RSS

ความหมายของนโยบายสาธารณะ ต่อ

ความหมายของนโยบายสาธารณะ

ความหมายของนโยบายสาธารณะมีนักวิชาการทางรัฐประศาสนศาสตร์หลายท่านด้วยกันให้ความหมายไว้ คือ

Dye (อ้างถึงใน สร้อยตระกูล (ติวยานนท์) อรรถมานะ, 2543, หน้า 143) ได้กล่าวว่า นโยบายสาธารณะ คือ สิ่งใดก็ตามที่รัฐบาลเลือกที่จะกระทำหรือไม่กระทำ

Sharkansky (อ้างถึงใน สร้อยตระกูล (ติวยานนท์) อรรถมานะ, 2543, หน้า 143) ได้กล่าวว่า นโยบายสาธารณะ หมายถึง กิจกรรมต่าง ๆ ที่รัฐบาลจัดทำขึ้น เป็นต้นว่า บริการสาธารณะ การควบคุมกิจการของบุคคลหรือธุรกิจเอกชน การแสดงออกในทางสัญลักษณ์ต่าง ๆ ตลอดจนการควบคุมกิจการรมทางการเมืองแบบอื่น ๆ

Anderson (อ้างถึงใน จุมพล หนิมพานิช, 2549, หน้า 12) ได้กล่าวว่า นโยบายสาธารณะ คือ แนวทางในการปฏิบัติงานที่กำหนดขึ้นมาโดยบุคคล คณะบุคคล เพื่อแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น

Lasswell and Kaplan (อ้างถึงใน เรืองวิทย์ เกษมสุวรรณ, 2550, หน้า 209) นิยามว่า นโยบายสาธารณะ เป็นแผนงานเกี่ยวกับจุดมุ่งหมาย ค่านิยม และการปฏิบัติที่กำหนดเอาไว้ล่วงหน้า

Easton (อ้างถึงใน สร้อยตระกูล (ติวยานนท์) อรรถมานะ, 2543, หน้า 143) ได้ให้ความหมายของ นโยบายสาธารณะว่า คือ การจัดสรรผลประโยชน์หรือสิ่งที่มีคุณค่าต่าง ๆ ของสังคมที่มีผลบังคับตามกฎหมาย (authoritative allocation of values) และเป็นไปเพื่อสังคมส่วนรวม

ศุภชัย ยาวะประภาษ (2533, หน้า 1) ได้กล่าวว่า กิจกรรมทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นระดับใดในหน่วยงานใด ล้วนมีกำเนิดมาจากความคิดอันเป็นกรอบนำทางว่าควรจะทำอะไร เมื่อใด ที่ไหน โดยใคร และอย่างไร หากปราศจากทิศทางที่แน่นอนชัดเจนในการดำเนินกิจกรรมของรัฐบาล ความคิดหรือเจตนาก็เกิดขึ้นก่อนเช่นเดียวกัน จากนั้นค่อย ๆ พัฒนาชัดเจนขึ้น กลายเป็นกรอบกำหนดทิศทางและแนวทางการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของรัฐบาล ซึ่งในความหมายกว้าง ๆ คือ นโยบายของรัฐบาลหรือนโยบายสาธารณะ(public policy) นั่นเอง

สร้อยตระกูล (ติวยานนท์) อรรถมานะ (2543, หน้า 144) ได้กล่าวว่า นโยบายสาธารณะของภาครัฐบาลและนโยบายสาธารณะของหน่วยงานเอกชนที่มิได้แสวงหา กำไร และมิได้สังกัดในภาครัฐบาล โดยนำมาผสมผสานกันอันมีรัฐบาลเป็นแกนนำในการกำหนดนโยบายสาธารณะอังครอบคลุม ซึ่งมีการบ่งถึงแนวทางในการปฏิบัติงานหรือโครงการ โดยมีการกำหนดเป้าหมาย (และ/หรือปัญหาในสังคม) แลวิธีการเพื่อให้บรรลุผล ทั้งนี้เพื่อรัฐจะได้จัดสรรคุณค่าต่าง ๆ ให้แก่สังคมโดยส่วนรวม ในขณะเดียวกันองค์การที่มิได้แสวงหากำไรและมิได้สังกัดกับรัฐบาลก็จะได้ช่วย รัฐบาลปฏิบัติงานเพื่อสาธารณประโยชน์ด้วยดังนั้นจึงสรุปได้ว่า นโยบายสาธารณะ เป็นแนวทางปฏิบัติของรัฐบาล มีวัตถุประสงค์แน่นอน อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่าง เพื่อแก้ปัญหาในปัจจุบัน เพื่อป้องกันปัญหาในอนาคตหรือเพื่อก่อให้เกิดผลที่พึงปรารถนา ตลอดจนรัฐบาลมีความจริงใจที่จะให้นำไปปฏิบัติ และผลจากการนำไปปฏิบัติแล้วอาจจะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวก็ได้



บรรณานุกรม

สร้อยตระกูล (ติวยานนท์) อรรถมานะ. (2543). สาธารณบริหารศาสตร์ (พิมพ์ครั้งที่ 4). กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

จุมพล หมิมพานิช. (2549). การวิเคราะห์นโยบาย ขอบข่าย แนวคิด ทฤษฎี และกรณีตัวอย่าง (พิมพ์ครั้งที่ 3).นนทบุรี: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.87

เรืองวิทย์ เกษสุวรรณ. (2550). ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับรัฐประศาสนศาสตร์.กรุงเทพมหานคร: พบิธการพิมพ์.

ศุภชัย ยาวะประภาษ. (2533). นโยบายสาธารณะ. กรุงเทพมหานคร: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คณะรัฐศาสตร์.

เรือ อากาศโท สมชาย เกตุไหม. (2552). โครงการพระราชดำริฝนหลวงกับงานด้านกิจการพลเรือนของกองทัพอากาศ. ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (รัฐศาสตร์), มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS