RSS

ชุมชนธรรมชาติกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

ชุมชนธรรมชาติกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
Natural Communities and Environmental Preservation

กันต์ สาระทิศ
Kanta Sarathit
นิสิตปริญญาเอก มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
--------------------------------------

บทคัดย่อ

บทความนี้เพื่อศึกษารูปแบบชุมชนธรรมชาติกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน วิถีชีวิตใดที่ตั้งอยู่บนฐานการใช้ทรัพยากรที่หมดไปย่อมไม่ยั่งยืน และวิถีชีวิตใดที่ใช้ทรัพยากรที่ฟื้นใหม่ได้มากเกินไป เช่น ทำให้ปลาแซลมอนคืนสู่แม่น้ำน้อยลงทุกปีก็ไม่ยั่งยืนเช่นกัน ความยั่งยืนย่อมไม่เป็นอันตรายต่อชุมชน ทุ่งหญ้าพื้นเมือง ป่าพื้นเมือง และฝูงปลาพื้นเมือง โลกที่เป็นจริงพึ่งพากันและกัน ดังนั้น สายน้ำหนึ่งที่ตกอยู่ในอันตรายก็ย่อมส่งผลกระทบต่อมนุษย์และสัตว์อื่นที่อาศัยบนสายน้ำนั้น ย่อมไม่มีการปล่อยให้ผู้ใดไม่ว่าจะร่ำรวยหรือมีอำนาจเพียงใดในการสร้างพิษร้ายขึ้นโดยไม่มียาแก้ ย่อมไม่มีการปล่อยให้ผู้ใดไม่ว่าจะร่ำรวยหรือมีอำนาจเพียงใดมาทำลายพื้นที่ซึ่งมนุษย์และชีวิตอื่นอาศัยอยู่ ในโลกที่จำกัด เราไม่สามารถสร้างเศรษฐกิจที่วางรากฐานหรือความต้องการการเติบโตตลอดกาล วิถีชีวิตปัจจุบันไม่ยั่งยืนและจะล่มสลาย ปัญหาเหลือแต่เพียงว่าจะเหลืออะไรในโลกหลังการล่มสลายนี้ มนุษย์และชีวิตอื่นจะต้องเตรียมรับมือกับการล่มสลายเท่าที่จะเป็นไปได้ สุขภาพของเศรษฐกิจท้องถิ่นสำคัญกว่าสุขภาพเศรษฐกิจของโลก ไม่ควรปล่อยให้เศรษฐกิจโลกทำลายเศรษฐกิจท้องถิ่นและที่ดินอันเป็นพื้นฐาน
บรรษัทไม่ใช่สิ่งมีชีวิต และดังนั้นจึงไม่ใช่คนบรรษัทไม่ได้เป็นอยู่จริง มันเกิดจากนิยามทางกฎหมาย การกำหนดให้บรรษัทมีความรับผิดชอบอย่างจำกัดเป็นการแยกมนุษย์ออกจากความรับผิดชอบในการกระทำของเขา ดังนั้น จึงต้องยกเลิกการรับผิดชอบอย่างจำกัดของบรรษัท สุขภาพของมนุษย์และชีวิตอื่นในชุมชนสำคัญกว่ากำไรของบรรษัท มนุษย์มีสิทธิเสรีภาพอย่างเต็มที่ในการต่อสู้กับระบบและระบอบปกครองที่เป็นอันตรายต่อตนเอง เมื่อเราได้เล็งเห็นการทำลายล้างของระบบทุนนิยมและอารยธรรมอุตสาหกรรม ซึ่งทั้งคู่ตั้งอยู่บนฐานของการเปลี่ยนโลกที่มีชีวิตเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่ไร้ชีวิต เราไม่มีทางเลือกอื่น นั่นคือหากไม่ปรารถนาที่จะลงนามประหารตัวและลูกหลานของเราเอง ก็จะต้องออกมาต่อสู้จนสุดกำลังในทุกวิถีทางที่จะล้มล้างระบบทั้งคู่นี้เสีย

Abstracts.

This article is to study the nature and the environment, sustainable communities. Way of life that is based on the sustainable use of resources will not go away. Use of resources and ways of life that has raised too much like a salmon returning to the river at all, it is not sustainable as well. Sustainability will not harm the community. Native forest, native grassland and native fish. Real-world need each other, so the river is in danger, it will affect humans and other animals that live on the river. Would not let anyone, whether rich or have any power to create without toxic drugs. Would not let anyone, whether rich or have the power to destroy the only area in which humans and other organisms live. In the limit. We can not build a foundation for economic growth forever. Life is unsustainable and will collapse. But the problem is that the rest of the world after the fall of this. Humans and other organisms need to be prepared for the fall as much as possible. Health of the local economy is more important than the economic health of the world. Do not let the world destroy the local economy and land base. Corporate non-living things. And so it is not the corporation is not true. It is a legal definition. The Corporation has the responsibility to limit the separation of humans from responsibility for his actions, so it must have a limited liability corporation. The health of humans and other organisms in the community is more important than corporate profits. Human rights and freedoms fully in the fight against the regime and the dangers to themselves. As we have seen the destruction of capitalism and industrial civilization. Both are located on the base of the world where life is a commodity that is devoid of life. We have no other choice. That is, if you do not wish to be signed and executed by our own offspring. It must be fought until it was in every way to subvert the system, this waste.

๑. บทนำ

โลกมนุษย์ในปัจจุบัน มีภัยอันตรายใหญ่อยู่ ๒ ประการ คือ (๑) ความแตกแยกระหว่างมนุษย์ ที่รบราฆ่าฟัน สมานกลมกลืนกันไม่ได้ นับวันจะมากขึ้น ทั้งๆ ที่โลกของสิ่งแวดล้อมและโลกของการสื่อสารรวมกันได้ด้วยโลกาภิวัตน์ เป็นชุมชนธรรมชาติ (Global Village) คือเป็นโลกแคบอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่มนุษย์กลับยิ่งแตกแยก และสภาพแตกแยกนั้นก็กลายเป็นโลกาภิวัตน์ (๒) ปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นโลกาภิวัตน์ แผ่ไปทั่วโลกเช่นเดียวกัน สองปัญหานี้ มนุษย์จะพัฒนาตัวเองพอที่จะแก้ไขได้หรือไม่ มันอาจจะนำมนุษยชาติไปสู่ความพินาศ หรือนึกถึงนักทำนายอนาคตอย่างนอสตราดามุส หรืออะไรต่ออะไรก็ว่ากันไป แต่ที่จริงกรรมคือการกระทำของมนุษย์นี่เองเป็นตัวร้าย มนุษย์มักจะมัวไปคิดซัดทอดปัจจัยอื่น แต่ลืมมองตนเอง ปัญหาตอนนี้เป็นเรื่องของมนุษย์ที่เจริญมาจนถึงปัจจุบันนี้ ก็ยังไม่พัฒนาตนเองเท่าไร ทั้งๆ ที่มีการปกครองแบบประชาธิปไตย ก็ยังไม่แสดงถึงลักษณะที่มนุษย์จะพัฒนาไปในแนวโน้มที่ดีขึ้น เพราะว่า ความแตกแยกไม่น้อยลง แต่กลับมากขึ้น ทำอย่างไรเราจะพัฒนามนุษย์ได้สำเร็จ[1] จากแนวคิดดังกล่าวมานี้จึงสอดคล้องกับแนวคิดชุมชนธรรมชาติกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
ผู้เสนอแนวคิดชุมชนธรรมชาติ (Natural Community) ได้แก่ เดอร์ริก เจนเซน (Derrick Jensen เกิด ๑๙๖๐) นักเขียนและนักเคลื่อนไหวทางสิ่งแวดล้อมชาวอเมริกัน เขียนหนังสือมาราว ๑๕ เล่มและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ งานสำคัญ ได้แก่ "จบการเล่น" (Endgame เผยแพร่ปี ค.ศ. ๒๐๐๖) เป็นหนังสือชุดรวม ๒ เล่ม ที่มาของความคิดของเขาอาจแบ่งได้เป็น ๓ กลุ่ม ได้แก่ (ก) วิชาการสาขาต่างๆ ทั้งทางประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ การเมือง และโดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม (ข) ประสบการณ์ชีวิตของเขาจากครอบครัวที่มีความรุนแรง การฝึกฝนในการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ (ค) ประสบการณ์ในการเคลื่อนไหวทางสิ่งแวดล้อมของเขา ซึ่งเขาสรุปว่าได้ผลอย่างจำกัดยิ่ง เพราะว่านักสิ่งแวดล้อมทำตัวเหมือนหมอนาซี ที่ดูแลคนป่วยในค่ายกักกันเชลย ที่จะพยายามรักษาชีวิตคนไข้ไว้สุดความสามารถ ตามกฎระเบียบที่กำหนดไว้ โดยไม่ตั้งข้อสงสัยว่าการมีค่ายกักกันนั้นชอบด้วยศีลธรรมเพียงใดแนวคิดชุมชนธรรมชาติเน้นการเป็นอยู่แบบเรียบง่าย ยุติการเป็นอุตสาหกรรม การแบ่งงานกันทำ การมีผู้เชี่ยวชาญและเทคโนโลยีขนาดใหญ่ ส่งเสริมการเป็นพันธมิตรของชนพื้นเมือง เพราะว่าชนพื้นเมืองมีวิถีดำเนินชีวิตที่ยั่งยืน ขณะที่ตะวันตกนักล่าอาณานิคมยังชีพจากแผ่นดินที่ขโมยมา
เดอร์ริก เจนเสน ได้เสนอแนวคิดการปฏิวัติจากเบื้องล่างเพื่อแทนที่สังคมอุตสาหกรรมในอดีต การวิพากษ์ของมาร์กซ์และเองเกลส์ สหายร่วมรบในการสร้างทฤษฎีปฏิวัติสังคมนิยม นับได้ว่าเป็นแบบฉบับที่ยังคงมีอิทธิพลในระดับหนึ่งจนถึงทุกวันนี้ มาร์กซ์ได้อธิบายว่าการที่สังคมทุนนิยมจะถูกแทนที่ด้วยสังคมสังคมนิยมเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่พ้น โดยบรรยายว่า อุตสาหกรรมสมัยใหม่ที่บุกเบิกขึ้นในยุคทุนนิยมจะแผ่ซ่านไปตั้งรกรากในทุกแห่งหน เพื่อดูดกินทรัพยากรความมั่งคั่งจากทุกที่ในโลก และดำเนินการขูดรีดการทำงานส่วนเกิน (Surplus Labour) จากคนงาน จนกระทั่งโลกแตกออกเป็น ๒ ขั้วได้แก่ ขั้วหนึ่ง มหาเศรษฐีนายทุนเพียงหยิบมือเดียว อีกขั้วหนึ่ง ได้แก่ มวลชนอันไพศาลที่อดอยากยากจน เมื่อถึงเวลานั้นมวลชนคนงานก็จะลุกขึ้นก่อการปฏิวัติ ครั้นแล้ว "ระฆังมรณะของทรัพย์สินเอกชนของนายทุนก็กังวานขึ้น ผู้ริบทรัพย์จะเป็นผู้ถูกริบทรัพย์" เหตุการณ์นี้บางทีเรียกว่าการริบทรัพย์ผู้ที่ริบทรัพย์ (Expropriation of Expropriator) อย่างไรก็ตาม มาร์กซ์ไม่ได้เห็นว่าหลังยุคทุนนิยม สังคมจะเข้าสู่ยุคหิน หากแต่ยิ่งพัฒนาพลังการผลิตสูงขึ้นไปอีก เมื่อการทำงานที่เป็นแบบสังคม สอดคล้องกับระบบถือครองกรรมสิทธิ์ที่เป็นแบบสังคมเช่นกัน สังคมที่เกิดใหม่เป็นการสมาคมอย่างเสรีของผู้ใช้แรงงานที่เสรี ทุกคนเพื่อแต่ละบุคคล และแต่ละบุคคลเพื่อทุกคน เจนเสนได้รับรู้การปฏิวัติแบบนี้ แต่ดูเหมือนว่าเขามีแนวคิดต่างหากออกไป
จะเห็นได้ว่า ปัจจุบันนี้สังคมโลกกำลังตื่นตัวเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยมีการกำหนดไว้ว่า วันที่ ๕ มิถุนายน ของทุกปีถือว่าเป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก เป็นวันที่ถูกกำหนดขึ้นเนื่องจากภาวะวิกฤติของสิ่งแวดล้อมด้านต่างๆ ทั้งดิน น้ำ ป่า อากาศ ที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาของกระแสทุนนิยมบริโภค มีการกอบโกยทรัพยากรของโลกมารับใช้อย่างบ้าคลั่ง โดยไม่มีระบบควบ คุม ด้วยเหตุนี้ประชาคมสิ่งแลดล้อมของโลกจึงกำหนดให้วันนี้เป็นวันที่ชาวโลกต้องหันมาให้คุณค่า และความสำคัญ และร่วมกันรักษา ฟื้นฟู และสร้างระบบการจัดการที่ดี เพื่อให้สิ่งแวดล้อมที่มีอยู่นี้สามารถอยู่ร่วมกันกับมนุษย์ได้อย่างสันติสุข
เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว แนวคิดนี้สรุปว่า "เราทุกคนเป็นสมาชิกของชุมชนธรรมชาติที่สัมพันธ์ขึ้นต่อกัน ซึ่งรวมทั้งแม่น้ำ ผู้เยาว์วัยและหินผา ความสัมพันธ์นี้กำหนดตัวเรา รักษาเรา สร้างเรา และทำให้เรามีความสุขสำราญ และเมื่อเราถูกแยกให้อยู่โดดเดี่ยวและแยกออกจากกัน ความไม่สบายก็จะขึ้นสู่ระดับความโศกสลด" เจนเสนย้ำว่าชุมชนธรรมชาติไม่ใช่เป็นเรื่องของระบบนิเวศที่กล่าวกัน เพราะว่าระบบนิเวศเป็นศัพท์ของเครื่องจักร ที่เน้นการนับเป็นจำนวน การทำซ้ำได้ และการมองในมิติของความต้องการ ขาดเลือดเนื้อและชีวิตและความสัมพันธ์ในด้านความทุกข์ความสุข ซึ่งหมายถึงต้องสนองกลับคืนสู่ธรรมชาติด้วย

