กระบวนการนโยบายสาธารณะ
สามารถแบ่งออกเป็น 2 กระบวนการใหญ่ ๆ ดังนี้
กระบวนการแรก เป็นแนวคิดกระแสหลักกล่าวคือ ได้ยึดการแบ่งกระบวนการ นโยบายออกเป็นขั้นตอนที่ต่อเนื่องกันในลักษณะที่ไม่ให้ความสำคัญต่อ ปฏิกิริยาโต้ตอบ ระหว่างขั้นตอนแต่ละขั้นตอน โดยทั่วไปมักแบ่งกระบวนการออกเป็น 3 ขั้นตอนใหญ่ๆ
ขั้นตอนที่ 1 คือ การกำหนดนโยบาย ซึ่งนโยบายมักจะปรากฏในรูปของ กฎหมาย พระราชบัญญัติ มติคณะรัฐมนตรี หรือคำพิพากษาของศาลฎีกา
ขั้นตอนที่ 2 คือ การแปลงนโยบายไปสู่ภาคปฏิบัติ ซึ่งมักจัดดำเนินการโดยหน่วยงานของรัฐ หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง หรือหลายๆ หน่วยงานรับผิดชอบร่วมกัน โดยแบ่งงานกันทำเป็นทอดๆ หรือทำร่วมกันในช่วงเวลาเดียวกัน
ขั้นตอนที่ 3 คือ การปรับเปลี่ยนนโยบายโดยใช้ผลลัพธ์ และที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติตามนโยบาย ไม่ว่าจะเป็นความสำเร็จ หรือความล้มเหลว เป็นพื้นฐานในการปรับเปลี่ยน แนวคิดของกลุ่มนี้โดยทั่วๆ ไปมีพื้นฐานมาจากความเชื่อที่ว่า หน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหารต้องแยกจากกัน พื้นฐานความเชื่อนี้ ผลักดันให้นักวิชาการกลุ่มแรกนี้มองการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติว่า เป็นขั้นตอนต่างหากที่แยกออกมาจากขั้นตอนอื่นๆ
นอกจากนี้ยังได้จำแนกกระบวนการนโยบายออกเป็นรายละเอียดมากขึ้น โดยแบ่งออกเป็น 6 ขั้นตอน กล่าวคือ
ขั้นตอนที่ 1 การก่อตัวของนโยบาย (policy formation)
ขั้นตอนที่ 2 การเตรียมนโยบาย และการเสนอร่างนโยบาย (policy formulation)
ขั้นตอนที่ 3 การอนุมัติ และการประกาศเป็นนโยบาย (policy adoption)
ขั้นตอนที่ 4 การนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ (policy implementation)
ขั้นตอนที่ 5 การประเมินผลนโยบาย (policy evaluation)
ขั้นตอนที่ 6 การปรับปรุงแก้ไขหรือการยกเลิกนโยบาย (policy revision หรือ termination)
กระบวนการที่สอง คือ กระบวนการที่ไม่เห็นด้วยกับการแยกการนำนโยบายไปปฏิบัติ ในลักษณะขั้นตอนต่างหากจากขั้นตอนอื่นในกระบวนการนโยบาย กลุ่มนีมีความเห็นว่า การนำนโยบายไปปฏิบัติเป็นกระบวนการที่เป็นพลวัต มีปฎิสัมพันธ์กับขั้นตอนอื่นๆ ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป้าหมาย หรือวัตถุประสงค์ของนโยบายในระดับปฏิบัติการ และแนวทางในการนำไปดำเนินการ มักมีการปรับเปลี่ยนเพื่อประนีประนอมความเห็น และผลประโยชน์ของหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสถานการณ์
บรรณานุกรม
พร รณิลัย นิติโรจน์. (2551). การนำนโยบายการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยกรุงเทพมหานครไปปฏิบัติ. ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (รัฐประศาสนศาสตร์), มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
กระบวนการนโยบายสาธารณะ
Posted by
Kanta