรียกว่า"สิทธิการใช้"
สิทธิเหล่านี้มันมาตามหลักในเรื่องที่ว่า ทุกคนควรมีสิทธิในการยังชีพ มีสิทธิในการที่จะมีชีวิต ก็เลยทำให้ความรู้สึกที่ว่า ถ้าเห็ดขึ้นในบ้านฉัน คุณจะมาเก็บไม่ได้ อันนี้ไม่ถูกต้อง เพราะว่าเราควรจะคิดว่าทุกคนควรมีสิทธิ์ที่จะมีชีวิตอยู่ได้ เนื่องจากเห็ดเป็นของที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ซึ่งผมก็เจอเอง เรื่องไข่มดแดงก็เหมือนกัน
อันนี้ผมเล่าตลอดเวลา คือ มดแดงมันมาทำรังบนต้นมะม่วงบ้านเรา ต้นมะม่วงเป็นของเรา เราปลูก เราเก็บได้เฉพาะลูกมะม่วง แต่ไข่มดแดงบนต้นมะม่วงเป็นของทุกคน ใครอยู่ที่ไหนก็มาเก็บได้ ไม่ใช่ว่าเจ้าของบ้านจะกันรั้วแล้วห้ามคนอื่นมาเก็บ อันนี้ไม่ได้ เพราะมันเป็นศีลธรรมทางสังคมที่เขาต้องเน้นเรื่องการยังชีพ ดังนั้น ที่ใครก็เก็บ อันนี้เราเรียกว่า"สิทธิการใช้"
ดังนั้นในสังคมเกษตรกรรม เรื่องของสิทธิชุมชน การที่ชุมชนสามารถทำอย่างนี้ได้มันเป็นระบบคุณค่าทางศีลธรรม ซึ่งสังคมได้ให้ความสำคัญกับการยังชีพ เขาก็เน้นตรงนี้
ทีนี้เรามาสังคมสมัยใหม่ ความสัมพันธ์ทางสังคมมีความหลากหลายซับซ้อนมากขึ้น ดังนั้นสิทธิชุมชนจึงค่อยๆขยายตัวออกไป เกี่ยวข้องกับสิทธิอื่นๆอีกเยอะแยะไปหมด ตามความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนแปลงไป อย่างเช่น สิทธิในความเป็นมนุษย์หรือศักดิ์ศรีของความเป็นคน อันนี้ก็เป็นสิทธิชนิดใหม่ ซึ่งเมื่อก่อนเราคิดว่าเป็นเรื่องซึ่งทุกคนคิดกันอยู่แล้ว ก็ไม่ต้องพูดกันมาก แต่สังคมปัจจุบัน ขณะที่มีการทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มากขึ้น เราถึงต้องมาพูดกันว่า คุณต้องเคารพศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ เพราะเดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมีใครเคารพ
เมื่อก่อนไม่มีใครพูดเรื่องนี้ เพราะเขาเคารพกันอยู่แล้ว คือทุกคนเป็นญาติพี่น้องกันหมดก็ไม่มาพูดเรื่องนี้ แต่พอตอนนี้ถ้าเผื่อเราไม่พูด คนก็ไม่เข้าใจ ดังนั้น สิทธิประเภทต่างๆเหล่านี้จึงค่อยๆเกิดขึ้นท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสังคม เช่นยกตัวอย่าง สิทธิในการกำหนดวิถีชีวิตของตนเอง อันนี้ก็สำคัญ อย่างเช่น
เราจะไปบอกว่าทุกคนต้องพัฒนาอย่างเดียวกันหมด ทุกคนต้องมีรถยนต์กัน ทุกคนต้องใช้ไฟฟ้า ทุกคนต้องใช้แก๊ส แล้วถ้าเผื่อมีคนบอกว่า ผมไม่เอาด้วย ผมอยากจะอยู่อย่างนี้ อันนี้ไม่ได้ละ เราต้องตีหัวมันจนกว่ามันจะยอม อย่างเช่น กรณีท่อแก๊สที่ภาคใต้ เขาบอกว่าอยากจะอยู่เลี้ยงนกเขา อยากจะอยู่แบบชุมชนมุสลิม บอกว่าไม่ได้ อันนี้ก็เท่ากับว่าเราไม่มีสิทธิในการกำหนดวิถีชีวิตของตนเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญ มันต่อเนื่องมาจากเรื่องของศักดิ์ศรี เราอยากจะอยู่อย่างอื่นซึ่งไม่เป็นไปตามกระแสไม่ได้หรือ อันนี้ก็เป็นศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ เพราะเราอยากจะอยู่อย่างนั้น
หรือสิทธิในการมีตัวตนในด้านต่างๆ อย่างเช่น สิทธิในการรวมตัวกันในฐานะที่เป็นเพศที่สาม ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน เขาอยากจะสร้างตัวตนขึ้นมาซึ่งไม่เคยมีมาก่อน และเขาอยากจะอยู่อย่างนั้นบ้าง ไม่อยากจะเป็นไปตามนี้ หรือสิทธิของผู้หญิงซึ่งเมื่อก่อนใช้นามสกุลของสามี เดี๋ยวนี้อยากจะใช้นามสกุลตัวเอง ก็เป็นเรื่องใหม่ๆซึ่งพวกนี้มีขึ้นมาเรื่อยๆ
หรือสิทธิในการมีส่วนร่วม สิทธิในการที่จะคัดค้าน สิทธิในการดื้อแพ่งซึ่งไม่ยอมทำตามตัวบทกฎหมายบางอย่าง หรือสิทธิในการตรวจสอบถ่วงดุล หรือในเรื่องสำคัญเกี่ยวกับสิทธิในการเป็นผู้เสียหาย คือประชาชนจะต้องมีสิทธิอันนี้ในฐานะที่เป็นผู้เสียหายได้ ถ้าเราเสียหายไม่ได้ รัฐจะมาบอกว่าคุณจะต้องเป็นคนที่ยอมเป็นผู้เสียสละ พอการพัฒนามาทำลายชุมชน ก็บอกว่าคุณจะต้องเสียสละเพื่อส่วนรวม ไม่ว่าจะเป็นพวกทำเขื่อน หรือท่อแก๊ส ชาวบ้านจะต้องเสียสละเพราะทำเพื่อส่วนรวม อ้างแต่ให้เสียสละยันเลย
คนต้องเสียสละบ้าง แต่เมื่อเราเสียสละได้ ก็ต้องเป็นผู้เสียหายได้ ไม่ใช่จะเอาด้านเดียว สิทธิมันเป็นเรื่องสองด้าน ไม่ใช่ด้านเดียวตลอดเวลา
แล้วก็สิทธิที่จะได้รับการชดเชยจากการสูญเสียอาชีพ อันนี้ก็เริ่มจะเกิดขึ้นมาแล้วจากการเคลื่อนไหว หรือสิทธิในการเคลื่อนไหวที่จะต่อสู้ เป็นต้น คือหมายความว่า สิทธิชุมชนไม่ได้อยู่โดดๆ มันไปพันกับสิทธิอื่นๆมากมายไปหมด ดังนั้นถ้าเราดึงมาแต่เพียงอันเดียว เราอาจจะมองไม่เห็น แต่ที่มันบังคับใช้ไม่ได้และมีปัญหา ก็เพราะว่าเราไม่ได้มองเรื่องสิทธิชุมชนในฐานะที่เป็นความเชื่อมโยง กับสิทธิในการอยู่ในฐานะที่เป็นมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีในรูปแบบต่างๆ ซึ่งจะต้องสถาปนาหรือผลักดันความเข้าใจของความเชื่อมโยงเรื่องสิทธิชุมชน กับสิทธิอื่นๆให้มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเราก็ดำเนินการอยู่แล้ว แต่มันยังไม่เพียงพอที่จะชี้ให้เห็นอย่างชัดเจน
เพราะเวลาเราพูดถึงสิทธิใดสิทธิหนึ่ง เราจะพูดถึงสิทธินั้นๆแบบโดดๆ หาความเชื่อมโยงอะไรไม่ได้ เพราะกฎหมาย positivism ดังที่ท่านอาจารย์เสน่ห์พูดไปแล้ว มันจะมองตามตัวบทเป็นเรื่องๆ ไม่มีความสนใจในการเชื่อมโยง ตรงนี้ก็เลยทำให้สิทธิชุมชน ซึ่งเป็นสิทธิของการเชื่อมโยงมันก็เลยหลุดออกไปจากความเข้าใจทางกฎหมาย
ดังนั้น ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ก็เสียเวลาเปล่า เพราะพวกนี้ก็มาจากศาลฎีกาทั้งนั้น เขาเป็นศาลมาตั้ง 40 ปี จับมานั่งอยู่ศาลรัฐธรรมนูญ ก็ยังคิดอย่างศาลเดิมอยู่ ดังนั้นจึงต้องมีการเปลี่ยนองค์ประกอบอะไรบางอย่าง
สิทธิชุมชนกับการเกี่ยวพันถึงอุดมการณ์ด้านอื่นๆ
นอกจากสิทธิชุมชนจะพันกับเรื่องสิทธิทางด้านอื่นๆ มันยังไปเกี่ยวพันกับอุดมการณ์และคุณค่าอื่นๆ ซึ่งเกี่ยวพันกับเรื่องการสร้างความชอบธรรมอีกหลายตัว ยกตัวอย่างเช่น มันไปพันกับเรื่อง"ทุนทางสังคม"
ถ้าเราไม่เข้าใจว่าที่ดินเป็นทุนของสังคม คิดแต่เพียงว่าเป็นของข้า ข้าจะทำอะไรก็ได้ อันนี้ไปไม่รอด. ที่ดิน ถึงแม้ว่าเราให้โฉนดเป็นของปัจเจก แต่แท้จริงแล้วมันเป็นสมบัติร่วมกันของสังคม ถ้าคุณให้ไปแล้วและไม่ใช้ เอาไปแล้วทิ้งให้รกร้างว่างเปล่า มัวแต่เก็งกำไรกันอยู่ ผลกระทบมันมีต่อสังคม คุณเป็นแต่เพียงผู้ดูแลแทนสังคมตามที่กฎหมายมอบให้ เพราะเขาบอกเลยว่า ถ้าคุณไม่ใช้ 10 ปี ในมาตรา 6 รัฐมิสิทธิ์เอาคืนได้ อันนี้ก็หมายความว่าเขาให้คุณเอาไปใช้ ถ้าไม่ใช้เขาเอาคืนได้ แต่มาตรา 6 นี้ไม่เคยใช้
อันนี้เป็นเรื่องน่าแปลก คนผิดกฎหมาย คล้ายๆกับได้รับแต่รางวัล อันนี้เป็นเรื่องของเมืองไทยอย่างที่บอกเอาไว้แต่ต้นแล้ว แต่คนที่อยากจะทำดีกลับไม่ได้รับรางวัล ซ้ำร้ายถูกตีหัว อันนี้ก็เป็นปัญหามาก
นอกจากทุนทางสังคมแล้ว ทุนทางชีวิตเรื่องภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมไปถึงเรื่องเกี่ยวกับความยั่งยืนทางธรรมชาติและสังคม ความเป็นธรรมทางสังคม ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ตลอดจนวิธีคิดใหม่ๆที่เรากำลังนำเข้ามาแนะนำแก่สังคมไทย เช่นเรื่องของ"ประชาสังคม"บ้าง เรื่อง"ธรรมรัฐ"บ้าง พวกนี้เกี่ยวข้องกันทั้งนั้น แต่เวลานี้เราเป็นพวก lip service พูดแต่ปาก พูดจนคล่อง ประชาสังคมบ้าง ธรรมรัฐบ้าง แต่ไม่รู้แปลว่าอะไร
ความคิดเรื่องสิทธิชุมชนไปพันกับเรื่องพวกนี้ด้วย ถ้าความคิดพวกนี้ยังไม่ชัดเจน สิทธิชุมชนจะไม่ปรากฎให้เห็นชัดเจนได้ในทางการบังคับใช้ตามกฎหมาย ผมพูดถึงว่าจะเอาสิทธิชุมชนมาบังคับใช้ตามกฎหมาย มันยังทำไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่นๆที่จะตามมาก็ตาม ดังนั้นในปัจจุบัน พูดง่ายๆคือว่า อุดมการณ์ สิทธิ และคุณค่าต่างๆซึ่งพูดมาแล้ว มันยังเป็นวาทกรรม ยังเป็นการพูดกันในวงวิชาการซึ่งค่อนข้างจำกัด และมีผู้สนใจทำความเข้าใจน้อยมาก เพราะเราไม่รู้ว่าอันนี้มันมีผลกระทบกับเราอย่างไร? ดังนั้น จึงยังต้องการการเคลื่อนไหว ยังต้องอธิบายให้สังคมเข้าใจอีกมาก จนกว่าเรื่องสิทธิชุมชนจะสามารถมีพลังและทำให้เป็นจริงได้ในสังคมไทย
สิทธิชุมชนเป็นเรื่องการเปิดพื้นที่ใหม่ทางสังคมการเมือง
ตามนัยะดังกล่าวที่พูดมาแล้ว สิทธิชุมชนผมถือว่าเป็นเรื่องการเมือง เป็นเรื่องของการเปิดพื้นที่ทางสังคม อันนี้สำคัญมากเพราะว่า คือเราคิดว่าการเมืองของเรามีแต่การเลือกตั้ง จริงๆแล้วการเมืองเป็นเรื่องของพื้นที่ทางสังคมขนาดใหญ่ เราจะไม่ยอมให้กลไกทางการเมืองผูกขาดพื้นที่นี้อย่างเดียว เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดไว้แล้วว่า ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในพื้นที่ทางการเมือง ไม่ใช่ 4 ปีไปลงคะแนนเสียงครั้งหนึ่งเท่านั้น
แต่ตรงนี้จะเป็นไปไม่ได้ถ้าหากว่าพื้นที่ทางการเมืองเหล่านี้ถูกปิด และสิทธิชุมชนมันพันกับพื้นที่นี้ คือพันกับพื้นที่ทางสังคมที่จะเปิดขึ้นมาใหม่ๆเหล่านี้ เพราะว่าพื้นที่เหล่านี้มันเป็นพื้นที่ของการแสดงความเป็นมนุษย์ แล้วมันจะแสดงได้ก็ต่อเมื่อได้เปิดให้มันมีการเคลื่อนไหวทางสังคม ถ้าเราบอกว่าอันนี้เดินขบวนไม่ได้ ก็เท่ากับปิดพื้นที่ แน่นอน การเคลื่อนไหวทางสังคมทำได้หลายรูปแบบ การรวมตัวกันเพื่อคัดค้านก็เป็นรูปแบบหนึ่ง
ดังนั้น การที่จะต้องพัฒนาให้เกิดพื้นที่มากๆ ต้องอาศัยความคิดซึ่งผมว่าไปแล้วหลายอย่าง เช่น ทุนของชีวิต ทุนทางสังคม ทุนทางวัฒนธรรม อะไรต่างๆเหล่านี้ที่จะเข้ามามีบทบาทมาก แต่ว่าสิ่งเหล่านี้เองยังไม่เป็นที่เข้าใจอย่างชัดเจน ดังนั้น สิทธิชุมชนในสังคมจึงยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะมันต้องมีชีวิตเชื่อมโยงกับความคิดเหล่านี้อยู่
ถ้าหากเราสามารถเปิดพื้นที่ของส่วนรวมให้มากขึ้นได้มากเท่าไหร่ ความเป็นไปได้ในเรื่องของสิทธิชุมชนในสังคมไทยจึงจะเกิดขึ้นได้
แต่ในปัจจุบันเราจะเห็นได้ว่า แนวทางของผู้มีอำนาจในรัฐบาลจะทำอะไรที่สวนกับที่ผมว่าโดยตลอดหมด ไม่ว่าเรื่องอะไรทั้งนั้น พูดนโยบายทุกอันสวนทางหมดเลย อย่างเช่น ผมบอกว่าต้องเปิดพื้นที่ของส่วนรวมมากขึ้น เพื่อให้สิทธิชุมชนปรากฏตัว นโยบายของรัฐเป็นอย่างไร นโยบายของรัฐคือเปลี่ยนทรัพย์สินเป็นทุน
นโยบายเปลี่ยนทรัพย์สินเป็นทุน เป็นการเปลี่ยนทรัพย์สินของส่วนรวมให้เป็นของส่วนตัวมากขึ้นเรื่อยๆ อันนี้ก็ขัดแย้งแล้ว ถ้าเป็นแบบนี้ก็หมายความว่าทำลายสิทธิชุมชนด้วย แต่ไม่เห็นมีใครบอกเลยว่าอันนี้ขัดกับรัฐธรรมนูญ
อันนี้ขัดกับรัฐธรรมนูญในแง่ที่ว่า ถ้าเราต้องการจะให้เกิดสิทธิชุมชน เราจะไปเปลี่ยนทรัพย์สินซึ่งเป็นของส่วนรวมอยู่แล้วเพื่อเป็นของส่วนตัวไม่ได้ แล้วปัญหานี้มีผลกระทบอย่างแรง เพราะคนจนพึ่งพื้นที่ส่วนรวมมาก เช่นว่า เขาจะขายของที่นั่นที่นี่ที่เรามี บนฟุตบาทเป็นที่ส่วนรวม แต่แน่นอนมันก็มีอำนาจมืดมาเก็บค่าต๋งไปอะไรก็แล้วแต่ แต่อย่างน้อยที่สุดก็ยังดี ยิ่งคนจนเท่าไหร่ เขาพึ่งตลาดได้น้อย เขาต้องพึ่งพื้นที่ส่วนรวมนี้มาก
คนจนที่อยู่ได้ทุกวันนี้ต้องพึ่งแม่น้ำ เมื่อไหร่ที่พวกเขาจับปลาไม่ได้ ถ้าเราบอกว่าลำน้ำนี้เป็นของบ้านนั้น หรือทะเลเป็นของคนนี้ เป็นของคนนั้น ซวยเลยครับ คนจนจับปลาตรงไหนไม่ได้ แล้วปลามันเป็นอาหารขั้นต่ำสุด ขี้หมูขี้หมาไม่มีจะกิน อย่างน้อยจับปลากินได้ก็พอเอาตัวรอดได้ ถ้าขาดตรงนี้ไปก็แย่
ดังนั้น การที่รัฐบาลมีนโยบายในการสวนทางกับความคิดสิทธิชุมชนตลอดเวลา ในแง่ที่ว่าไปปิดพื้นที่ส่วนรวมของทุกคน ซึ่งคนส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาอาศัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนจนที่ผมว่า อันนี้เป็นเรื่องที่ยากลำบากซึ่งเราจะต้องชี้ตรงนี้ให้ชัดเจน มิฉะนั้นแล้ว นโยบายที่ออกมาแต่ละอัน มันล้วนแล้วแต่… พูดง่ายๆ นอกจากจะไม่ส่งเสริมแล้ว ยังทำลายอย่างจะแจ้งเยอะมาก
อันนี้เป็นเพราะว่าเราไม่เข้าใจความหมายที่ชัดเจน เราดูความหมายแยกออกมาต่างหาก พอพูดถึงเรื่องสิทธิชุมชน ก็พูดออกมาต่างหาก ไม่ได้เห็นว่าสิทธิชุมชนขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของความเข้าใจสิทธิประเภทอื่นๆอีกมหาศาล อันนี้ต้องเอาเข้ามาเชื่อมโยง และต้องเข้าใจในสภาวะความเป็นจริงของปัจจุบันด้วย ไม่เช่นนั้นแล้วมันก็ผลักดันไม่ได้
สิทธิชุมชนเป็นสิ่งที่จะต้องสร้าง
เมื่อพูดเรื่องนี้ก็รู้สึกหดหู่สำหรับผู้ที่จะผลักดันในเรื่องนี้ แต่เราก็ต้องเข้าใจว่า ปัญหาเรื่องนี้ไม่ใช่เป็นปัญหาของเราอย่างเดียว มันเป็นปัญหาที่ว่าสังคมยังไม่ค่อยเข้าใจ ดังนั้นจึงต้องมีการเคลื่อนไหวเพื่อสร้างให้สิทธิชุมชนเป็นจริง ผมบอกแล้วว่า สิทธิชุมชนไม่ใช่สิ่งซึ่งมีอยู่แล้ว มันต้องสร้างให้เกิดความเข้าใจ มันมีอยู่แล้วบ้าง แต่เนื่องจากสังคมมีความเปลี่ยนแปลงไป มันต้องมีสิทธิชุมชนประเภทอื่นๆ ใหม่ๆ ขึ้นมาอีกมาก ซึ่งอันนี้ต้องอาศัยการสร้างและการผลักดันให้เกิดขึ้น
แล้วถ้าถามว่า เมื่อเป็นเช่นนี้เราจะทำอะไรได้บ้าง? ไม่ใช่บ่นอย่างเดียว ผมคิดว่า
ประการแรก ต้องผลักดันให้เกิดกฎหมายเชิงซ้อน เพราะผมบอกแล้วว่าเราติดอยู่ในมายาคติเชิงเดี่ยว กฎหมายเชิงซ้อนก็หมายความว่า กฎหมายปัจจุบันเราถือว่าเป็นกฎหมายเชิงเดี่ยว ส่วนกฎหมายเชิงซ้อนนั้น… จารีตประเพณีก็ถือว่าเป็นกฎหมายชนิดหนึ่ง มันควรจะต้องสามารถซ้อนอยู่ในกฎหมายอื่นๆได้ด้วย แล้วกฎหมายของเรานั้น ไม่ใช่ว่าจู่ๆเราไปลอกกฎหมายตะวันตกมาทั้งหมด มันยังมีบัญญัติอื่นๆที่ยังอยู่ไม่ได้หายไปไหน อย่างเช่น กฎหมายตราสามดวง กฎธรรมศาสตร์อะไร มันยังอยู่ แต่เนื่องจากว่าระบบกฎหมายของเราเป็นกฎหมายเชิงเดี่ยว เราก็ไม่ยอมรับการดำรงอยู่ของความคิดทางกฎหมายชนิดอื่นๆซึ่งมีอยู่แล้ว
การที่เราไม่ใส่ใจเรื่องกฎหมายเชิงซ้อน มันทำให้ความคิดในเรื่องของการมีส่วนร่วม สิทธิในการเป็นผู้เสียหายเกิดขึ้นไม่ได้ อย่างที่ผมบอก ถ้าเราใช้กฎหมายเชิงซ้อนก็หมายความว่า คนหรือชุมชนสามารถแสดงตนเป็นผู้เสียหายได้ อย่างเช่นว่า คุณจะมาสร้างโรงไฟฟ้าใช้พลังงานถ่านหิน ต้องเดินขบวนกัน เสียเวลานานกว่าจะทำความเข้าใจ แท้จริงแล้วตรงนั้นก็คือสิทธิของชุมชนในฐานะที่เป็นผู้เสียหาย ถ้าคุณเป็นผู้เสียหาย คุณจะต้องสามารถแสดงตนเป็นผู้เสียหายได้
อันนี้เป็นการใช้กฎหมายเชิงซ้อน แต่เราไม่มีความคิดเรื่องนี้ใส่อยู่ในวิธีคิดของกฎหมายเชิงเดี่ยว มันจึงทำให้สิทธิประเภทนี้เกิดขึ้นไม่ได้ อันนี้เป็นปัญหาอย่างมาก
แล้วถามว่าในสังคมไทยมีกฎหมายเชิงซ้อนใช้อยู่หรือเปล่า อันนี้มีการใช้อยู่เต็มเลยครับ แต่มันเลือกปฏิบัติไง คือบางอันเป็นประโยชน์มันใช้ อย่างเช่น เรื่องของกฎหมายผังเมือง อันนี้เห็นชัด กฎหมายผังเมืองบอกว่า ถึงแม้คุณถือครองที่ดินอยู่เป็นสมบัติส่วนตัว ผังเมืองบอกว่า ถ้าที่ดินของคุณเกิดอยู่ในเขตพื้นที่สีเขียว รัฐบอกว่าห้ามคุณทำอะไรตามใจชอบ คุณจะไปทำเป็นเขตพาณิชย์หรือสร้างโรงงานอุตสาหกรรมไม่ได้ อันนี้เชิงซ้อนแล้ว
เพราะกฎหมายอันหนึ่งบอกว่า คุณมีสิทธิเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในพื้นที่ของตัวเอง แต่ว่ามันมีกฎหมายอีกอันหนึ่งออกมาลบล้างสิทธิอันเดียวกันนั้น เป็นการยกและเพิกถอนสิทธิ์ ตามที่สังคมคิดว่ามีประโยชน์มากกว่า คือเอาไปทำพื้นที่สีเขียว
เพราะฉะนั้น มันมีการใช้หลักกฎหมายเชิงซ้อนอยู่ ซึ่งพื้นที่ภาคใต้ 4 จังหวัด เป็นชาวมุสลิมอยู่อาศัยเป็นส่วนใหญ่ เราก็ใช้กฎหมายไทยและกฎหมายมุสลิมซ้อนกันอยู่ว่า ถ้าเป็นเรื่องครอบครัว เรื่องศาสนา ใช้กฎหมายมุสลิมบังคับ แต่เป็นเรื่องอื่นใช้กฎหมายส่วนรวมบังคับ
ที่ผมพูดว่าหลักกฎหมายเชิงซ้อน ในเมืองไทยนักนิติศาสตร์ไม่เข้าใจ ไม่เคยเรียน ไม่รู้เรื่อง เท่าที่ทราบทั่วโลกเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ มีผลงานทางวิชาการ มีวารสาร มีสมาคม มีการพูดถึงเรื่องนี้ในการเรียนการสอน แต่ของเราเรียนกฎหมายอย่างไรไม่ทราบ หลุดไปเฉยๆ เพราะฉะนั้น คนจึงไม่เข้าใจ แต่มิได้หมายความว่าไม่มีการใช้ มันมีการใช้อยู่ แต่รัฐจะเลือกใช้ในอันที่ตนได้ประโยชน์ ส่วนอันที่จะทำให้ประชาชนได้เห็นเรื่องสิทธิชุมชนขึ้นมา ไม่เอามาใช้
ดังนั้น สิ่งที่ผลักดันจึงไม่เป็นเพียงอุดมคติ แต่เป็นหลักการที่มีใช้อยู่แล้วในสังคมไทย ซึ่งถูกเลือกใช้ เพราะฉะนั้นจะต้องมีการผลักดันให้มีการนำเอากฎหมายเชิงซ้อน กลับมาใช้อย่างเป็นกิจลักษณะ แล้วก็ครอบคลุมมากขึ้น ส่วนจะทำอย่างไรเป็นเรื่องรายละเอียด แต่จะต้องมีหลักคิดนี้เสียก่อน ถ้าปราศจากหลักคิดดังกล่าวก็ทำไม่ได้
ประการที่สอง เนื่องจากสิทธิชุมชนไม่ใช่สิทธิลอยๆอยู่ ที่มันไปพันกับเรื่องซึ่งสำคัญมากที่สุดคือ มันไปพันกับเรื่องของกลไกเชิงโครงสร้างอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลไกเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ อันนี้สำคัญมาก เพราะอะไร ถ้าเราผลักดันสิทธิชุมชนไปแทบตาย ปรากฏว่ากลไกเชิงโครงสร้างยังอยู่เหมือนเดิม สิทธิชุมชนเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะกลไกเชิงโครงสร้างที่มีอยู่ทุกวันนี้ มันบิดเบือนสารพัด คือบิดเบือนจนทำให้ดูดเอาส่วนที่เป็นสมบัติของเรา กลายไปเป็นสมบัติของคนอื่นไปจนหมด
ในระบบตลาด มันมีกลไกที่รัฐเผด็จการออกมาตรการบิดเบือนไว้เต็มไปหมด มีหลายเรื่อง อันที่จริงมีเป็นร้อยเป็นพันเรื่อง ยกตัวอย่างเช่น เรื่องนโยบายที่รัฐให้ประชาชนต้องซื้อน้ำตาลในราคาที่รัฐบาลกำหนด ซึ่งตอนนี้เราถูกกำหนดให้ต้องซื้อในราคา 13-14 บาท ตลาดโลกราคาน้ำตาลทรายเพียง 5 บาทเท่านั้น รัฐก็บอกว่า การที่คนไทยต้องซื้อน้ำตาลแพงเพราะ เราต้องการจะอุดหนุนให้อุตสาหกรรมน้ำตาลอยู่ได้ ให้คนทำไร่อยู่ได้ ให้คนงานมีงานทำ แต่ลองไปดูคนงานไร่อ้อยอยู่เหมือนหมูเหมือนหมา ไปเอามาจากภาคอีสาน ใส่รถบรรทุกแล้วเอาไปวางที่นั่น
พูดง่ายๆก็คือว่า เราไปอุดหนุนเฉพาะอุตสาหกรรมเท่านั้นเอง แต่ไม่ได้อุดหนุนคนทั้งหมด ซึ่งถ้าเผื่อเราเปลี่ยนเป็นราคาน้ำตาล 5 บาท ถ้าเผื่อว่าอุตสาหกรรมของเราเฮงซวย อุตสาหกรรมของเราแย่ ต้องล้มมันไปครับ ทำไมต้องรักษามันไว้ เพราะเป็นของไม่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากเราบอกว่า ระบบตลาดต้องผลักดันไปสู่เป้าหมายที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ประโยชน์สูงสุด อ้นนี้ไม่เห็นทำ มีแต่จะรักษาอุตสาหกรรมห่วยๆเอาไว้
โรงงานน้ำตาลซื้อเครื่องจักรราคาถูกจากไต้หวัน เป็นเครื่องจักรมือสอง แล้วก็ซ่อมกันอยู่นั่น ดังนั้นก็ไม่มีทางเพราะเราไม่ได้เน้นเรื่องประสิทธิภาพ เราเพียงพูดแต่ปาก ดังนั้นจึงเป็นปัญหา ทำให้ประชาชนคนไทยต้องแบกรับภาระอีกตั้งเกือบ 10 บาทฟรีๆ ไม่รู้ไปเข้ากระเป๋าใครบ้าง พวกที่มันบิดเบือนอะไรต่างๆนี้
ดังนั้นที่เราจะมาทำนโยบายการเอื้ออาธรณ์อะไรต่างๆ หรือโครงการหมู่บ้านละล้านส่งเข้าไป ไปไม่รอดหรอกครับ เพราะมันบิดเบือนทั้งหมด คุณเอาไปล้านบาท แต่ต้นทุนของคุณเวลาจะทำขนมอะไรขายที่ต้องใช้น้ำตาล ก็ถูกดึงไปแล้ว เพราะต้นทุนของคุณจะต้องเพิ่มขึ้น ถ้าเผื่อน้ำตาลทรายกิโลละ 5 บาท ก็จะดีขึ้น ดังนั้นจึงเป็นการแก้ไขผิดจุด เป็นการไปแก้ที่ปลายเหตุในการผลักดันทุน
อันนี้เป็นการพยายามจะไปเร่งเศรษฐกิจ เป็นการผลักดันให้เงินไปกระจายอยู่ในหมู่บ้านมากขึ้น แต่ทำอย่างนั้นอย่างเดียว ทำมาๆ 2-3 ปี ไม่ว่าอะไร แต่ถ้าทำถึง 8 ปีก็ซวยซิครับ เพราะว่าเรื่องสำคัญยังไม่แก้ แต่ไปแก้สิ่งที่ผมเรียกว่าปัญหาตบยุง เจ็บที่ไหนก็ตบที่นั่น อันนี้ก็ตบกันตายทั้งตัว แต่ตัวสาเหตุที่ทำให้เกิดยุงไม่ได้ทำอะไรเลย
ถ้าทำแบบนี้ สิทธิชุมชนเกิดขึ้นไม่ได้เพราะว่า จะสร้างให้ชุมชนเข้มแข็ง ปรากฏว่ายิ่งทำก็ยิ่งเป็นการเตะหมูเข้าปากหมา อย่างเช่นโครงการแปลงทรัพย์สินเป็นทุนอะไรต่างๆเหล่านี้ สิ่งเหล่านี้ทั้งหมดมันเป็นการบิดเบือนเชิงโครงสร้างทั้งสิ้น ถ้าเผื่อเราไม่เข้าไปจัดการ มันก็ไม่ก่อให้เกิดอะไรขึ้นมาได้
ถ้าเราปล่อยให้โครงสร้างทีบิดเบือนนี้ให้คงอยู่ มันก็จะทำให้การกระจายความมั่งคั่งของสังคมมันบิดเบือนด้วย หมายความว่าเกิดช่องว่างของรายได้อย่างที่เราพูดถึงกัน แล้วพอเกิดช่องว่างมาก และสำทับไปอีกว่า โครงการของรัฐเกี่ยวกับการพัฒนาเรียกร้องให้ประชาชนเสียสละ คือคนจนต้องเสียสละก่อน เสียสละมาโดยตลอด และคุณไปบิดเบือนเชิงโครงสร้างร้อยแปด แล้วก็ยังไปเรียกร้องให้เสียสละอีก อันนี้เมื่อไหร่ที่ช่องว่างมันจึงจะหดแคบเข้า
เพราะการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจหรือการสร้างความเจริญให้กับประเทศชาติ มันขึ้นอยู่กับการที่ว่าทำให้ประชาชนได้รับส่วนแบ่ง จากการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนามากน้อยแค่ไหน ไม่ใช่ปล่อยให้บิดเบือนแล้วก็บอกว่า ฉันจะสร้างเศรษฐกิจให้พัฒนาบนความบิดเบือน อันนี้จะเป็นไปได้อย่างไร เพราะเมื่อไหร่ที่ไปบิดเบือนมาก มันก็จะไปปิดกั้นแรงจูงใจคนที่จะลงทุน ดังนั้นเราก็พัฒนาได้บนพื้นฐานของการบริโภคอย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งเป็นการพัฒนาที่ไร้ความยั่งยืนในปัจจุบันนี้ และจะทำให้เกิดปัญหาฟองสบู่ได้ง่ายมาก เพราะเราใส่เงินเข้าไป ๆ แต่ไม่มีใครผลิตอะไรทั้งนั้น จะมีผลิตก็บางอย่างเท่านั้น ซึ่งเป็นภายนอกเข้ามาลงทุน เช่น รถยนต์ บ้านจัดสรร อะไรต่างๆ มีการผลิตเพียงนิดหน่อย แต่ไม่ได้เป็นการสร้างการผลิตที่แท้จริง ซึ่งตรงนี้ใครจะมีแรงจูงใจสร้างการผลิต เพราะว่าอะไร
เพราะว่าเมื่อสร้างขึ้นมา คุณก็ไม่ได้รับส่วนแบ่ง เนื่องจากโครงสร้างมันบิดเบือนตลอดเวลา ซึ่งตรงนี้ผมคิดว่าเป็นประเด็นสำคัญ ถ้าหากเราผลักดันมันมีมาตรการหลายอย่างที่ต้องทำ แต่รัฐบาลนี้ไม่ขยับเลย
อันนี้รัฐบาลไม่จำต้องการเสียงข้างมากก็ได้ ถ้าหากว่าจะทำนโยบายแบบนี้ ถ้าได้เสียงข้างมากขนาดนี้แล้วไม่ได้ทำอะไรเกี่ยวกับโครงสร้างเลย อย่าทำดีกว่า เพราะว่ามีเสียงน้อยก็ทำเหมือนกับแบบนี้ ทำอย่างเดียวกันคือ การแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ
ในสมัยรัฐบาลชวน พอลุกขึ้นพูดผมก็เบื่อทุกที นมโรงเรียน ๆ อ้างว่าทำนมโรงเรียน ก็เอื้ออาธรณ์แบบเดียวกัน พอมารัฐบาลนี้ก็เอื้ออาธรณ์อีกแล้ว คือไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอะไรเลย เสียงข้างมาก ข้างน้อย ทำเหมือนเดิม คือไม่ได้แก้โครงสร้างที่บิดเบือนอะไรเลย
ซึ่งมันน่าจะทำตั้งหลายอย่าง เช่นว่า การผลักดันเรื่องภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า อันนี้มันจะลดการบิดเบือนลงมาได้อย่างมหาศาล คือคนซึ่งเอาที่ดินไปแล้วไม่ทำประโยชน์ ให้เก็บภาษีมันมากขึ้น บังคับให้มันทำ ถ้ามันเอาที่ดินไปใช้คนอื่นก็จะได้ประโยชน์ มาตรการง่ายๆแค่นี้ซึ่งพูดกันมาแล้วไม่รู้กี่ปีต่อกี่ปี ก็ยังไม่ทำ แล้วไม่มีประเทศไหนในโลกที่สามารถจะพัฒนาได้โดยไม่มีภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า เพราะว่ามันจะทำให้ทรัพยากรได้ถูกนำมาใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพในระบบเศรษฐกิจปัจจุบัน เราไม่พูดถึงจะเปลี่ยนเป็นระบบเศรษฐกิจอื่น เอาแค่ระบบเศรษฐกิจปัจจุบัน
และที่ผมพูด พูดในแค่ 20-30 ปี ไม่ใช่พูดในเรื่อง 100 ปีข้างหน้า เอาแค่นี้ก่อน ถ้าไม่ทำตรงนี้จะก้าวไปกว่านี้ไม่ได้ มันก็จะลุ่มๆดอนๆ เศรษฐกิจที่เราเป็นอยู่เวลานี้เป็นเศรษฐกิจลุ่มๆดอนๆ หมายความว่า บางวันดีบางวันร้าย เมื่อก่อนนี้ภาวะวิกฤตมันห่าง ประมาณ 30-50 ปีจึงเกิดขึ้นทีหนึ่ง
2475 เกิดขึ้นทีหนึ่ง ต่อมาก็ 2520 พอต่อไปความถี่ของเศรษฐกิจลุ่มๆดอนๆมันจะบ่อยมากขึ้น จนกระทั่งทำให้คนจนอยู่ไม่ได้ ต้องประสบกับความลำบากมาก เพราะกลไกเชิงโครงสร้างที่จะใส่เข้าไปนั้น เราแทบไม่ได้ทำอะไรเลย แล้วมันยังมีอีกหลายตัว ซึ่งผมเพียงยกตัวอย่างเรื่องของภาษีที่ดินอัตราแบบก้าวหน้าเท่านั้น
อันอื่นๆชุมชนก็พยายามจะผลักดัน เช่น การออกโฉนดชุมชน เป็นต้น เพื่อทำให้พื้นที่ยังอยู่กับส่วนรวมมากขึ้น อันนี้ก็สำคัญ เพราะถ้าหากไม่ทำเราก็จะแปลงทรัพย์สินเป็นทุนยันเลย ทุนก็คือให้ส่วนตัว แต่มันต้องให้ทรัพย์สินอยู่ในการดูแลของคนอื่นบ้าง ของภาคชุมชนบ้าง ของภาคอื่นๆบ้าง เพื่อให้มันเกิดการตรวจสอบถ่วงดุลขึ้นในสังคมมากขึ้น ไม่ใช่ให้ตลาดและรัฐทำงานแต่เพียงฝ่ายเดียว ซึ่งมันก็จะก่อให้เกิดปัญหาการที่ทำให้การบิดเบือนต่างๆเพิ่มมากขึ้นๆ อย่างที่บอกไปแล้ว
ดังนั้นนี่ก็เป็นประเด็นสำคัญที่ผมคิดว่า จำเป็นที่จะต้องผลักดันเรื่องนี้มากขึ้น
ประการที่สาม คือ จะต้องทำลายมายาคติต่างๆ เกี่ยวกับการสร้างความชอบธรรมให้กับอุดมการณ์ แล้วพร้อมๆกันนั้น ก็ต้องสร้างความชอบธรรมให้กับอุดมการณ์และคุณค่าใหม่ๆ เช่นสิทธิในการสร้างตัวตน สิทธิในการมีส่วนร่วม สิทธิในการเป็นผู้เสียหาย เป็นต้น
เรื่องสิทธิในการเป็นผู้เสียหายนี้สำคัญมาก เมืองไทยเรารัฐเป็นตัวแทนไปหมด เราจะต้องผลักดันเข้าไปในกฎหมายต่างๆ ซึ่งสำคัญที่จะทำให้สิทธิชุมชนเกิดขึ้นได้ เพราะว่าสิทธิชุมชนจะได้อ้างตัวนี้มาใช้ได้ด้วย
ประการที่สี่ จะต้องมีการเคลื่อนไหวเพื่อคัดค้านการทำลายสิทธิชุมชนทุกรูปแบบ เพราะการคัดค้านการทำลายสิทธิชุมชน ก็เท่ากับเป็นการสร้างสิทธิชุมชนขึ้นในเวลาเดียวกัน เพราะหลักการคือต้องสร้างสิทธิชุมชน แต่ทีนี้ปัญหาของเราก็คือ ที่มันทำลายมันมีมากกว่า นโยบายและการปฏิบัติการของภาครัฐและราชการ มันทำลายมากกว่า ดังนั้นถ้าหากเราไม่ได้มีการคัดค้านสิ่งเหล่านี้ ความเป็นจริงในเรื่องของสิทธิชุมชนก็เกิดขึ้นมาไม่ได้
สรุป
ท้ายที่สุดซึ่งอยากจะฝากไว้คือว่า ทั้งหมดนี้มันไม่สามารถที่จะเกิดขึ้นได้จริง ถ้าเราไม่สามารถทำให้ประชากรส่วนใหญ่ในสังคมเราเข้าใจว่า สิทธิชุมชนไม่ใช่เป็นเรื่องของการไปคัดค้านหรือว่าไปกีดกันการพัฒนา จริงๆแล้ว ถ้าไม่มีสิทธิชุมชนต่างหาก การพัฒนาจะเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะการพัฒนาที่ว่าไม่ใช่หมายความว่า พัฒนาไปสู่การมีตัวเลขความเจริญเติบโตที่มากขึ้น แต่การพัฒนาหมายความว่า จะต้องนำไปสู่การพัฒนาที่มีการแบ่งปันกันในสังคมที่เป็นธรรมมากขึ้น ขณะเดียวกันมีการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนด้วย สองตัวนี้เป็นเป้าหมายของการพัฒนา ไม่ใช่แค่ตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเท่านั้น
ถ้าเราคิดว่าการพัฒนาหมายถึงการกระจายทรัพยากรที่เป็นธรรม และเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนแล้วไซร้ ผมคิดว่าสิทธิชุมชนเป็นเรื่องที่จำเป็น เพราะมันจะส่งเสริมให้หรือสร้างแรงจูงใจให้คนในสังคม มีความสนใจที่จะลงทุนหรือที่จะผลิตมากขึ้น แทนที่จะใช้การพัฒนาเศรษฐกิจในรูปแบบของการบริโภคอย่างเดียว อย่างที่เรากำลังจะเข้าสู่แนวทางนั้นอยู่ หรือทำอยู่เวลานี้ ซึ่งผมคิดว่ามันจะเข้าสู่ทางตันมากขึ้นเรื่อยๆ
อยากจะเน้นว่า สิทธิชุมชนจะเอื้อต่อการพัฒนาที่เป็นธรรมและยั่งยืน ไม่ใช่เป็นตัวขัดขวาง แต่ถ้าเราคิดแต่ว่าการพัฒนาคือตัวเลขที่สวยหรูแล้วละก็ อันนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่สังคมไทยจะต้องตัดสินใจ ผมก็พูดได้แต่ตัดสินใจแทนไม่ได้ แต่ถ้ายังมีความสงสัยอยู่ ก็จะช่วยเสริมความเข้าใจได้
ดังนั้น การที่ท่านอาจารย์เสน่ห์ได้เริ่มต้นว่า ปัญหาของเราเป็นเรื่องของความแปลกแยกและช่องว่างทางปัญญา ผมว่าช่องว่างของอันนี้ก็เหมือนกับช่องว่างของรายได้ มันห่างกันจนยากที่จะสื่อเหมือนกัน เพราะฉะนั้นถ้าสิ่งเหล่านี้ไม่เป็นที่ชัดเจนมากขึ้น สื่อมวลชนยังสนใจลงแต่เรื่องอาชญากรรมทุกวัน ขอให้เราดูโทรทัศน์ เรื่องอาชญากรรม ฆ่ากันทุกวัน แต่เรื่องอะไรที่มันเป็นประโยชน์ทางสังคม มันไม่ออกอากาศ ไม่ได้รับการเผยแพร่ แล้วจะว่ากันอย่างไร
ผมก็พูดได้ในเวทีเล็กแค่นี้เท่านั้น ขอขอบคุณมากครับ
เสน่ห์ จามริก :พวกเราคงได้ทราบเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายและการบริหารของรัฐบาลชุดนี้ ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีคนนี้(ทักษิณ ชินวัตร) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจะไปผูกความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอินโดจีน อันนี้สำคัญมากและผมขอย้ำเพื่อแสดงการสนับสนุนแสดงความเห็นด้วยตรงนี้
แต่ว่าในขณะเดียวกัน การที่สร้างความสัมพันธ์… ความจริงเรื่องนี้ผมได้เขียนไว้เมื่อ 20-30 ปีมาแล้วด้วยซ้ำไป ความสำคัญในความความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเพื่อนบ้าน เช่น พม่า ลาว เขมร เวียดนาม ว่าเป็นจุดแข็งอย่างยิ่ง แต่ว่าถ้ามันไปจำกัดในเรื่องเฉพาะของการค้าขาย การท่องเที่ยว คือมองเศรษฐกิจในเชิงการค้า การหารายได้ อะไรพวกนี้ ก็เป็นสิ่งที่มีเหตุผลในระดับหนึ่ง แต่ว่าถ้าขาดเสียซึ่งพื้นฐานของความสัมพันธ์ของชุมชนในระดับรากหญ้าแล้ว ความสัมพันธ์ตรงนี้ยิ่งจะไปทับถมให้ชุมชนที่เราพูด ซึ่งโทรมเต็มทีแล้ว ยิ่งทรุดหนักลงไป
เพราะว่าการดำรงคงอยู่ของชุมชนระดับรากหญ้า มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสิ่งที่ผมได้พูดเอาไว้ตั้งแต่ตอนแรก ต่อบูรณภาพความมั่นคง ความเป็นปึกแผ่นของฐานทรัพยากร ยกตัวอย่างเช่นในอดีต ซึ่งทราบกันดีเกี่ยวกับการตัดไม้ทำลายป่า เราทำจนกระทั่งมันหมดไปแล้ว อย่ากระนั้นเลย เราสงวนป่าไม้ของเราแล้วไปตัดป่าในเขมร อันนี้ก็ไม่ถูก เพราะว่าธรรมชาติของสิ่งที่ผมเรียกว่า"ฐานทรัพยากรเขตร้อน" เราไปทำลายป่าในพม่า ในเขมร มันก็เหมือนกับเราทำลายป่าของเราเช่นเดียวกัน เพราะว่าความละเอียดอ่อน ความเปราะบางของทรัพยากรมันมีความเชื่อมโยงกัน
ดังนั้น ถ้าเพ่งเล็งไปที่ความสัมพันธ์ของชุมชนในระดับรากหญ้า ความคิดในเรื่องการส่งเสริมความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านก็จะมีความสมบูรณ์ขึ้น อันนี้เป็นประเด็นหนึ่งที่สำคัญ คือแนวทางและนโยบายที่ดำเนินไปค่อนข้างถูกต้อง แต่ว่ามันยังขาดพื้นฐานที่ควรจะเป็น
ประการที่สองซึ่งสำคัญ คือสิ่งที่อาจารย์อานันท์พูดไปแล้ว ผมอยากจะพูดถึงสัจธรรมความจริงของโลก คือ สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพนั้น ไม่มีวันที่จะเป็นมรรคเป็นผลได้ตราบเท่าที่เจ้าของสิทธิ์ ตัวชุมชนเองไม่สามารถที่จะยืนหยัดต่อสู้ให้ได้มาซึ่งสิทธิ์เหล่านั้น และการต่อสู้จนกระทั่งเกิดการยอมรับของสังคมส่วนใหญ่
ดังนั้นในส่วนของชุมชนเอง มีบทบัญญัติ มีอะไรต่ออะไรแล้ว จะต้องมีการพัฒนา ยกตัวอย่างเช่น ชุมชนจะต้องตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก การติดต่อสัมพันธ์อะไรต่างๆ ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้ยังไม่ได้มีการพูดกันมากเท่าที่ควร
ต่อมาชุมชนภายใต้การเปลี่ยนแปลงของโลก จะต้องมีภารกิจในการพัฒนาตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จะมองตัวเองในฐานะที่เป็นชุมชนเป็นหย่อมๆไม่ได้แล้ว จะต้องมองดูตัวเองในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายชุมชนบนพื้นฐานของทรัพยากรที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เช่น ลุ่มน้ำเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น แม่น้ำมูลที่มีคนไปตั้งโรงงานน้ำตาล โรงงานเยื่อกระดาษ แล้วปล่อยน้ำเสียออกมา เห็นไหมครับว่าพอปล่อยน้ำเสียออกมา ปลาตายเป็นแพทั้งลำน้ำ ฉะนั้นชุมชนต่างๆเหล่านี้จะต้องร่วมกันเป็นเครือข่าย อันนี้เรายังขาดการพัฒนาตัวเองตรงนี้
เรื่องต่อมา ชุมชนจะต้องมีความตื่นตัวที่จะต้องสร้างระบบการศึกษาของตัวเองด้วย หมายความว่าในยุคของการปฏิรูปการศึกษา ชุมชนจะต้องมีความตื่นตัว รวบรวมสิ่งที่เรียกว่าภูมิปัญญาของเราเอง รู้จักมักคุ้นกับทรัพยากร รู้จักมักคุ้นกับประวัติศาสตร์ของตนเอง ให้เป็นกอบเป็นกำขึ้น ต้องทำความรู้จักตนเองให้มากขึ้น ตรงนี้จะต้องมีการกระตุ้นให้ตื่นตัว
ขอยกตัวอย่าง เช่น ผมได้ทำวิจัยร่วมกับเพื่อนๆนักวิชาการ อย่างเรื่อง"ชุมชนบ้านครัว" พวกเราคงทราบมาแล้วว่า ชุมชนบ้านครัวกำลังมีปัญหาเรื่องทางด่วน ทำให้ชุมชนจะต้องย้ายไป ชุมชนบ้านครัวเกิดความรู้สึกซึ่งผมเรียกว่า"อัตลักษณ์" พยายามทำความรู้จักตนเองมากขึ้น รู้ว่าจะมารวมตัวกันเรียกร้องคัดค้านอย่างเดียวไม่ได้ จะต้องมีการพัฒนาการเรียนรู้เพื่อรู้จักตัวเองให้มากขึ้น ที่ผมรู้จักชุมชนบ้านครัว บรรดาพวกผู้นำพยายามขวนขวายศึกษาประวัติศาสตร์ของตนเอง ศึกษาคุณค่าประเพณีให้รู้ถึงว่ามีความสำคัญอย่างไร แล้วรวบรวมความรู้พวกนี้ การรู้จักตัวเองตรงนี้ให้เป็นพลังขึ้นมา ดังนั้นผมเห็นว่า ชุมชนในชนบทบนฐานทรัพยากรธรรมชาติ จึงเป็นเรื่องที่จะต้องมีความตื่นตัวมากขึ้น
ประการสุดท้ายที่อยากจะพูดก็คือ จะต้องสร้างเศรษฐกิจชุมชนให้ได้ คือหมายความว่า ต้องเป็นเศรษฐกิจที่มีตัวมีตน มีการแลกเปลี่ยนค้าขาย มีการแบ่งงาน มีความสัมพันธ์ในการขนส่ง คมนาคม ระหว่างกันเองด้วย เศรษฐกิจชุมชนจึงจะมีความเข้มแข็ง ไม่ใช่มีรัฐธรรมนูญมาตรา 46 แล้วเข้มแข็ง แต่จะต้องมีการพัฒนาตัวเองอีกมากมาย ตรงนี้ผมเห็นว่าเป็นภารกิจที่เรายังไม่ได้พูดกันเท่าไหร่ และตรงนี้ผมคิดว่าเป็นภารกิจที่นักกิจกรรม และนักวิชาการที่สนใจในเรื่องนี้ แม้กระทั่งกรรมการสิทธิ์ฯ ซึ่งผมมีส่วนเกี่ยวข้องก็ต้องเร่ง พยายามที่จะทำให้ชุมชนมีการเรียนรู้ของตนเองให้มากขึ้น
เรื่องของสิทธิ์นั้น เป็นเหมือนเหรียญๆหนึ่ง มันมีสองหน้า ด้านหัวและด้านก้อย ที่เราพูดกันมาตลอดเวลา เราพูดว่าการใช้อำนาจนั้นไม่ชอบธรรม แต่อีกด้านหนึ่งของเหรียญก็คือว่า ด้านของชุมชนเองก็จะต้องทำให้เกิดมีชีวิตชีวา มีความเข้มแข็งขึ้น อันนี้ก็เป็นส่วนที่ผมเห็นว่าเรามีความจำเป็นจะต้องทำกันให้มาก ไม่ใช่เพียงแค่วิพากษ์วิจารณ์การใช้อำนาจรัฐแต่เพียงด้านเดียวเท่านั้น
อำนาจอธิปไตย กับ การทำเขตการค้าเสรี (FTA)
Posted by
Kanta