๒. ความหมายและความสำคัญของชุมชนธรรมชาติ

                ๒.๑ ความหมายของคำว่าชุมชนธรรมชาติ

ชุมชนธรรมชาติ ในบริบทนี้ หมายถึง “มนุษย์ที่อยู่กับธรรมชาติอย่างเข้าใจธรรมชาติ” นั้นคือ มนุษย์จะมีชีวิตที่ดีงามแท้จริงโดยสมบูรณ์ จะต้องรู้ความจริงของธรรมชาติ ทีนี้ความจริงของธรรมชาติ มันไม่เข้าใครออกใคร มันไม่ได้ขึ้นต่อมนุษย์ มันเป็นของมันอย่างนั้น มนุษย์จะเอาอย่างไรก็เรื่องของมนุษย์ แต่มันไม่เป็นไปตามใจมนุษย์ มนุษย์นี่แหละจะต้องไปรู้จักมัน เป็นหน้าที่ของมนุษย์ที่จะต้องเข้าไปรู้จักความจริงของธรรมชาติและปฏิบัติต่อมันให้ถูกต้อง สำหรับความเป็นอยู่ของมนุษย์นี้ เราเห็นอยู่ชัดเจนว่า มนุษย์อยู่กับสิ่งแวดล้อม ซึ่งแบ่งเป็น ๒ อย่าง คือ (๑) สิ่งแวดล้อมที่เป็นมนุษย์ด้วยกัน คือสิ่งแวดล้อมทางสังคม ได้แก่เพื่อนมนุษย์ (๒) สิ่งแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติทั้งหลายทั้งหมด ได้แก่ระบบของสรรพสิ่งที่อยู่ภายใต้กฎธรรมชาติ รวมทั้งตัวมนุษย์เองด้วย ถ้าเราแยกอย่างนี้ได้ เราจะเห็นความแตกต่าง ว่าเราจะต้องมีท่าทีต่างกันเป็น ๒ อย่าง ซึ่งถ้าไม่ระวังจะสับสน ดังนั้น สิ่งสำคัญต้องคำนึงถึง คือ (ก) ท่าทีต่อเพื่อนมนุษย์ เราอยู่ด้วยกัน ก็ควรมีความรักกัน มีเมตตาต่อกัน นี้เป็นท่าทีที่ดี เพราะว่ามันจะช่วยให้เราไม่เบียดเบียนกันมีความสามัคคีกัน มีความรักใคร่ปรองดอง ปรารถนาดี ปรารถนาประโยชน์สุขแก่กันและกัน (ข) ท่าที่ต่อสัจธรรม พร้อมกันนั้น มนุษย์ก็อยู่กับความจริงของธรรมชาติ อยู่กับระบบของธรรมชาติและระบบของสรรพสิ่งที่สัมพันธ์กัน ซึ่งอย่างที่บอกแล้วว่า ธรรมชาติมันไม่เข้าใครออกใคร มนุษย์จะต้องไปรู้จักมัน ท่าทีต่อความจริงของธรรมชาตินี้จะเอาเมตตาไปใช้ไม่ได้ ในที่นี้ไม่ใช่หมายถึงธรรมชาติด้านชีวิต เช่น สิงสาราสัตว์ แต่หมายถึงตัวกฎธรรมชาติ ที่จะต้องรู้ด้วยปัญญา และจะต้องปฏิบัติต่อมันโดยใช้ปัญญา[2]  
ชุมชนธรรมชาติ หมายถึง มนุษย์จะต้องมีท่าทีที่ดีต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันนั้นคือเมตตา แต่ท่าทีต่อกฎธรรมชาติต้องใช้ปัญญา มนุษย์จะอยู่ด้วยเมตตาต่อกฎธรรมชาติ มันก็ไม่รู้เรื่องด้วยและมันก็ไม่เป็นไปตามความปรารถนาของเรา แต่มันก็เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของมันอยู่นั่นเอง เพราะฉะนั้น เราต้องรู้มัน ต้องรู้ความจริงของมันแล้วปฏิบัติให้ถูกต้อง มนุษย์เรานั้นแสวงหาสิ่งนี้อยู่แล้ว คือหาตัวความจริง แต่พร้อมกันนั้นมนุษย์ก็ต้องอยู่ร่วมกันกับเพื่อนมนุษย์ ซึ่งต่างพวกต่างคนก็เห็นความจริงไม่เหมือนกัน ตอนนี้แหละถ้าไม่ระวังให้ดีจะมีท่าทีที่สับสนแล้วก็จะพลาด ที่ว่านั้น หมายความว่า มนุษย์ที่พยายามอยู่ร่วมกันด้วยดีนั้น ก็จะบอกว่าเราต้องมีเมตตาต่อกัน และก็จะมาประนีประนอมกัน โดยบอกว่า นี่นะ ไม่เป็นไรหรอก เรามาตกลงกันว่า เราทุกคนทุกฝ่ายก็เห็นความจริงด้วยกันทั้งนั้น ถ้าอย่างนี้มนุษย์ที่จะประนีประนอมกันนั้นก็กลายเป็นว่าไปประนีประนอมกับความจริง หรือเอาสัจธรรมมาประนีประนอมกับตน ซึ่งเป็นไปไม่ได้ และการทำอย่างนั้นก็จะเป็นอุปสรรคแก่ตัวมนุษย์เอง คือทำให้มนุษย์ขัดขวางตัวเองจากความจริง ซึ่งจะทำให้ไม่เข้าถึงความจริงนั้น

๒.๒ ความสำคัญของชุมชนธรรมชาติ

สืบเนื่องจากการที่สภาพแวดล้อมในครอบครัวในปัจจุบันที่เหินห่างมีช่องว่างสูง พ่อแม่ผู้ปกครองดูจะมีความสามารถน้อยลงทุกทีในการสื่อสารทำความเข้าใจกับบุตรหลานของตน ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในสังคม การมีสินค้ารุ่นใหม่และความรู้ใหม่ทะลักหลั่งไหลมาตลอด แฟชั่น และความนิยมก็เปลี่ยนไปอย่างต่อเนื่อง อีกส่วนหนึ่งเกิดจากภาวะในการหาเลี้ยงชีพหรือดำรงฐานะในสังคม จนเกิดความเร่งรีบและความเครียด ขาดเวลาว่างที่จะอยู่ด้วยกัน ดังนั้น เยาวชนไทยมีแนวโน้มที่จะหันเหไปในทางของตน โดยยึดถือกลุ่มเพื่อนเป็นหลัก ขาดพ่อแม่ผู้ปกครองแม้แต่ที่จะให้ก่อกบฏ
    สภาพแวดล้อมทางชุมชนที่ดูอ่อนแอลงไปทุกที เนื่องจากการกดดันทางเศรษฐกิจ-สังคม เช่นคนหนุ่มสาวย้ายถิ่นเพื่อไปประกอบอาชีพตามเมือง เหลือแต่เด็กและคนชราในหมู่บ้าน ชุมชนถูกทำให้อ่อนแอโดย (๑) การผูกโยงแรงงานของชุมชนเข้ากับตลาดแรงงานของประเทศจนถึงของโลก (๒) การผูกโยงเศรษฐกิจชุมชนเข้ากับเศรษฐกิจเมืองและเศรษฐกิจโลก (๓) การผูกโยงวัฒนธรรมชุมชนเข้ากับวัฒนธรรมเมืองและของโลก เหล่านี้ทำให้แรงงาน เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ขาดความเข้มแข็งเป็นตัวของตัวเอง พลังประชาธิปไตยทั้งหลายมักเกิดขึ้นเพื่อสร้างชุมชนในระดับต่างๆ ชุมชนที่อ่อนแอเกินไปกลายเป็นเหมือนท่อนฟืนเปียกสำหรับการจุดไฟประชาธิปไตย[3]
    สภาพแวดล้อมทางการศึกษา ที่เน้นการเรียนดี สอบได้ มีการสอนพิเศษ ทำให้สถานศึกษาเป็นแหล่งผลิตใบประกาศนียบัตรและปริญญา เพื่อการไต่เต้าทางสังคม สิ่งแวดล้อมในสถานศึกษาเต็มไปด้วยการแข่งขันเพื่อการดีเอาเด่นส่วนตัว ค่านิยมที่ได้จากการศึกษาและสิ่งแวดล้อมอื่นดูจะออกไปในแนวที่ต้องการทำงานเบา ได้เงินมาก มีชื่อเสียงเร็ว อย่างอื่น เช่น การทำงานเพื่อสาธารณประโยชน์ การพัฒนาทางจิตวิญญาณเป็นเรื่องรอง
    สภาพแวดล้อมทางการสื่อสารมวลชน เยาวชนไทยได้ตกเป็นเป้าหลักของการโฆษณาประชาสัมพันธ์จนตกอยู่ในอิทธิพลลัทธิผู้บริโภคสูงกว่าวัยใดๆ มีการบริโภคเพื่อแสดงฐานะตั้งแต่โทรศัพท์มือถือ ไปจนถึงเครื่องเล่นเกม ตั้งแต่รองเท้าถึงกระเป๋ามีชื่อ มีรายงานข่าวหนาหูว่า นิสิตนักศึกษาพากันใช้ชีวิตที่หรูหราฟุ้งเฟ้อ บางคนถึงขั้นขายตัวเพื่อต้องการใช้ชีวิตแบบนั้น
เพราะฉะนั้น ชุมชนธรรมชาติจึงมีความสำคัญ โดยเฉพาะประเด็นป่าไม้ที่มีความสัมพันธ์ ผูกพันใกล้ชิดกับคนในวิถีชีวิตของชุมชนในสังคมไทยมาช้านานตั้งแต่บรรพบุรุษ จนถึงปัจจุบัน หากแต่วันนี้ผืนป่าของชุมชนที่ถูกหน่วยงานของกรมป่าไม้เข้ามาแสดงความเป็นเจ้าของ และเข้ามาจัดการดูแลอย่างถูกต้องตามกฏหมาย ผ่านองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ กำลังสนองนโยบายของรัฐที่ต้องการเปลี่ยนทรัพย์สินให้เป็นทุน ด้วยการโค่น ตัด ดัน ไถ่ ป่าแก่โบราณของชุมชน ซึ่งเสมือนการทุบ ทำลายหม้อข้าว หม้อแกง จึงเป็นเหตุผลที่ไม่สามารถทนดูได้อีกต่อไป
ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนในชุมชนต้องดูแล รักษา ฟื้นฟู ผืนป่าของชุมชน ด้วยคนชุมชนเอง กลุ่มอนุรักษ์ ธรรมชาติและสิ้งแวดล้อม เอ็นจีโอ (NGOs) ผู้นำศาสนา ข้าราชการ นักเรียน นักศึกษา พ่อค้า ประชาชน ร่วมกันสร้างเครือข่ายเพื่อพิทักผืนป่า สมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้ และชุมชนธรรมชาติในถิ่นอื่นๆ ของประเทศไทยควรร่วมมือกัน ปลูกป่า คืนแผ่นดินเพื่อถิ่นกำเนิดเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบรมราชินีนารถ ที่ทรงมีพระชนมายุครบ ๘๐ พรรษา ซึ่งเป็นโอกาสอันดีที่ทุกท่านจะร่วมแสดงความรักที่มีต่อผืนป่าในถิ่นกำเหนิดของท่าน


๓. มนุษย์เป็นส่วนสำคัญของสภาพแวดล้อมที่จะนำมาซึ่งความยั่งยืน

ภัยของมนุษย์ในยุคปัจจุบันนี้ที่ใหญ่ที่สุดมี ๒ อย่าง ที่จะทำให้มนุษยชาติอยู่ได้หรือไม่ได้ (๑) ปัญหาสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องที่มนุษย์ยุคปัจจุบันโดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว เฉพาะอย่างยิ่งประเทศตะวันตกตื่นตัว กลัวเกรงภัยอันตรายมาก บางทีก็คิดว่าโลกอาจจะไปไม่รอด อาจจะถึงกับพินาศ มีการประชุมระดับโลกที่เรียกว่า “Earth Summit” คือ ความพยายามของนานาชาติในความพยายามที่จะก่อตั้งเครือข่ายการพิทักษ์สิ่งแวดล้อมมีมาตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๗๒ เมื่อมีการออก ปฏิญญาแห่งสตอกโฮล์ม” (Stockholm Declaration) โดยการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ (United Nations Conference on the Human Environment) ที่สนับสนุนการพิทักษ์ภูมิภาคตัวอย่างของพื้นที่คุ้มครองของแต่ละประเภทของสิ่งแวดล้อม เพื่อใช้ในการเป็นพื้นฐานของความต้องการในโครงการอนุรักษ์ระดับชาติ ตั้งแต่นั้นมาการพิทักษ์ภูมิภาคตัวอย่างก็กลายมาเป็นพื้นฐานหลักของการอนุรักษ์ทางชีววิทยาที่สนับสนุนโดยอนุสัญญาหรือข้อตกลงสำคัญๆ ของสหประชาชาติ ที่รวมทั้งกฎบัตรแห่งโลก เพื่อธรรมชาติ (World Charter for Nature) ในปี ค.ศ. ๑๙๘๒, the Rio Declaration at the การประชุมสุดยอดด้านสิ่งแวดล้อม (ค.ศ. ๑๙๙๒) (Earth Summit) และ ปฏิญญาแห่งโจฮันเนสเบิร์ก (Johannesburg Declaration) ในปี ค.ศ. ๒๐๐๒ "การประชุมสุดยอดของโลก (Earth Summit, Rio Conference)หรือ การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา (UN Conference on Environment and Development; UNCED)" พ.ศ. ๒๕๓๕ กรุงริโอ เดอ จาเนโร สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล  วัตถุประสงค์ของการประชุมเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา ซึ่งนับเป็นการประชุมครั้งแรกที่ได้กำหนดแนวทางการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่จะต้องดำเนินการพัฒนาให้ครอบคลุม ๓ เสาหลักของการพัฒนาที่ยั่งยืน คือ สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม[4]
ที่ประชุมได้มีมติให้จัดตั้งคณะกรรมาธิการว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (Commission on Sustainable Development; CSD) ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน ๕๓ ประเทศ รับผิดชอบเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน และติดตามกำหนดแนวทางในการนำผลการประชุม WSSD ไปปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม โดย CSD จะรายงานผลต่อสมัชชาสหประชาชาติ (UN. General Assembly) โดยผ่านคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (Economic and Social Council - ECOSOC) ที่ประชุมได้ให้การรับรองเอกสาร ๓ ฉบับและอนุสัญญา ๒ ฉบับ[5] ได้แก่
๑) ปฏิญญาริโอ (Rio Declaration on Environment and Development) เป็นหลักการเกี่ยวกับสิทธิและความรับผิดชอบของสหประชาชาติในการดำเนินงานพัฒนาเพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชาชน
๒) แถลงการณ์เกี่ยวกับหลักการด้านป่าไม้ (Statement of Forest Principle) เป็นแนวทางสำหรับการจัดการทรัพยากรป่าไม้อย่างยั่งยืน
๓) แผนปฏิบัติการ ๒๑ (Agenda 21) เพื่อเป็นแผนแม่บทของโลกในการดำเนินงานเพื่อการพัฒนายั่งยืน ทั้งทางสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม
๔) อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไทยให้สัตยาบันเมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๓๗
๕) อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ไทยให้สัตยาบันเมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๔๗ ประชุมมา ๓ ครั้งแล้ว ในปี ค.ศ. ๑๙๗๒, ๑๙๙๒ และ ๒๐๐๒ ในช่วงเวลา ๒๐ ปี ระหว่างครั้งที่ ๑ กับครั้งที่ ๒ เขาสรุปมาว่า ทั้งๆ ที่มนุษย์ตื่นตัว แต่ก็แก้ปัญหาหรือยับยั้งเรื่องความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม หรือภัยอันตรายแก่สิ่งแวดล้อมไม่ได้ผล คือไม่ดีขึ้นเลย แต่กลับทรุดโทรมหนักลงไป ภัยอันตรายจะครอบงำมนุษย์ต่อไป (๒) ความแตกแยกระหว่างหมู่ชน ที่แบ่งกันไปด้วยเหตุการนับถือลัทธิศาสนา ด้วยเหตุแบ่งผิวชาติชั้นวรรณะ อย่างเช่นสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศประชาธิปไตย ผู้นำได้ชื่อว่าเป็น “melting pot” คือเบ้าหลอมให้คนรวมเป็นอันเดียวกัน เวลานี้ เบ้าหลอมก็แตกแล้ว
เดอร์ริก เจนเซน (Derrick Jensen) แสดงความคิดเห็นว่า จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับมนุษย์และไม่ใช่มนุษย์ที่มีเลือดเนื้อ ดำเนินชีวิตไปด้วยความทุกข์ความสุขในสภาพแวดล้อมธรรมชาติ เพื่อให้ผู้อ่านสามารถเข้าใจความคิดพื้นฐานเพื่อการถกเถียงและขยายความรู้และการปฏิบัติออกไป ในหนังสือชื่อ "จบการเล่น" เขาจึงได้เสนอสมมุติฐานไว้ ๒๐ ประการ[6] ที่กลั่นจากความรู้ ประสบการณ์และการต่อสู้ของเขา ในที่นี้จะกล่าวถึงบางข้อโดยปรับให้เข้าใจง่ายและความพอเหมาะ ข้อสมมุติฐาน ได้แก่
ข้อที่ ๑ อารยธรรมทั้งหลาย โดยเฉพาะอารยธรรมอุตสาหกรรม ไม่สามารถดำรงอยู่อย่างยั่งยืนได้
ข้อที่ ๒ ชุมชนเดิมทั้งหลายจะรักษาทรัพยากรและผืนดินไว้จนสุดชีวิต ผู้ที่ต้องการทรัพยากรนั้นจำต้องทำลายชุมชนเดิมทุกวิถีทาง (นี่คือสงคราม และการสร้างอาณาจักร)
ข้อที่ ๓ วิถีชีวิตของอารยธรรมอุตสาหกรรมจะล่มสลายลงอย่างรวดเร็ว โดยปราศจากการต่อต้านและความรุนแรง (ทั้งนี้ เมื่อศูนย์กลางอำนาจล่มสลาย)
ข้อที่ ๔ ความรุนแรงที่ชนชั้นบนกระทำต่อชนชั้นล่างซึ่งเกิดขึ้นโดยตลอดถือเป็นสิ่งชอบด้วยเหตุผล ส่วนความรุนแรงที่ชนชั้นล่างกระทำต่อชนชั้นบนซึ่งนานๆ เกิดครั้งหนึ่ง ถือเป็นสิ่งที่คิดไม่ถึง เป็นเรื่องน่าตกใจ สยดสยอง และต้องยกย่องบูชาผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ
ข้อที่ ๕ ทรัพย์สินของชนชั้นสูงมีมูลค่ามากกว่าชีวิตของชนชั้นล่าง เป็นสิ่งปกติว่าชนชั้นสูงเมื่อแสวงหาความมั่งคั่งและเงินทองจะทำลายชีวิตของชนชั้นล่าง นี่เรียกว่าการผลิต ถ้าหากชนชั้นล่างทำลายทรัพย์สินของชนชั้นบน ชนชั้นบนสามารถฆ่าหรือทำลายชีวิตชนชั้นล่างได้ นี่เรียกว่าความยุติธรรม
ข้อที่ ๖ อารยธรรมนี้มีแต่เดินหน้าไปสู่การทำลายล้างโลกทั้งโลก ไม่สามารถปฏิรูปให้ดำรงอยู่อย่างยั่งยืนได้
ข้อที่ ๘ โลกธรรมชาติสำคัญกว่าระบบเศรษฐกิจ ระบบเศรษฐกิจสังคมใดที่ไม่เอื้อต่อชุมชนตามธรรมชาติ ย่อมเป็นอารยธรรมที่ไม่ยั่งยืน ไร้ศีลธรรมและโง่เขลา
ข้อที่ ๙ ประชากรโลกมีแนวโน้มลดลงอย่างมาก ทั้งโดยแบบรุนแรง เช่นสงครามนิวเคลียร์และการล่มสลายของระบบนิเวศโลก และที่รุนแรงน้อยกว่า ซึ่งผู้คนสามารถเลือกทางหลังได้ โดยการยึดถือครอบครัวและชุมชน
ข้อที่ ๑๐ ในอารยธรรมนี้คนร่ำรวยมีเงินตราและอำนาจมากซึ่งเป็นสิ่งมายา ประชาชนผู้ยากจนก็ยอมรับมายานี้
ข้อที่ ๑๓ เมื่อประชาชนพ้นจากมายาของเงินตราและการปกครองโดยอำนาจแล้ว ก็จะตื่นตัว ก็จะรู้ว่าควรต่อต้านสิ่งเหล่านี้หรือไม่ เวลาใดและอย่างใด
ข้อที่ ๑๖ โลกทางวัตถุเป็นพื้นฐาน เนื่องจากมันเป็นจริงแท้และเป็นบ้านของเรา ต้องคิดพึ่งตนเอง ไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์
และข้อที่ ๒๐ ในอารยธรรมนี้ การตัดสินใจทั้งหลายขึ้นอยู่กับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่การอยู่ดีของชุมชน นั่นคือการตัดสินใจทางสังคมเหล่านี้ขึ้นอยู่กับว่ามันจะสามารถเพิ่มพูนเงินทอง อำนาจและการควบคุมโลก แก่ผู้ตัดสินใจและผู้อยู่เบื้องหลังเพียงใด กล่าวโดยรวมก็คืออารยธรรมคือความรุนแรงและไม่ยั่งยืน มนุษย์จำต้องยุติอารยธรรมอุตสาหกรรมเสีย[7]
เพื่อสรุปแนวคิดของเจนเสน และแสดงว่าทัศนะของเขาประสานเข้ากับการเคลื่อนไหวของชาวรากหญ้าอย่างไร จะขอนำข้อเขียนของเขาชื่อ "คำประกาศใหม่" (A New Declaration เผยแพร่ใน The Occupied Wall Street Journal, 010212) มีใจความสำคัญว่า โลกที่เป็นจริงทางกายภาพเป็นแหล่งของชีวิตเรากับทั้งชีวิตผู้อื่น ความอ่อนแอของพิภพย่อมส่งผลต่อทุกชีวิตในโลก สุขภาพของโลกจึงสำคัญกว่าระบบเศรษฐกิจสังคมใด ดังนั้นคุณค่าของระบบสังคมใดที่เป็นอันตรายต่อความสามารถในการรองรับชีวิตของโลกย่อมไม่สัมพันธ์กับความเป็นจริงทางกายภาพ
จะเห็นได้ว่า วิถีชีวิตใดที่ตั้งอยู่บนฐานการใช้ทรัพยากรที่หมดไปย่อมไม่ยั่งยืน และวิถีชีวิตใดที่ใช้ทรัพยากรที่ฟื้นใหม่ได้มากเกินไป เช่น ทำให้ปลาแซลมอนคืนสู่แม่น้ำน้อยลงทุกปีก็ไม่ยั่งยืนเช่นกัน ความยั่งยืนย่อมไม่เป็นอันตรายต่อชุมชน ทุ่งหญ้าพื้นเมือง ป่าพื้นเมือง และฝูงปลาพื้นเมืองโลกที่เป็นจริงพึ่งพากันและกัน ดังนั้น สายน้ำหนึ่งที่ตกอยู่ในอันตรายก็ย่อมส่งผลกระทบต่อมนุษย์และสัตว์อื่นที่อาศัยบนสายน้ำนั้น ย่อมไม่มีการปล่อยให้ผู้ใดไม่ว่าจะร่ำรวยหรือมีอำนาจเพียงใดในการสร้างพิษร้ายขึ้นโดยไม่มียาแก้ ย่อมไม่มีการปล่อยให้ผู้ใดไม่ว่าจะร่ำรวยหรือมีอำนาจเพียงใดมาทำลายพื้นที่ซึ่งมนุษย์และชีวิตอื่นอาศัยอยู่ ในโลกที่จำกัด เราไม่สามารถสร้างเศรษฐกิจที่วางรากฐานหรือความต้องการการเติบโตตลอดกาล
เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว ถีชีวิตปัจจุบันไม่ยั่งยืนและจะล่มสลาย ปัญหาเหลือแต่เพียงว่าจะเหลืออะไรในโลกหลังการล่มสลายนี้ มนุษย์และชีวิตอื่นจะต้องเตรียมรับมือกับการล่มสลายเท่าที่จะเป็นไปได้ สุขภาพของเศรษฐกิจท้องถิ่นสำคัญกว่าสุขภาพเศรษฐกิจของโลก ไม่ควรปล่อยให้เศรษฐกิจโลกทำลายเศรษฐกิจท้องถิ่นและที่ดินอันเป็นพื้นฐาน บรรษัทไม่ใช่สิ่งมีชีวิต และดังนั้นจึงไม่ใช่คน บรรษัทไม่ได้เป็นอยู่จริง มันเกิดจากนิยามทางกฎหมาย การกำหนดให้บรรษัทมีความรับผิดชอบอย่างจำกัดเป็นการแยกมนุษย์ออกจากความรับผิดชอบในการกระทำของเขา ดังนั้น จึงต้องยกเลิกการรับผิดชอบอย่างจำกัดของบรรษัท สุขภาพของมนุษย์และชีวิตอื่นในชุมชนสำคัญกว่ากำไรของบรรษัท มนุษย์มีสิทธิเสรีภาพอย่างเต็มที่ในการต่อสู้กับระบบและระบอบปกครองที่เป็นอันตรายต่อตนเอง เมื่อเราได้เล็งเห็นการทำลายล้างของระบบทุนนิยมและอารยธรรมอุตสาหกรรม ซึ่งทั้งคู่ตั้งอยู่บนฐานของการเปลี่ยนโลกที่มีชีวิตเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่ไร้ชีวิต เราไม่มีทางเลือกอื่น นั่นคือหากไม่ปรารถนาที่จะลงนามประหารตัวและลูกหลานของเราเอง ก็จะต้องออกมาต่อสู้จนสุดกำลังในทุกวิถีทางที่จะล้มล้างระบบทั้งคู่นี้เสีย ถ้าหากขบวนการที่เจนเสนสนับสนุนและร่วมขับเคลื่อนสามารถปฏิบัติการได้สำเร็จ ก็อาจแสดงว่าระบบทุนเป็นระบบที่สามารถสนองวัตถุมากที่สุดให้แก่คนหมู่มากที่สุดเท่าที่มีมา เพียงแต่ว่ามันไม่ยั่งยืน

๔. เพราะขาดการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนจึงเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติขึ้น

                สถานการณ์โลกที่กำลังเกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลกในขณะนี้ (๒๕๔๗-๒๕๕๕) ปฏิเสธไม่ได้เลยที่จะให้ความสนใจ โดยเฉพาะภัยธรรมชาติที่ใกล้ตัว เช่น แผ่นดินไหว สึนามิ พายุถล่ม น้ำท่วม พายุฝนฟ้าคะนอง ภาวะโลกร้อน ภัยพิบัติทางธรรมชาติดังกล่าวมานี้ล้วนเป็นภัยใกล้ตัว  อาจจะเกิดขึ้นที่ไหน และเมื่อไรก็ได้  ทำให้มองดูแล้วน่ากลัวมาก  แต่ในความเป็นจริงแล้ว  จากการเรียนรู้ทางประสบการณ์  ของภัยพิบัติต่าง ๆ  ด้วยตนเอง  หรือจากตำรา บทความ ตลอดจนงานวิจัยที่มีผู้ทำไว้  ล้วนมีประโยชน์ในการดำรงชีวิตท่ามกลางภัยพิบัติทางธรรมชาติซึ่งอยู่รอบตัวเราได้  ด้วยความอยู่รอดปลอดภัยในภายภาคหน้า ดังเช่นตัวอย่างของภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นแล้วและมนุษย์ก็ได้สัมผัสความรุนแรงมาแล้ว
๔.๑ สึนามิที่เกาะสุมาตราประเทศ อินโดนีเซีย  ในช่วงระยะเวลาทศวรรษ  คงได้ทราบข่าวจากสื่อต่าง ๆ ถึงการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติที่โน่นบ้าง  ที่นี่บ้างอยู่เป็นประจำ  โดยเฉพาะประเทศไทยเราต้องเผชิญกับภัยพิบัติของ  Tsunami  ครั้งที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์  บริเวณทะเลอันดามันเกิดแผ่นดินไหวขนาด  ๙.๐  ตาม  Richter’ Scale[8]  ทางตะวันตกของเกาะสุมาตราประเทศ อินโดนีเซีย  เมื่อประมาณ  ๐๘.๐๐ น.  ของวันอาทิตย์  ที่  ๒๖  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๗  ตามมาด้วย  Tsunami  ขนาดใหญ่  และมีความร้ายแรงมาก  กระทบกระเทือนไม่ถึงกว่า ๑๐ ประเทศโดยรอบทำให้มีคนเสียชีวิตราว  ๓๐๐,๐๐๐  คน  และความเสียหายหลายพันล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา 
                ๔.๒ สึนามิที่ญี่ปุ่น เมื่อต้นปี พ.ศ. ๒๕๕๔ ได้เกิดสึนามิขึ้น เหตุสึนามิในครั้งนี้ แม้จะไม่ใช่ครั้งแรก แต่ก็เป็นครั้งที่สำคัญที่สร้างความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงให้แก่ชาวญี่ปุ่นนับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็นต้นมา เป็นมหาอุบัติภัยในรอบ ๑๔๐ ปี มีความรุนแรงเป็นอันดับที่ ๕ ของโลก ที่ชาวญี่ปุ่นต้องจดจำไว้อีกชั่วกาลนาน สึนามิครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๕๔ เวลาราว ๑๔.๐๐ (เวลาในประเทศไทย คือ ๑๒.๒๐ นาที) มีรายงาน ณ วันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๕๔ ว่ามีผู้เสียชีวิตมีมากกว่า ๙,๐๐๐ ราย สูญหายมากกว่า ๑๒,๐๐๐ ราย (เสียชีวิตและสูญหาย สูงกว่า ๒๐,๐๐๐ ราย) มูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เสียหายไม่ต่ำ ๓๐๐,๐๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ[9]
๔.๓ มหาอุทกภัยในประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๕๔ เป็นอุทกภัยรุนแรงที่เกิดขึ้นระหว่างฤดูมรสุมในประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๕๔ เกิดผลกระทบต่อบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำโขง เริ่มตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคมและสิ้นสุดเมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๕ (แต่การฟื้นฟูยังมีต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน) มีราษฎรได้รับผลกระทบแล้วมากกว่า ๑๒.๘ ล้านคน ธนาคารโลกประเมินมูลค่าความเสียหายสูงถึง ๑.๔๔ ล้านล้านบาท เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ และจัดให้เป็นภัยพิบัติครั้งที่สร้างความเสียหายมากที่สุดเป็นอันดับสี่ของโลก อุทกภัยดังกล่าวทำให้พื้นดินกว่า ๑๕๐ ล้านไร่ (๖ ล้านเฮกตาร์) ซึ่งในจำนวนนี้เป็นทั้งพื้นที่เกษตรกรรมและอุตสาหกรรมใน ๖๕ จังหวัด ๖๘๔ อำเภอ ราษฎรได้รับความเดือดร้อน ๔,๐๘๖,๑๓๘ ครัวเรือน ๑๓,๕๙๕,๑๙๒ คน บ้านเรือนเสียหายทั้งหลัง ๒,๓๒๙ หลัง บ้านเรือนเสียหายบางส่วน ๙๖,๘๓๓ หลัง พื้นที่การเกษตรคาดว่าจะได้รับความเสียหาย ๑๑.๒๐ ล้านไร่ ถนน ๑๓,๙๖๑ สาย ท่อระบายน้ำ ๗๗๗ แห่ง ฝาย ๙๘๒ แห่ง ทำนบ ๑๔๒ แห่ง สะพาน/คอสะพาน ๗๒๔ แห่ง บ่อปลา/บ่อกุ้ง/หอย ๒๓๑,๙๑๙ ไร่ ปศุสัตว์ ๑๓.๔๑ ล้านตัว มีผู้เสียชีวิต ๘๑๓ ราย (๔๔ จังหวัด) สูญหาย ๓ คน (จ.แม่ฮ่องสอน ๒ ราย จ.อุตรดิตถ์ ๑ ราย) [10]       
ภัยจากน้ำท่วม เป็นภัยที่เกิดขึ้นได้ทุกแห่ง มีลักษณะและความรุนแรงแตกต่างกันออกไป ดังนี้
                                ๔.๓.๑ การเกิดน้ำท่วมขังในที่ราบลุ่ม  เนื่องมาจากความไม่สมดุลระหว่าง  (ก) ปริมาณน้ำฝน  (ข) ปริมาณน้ำฝนที่ซึมลงสู่ใต้ดิน และ (ค) ปริมาณน้ำผิวดินที่ไหลหรือระบายออกจากพื้นที่นั้น ถ้าปริมาณน้ำส่วน (ก)  มากกว่าส่วน (ข)  และส่วน (ค) รวมกัน  ก็จะเกิดการท่วมขัง ความรุนแรงของการท่วมขังไม่มากนัก  ค่อยเป็นค่อยไป  แต่อาจกินเวลานานกว่าจะระบายน้ำออกได้หมด
๔.๓.๒ การเกิดน้ำป่าบริเวณป่าเขาที่มีความลาดชันสูง ถ้าปริมาณฝนในพื้นที่รับน้ำมีมาก จนทำให้ปริมาณน้ำผิวดินที่ระบายออกจากพื้นที่มีมาก ด้วยอัตราที่รุนแรงเรียกว่า น้ำป่า ยิ่งถ้าป่าบริเวณนั้นถูกทำลายและปราศจากพืช ต้นไม้ปกคลุมดิน ก็จะพัดเอาเศษต้นไม้ กิ่งไม้ ตะกอน ดิน ทราย และหินลงมาด้วย ก่อให้เกิดความเสียหายแก่พื้นที่บริเวณท้ายน้ำเป็นอย่างมาก อุทกภัยจากน้ำป่ามีความรุนแรงกว่าประเภทแรก และจำเป็นต้องใช้เวลานานในการแก้ไขจนกว่าพื้นที่นั้นจะกลับฟื้นคืนสภาพดังเดิมได้
๔.๓.๓ น้ำล้นตลิ่งของลำน้ำ เนื่องจากปริมาณและอัตราน้ำหลากที่เกิดขึ้นในบริเวณต้นน้ำ มีมากเกินกว่าความสามารถของแม่น้ำในบริเวณดังกล่าวที่จะรับได้ ถ้าเป็นแม่น้ำขนาดเล็กและปริมาณของน้ำหลากไม่มาก น้ำหรือเป็นแม่น้ำขนาดใหญ่ที่มีระบบควบคุมอัตราการไหลที่ดี เช่นมีเขื่อน อ่างเก็บน้ำ ฝายทดน้ำ  หรือประตูระบายน้ำ ความรุนแรงและความเสียหายอันเกิดขึ้นจากอุทกภัยอาจไม่มากนำ แต่ถ้าเป็นแม่น้ำขนาดใหญ่ที่ปราศจากระบบควบคุมจะก่อให้เกิดความเสียหายมาก และเป็นวงกว้าง
๔.๓.๔ น้ำท่วมอันเกิดจากการวิบัติของระบบควบคุม เช่น เขื่อนพัง อ่างเก็บน้ำแตก ประตูระบายน้ำไม่อาจทำหน้าที่ได้ จะก่อให้เกิดน้ำหลาก มีความรุนแรงมากกว่าน้ำป่า และความเสียหายที่เกิดขึ้นก็มากกว่าเช่นกัน[11]
๔.๔ วิกฤติภาวะโลกร้อน นอกจากภัยแผ่นดินไหว สึนามิ มหาอุทกภัยแล้ว ภัยที่เป็นสัญญาณเตือนอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญคือ “วิกฤติภาวะโลกร้อน” ซึ่งมนุษย์โลกกำลังสัมผัสและเกิดขึ้นจริง อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา คือ อัล กอร์ (Al Gore) ได้กระตุ้นให้ชาวโลกตระหนักอย่างเป็นรูปธรรมโดยการใส่ใจ สำรวจ และเปิดเผยสถานการณ์ โดยเฉพาะสถานการณ์ภูเขาน้ำแข็งที่ขั่วโลกเหนือกำลังทลาย และละลายเป็นน้ำอย่างต่อเนื่อง ความจริงก่อนหน้านั้นนักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันรุ่นแรกๆ ที่หยิบยกประเด็นนี้ ได้แก่ สตีเฟ่น ชไนเดอร์ (Stephen Schneider) และจิม แฮนเซ่น (Jim Hansen) ได้เตือนอย่างเป็นทางการถึงเรื่องวิกฤติโลกร้อนแก่วุฒิสภาสหรัฐเมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๓๑ (ค.ศ.๑๙๘๘) ว่าอุณหภูมิของโลกได้เพิ่มขึ้น ทำให้โลกร้อนที่สุดเท่าที่วัดได้ ชไนเดอร์ ยังได้เขียนหนังสือในปีถัดมาอีกชื่อ “Global Warming” แต่ที่เป็นผลงานชิ้นสำคัญที่ทำให้ชาวโลกหันมาให้ความสนใจเรื่องดังกล่าวเป็นพิเศษ คือการที่นักการเมืองอย่าง อัล กอร์ และมาร์กาเร็ต แทตเซอร์[12]ได้นำไปขยายผลต่อ ไม่ว่าใครจะพูดก่อนหรือพูดที่หลัง แต่ประเด็นคือใครจะทำอย่างไรกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นบนโลกใบนี้ และ ณ ขณะนี้ ภาวะโลกร้อน เป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพดินฟ้าอากาศ สภาพสิ่งแวดล้อมของโลกขณะนี้อยู่ในอาการ “ป่วยหนัก” โดยไร้การเหลียวแลและเยียวยาจากผู้คนที่อาศัยและพึ่งพาโลกใบนี้ ซึ่งสอดรับกับแนวคิดของ อี.โอ. วิลสัน (E.O.Wilson) ที่กล่าวไวว่า คงเป็นเพราะมนุษย์ยังเป็นผู้ล่าอยู่ เราจึงไม่ยอมรับหลักฐานที่ยืนยันว่า โลกกำลังเปลี่ยนแปลง พันธุกรรมเป็นตัวกำหนดให้มนุษย์มองสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เป็นอาหารไปหมด และเราก็ให้ความสนใจพวกเดียวกันมากกว่าสิ่งอื่นๆ ถึงขั้นว่าเรายอมสละชีวิตและพร้อมที่จะฆ่ามนุษย์เผ่าพันธุ์อื่นอย่างโหดเหี้ยม เพื่อดำรงไว้ซึ่งเผ่าพันธุ์ของตัวเอง[13]
เมื่อพิจารณาจากแนวคิดนี้แสดงให้เห็นว่า กิเลสมนุษย์ เป็นสิ่งที่กระตุ้นให้มนุษย์พร้อมที่จะทำลายพวกอื่นที่ไม่ใช่พวกตนในโลกใบเดียวกันนี้ ทั้งนี้เพราะมนุษย์ที่อ้างสิทธิ์ว่าเป็นผู้เหนือกว่าสัตว์อื่น สิ่งอื่น จึงกระทำการกอบโกยด้วยพละกำลังที่ตนมีเหนือกว่าสัตว์อื่น แม้กระทั้งต่อโลก และต่อธรรมชาติสิ่งแวดล้อมทั้งหมด ซึ่งสอดรับกับแนวคิดของ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ที่ได้แสดงทัศนะไว้ว่า โลกมนุษย์ในปัจจุบัน มีภัยอันตรายใหญ่อยู่ ๒ ประการ คือ (๑) ความแตกแยกระหว่างมนุษย์ ที่รบราฆ่าฟัน สมานกลมกลืนกันไม่ได้ นับวันจะมากขึ้น ทั้งๆ ที่โลกของสิ่งแวดล้อมและโลกของการสื่อสารรวมกันได้ด้วยโลกาภิวัตน์ เป็นชุมชนธรรมชาติ (Global Village) คือเป็นโลกแคบอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่มนุษย์กลับยิ่งแตกแยก และสภาพแตกแยกนั้นก็กลายเป็นโลกาภิวัตน์ (๒) ปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นโลกาภิวัตน์ แผ่ไปทั่วโลกเช่นเดียวกัน สองปัญหานี้ มนุษย์จะพัฒนาตัวเองพอที่จะแก้ไขได้หรือไม่ มันอาจจะนำมนุษยชาติไปสู่ความพินาศ แต่ที่จริงกรรมคือการกระทำของมนุษย์นี่เองเป็นตัวร้าย[14]
สิ่งนี้เป็นการจุดประกายถึงการเตรียมตัวเตรียมใจเพื่อเผชิญภัยพิบัติที่ร้ายแรงต่อไปในภายภาคหน้า หากมนุษย์ยังขาดจิตสำนึกต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนแล้ว โลกใบนี้ก็อาจจะนำมนุษยชาติไปสู่ความพินาศ
๕. การฟืนฟูและเยียวยาโลกด้วยอริยสัจ ๔

                เป็นหลักธรรมที่สามารถส่งเสริมให้ชุมชนนำมาประยุกต์ใช้เพื่อฟืนฟูและเยียวยาธรรมและสิ่งแวดล้อม นำไปแก้ปัญหาทางสิ่งแวดล้อม สังคม  เศรษฐกิจ และการเมืองที่มีสัมฤทธิผล และมีเหตุผลเชื่อมโยงถูกต้องสอดคล้องมากที่สุด ทำให้ชุมชนหรือประชาชนทุกคนสามารถมองเห็นถึงปัญหา เพราะธรรมชาติเป็นเรื่องใกล้ตัว การรู้จักใช้ธรรมชาติและรักษาธรรมชาติ มีผลประโยชน์ตามมาอีกมากมายมหาศาล มนุษย์ต้องมีคุณธรรม  ธรรมชาติและโลกจะได้ไม่พินาศเพราะการทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างบ้าคลั่ง เพราะสาเหตุอันเกิดจากกิเลส ตัณหาเข้าครอบงำตนเอง ทำให้เกิดความโลภ ความโกรธ ความหลง ความอยากมีอยากเป็น ความไม่อยากมี ไม่อยากเป็น เป็นต้น เป็นตัวตัณหาที่จะต้องนำหลักอริยสัจ ๔ มาปรับใช้ ตัณหาจะได้เบาบางลง  ละเว้นการกระทำความชั่วทางกาย วาจา และใจ สร้างคุณงามความดีด้วยความเพียร มีสติระลึกรู้การกระทำของตนเองก่อน และขณะที่พูด และการกระทำโดยให้รู้เห็นเท่าทันตามความเป็นจริง เรียกว่า  อริยสัจ[15] มี ๔ ประการ คือ
                ๑) ทุกข์ วิกฤติของดิน น้ำ ป่า อากาศ คือสภาพความเป็นจริง ที่ควรกำหนดรู้ตามสภาพที่มันเป็นอยู่จริง เรียกว่า  เข้าใจปัญหา การพัฒนาสิ่งแวดล้อม ซึ่งจำเป็นจะต้องให้ความสำคัญในการแก้ปัญหา โดยการสร้างกระบวนมีส่วนร่วม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีส่วนร่วมกับชุมชนและสังคม เพื่อกล่อมเกลาปัจเจกชนไม่แปลกแยกจากชุมชนธรรมชาติ ไม่เบื่อหน่ายหรือหนีจากธรรมชาติ เน้นกระบวนการสร้างพลเมืองดี ทำตนให้เป็นประโยชน์ต่อชุมชนและสังคม มีทักษะบริการสังคมพลเมืองดี มีความตื่นตัวที่พร้อมรับรู้และมีปฏิกิริยาต่อปัญหาต่างๆ อย่างรวดเร็ว เช่นวิกฤตการณ์มหาอุทกภัย ปี พ.ศ. ๒๕๕๔ ที่เป็นการเปลี่ยนทางคุณภาพของสิ่งแวดล้อมจากการสั่งสมทางปริมาณที่เกิดจากการดำเนินนโยบายภายใต้ระบอบเศรษฐกิจครอบงำ ปัญหาดุลการค้าสู่ปัญหาดุลบัญชีเดินสะพัด ปัญหาหนี้ต่างประเทศระยะสั้นในภาคเอกชนปริมาณมหาศาล  การขยายตัวของภาคเก็งกำไร และปัญหาการคอร์รัปชั่นในภาคเอกชน บวกกับนโยบายของรัฐ  ที่มุ่งมั่นขยายเศรษฐกิจ เกิดความเหลื่อมล้ำและแตกแยกมากขึ้น ปัญหาความไม่สงบใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ รัฐไม่สามารถแก้ปัญหาในด้านความปลอดภัยของภาคพลเมืองได้ ยังมีการฆ่ารายวัน และประชาชนยังรู้สึกถึงความไม่มีสวัสดิภาพในชีวิตและทรัพย์สิน เกิดปัญหาการแบ่งแยกดินแดนซึ่งประกอบด้วย อำนาจมืด กลุ่มค้าของเถื่อน และขบวนการที่ทำงานฝ่าฝืนกฎหมายอีกหลายกลุ่ม มีการลอบทำลายสิ่งแวดล้อมพื้นป่าสงวนในหลายพื้นที่ของประเทศทำให้ชุมชนและบ้านเมืองไม่สงบ กระทบต่อพลเมืองส่วนใหญ่เป็นอย่างมาก      
                ๒) สมุทัย สาเหตุวิกฤติของดิน น้ำ ป่า อากาศ คนในชุมชนทุกคน ควรสืบค้น วิเคราะห์ หรือวินิจฉัยมูลเหตุของปัญหา เพื่อนำไปสู่การละและแก้ไข การที่ประชาชนมีความเดือดร้อน เกิดปัญหาการคอร์รัปชั่นในภาคเอกชน โดยการยักย้ายถ่ายเทเงินลงทุนของประชาชนไปเป็นของผู้บริหาร บวกกับนโยบายของรัฐที่มุ่งมั่นขยายเศรษฐกิจ ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำและแตกแยกมากขึ้น เพราะนักการเมืองไม่รู้จักเพียงพอในสิ่งที่ได้รับ นักการเมืองที่ดีจะต้องรู้จักเพียงพอในสิ่งที่มีที่ได้ ความสุขอยู่ที่ความพอใจไม่ได้อยู่ที่ความอยากได้ไม่รู้จบ เช่น การเมืองแบบตัวแทน สร้างระบบกินรวบขาดธรรมาภิบาล มีการฉ้อราษฎร์บังหลวง การทุจริตคิดมิชอบต่อหน้าที่ ทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาของประชาชนที่ซับซ้อนภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์ เกิดความเหลื่อมล้ำและแตกแยกมากขึ้น ดังนั้น การพัฒนาสิ่งแวดล้อม ผู้นำหรือนักปกครอง จะต้องเสริมสร้างให้ประชาชนมีวัฒนธรรมแบบพอเพียงและมีเหตุผล ผู้นำหรือนักปกครองจะต้องสร้างกลไกที่สามารถตรวจสอบได้ มุ่งการพัฒนาโครงสร้างที่มีประสิทธิภาพ และมีความโปร่งใส เพื่อดำรงรักษาระบบการเมืองที่ดีให้มีเสถียรภาพมั่นคง อันจะก่อให้เกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชนอย่างเสมอภาคถ้วนหน้า การที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าว  ประชาชนจะต้องได้รับโอกาสอย่างเสมอภาคในการพัฒนาตนเองให้ปลอดพ้นจากการเอารัดเอาเปรียบของผู้อื่น และสามารถใช้สิทธิเสรีภาพทางการเมืองและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วยความมีเหตุผล เพื่อป้องกันมิให้ผู้อื่นละเมิดโดยไม่ชอบธรรม 
                ๓) นิโรธ ผลของการแก้วิกฤติของดิน น้ำ ป่า อากาศ ชุมชนธรรมชาติ ควรกระทำให้เกิดความชัดเจน แจ่มแจ้ง ดำเนินการทั้งหลายของรัฐเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก นักปกครองหรือนักการเมือง จะต้องจัดการบริหารงานตามที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการ มีการจัดการให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น  จัดระบบการศึกษาเพื่อพัฒนาความรู้ทางการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและความสามารถของประชาชนด้านต่างๆ ให้สูงสุดเท่าที่จะสามารถกระทำได้ตามความพร้อมที่มีอยู่ จัดการด้านสาธารณสุขให้ประชาชนมีสุขภาพอนามัยที่สมบูรณ์แข็งแรง ดำเนินการด้านเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพ และส่งเสริมให้เกิดการเมืองที่ร่วมกันเรียนรู้ ร่วมกันพัฒนาท้องถิ่น เศรษฐกิจแบบพอเพียงเพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของครอบครัว ชุมชนและท้องถิ่น หรือเศรษฐกิจทวิลักษณ์ที่แท้คือ วิถีอุตสาหกรรมและวิถีเกษตรกรรมดำรงอยู่เคียงกัน นอกจากนี้ นักปกครองหรือนักการเมือง จะต้องเปลี่ยนการปฏิรูปประชาธิปไตยเพื่อรับใช้ธุรกิจมาเป็นรับใช้การมีส่วนร่วมของประชาชน เพราะปัญหาสังคมปัจจุบันมีความซับซ้อนจากการทำ FTA ความขัดแย้งด้านฐานทรัพยากรทางธรรมชาติซึ่งมีอยู่อย่างจำกัด
๔) มรรค วิธีแก้วิกฤติของดิน น้ำ ป่า อากาศ ชุมชนธรรมชาติ จะต้องลงมือดำเนินการปฏิบัติ เพื่อพัฒนาวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตยขึ้นมา ทั้งในหมู่ชนชั้นนำและในหมู่ประชาชน กล่าวคือ  ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทำงานของรัฐ พัฒนาโครงสร้างการปกครองเพื่อประโยชน์แห่งสาธารณะ และสนับสนุนส่งเสริมชุมชนในการอนุรักษ์ฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญา บำรุงรักษาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ประชาชนมีส่วนร่วมในการร่างแผนพัฒนาชุมชน โดยการเข้าไปมีส่วนร่วมให้ความเห็นเสนอแนะต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นของตนเอง ส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่นและสังคมโดยรวม และเป็นการสร้างกระบวนการทำงานเชื่อมโยงกันระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับองค์กรทางสังคมทำงานร่วมกัน และนอกจากนี้ อุปนิสัยของคนในสังคมและวิถีดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชนต้องมีลักษณะเป็นประชาธิปไตยด้วย  เช่น การเคารพเหตุผลมากกว่าบุคคล การรู้จักประนีประนอม การปฏิบัติตามกฎหมายบ้านเมืองอย่างสม่ำเสมอ มิใช่ฝ่าฝืนแล้วไม่ยอมรับ เพราะถ้าคนบางคนละเมิดกฎหมายได้ คนอื่นก็ย่อมทำได้เช่นเดียวกัน สังคมก็จะอลเวงหากฎกติกาใดเป็นหลักมิได้ และความรับผิดชอบต่อส่วนรวม อันเกิดจากความรู้สึกของคนในสังคมว่าตนเป็นเจ้าของประเทศและประเทศเป็นของคนทุกคน การประพฤติตนให้เป็นพลเมืองดี ได้แก่ การช่วยกันรักษาสมบัติของส่วนรวมนั้นก็คือสภาพแวดล้อมที่อยู่ในชุมชนหรือสมบัติของสาธารณะ เช่น ป่าไม้ ภูเขา แม่น้ำ ลำคลอง เป็นต้น   
                อริยสัจ ๔ สามารถที่จะประยุกต์ใช้ในการแก้ไขวิกฤติของดิน น้ำ ป่า อากาศ ส่งเสริมให้ชุมชน นำมาใช้แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อย่างสัมฤทธิผล และมีเหตุผลเชื่อมโยงถูกต้องสอดคล้องมากที่สุด เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับการฟืนฟูเยียวยาโลกและสิ่งแวดล้อม ที่จะต้องสัมผัสกับปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อม สังคม การเมืองและเศรษฐกิจ ซึ่งอาจผ่อนหนักผ่อนเบาได้ในระดับที่น่าพึงพอใจ การแก้ปัญหาขึ้นอยู่กับทัศนคติของนักปกครองหรือนักการเมืองและชุมชนเองว่าจะคิดเห็นต่อปัญหานั้นๆ ในมิติที่ลึกซึ้งหรือตื้นเขินต่างกันอย่างไร กล่าวคือ คนที่ยังไม่มีปัญญามักปฏิเสธว่า ไม่มีปัญหา เมื่อเริ่มสว่างขึ้นมาหน่อยก็ยอมรับว่ามีปัญหา ขั้นต่อไปก็คือปัญหาด้านต่างๆ ของสิ่งแวดล้อมอยู่ที่ตัวเรา

๖. การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนด้วยพรหมวิหาร ๔

                พรหมวิหาร ๔ เป็นหลักธรรมสำหรับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ในการนำไปปรับใช้เป็นหลักในการกระจายอำนาจในการปกครองท้องถิ่น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล การที่นักปกครองจะพัฒนาการปกครองให้ดำเนินไปด้วยดีโดยปราศจากปัญหานั้นเป็นสิ่งที่ทำได้ยากยิ่ง จำเป็นต้องอาศัยปัจจัยหรือองค์ประกอบหลายอย่าง ดังนั้น การนำหลักพุทธธรรมมาใช้ในการพัฒนาการปกครอง ย่อมทำให้บรรลุเป้าหมายการปกครอง มีความมั่นคงสามัคคีกัน เสริมสร้างความผาสุกของประชาชน และการมีท่าทีต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วย พรหมวิหาร[16] ๔ ประการ คือ
                ๑) เมตตา ต่อ ดิน น้ำ ป่า อากาศ จะต้องมีความปรารถนาดีต่อชุมชนธรรมชาติ ต้องการช่วยเหลือซึ่งกันในอันจะปลดเปลื้องบำบัดความเสื่อมโทรมทางธรรมชาติที่ได้รับความวิกฤติ และคิดทำประโยชน์เพื่อฟื้นฟูเยียวยาโลกอย่างทั่วหน้า โดยการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น การจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจหน้าที่ใหม่ ระหว่างส่วนกลางกับส่วนท้องถิ่นให้สอดคล้องกับสภาพการณ์บ้านเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปในสภาวะที่สังคมมีกลุ่มที่หลากหลายมีความต้องการ และความคาดหวังจากรัฐที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น  นักปกครองจะต้องบริหารราชการที่มีความรับผิดชอบในภาระหน้าที่และบทบาทที่มีต่อสาธารณชน  เพื่อให้บริการต่างๆ สามารถตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นมากขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ประชาชนในท้องถิ่นเห็นความสำคัญของตนเองและมีส่วนรับรู้ถึงปัญหา อุปสรรคของท้องถิ่น และสามารถแก้ไขปัญหาของท้องถิ่นตามเจตนารมณ์ของตนเองได้  ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจทั้งในส่วนของการเมืองและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
                ๒) กรุณา ต่อ ดิน น้ำ ป่า อากาศ จะต้องปลดเปลื้องบำบัดความวิกฤติของโลกและสิ่งแวดล้อมที่ได้รับผลกระทบจากน้ำมือของมนุษย์ ต้องทำการฟื้นฟูธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการฟื้นฟู ทำให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีสุขภาพอนามัยที่สมบูรณ์แข็งแรง ดังนั้น นักปกครอง จะต้องบริหารที่มีประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ไม่ว่าจะเป็นด้านการจัดกระบวนการทำงาน การจัดองค์การ การจัดสรรบุคคล และมีการใช้ทรัพยากรสาธารณะอย่างคุ้มค่าและเหมาะสม  มีการดำเนินการและการให้บริการประชาชนที่ให้ผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจและกระตุ้นการพัฒนาของสังคมทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการส่งเสริมอาชีพให้แก่ประชาชน เพื่อเพิ่มพูนรายได้ให้สูงขึ้น  จัดให้มีบริการด้านสาธารณูปโภคที่ดีแก่ประชาชน และควรจัดองค์การหรือการกำหนดกฎเกณฑ์ที่เน้นการดำเนินงาน เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นอย่างเป็นธรรม  โดยมอบอำนาจให้ท้องถิ่นไปจัดทำบริการสาธารณะ เช่น การไฟฟ้า การรถไฟ การโทรศัพท์ เป็นต้น เพื่อให้ประชาชนในท้องถิ่นได้รับความสะดวกจากการบริการที่ดีของข้าราชการ สามารถร้องทุกข์และตรวจสอบผู้ที่ประชาชนเลือกไปบริหารได้           
                ๓) มุทิตา ต่อ ดิน น้ำ ป่า อากาศ จะต้องแสดงความพลอยยินดีในเมื่อเห็นธรรมชาติได้รับการฟื้นฟูเยียวยา ผลที่จะได้รับคือชุมชนอยู่กันอย่างสงบสุข ทั้งนี้เพราะท้องถิ่นมีงบประมาณและรายได้เป็นของท้องถิ่นเอง ตามหลักการกระจายอำนาจการปกครอง ซึ่งรัฐบาลกลางจะต้องมอบอำนาจการตัดสินใจให้กับประชาชนในท้องถิ่นปกครองตนเอง ทั้งในทางด้านนโยบายและในทางการบริหาร ประชาชนในท้องถิ่นมีอิสระในบริหารงานพอสมควร มีเจ้าหน้าที่และงบประมาณเป็นของตนเอง โดยประชาชนในท้องถิ่นมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีอากร   ค่าธรรมเนียมต่างๆ และทรัพย์สินตลอดจนเงินอุดหนุน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจการต่างๆ  ซึ่งรัฐบาลกลางจะต้องลดบทบาทของรัฐในราชการบริหารส่วนกลาง โดยการเพิ่มบทบาทให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามาดำเนินการแทน ทำให้ประชาชนในท้องถิ่นมีอิสระในการพิจารณาปัญหาและความต้องการของตน ตลอดจนความเป็นอิสระในการตัดสินใจเพื่อกำหนดทางเลือกที่เหมาะสมในการพัฒนาชีวิตชุมชนและสิ่งแวดล้อมของตน
                ๔) อุเบกขา ต่อ ดิน น้ำ ป่า อากาศ ชุมชนธรรมชาติ ควรวางตัวเป็นกลาง ไม่ยินดียินร้าย ปฏิบัติด้วยความเที่ยงธรรม มีความสุจริตและโปร่งใส มีระเบียบและการดำเนินงานที่เปิดเผย ตรงไปตรงมา ประชาชนสามารถเข้าถึงและได้รับข้อมูลข่าวสารอย่างเสรี เป็นธรรม ถูกต้อง และมีประสิทธิภาพ และสามารถเข้าตรวจสอบและติดตามผลได้ อยู่ในกรอบของกฎหมายที่ยุติธรรมและเป็นธรรมสำหรับกลุ่มคนต่างๆ  ในสังคม ซึ่งสามารถใช้บังคับได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน ซึ่งคนในสังคมทุกส่วนเข้าใจ เป็นการประกันความมั่นคง ศรัทธาและความเชื่อมั่นของประชาชน และนักปกครอง  จะต้องวางตัวเป็นกลางโดยการลดบทบาทของรัฐในราชการบริหารส่วนกลาง โดยการเพิ่มบทบาทให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามาดำเนินการแทน นอกจากนี้ นักปกครอง ควรพิจารณาให้รอบคอบในการกระจายอำนาจ เพื่อให้เกิดประโยชน์ตามที่ต้องการ ถ้าหากนักปกครองกระจายอำนาจมากจนเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่กำลังพัฒนาและกำลังเปลี่ยนแปลงระบบการเมืองให้เข้าเป็นรูปยังไม่เรียบร้อย จะทำให้เกิดปัญหาทางด้านความมั่นคงของชาติขึ้นได้ เพราะขาดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทางการเมือง
                พรหมวิหาร ๔ สามารถที่จะประยุกต์ใช้ในการแก้ไขวิกฤติของดิน น้ำ ป่า อากาศ และสามารถที่จะส่งเสริมให้นักปกครอง กระจายอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยความปรารถนาดี  บริหารราชการที่มีความรับผิดชอบในภาระหน้าที่และบทบาทที่มีต่อสาธารณชน โดยมีการจัดองค์การหรือการกำหนดกฎเกณฑ์ที่เน้นการดำเนินงานเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นอย่างเป็นธรรม มอบอำนาจให้ท้องถิ่นไปจัดทำบริการสาธารณะ ใฝ่ใจในอันจะปลดเปลื้องบำบัดความทุกข์ยากของประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน บริหารที่มีประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ไม่ว่าจะเป็นด้านการจัดกระบวนการทำงาน การจัดองค์การ การจัดสรรบุคคล และมีการใช้ทรัพยากรสาธารณะอย่างคุ้มค่าและเหมาะสม มีงบประมาณและรายได้เป็นของท้องถิ่น ตามหลักการกระจายอำนาจการปกครอง ปฏิบัติด้วยความเที่ยงธรรม มีความสุจริตและโปร่งใส ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและได้รับข้อมูลข่าวสารอย่างเสรี เป็นธรรม ถูกต้อง และมีประสิทธิภาพ  ประชาชนสามารถเข้าตรวจสอบและติดตามผลได้
๗. บทสรุป

ชุมชนธรรมชาติกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน วิถีชีวิตใดที่ตั้งอยู่บนฐานการใช้ทรัพยากรที่หมดไปย่อมไม่ยั่งยืน และวิถีชีวิตใดที่ใช้ทรัพยากรที่ฟื้นใหม่ได้มากเกินไป เช่น ทำให้ปลาแซลมอนคืนสู่แม่น้ำน้อยลงทุกปีก็ไม่ยั่งยืนเช่นกัน ความยั่งยืนย่อมไม่เป็นอันตรายต่อชุมชน ทุ่งหญ้าพื้นเมือง ป่าพื้นเมือง และฝูงปลาพื้นเมือง โลกที่เป็นจริงพึ่งพากันและกัน ดังนั้น สายน้ำหนึ่งที่ตกอยู่ในอันตรายก็ย่อมส่งผลกระทบต่อมนุษย์และสัตว์อื่นที่อาศัยบนสายน้ำนั้น ย่อมไม่มีการปล่อยให้ผู้ใดไม่ว่าจะร่ำรวยหรือมีอำนาจเพียงใดในการสร้างพิษร้ายขึ้นโดยไม่มียาแก้ ย่อมไม่มีการปล่อยให้ผู้ใดไม่ว่าจะร่ำรวยหรือมีอำนาจเพียงใดมาทำลายพื้นที่ซึ่งมนุษย์และชีวิตอื่นอาศัยอยู่ ในโลกที่จำกัด เราไม่สามารถสร้างเศรษฐกิจที่วางรากฐานหรือความต้องการการเติบโตตลอดกาล วิถีชีวิตปัจจุบันไม่ยั่งยืนและจะล่มสลาย ปัญหาเหลือแต่เพียงว่าจะเหลืออะไรในโลกหลังการล่มสลายนี้ มนุษย์และชีวิตอื่นจะต้องเตรียมรับมือกับการล่มสลายเท่าที่จะเป็นไปได้ สุขภาพของเศรษฐกิจท้องถิ่นสำคัญกว่าสุขภาพเศรษฐกิจของโลก ไม่ควรปล่อยให้เศรษฐกิจโลกทำลายเศรษฐกิจท้องถิ่นและที่ดินอันเป็นพื้นฐาน บรรษัทไม่ใช่สิ่งมีชีวิต และดังนั้นจึงไม่ใช่คนบรรษัทไม่ได้เป็นอยู่จริง มันเกิดจากนิยามทางกฎหมาย การกำหนดให้บรรษัทมีความรับผิดชอบอย่างจำกัดเป็นการแยกมนุษย์ออกจากความรับผิดชอบในการกระทำของเขา ดังนั้น จึงต้องยกเลิกการรับผิดชอบอย่างจำกัดของบรรษัท สุขภาพของมนุษย์และชีวิตอื่นในชุมชนสำคัญกว่ากำไรของบรรษัท มนุษย์มีสิทธิเสรีภาพอย่างเต็มที่ในการต่อสู้กับระบบและระบอบปกครองที่เป็นอันตรายต่อตนเอง เมื่อเราได้เล็งเห็นการทำลายล้างของระบบทุนนิยมและอารยธรรมอุตสาหกรรม ซึ่งทั้งคู่ตั้งอยู่บนฐานของการเปลี่ยนโลกที่มีชีวิตเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่ไร้ชีวิต เราไม่มีทางเลือกอื่น นั่นคือหากไม่ปรารถนาที่จะลงนามประหารตัวและลูกหลานของเราเอง ก็จะต้องออกมาต่อสู้จนสุดกำลังในทุกวิถีทางที่จะล้มล้างระบบทั้งคู่นี้เสีย อารยธรรมทั้งหลาย โดยเฉพาะอารยธรรมอุตสาหกรรม ไม่สามารถดำรงอยู่อย่างยั่งยืนได้ ชุมชนเดิมทั้งหลายจะรักษาทรัพยากรและผืนดินไว้จนสุดชีวิต ผู้ที่ต้องการทรัพยากรนั้นจำต้องทำลายชุมชนเดิมทุกวิถีทาง (นี่คือสงคราม และการสร้างอาณาจักร) วิถีชีวิตของอารยธรรมอุตสาหกรรมจะล่มสลายลงอย่างรวดเร็ว โดยปราศจากการต่อต้านและความรุนแรง (ทั้งนี้ เมื่อศูนย์กลางอำนาจล่มสลาย) ความรุนแรงที่ชนชั้นบนกระทำต่อชนชั้นล่างซึ่งเกิดขึ้นโดยตลอดถือเป็นสิ่งชอบด้วยเหตุผล ส่วนความรุนแรงที่ชนชั้นล่างกระทำต่อชนชั้นบนซึ่งนานๆ เกิดครั้งหนึ่ง ถือเป็นสิ่งที่คิดไม่ถึง เป็นเรื่องน่าตกใจ สยดสยอง และต้องยกย่องบูชาผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ ทรัพย์สินของชนชั้นสูงมีมูลค่ามากกว่าชีวิตของชนชั้นล่าง เป็นสิ่งปกติว่าชนชั้นสูงเมื่อแสวงหาความมั่งคั่งและเงินทองจะทำลายชีวิตของชนชั้นล่าง นี่เรียกว่าการผลิต ถ้าหากชนชั้นล่างทำลายทรัพย์สินของชนชั้นบน ชนชั้นบนสามารถฆ่าหรือทำลายชีวิตชนชั้นล่างได้ นี่เรียกว่าความยุติธรรม อารยธรรมนี้มีแต่เดินหน้าไปสู่การทำลายล้างโลกทั้งโลก ไม่สามารถปฏิรูปให้ดำรงอยู่อย่างยั่งยืนได้ โลกธรรมชาติสำคัญกว่าระบบเศรษฐกิจ ระบบเศรษฐกิจสังคมใดที่ไม่เอื้อต่อชุมชนตามธรรมชาติ ย่อมเป็นอารยธรรมที่ไม่ยั่งยืน ไร้ศีลธรรมและโง่เขลาประชากรโลกมีแนวโน้มลดลงอย่างมาก ทั้งโดยแบบรุนแรง เช่นสงครามนิวเคลียร์และการล่มสลายของระบบนิเวศโลก และที่รุนแรงน้อยกว่า ซึ่งผู้คนสามารถเลือกทางหลังได้ โดยการยึดถือครอบครัวและชุมชน ในอารยธรรมนี้คนร่ำรวยมีเงินตราและอำนาจมากซึ่งเป็นสิ่งมายา ประชาชนผู้ยากจนก็ยอมรับมายานี้ เมื่อประชาชนพ้นจากมายาของเงินตราและการปกครองโดยอำนาจแล้ว ก็จะตื่นตัว ก็จะรู้ว่าควรต่อต้านสิ่งเหล่านี้หรือไม่ เวลาใดและอย่างใด โลกทางวัตถุเป็นพื้นฐาน เนื่องจากมันเป็นจริงแท้และเป็นบ้านของเรา ต้องคิดพึ่งตนเอง ไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ และในอารยธรรมนี้ การตัดสินใจทั้งหลายขึ้นอยู่กับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่การอยู่ดีของชุมชน นั่นคือการตัดสินใจทางสังคมเหล่านี้ขึ้นอยู่กับว่ามันจะสามารถเพิ่มพูนเงินทอง อำนาจและการควบคุมโลก แก่ผู้ตัดสินใจและผู้อยู่เบื้องหลังเพียงใด กล่าวโดยรวมก็คืออารยธรรมคือความรุนแรงและไม่ยั่งยืน มนุษย์จำต้องยุติอารยธรรมอุตสาหกรรมเสีย
เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว เราทุกคนเป็นสมาชิกของชุมชนธรรมชาติที่สัมพันธ์ขึ้นต่อกัน ซึ่งรวมทั้งแม่น้ำ ผู้เยาว์วัยและหินผา ความสัมพันธ์นี้กำหนดตัวเรา รักษาเรา สร้างเรา และทำให้เรามีความสุขสำราญ และเมื่อเราถูกแยกให้อยู่โดดเดี่ยวและแยกออกจากกัน ความไม่สบายก็จะขึ้นสู่ระดับความโศกสลด ดังที่เจนเสนย้ำว่าชุมชนธรรมชาติไม่ใช่เป็นเรื่องของระบบนิเวศที่กล่าวกัน เพราะว่าระบบนิเวศเป็นศัพท์ของเครื่องจักร ที่เน้นการนับเป็นจำนวน การทำซ้ำได้ และการมองในมิติของความต้องการ ขาดเลือดเนื้อและชีวิตและความสัมพันธ์ในด้านความทุกข์ความสุข ซึ่งหมายถึงต้องสนองกลับคืนสู่ธรรมชาติด้วย
ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ที่ได้แสดงไว้ว่า มนุษย์จะมีชีวิตที่ดีงามแท้จริงโดยสมบูรณ์ จะต้องรู้ความจริงของธรรมชาติ ทีนี้ความจริงของธรรมชาติ มันไม่เข้าใครออกใคร มันไม่ได้ขึ้นต่อมนุษย์ มันเป็นของมันอย่างนั้น มนุษย์จะเอาอย่างไรก็เรื่องของมนุษย์ แต่มันไม่เป็นไปตามใจมนุษย์ มนุษย์นี่แหละจะต้องไปรู้จักมัน เป็นหน้าที่ของมนุษย์ที่จะต้องเข้าไปรู้จักความจริงของธรรมชาติและปฏิบัติต่อมันให้ถูกต้อง สำหรับความเป็นอยู่ของมนุษย์นี้ เราเห็นอยู่ชัดเจนว่า มนุษย์อยู่กับสิ่งแวดล้อม ซึ่งแบ่งเป็น ๒ อย่าง คือ (๑) สิ่งแวดล้อมที่เป็นมนุษย์ด้วยกัน คือสิ่งแวดล้อมทางสังคม ได้แก่เพื่อนมนุษย์ (๒) สิ่งแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติทั้งหลายทั้งหมด ได้แก่ระบบของสรรพสิ่งที่อยู่ภายใต้กฎธรรมชาติ รวมทั้งตัวมนุษย์เองด้วย ถ้าเราแยกอย่างนี้ได้ เราจะเห็นความแตกต่าง ว่าเราจะต้องมีท่าทีต่างกันเป็น ๒ อย่าง ซึ่งถ้าไม่ระวังจะสับสน ดังนั้น สิ่งสำคัญต้องคำนึงถึง คือ (ก) ท่าทีต่อเพื่อนมนุษย์ เราอยู่ด้วยกัน ก็ควรมีความรักกัน มีเมตตาต่อกัน นี้เป็นท่าทีที่ดี เพราะว่ามันจะช่วยให้เราไม่เบียดเบียนกันมีความสามัคคีกัน มีความรักใคร่ปรองดอง ปรารถนาดี ปรารถนาประโยชน์สุขแก่กันและกัน (ข) ท่าที่ต่อสัจธรรม พร้อมกันนั้น มนุษย์ก็อยู่กับความจริงของธรรมชาติ อยู่กับระบบของธรรมชาติและระบบของสรรพสิ่งที่สัมพันธ์กัน ซึ่งอย่างที่บอกแล้วว่า ธรรมชาติมันไม่เข้าใครออกใคร มนุษย์จะต้องไปรู้จักมัน ท่าทีต่อความจริงของธรรมชาตินี้จะเอาเมตตาไปใช้ไม่ได้ ในที่นี้ไม่ใช่หมายถึงธรรมชาติด้านชีวิต เช่น สิงสาราสัตว์ แต่หมายถึงตัวกฎธรรมชาติ ที่จะต้องรู้ด้วยปัญญา และจะต้องปฏิบัติต่อมันโดยใช้ปัญญา


[1] พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต), มองสันติภาพโลก ผ่านภูมิหลังอารยธรรมโลกาภิวัฒน์, พิมพ์ครั้งที่ ๒, กรุงเทพมหานคร: มูลนิธิพุทธธรรม, ๒๕๔๒, หน้า ๓๔.
[2] พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต), มองสันติภาพโลก ผ่านภูมิหลังอารยธรรมโลกาภิวัฒน์, พิมพ์ครั้งที่ ๒, กรุงเทพมหานคร: มูลนิธิพุทธธรรม, ๒๕๔๒, หน้า ๓๕-๓๖.
[3] อนุช อาภาภิรม, คอลัมน์ วิกฤติศตวรรษที่๒๑ ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ ๐๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ ปีที่ ๓๒ ฉบับที่ ๑๖๔๗ หน้า ๓๘.
[4]ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่http://en.wikipedia.org/wiki/Earth_Summithttp://en.wikipedia.org/wiki/Kyoto_Protocol http://en.wikipedia.org/wiki/Earth_Day,http://en.wikipedia.org/wiki/World_population,http://en.wikipedia.org/wiki/Gaylord_Nelson (๑๐/๐๔/๒๕๕๕).
[5] ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ http://www.johannesburgsummit.org (๑๐/๐๔/๒๕๕๕).
[6] ดูรายละเอียดที่ http://www.endgamethebook.org/Excerpts/1-Premises.htm (๑๑/๐๔/๕๕)
[7] ดูรายละเอียดในเว็บไซต์ www.endgamethebook.org, (๑๑/๐๔/๒๕๕๕).
[8] ริกเตอร์ เป็นชื่อวัดขนาดของแผ่นดินไหว การหาค่าขนาดของแผ่นดินไหว โดยวัดความสูงของคลื่นแผ่นดินไหวที่บันทึกได้ด้วยเครื่องตรวจวัด แล้วคำนวณจากสูตรการหาขนาด เครื่องมือที่วัดนี้ คิดค้นโดย ชาลส์ ฟรานซิส ริกเตอร์ หน่วยวัดขนาดของแผ่นดินไหวที่เรียกว่า “ริกเตอร์” จึงเป็นการเรียกตามชื่อผู้คิดค้นสูตรดังกล่าว
[9] กองบรรณาธิการ, ตะวันดับแสง ณ แดนอาทิตย์อุทัย มหาวิบัติสิ้นแผ่นดินบนวงแหวนแห่งไฟ, (กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์บุ๊คส์ อินเตอร์), ๒๕๕๔, หน้า ๖๕.
[10] ดูรายละเอียดที่ http://th.wikipedia.org/wiki/อุทกภัยในประเทศไทย_พ.ศ._2554 (April ๑๒/๐๔/๒๕๕๕).
[11] พิชัย บุณยะกาณจน และ ชูโชค อายุพงศ์, ภัยพิบัติทางธรรมชาติ : สิ่งใกล้ตัวที่ควรรู้จัก, ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ๒๕๕๔.
[12] เลิฟล็อก, เจมส์, เมื่อโลกเอาคืน, The Revenge of Gaia, แปลโดย วิลาสินี เดอเบส, (กรุงเทพมหานคร: มติชน, ๒๕๕๓), หน้า ๓๒-๓๓. (อ้างใน พุทธธรรมกับการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ, มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, กรุงเทพมหานคร: บริษัท ๒๑ เซ็นจูรี่ จำกัด, ๒๕๕๔, หน้า ๔๐๔-๔๐๕)
[13] พุทธธรรมกับการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ, มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, กรุงเทพมหานคร: บริษัท ๒๑ เซ็นจูรี่ จำกัด, ๒๕๕๔, หน้า ๔๐๔-๔๐๕.
[14] พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต), มองสันติภาพโลก ผ่านภูมิหลังอารยธรรมโลกาภิวัตน์, มูลนิธิพุทธธรรม, ๒๕๔๒, หน้า ๓๔.
[15]สํ.ม. ๑๙/๑๖๖๕/๕๒๘-๕๒๙. 
[16]ที.ม. ๑๐/๑๘๔/๒๒๕.

  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS