RSS

ลำดับขั้นตอนกระบวนการนโยบายสาธารณะ

กระบวนการนโยบายสาธารณะ

Anderson (1975, pp. 26-27) ได้ให้กรอบแนวคิดในกระบวนการนโยบายสาธารณะอย่างเป็นลำดับขั้นตอนไว้ 5 ขั้นตอน คือ

1. Problem Formation การก่อตัวของปัญหานโยบาย (policy problem) ปัญหานั้นเป็นปัญหาสาธารณะหรือไม่ ปัญหานั้นเป็นวาระของรัฐบาลที่ต้องกระทำหรือไม่ (policy agenda) โดยคำว่าปัญหา ต้องพิจารณาว่าเป็นปัญหาจริงหรือไม่ เพราะบางครั้งสิ่งที่เราคิดว่าเป็นปัญหา ความจริงอาจไม่เป็นปัญหาก็ได้

2. Formulation การก่อรูปนโยบาย ขั้นตอนนี้เป็นการกำหนดทางเลือกของนโยบาย (policy alternatives) ว่ามีทางเลือกใดบ้างในการแก้ปัญหา และใครเป็นผู้มี ส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย หากทางเลือกมีหลายทางก็ต้องวิเคราะห์ข้อดีข้อเสียของแต่ละทางเลือกด้วย โดยใช้เทคนิคการวิเคราะห์ต้นทุน-ผลประโยชน์ (cost-benefit analysis)
3. Adoption การตัดสินใจนโยบาย ในขั้นตอนนี้เป็นการตัดสินใจว่าทางเลือกต่าง ๆ ที่ได้วิเคราะห์ไว้แล้วจะตัดสินใจเลือกทางเลือกใดหรือนำทางเลือกใดไปบังคับ ใช้ และเป็นสิ่งที่ต้องการให้เป็น และใครจะเป็นผู้ตัดสินใจนโยบาย
4. Implementation การนำนโยบายไปปฏิบัติ เมื่อได้ตัดสินใจเลือกนโยบายที่เห็นว่าดีที่สุดแล้ว ก็นำนโยบายที่เลือกแล้วไปปฏิบัติให้บรรลุผล และมีอะไรเป็นผลกระทบต่อเนื้อหาของนโยบาย
5. Evaluation การประเมินผลนโยบาย โดยการวัดว่านโยบายมีประสิทธิผลหรือผลกระทบอย่างไรหลังจากนำนโยบายนั้นไปสู่ การปฏิบัติ และใครจะเป็นผู้ประเมินผลนโยบาย อะไรคือ ผลที่ตามมาของนโยบายจากการประเมินผล

Dunn (1994, pp. 15-16) ได้แบ่งกระบวนการนโยบาย (the process of policy making) ออกเป็น 5 ขั้นตอน คือ Agenda Setting, Policy Formulation, Policy Adoption, Policy Implementation และ Policy Assessment

ขั้นตอนแรก Agenda Setting การกำหนดนโยบายเป็นวาระของรัฐที่ต้องปฏิบัติมีลักษณะ เช่น ปัญหาการคัดเลือกและแต่งตั้งตำแหน่งของข้าราชการเป็นปัญหาที่เป็นวาระของ รัฐบาล มีหลายปัญหาที่รัฐบาลไม่อาจทำได้ทั้งหมด ในขณะที่ปัญหาอื่นที่ หยิบยกขึ้นมาหลังจากที่ล่าช้ามานาน ตัวอย่างเช่น ผู้มีอำนาจโดยชอบธรรมของรัฐและผู้สนับสนุนได้จัดเตรียมกฎหมายส่งไปยังคณะ กรรมการสุขภาพและสวัสดิการเพื่อศึกษาและอนุมัติ กฎหมายนั้นยังอยู่กับคณะกรรมการและยังไม่มีการลงคะแนนเสียง
ขั้นตอนที่สอง Policy Formulation เป็นการก่อรูปของนโยบายซึ่งมีลักษณะที่ก่อรูปมาจากข้าราชการ มีทางเลือกของนโยบายที่เกี่ยวกับปัญหานโยบาย เป็นทางเลือกของนโยบายที่กำหนดขึ้นเพื่อการตัดสินใจของฝ่ายบริหาร ศาล และฝ่ายนิติบัญญัติ ตัวอย่าง เช่น ศาลของรัฐเป็นผู้พิจารณาในการห้ามใช้การทดสอบความสำเร็จมาตรฐานในเรื่อง ทดสอบพื้นฐานการมีอคติในการต่อต้านสตรี
ขั้นตอนที่สาม Policy Adoption การตัดสินใจนโยบาย ทางเลือกของนโยบายถูกตัดสินใจโดยได้รับการสนับสนุนโดยเสียงข้างมากจากฝ่าย นิติบัญญัติ หรือเป็นฉันทานุมัติในการตัดสินใจระหว่างผู้เป็นตัวแทน หรือศาล ยกตัวอย่างเช่น การตัดสินใจของศาลสูงโดยเสียงข้างมากที่ให้สิทธิแก่สตรีที่จะระงับการตั้ง ครรภ์ได้โดยการทำแท้ง
ขั้นตอนที่สี่ Policy Implementation การนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ เมื่อนโยบายได้รับการตัดสินใจแล้วก็จะนำไปสู่การปฏิบัติโดยมีหน่วยงานในการ ปฏิบัติตามนโยบายนั้น ซึ่งจะต้องระดมทรัพยากรมนุษย์และเงินทุนเพื่อนำไปใช้ปฏิบัติตามนโยบาย ยกตัวอย่างเช่น เหรัญญิกของเมืองได้ว่าจ้างคนเพิ่มขึ้นเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายใน การจัดเก็บภาษีโรงพยาบาลซึ่งจะไม่ยกเว้นภาษีให้อีกต่อไป
ขั้นตอนสุดท้าย Policy Assessment การประเมินผลนโยบาย โดยมีหน่วยงานด้านการตรวจสอบและการบัญชีของรัฐบาล ซึ่งถูกกำหนดโดย ผู้เป็นตัวแทน ผู้บริหารโดยชอบด้วยกฎหมายและศาล อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นความชอบธรรมตามกฎหมายที่นโยบายจะต้องมีการประเมินผลว่าได้ทำสำเร็จ ตามวัตถุประสงค์เพียงใด ตัวอย่างเช่น The General Accounting Office ทำหน้าที่กำกับตรวจสอบโครงการด้านสวัสดิการสังคม เช่น โครงการ (Aid to Families with Dependent Children--AFDC) พบว่า กำหนดขอบเขตในการให้สวัสดิการที่ผิด

Dye (1998, pp. 317-318, 330-332) ได้เสนอแนวคิด กระบวนการนโยบายสาธารณะว่า การศึกษานโยบายสาธารณะบ่อยครั้งมุ่งเน้นไปดูว่านโยบายเกิดขึ้นได้อย่างไร มากกว่าดูเนื้อหานโยบาย หรือสาเหตุและผลที่ตามมาของนโยบาย ในการศึกษาว่านโยบายต่าง ๆ เกิดขึ้นได้อย่างไร โดยทั่วไปจะพิจารณาชุดของกิจกรรมหรือกระบวนการที่เกิดขึ้นในระบบการเมือง (political system) ตามนัยของตัวแบบกระบวนการ (process model) ก็คือ การกำหนดนโยบาย (policy making) เกิดขึ้นโดยสามารถระบุขั้นตอนและแต่ละขั้นตอนสามารถแยกส่วนกันในการตรวจสอบ ได้ซึ่งกระบวนการเหล่านี้โดยปกติจะมีขั้นตอนดังนี้

1. Identification การระบุปัญหานโยบาย ที่เรียกร้องให้รัฐบาลต้องปฏิบัติซึ่งส่วนใหญ่นโยบายมักเกิดจากความคิดเห็น ของประชาชนที่มีอิทธิพลต่อนโยบายของรัฐ แต่บางนโยบายก็เกิดจากความคิดของผู้นำที่ให้การสนับสนุนให้เกิดนโยบายนั้น
2. Agenda Setting การกำหนดเป็นวาระหรือการเน้นให้ความสนใจไปยังกลุ่มสื่อมวลชนและข้าราชการใน ปัญหาสาธารณะที่ตกลงกันเพื่อนำไปสู่การตัดสินใจการกำหนดวาระนี้เป็นการระบุ ถึงปัญหาของสังคมและกำหนดทางเลือกในการแก้ปัญหาซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่ สุดในการกำหนดนโยบาย ซึ่งบีบบังคับให้รัฐบาลต้องตัดสินใจกระทำ หรือรัฐบาลอาจไม่ตัดสินใจกระทำตามก็ได้ ในขั้นตอนนี้จะมีการระดมความคิดเห็นจากสื่อมวลชนด้วยโดยใช้โทรทัศน์ หรือหนังสือพิมพ์ เพื่อสื่อสารให้คนส่วนใหญ่ทราบถึงนโยบาย
3. Formulation การก่อรูปนโยบาย ก็คือ การที่ทางเลือกของนโยบายที่เกี่ยวกับปัญหาได้พัฒนาไปเป็นวาระของรัฐบาล การก่อรูปของนโยบายมักจะมาจากการริเริ่มและมีการพัฒนานโยบายที่เกิดจาก ระบบราชการ คณะกรรมการตามกฎหมาย การประชุมของคณะกรรมการชุดต่าง ๆ องค์การที่ทำหน้าที่วางแผนด้านนโยบาย กลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ ประธานาธิบดีและรัฐสภา โดยรายละเอียดของนโยบายที่ก่อตัวขึ้นปกติจะมาจากระดับเจ้าหน้าที่ (staff members) มากกว่าจะเกิดจากระดับผู้นำ (bosses) แต่ระดับเจ้าหน้าที่ก็มักจะถูกชี้นำซึ่งเขารู้ว่าผู้นำต้องการ
4. Legitimation นโยบายที่เกิดขึ้นโดยความชอบธรรมตามกฎหมาย เป็นการกระทำทางการเมืองโดยผ่านพรรคการเมือง กลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ ประธานาธิบดีและรัฐสภา
5. Implementation การนำนโยบายไปปฏิบัติ เป็นความต่อเนื่องทางการเมือง การกำหนดนโยบายไม่ได้จบลงที่การออกเป็นกฎหมายโดยรัฐสภา และการลงนามโดยประธานาธิบดี จะต้องนำนโยบายไปสู่หน่วยงานของระบบราชการ เพื่อให้ข้าราชการปฏิบัติตามนโยบายนั้น การนำนโยบายไปปฏิบัติมีความเกี่ยวเนื่องกับทุกกิจกรรม เช่น การจัดองค์กรงานใหม่ การมีหน่วยงานหรือตัวแทนรับผิดชอบ เพื่อให้สามารถดำเนินการตามนโยบายที่กำหนดไว้ นอกจากนี้การนำนโยบายไปปฏิบัติยังต้องมีรูปแบบและกฎระเบียบเพื่อให้ข้า ราชการถือปฏิบัติด้วย
6. Evaluation การประเมินผลนโยบาย เป็นขั้นตอนสุดท้ายในการกำหนดนโยบาย เพื่อค้นหาว่านโยบายประสบความสำเร็จตามเป้าหมายเพียงใด ต้นทุนที่ใช้และผลที่ได้รับเป็นอย่างไร เป็นไปตามที่ตั้งใจไว้หรือไม่เป็นไปตามที่ตั้งใจไว้ การประเมินผลจะทำโดยตัวแทนของรัฐบาลเอง ที่ปรึกษาภายนอก สื่อสิ่งพิมพ์ และสาธารณชน

Nakamura and Smallwood (1980, pp. 22-23) ได้เสนอแนวคิด มุมมองของกระบวนการนโยบาย (policy process) มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันใน 3 หน้าที่ของสภาพแวดล้อมนโยบาย ได้แก่ การก่อตัวของนโยบาย (policy formation) การนำนโยบายไปปฏิบัติ (policy implementation) และการประเมินผลนโยบาย (policy evaluation)
โดยการก่อตัวของนโยบาย เป็นรูปแบบที่สำคัญที่สุด กล่าวคือ ด้านหนึ่งกลไกนโยบายถูกกำหนดโดยกฎหมาย ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญของผู้มีบทบาทนโยบาย (policy actors) ก็คือ ผู้กำหนดนโยบายโดยชอบด้วยกฎหมาย (legitimate) เช่น ประธานาธิบดี รัฐสภา ผู้ว่ารัฐ และสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ เป็นต้น อีกด้านหนึ่งการกำหนดนโยบายเกิดจากปัจเจกบุคคล และ/หรือกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งมีอิทธิพลเป็นผู้กำหนดนโยบาย เช่น กลุ่มผล ประโยชน์ต่าง ๆ สถาบันต่าง ๆ ที่มีอำนาจ เป็นต้น นโยบายที่กำหนดจากการก่อตัวดังกล่าวเป็นผลประโยชน์เพื่อตอบสนองต่ออำนาจรัฐ หรือไม่ใช่อำนาจรัฐ เช่นประธานาธิบดี สื่อสิ่งพิมพ์ เป็นต้น หรือเป็นการตอบสนองต่อสถานการณ์วิกฤติอันเกิดจากการจลาจล ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ สงคราม ความเสียหายจากภัยธรรมชาติ และการขาดแคลนพลังงาน เป็นต้น หรือเป็นนโยบายที่เกี่ยวกับประชาชนทั่วไปและเกิดจากแรงกดดันของประชาชน เช่น ประเด็นการทำแท้ง การลดภาษี เป็นต้น ท้ายที่สุดเมื่อการก่อตัวของนโยบายถูกตัดสินใจโดยชอบด้วยกฎหมาย โดยผู้กำหนดนโยบายที่เป็นรัฐบาล เช่น รัฐสภาโดยการผ่านกฎหมาย ประธานาธิบดีออกคำสั่งในการบริหารงาน เป็นต้น นโยบายนั้นก็จะนำไปสู่การปฏิบัติตามนโยบาย และการประเมินผลนโยบาย

อุทัย เลาหวิเชียร (2544, หน้า 292-301) ได้เสนอกระบวนการนโยบายสาธารณะ แบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอน ขั้นตอนแรก การกำหนดปัญหา ขั้นตอนที่สอง การวิเคราะห์หาทางเลือก ขั้นตอนที่สาม การนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ และขั้นตอนที่สี่ การประเมินผลนโยบาย
1. การกำหนดปัญหา นโยบายสาธารณะจะมีได้ต่อเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นก่อน และปัญหาจะเกิดขึ้นได้ก็เพราะมีคนเป็นจำนวนมากไม่พอใจในเหตุการณ์ อย่างใดอย่างหนึ่ง การที่คนส่วนใหญ่เห็นเป็นปัญหา ควรจะให้กลุ่มคนที่มีหน้าที่รับผิดชอบและกลุ่มอื่น ๆ เห็นว่าเป็นปัญหาด้วย การที่คนหลายฝ่ายเห็นปัญหาอันหนึ่งอย่างเดียวกันและได้มีการเรียกร้องให้ แก้ไขปัญหาดังกล่าว ปัญหานั้นก็จะกลายเป็นนโยบายสาธารณะ ดังนั้นในขั้นของการกำหนดปัญหาจึงมีส่วนเกี่ยวพันกับหน้าที่ของการกำหนด นโยบาย เพราะปัญหาจะนำไปสู่การกำหนดนโยบาย จึงอาจกล่าวได้ว่าเป็นขั้นตอนเดียวกันกับเรื่องของการกำหนดนโยบาย
2. การวิเคราะห์หาทางเลือก เมื่อทราบปัญหาและได้กำหนดเป็นเป้าหมายจากนั้นก็ทำการวิเคราะห์หาทางเลือก เพื่อการบรรลุเป้าหมาย ในการหาทางเลือก ผู้ที่ตัดสินใจจะต้องคำนึงถึง เป้าหมายและค่านิยมให้ชัดเจนแล้วจึงแสวงหาทางเลือกเพื่อบรรลุเป้าหมายดัง กล่าว ซึ่งควรคิดว่าทางเลือกใดดีด้วย รวมทั้งการคำนวณเพื่อหาต้นทุนและประโยชน์ที่จะได้รับ ต่อมาจึงมาเปรียบเทียบถึงผลของทุกทางเลือก ซึ่งในที่สุดผู้ตัดสินใจก็จะเลือกทางเลือกที่บรรลุเป้าหมายและค่านิยมที่ดี ที่สุด การวิเคราะห์ทางเลือกดังกล่าว เรียกว่า “the rational comprehensive theory” เป็นวิธีที่อาศัยหลักเหตุผล ซึ่งมีการศึกษาอย่างละเอียด แต่มีข้อจำกัดหลายประการ ได้แก่
ประการแรก เป็นการยากที่จะได้ข้อมูลทั้งหมดที่จำเป็นต้องทราบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่กำลังพัฒนาหรือประเทศล้าหลัง ซึ่งมีวิธีการเก็บสถิติที่เชื่อถือได้ยาก การหาข้อมูลยิ่งยากขึ้นเป็นทวีคูณ
ประการที่สอง นักบริหารไม่มีเวลาที่จะศึกษาทุกทางเลือกมาเปรียบเทียบก่อนตัดสินใจ โดยปกตินักบริหารต้องตัดสินใจในเวลาที่ค่อนข้างจำกัด
ประการที่สาม เป็นการสิ้นเปลืองมากที่จะใช้วิธีการศึกษาแบบใช้เหตุผลดังกล่าว โดยปกติหน่วยงานราชการมักจะไม่มีงบประมาณเพียงพอสำหรับใช้ในกิจกรรมประเภท นี้
ประการที่สี่ วิธีการศึกษาแบบนี้เชื่อว่านักบริหารจะเลือกตัดสินใจเฉพาะทางเลือกที่ดีที่ สุด การที่จะทราบว่าเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดก็หมายความว่า มีเป้าหมายที่ ตกลงกันไว้อย่างชัดเจน และมีหนทางที่จะบรรลุเป้าหมาย แต่ทางปฏิบัติการตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะเป็นการยากที่จะทราบว่า เป้าหมายใดที่ได้มีการตกลงกัน
ประการที่ห้า การศึกษาโดยอาศัยหลักเหตุผล เหมาะกับเรื่องที่ไม่สลับซับซ้อนสามารถคิดคำนวณเป็นตัวเลขได้ โดยมีค่านิยมของมนุษย์เข้ามาเกี่ยวข้องน้อยที่สุด แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง หลายกิจกรรมหรือ อาจกล่าวได้ว่ากิจกรรมส่วนใหญ่ไม่สามารถจะอธิบายโดยการใช้ตัวเลขแต่ประการ เดียว และค่านิยมก็เข้ามาเกี่ยวข้องอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก
ประการที่หก ก็คือ การตัดสินใจเป็นเรื่องที่ต้องขึ้นกับปัจจัยทางจิตวิทยาด้วย นักบริหารจะตัดสินใจไปตามสถานภาพทางสังคมของนักบริหารผู้นั้น นั่นก็คือการตัดสินใจมักจะสอดคล้องกับตำแหน่งหน้าที่การงานของนักบริหาร สถานภาพของหน่วยงานนั้นในสังคม และกลุ่มที่บุคคลนั้นสังกัดอยู่ อีกประการหนึ่ง นักการเมืองมักมองปัญหาแบบง่าย ๆ และหาวิธีการแก้ไขที่ง่าย นักบริหารมีแนวโน้มที่จะปฏิบัติตามนักการเมืองเพราะไม่มีทางเลือกอย่างอื่น
ประการที่เจ็ด การตัดสินใจโดยอาศัยหลักเหตุผลจะถือความต้องการของผู้บริโภคเป็นปัจจัยสำคัญ ในการกำหนดนโยบาย ซึ่งผู้บริโภคเป็นคำของนักเศรษฐศาสตร์ ในระบบการเมืองหมายถึงผู้รับบริการ โดยปกติมีความเชื่ออยู่ว่าสิ่งใดที่ผู้รับบริการปรารถนานักการเมืองก็ต้อง สนองตอบ แต่บ่อยครั้งจะพบว่า ประชาชนหรือผู้รับบริการไม่ทราบว่าต้องการนโยบายอะไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนในประเทศที่กำลังพัฒนาหรือล้าหลัง มักจะอยู่ในสภาพที่ช่วยตัวเองไม่ได้ หรือในบางกรณีจะมีปัจจัยของจริยธรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง นักการเมืองหรือนักบริหารที่คำนึงถึงหลักจริยธรรมเป็นสำคัญจะตัดสินใจตรงกัน ข้ามกับประชาชน ถ้าสิ่งที่ประชาชนหรือผู้รับบริการต้องการ เป็นเรื่องที่เสียหายต่อส่วนรวม เมื่อมีการคำนึงโดยรอบคอบแล้ว นักการเมืองและนักบริหารอาจตัดสินใจแตกต่างไปจากความต้องการของประชาชนได้
จากข้อจำกัดทั้งหลายของการตัดสินใจโดยอาศัยหลักเหตุผล ทำให้มีการเสนอให้ใช้การตัดสินใจแบบค่อยเป็นค่อยไปหรือตัดสินใจเฉพาะส่วนที่ เพิ่มขึ้น (incremental) โดยถือว่านโยบายเดิมที่ได้ตัดสินใจทำไว้แล้วมีความถูกต้องและเหมาะสมแล้วจะ เพิ่มหรือลด หรือจะเปลี่ยนแปลงก็เพียงเล็กน้อย ต่อมาก็มีผู้ที่เห็นว่าการตัดสินใจโดยอาศัยหลักเหตุผล และการตัดสินใจเฉพาะส่วนที่เพิ่มขึ้น อาจไม่เหมาะสม ควรมีการใช้การตัดสินใจแบบผสมผสานกัน (mixed scanning) เพื่อให้การตัดสินใจนโยบายมีความถูกต้องและเหมาะสมมากขึ้น
3. การนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ ในขั้นของการวิเคราะห์หาทางเลือกก็เพื่อจะได้นโยบายสาธารณะเพื่อนำไปสู่การ ปฏิบัติ ขั้นของการนำนโยบายไปปฏิบัติเป็นขั้นที่มีความสำคัญมากที่สุด เพราะนโยบายสาธารณะก็คือ แผ่นกระดาษจะเป็นความจริงได้ก็ต่อเมื่อการนำไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลสำเร็จ ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
4. การประเมินผลนโยบาย ขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการนโยบายสาธารณะก็คือ การประเมินผลนโยบาย ซึ่งปัจจุบันเป็นกิจกรรมที่ได้รับความสนใจอย่างแพร่หลายในเกือบทุกประเทศ ความหมายของการประเมินผลก็คือ การที่จะตรวจสอบว่าได้มีการบรรลุเป้าหมายของโครงการแค่ไหน และเพียงใด การประเมินผลต้องอาศัยความรู้ทาง การวิจัย แต่ก็มีคนเป็นจำนวนไม่น้อยได้ประเมินผลโดยอาศัยหลักการเข้าใจข้อเท็จจริงโดย ปราศจากเหตุผล (intuition) การคาดคะเนหรือการเดา ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับการทำการวิจัย อาจกล่าวได้ว่า นักการเมือง นักบริหาร นักหนังสือพิมพ์ หรือประชาชน โดย ทั่วไปมักประเมินผล โดยไม่ได้อาศัยพื้นความรู้การวิจัยมากนัก

บรรณานุกรม

นาย ธีรทร วัฒนกูล. (2549). การกำหนดนโยบายในการจัดตั้งสถาบันประกันเงินฝาก. ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (รัฐประศาสนศาสตร์), มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

อุทัย เลาหวิเชียร. (2544). รัฐประศาสนศาสตร์: ลักษณะวิชาและมิติต่าง ๆ (พิมพ์ครั้งที่ 7). กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์เสมาธรรม.

Anderson, J. E. (1975). Public policy-making. New York: Praeger.

Dunn, W. N. (1994). Public policy analysis: An introduction (2nd ed.). Englewood Cliffs, NJ: Prentice-Hall.

Dye, T. R. (1998). Understanding public policy (9th ed.). Upper Saddle River,
NJ: Prentice-Hall.

Nakamura, R. T., & Smallwood, F. (1980). The politics of policy implementation. New York: St. Martin’s Press.

  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS